เช้าแรกที่สดใสในวันเปิดเทอม ฉันสวมใส่ชุดนักศึกษาเสื้อสีขาวสะอาดตา กระโปรงสีดำคลุมเข่า สองเท้าที่ก้าวเดินไปยังตึกคณะ เกือบสองปีแล้วที่ฉันเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านเพราะสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ฉันมองไปรอบ ๆ มหาวิทยาลัย นานแค่ไหนแล้วที่ฉันไม่ได้มานั่งเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย นานแค่ไหนแล้วที่ฉันไม่ได้พบเจอเพื่อน ๆ ร่วมชั้นเรียน ฉันเดินตามถนนเล็ก ๆ ที่ทอดยาวจากประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยจนถึงตึกคณะ มหาวิทยาลัยของฉันตั้งอยู่ในจังหวัดปทุมธานี ฉันนั่งลงที่เก้าอี้ใต้ต้นไม้ที่ปกคลุมไปด้วยใบไม้สีเขียวหนาทึบ ร่มเย็น นักศึกษามากมายนั่งเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อรอเวลาเข้าห้องเรียน ฉันคิดถึงคำขวัญของจังหวัด “ถิ่นบัวหลวง เมืองรวงข้าว เชื้อชาวมอญ นครธรรมะ พระตำหนักรวมใจ สดใสเจ้าพระยา ก้าวหน้าอุตสาหกรรม” จะมีสักกี่คนที่จำคำขวัญของจังหวัดตนเองได้อย่างแม่นยำ และจะมีสักกี่คนทราบถึงที่มาที่ไปหรือสถานที่ วัตถุ หรือ ความหมายในคำขวัญ
ถ้าฉันเป็นผู้ว่าฯ ฉันจะส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในจังหวัดปทุมธานีอย่างไร เป็นคำถามที่ทำให้ฉันหลับตาและจินตนาการถึงบทบาทหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด อะไรคือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่มีความหมายเชื่อมโยงและเกี่ยวพันกัน 5 มิติ ได้เเก่ 1. การพัฒนาคน (people) โดยให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาความยากจน ความหิวโหย และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้หมดไป 2. เศรษฐกิจและความมั่งคั่ง (prosperity) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีความสอดคล้องกับธรรมชาติ 3. สิ่งแวดล้อม (planet) ให้ความสำคัญกับการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศเพื่อพลเมืองโลกรุ่นต่อไป 4. สันติภาพและความยุติธรรม (peace) เพื่อยึดหลักการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีสังคมที่สงบสุขและไม่แบ่งแยก 5. ความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา (partnership)
ผู้ว่าฯ อย่างฉันเชื่อว่า ความเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนา และความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องมีพื้นฐานจากผู้คนในสังคมนั้น ๆ พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีขึ้น มีอิสรภาพในการพัฒนาร่วมกันตามความสามารถของแต่ละคน การเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมจะช่วยยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดช่องว่างทางสังคม สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การพัฒนาระบบการศึกษาให้ชาวปทุมธานีได้เข้าถึงแหล่งการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างกระบวนการคิดวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน การสร้างความยืดหยุ่นให้สถานศึกษาในการพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น การนำแพลตฟอร์มสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตในรูปแบบของแหล่งความรู้ของจังหวัด การขับเคลื่อนสถาบันการศึกษาในอนาคตที่มีความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำโดยให้ความสำคัญกับโอกาสทางการศึกษาให้ชาวปทุมธานีสามารถเข้าถึงการศึกษาในรูปแบบชุมชนหรือการรวมกลุ่ม (community) มากกว่าห้องเรียน
ฉันจะสร้าง“Brain Bank Center ปทุมสุมหัว” เป็นแหล่งสร้างโอกาสในการเรียนรู้ การถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนประสบการณ์รวมทั้งการส่งต่อความรู้ทางภูมิปัญญา วัฒนธรรม ค่านิยม และเอกลักษณ์ของจังหวัดปทุมธานี นโยบายของผู้ว่าฯ อย่างฉันคือ อิสรภาพทางความคิดของชาวปทุมธานี ฉันต้องการพัฒนาชาวปทุมธานีให้เป็น “Smart People for Smart Community” ที่มีความรอบรู้และมีทักษะต่าง ๆ ตามที่ตนเองให้ความสนใจและสามารถต่อยอดได้ในอนาคต มหาวิทยาลัยในจังหวัดจะกลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ของชาวปทุมฯ เป็นการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและพัฒนาให้ชุมชนท้องถิ่นมีคุณภาพอย่างยั่งยืน การนำความรู้มาแลกเปลี่ยนและเปิดโอกาสให้ผู้คนในจังหวัดเข้ามาเรียนรู้อย่างอิสระ ฉันจะทำให้มหาวิทยาลัยในจังหวัดเป็นศูนย์กลางสำหรับทุกคนที่จะเข้ามาสร้างโมเดลธุรกิจและการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ เพื่อเชื่อมต่อกัน ที่สำคัญที่สุดคือ การค้นหาตัวตนที่แท้จริงเพื่อสร้างการเรียนรู้อย่างมีอิสรภาพ
“Brain Bank Center ปทุมสุมหัว” คือศูนย์กลางในการแบ่งปันองค์ความรู้และพัฒนารูปแบบกิจกรรมต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชาวปทุมธานี “Brain Bank Center ปทุมฯ สุมหัว” จะทำหน้าที่เป็นบ้านหลังที่สองของชาวปทุมธานี โดยเน้น 3 งานสร้าง สร้างที่ 1 สร้างคนที่ต้องการหาคำตอบในชีวิตว่าจริง ๆ แล้วเราชอบหรือต้องการอะไร สร้างที่ 2 สร้างอิสรภาพทางความคิดเพื่อค้นหาตัวตนและนวัตกรรมสุดปัง อันก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนอย่างยั่งยืนไม่มีที่สิ้นสุด สร้างที่ 3 สร้างเครือข่าย (connection) เพราะผู้ว่าฯ อย่างฉันเชื่อว่า รู้อะไรไม่สู้รู้จักกัน ฉันอยากเห็นทุกการสนทนาใน “Brain Bank Center ปทุมฯสุมหัว” มิได้จบลงในวันที่มาพบเจอกันครั้งแรกเท่านั้น “Brain Bank Center ปทุมฯ สุมหัว” จะเป็นบ้านหลังใหม่ที่ให้ชาวปทุมฯ เข้ามาค้นหาตัวเองในทุกช่วงอายุ ได้ทำในสิ่งที่ตนเองอยากทำ การลองผิดลองถูกแต่ได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ต่อยอดความคิด ผู้คนที่อยากปล่อยของ อยากแบ่งปันประสบการณ์ เรื่องราวดี ๆ มาเล่าเรื่องราวให้ชาวปทุมฯได้ฟังและออกความคิดเห็นแลกเปลี่ยนอย่างจริงใจ การนำความรู้ที่เหมือนจะไม่สามารถผสมผสานรวมกันได้เข้ามาลองเรียนรู้แลกเปลี่ยนอย่างลงตัว เช่น กิจการร้านกาแฟกับศิลปินวาดภาพอิสระ เพื่อนำมาซึ่งการพัฒนาความคิดของผู้คนอย่างไร้ขีดจำกัด
“Brain Bank Center ปทุมฯสุมหัว” มีเป้าหมายในการพัฒนาคนในจังหวัดปทุมธานี ให้การสนับสนุนการแลกเปลี่ยนและส่งผ่านความรู้ โดยเป็นแหล่งรวมนักธุรกิจ นักวิจัย และนักสร้างสรรค์เพื่อการแลกเปลี่ยนและสร้างธุรกิจ อาชีพ และนวัตกรรมที่เหมาะสมกับจังหวัดผ่านเเนวความคิด (idea) ของชาวปทุมฯเพื่อจังหวัดปทุมธานี
“Brain Bank Center ปทุมฯ สุมหัว” จะตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยในจังหวัดที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น เวทีคนปทุมฯ ปล่อยของในพื้นที่จัดงานเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้และวัฒนธรรม มีผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิจัยด้านต่าง ๆ มาร่วม โดยเน้นกระตุ้นให้คนทั่วไปเกิดความอยากรู้อยากเห็นและพูดคุยร่วมกัน “Co-Idea Space” พื้นที่ที่เปิดกว้างด้วยความยืดหยุ่นในพื้นที่ที่ช่วยลดความเครียดและสร้างความสบายสำหรับทุกกิจกรรมที่ตนเองชอบ ฉันอยากเป็นผู้ว่าฯ ที่ส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในจังหวัดปทุมธานีในรูปแบบของการสร้างพื้นที่ในมหาวิทยาลัยให้เป็นหุ้นส่วนการพัฒนา ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนารูปแบบการดำเนินการที่สามารถสร้างผลลัพธ์อย่างยั่งยืนและพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานในทุกมิติ เพื่อโอกาสในการสร้างชุมชนที่ดีที่สุด อิสรภาพทางความคิดที่มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของชาวปทุมฯ
เมื่อฉันลืมตาขึ้น มองไปรอบ ๆ มหาวิทยาลัยที่มีพื้นที่มากมาย สงบสุข และแวดล้อมไปด้วยอาจารย์ที่มีความรู้แตกต่างกันตามสาขาวิชาที่สอน การสร้าง “Brain Bank Center ปทุมฯ สุมหัว” จะไม่เป็นเพียงความฝัน ฉันบอกตัวเองว่า ฉันคือนักศึกษาคนหนึ่งที่มีอิสระทางความคิด การเติบโตเป็นคนคุณภาพของสังคมมิใช่เรื่องที่เกินฝัน หากฉันเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ฉันอยากได้พื้นที่เพื่อค้นหาและพัฒนาตนเองอย่างแท้จริง ฉันเชื่อว่าชาวปทุมธานีทุกคนต้องการพื้นที่ที่ปลอดภัย (safe zone) ในการลองผิดลองถูก การไม่ถูกตำหนิหากทำสิ่งใดผิดพลาดแต่ได้รับโอกาสในการทำสิ่งที่ตนเองรักซ้ำๆวนไปจนเป็นความสุขเพื่อพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน และเป็นพื้นที่ที่จะได้ฟังผู้มีประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ เข้ามาเล่าเรื่องราวผ่านสายตาของแต่ละคนเพื่อสังคมที่พัฒนาอย่างยั่งยืน
หากท่านต้องการการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 5 มิติ การพัฒนาคนให้เท่าเทียมทางความคิดจะสามารถส่งผลต่อเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีความสอดคล้องกับธรรมชาติอย่างพอเพียง เมื่อคนในจังหวัดปทุมธานีมีความรู้สึกเป็นเจ้าของบ้านย่อมให้ความสำคัญกับการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศเพื่อพลเมืองโลกรุ่นต่อไป การอยู่ร่วมกันอย่างสันติมีสังคมที่สงบสุขและไม่แบ่งแยก อีก 2 ปี ฉันจะเรียนจบปริญญาตรี ฉันอยากมีส่วนในการสร้าง “Brain Bank Center ปทุมฯ สุมหัว” เพื่อสร้างความยั่งยืนให้จังหวัดปทุมธานี ให้เป็นสังคมอุดมไอเดียและสร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่สำนึกรักบ้านเกิดของตนเอง สร้างชาวปทุมธานีให้เป็นคนที่มีความสุข อยากทำประโยชน์เพื่อจังหวัดด้วยหัวใจจริง ๆ โลกใบเล็ก ๆ ที่อัดแน่นด้วยพลังความคิดเพื่อพัฒนาจังหวัดปทุมธานีจะมิใช่ความฝันอีกต่อไป
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.4) เพิ่มจำนวนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะที่เกี่ยวข้อง รวมถึงทักษะทางด้านเทคนิคและอาชีพสำหรับการจ้างงาน การมีงานที่มีคุณค่า และการเป็นผู้ประกอบการ ภายในปี 2573
– (4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการที่วัฒนธรรมมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองเเละชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.3) ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืนในทุกประเทศ ภายในปี 2573
– (11.7) จัดให้มีการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียว ที่ปลอดภัยครอบคลุมและเข้าถึงได้ โดยถ้วนหน้า โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก คนชรา และผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย ภายในปี 2573
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม เเละสถาบันเข้มเเข็ง
– ( 16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
ผู้เขียน: สุวิมล จินดาพล
สถาบันการศึกษา: มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี
ผลงานดังกล่าวเป็นผลงานจากการประกวดโครงการเขียนเคลื่อนโลกด้วย SDGs ภายใต้หัวข้อ “หากได้เป็นผู้ว่าฯ จะส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในจังหวัดตนเองอย่างไร”