สำนักงานอ้างอิงประชากร (Population Reference Bureau: PRB) ได้เผยแพร่เอกสารข้อมูลประชากรโลก ฉบับปี 2565 (The 2022 edition of the World Population Data Sheet) เพื่อนำเสนอมุมมองเชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบของโควิด-19 ในมิติประชากรศาสตร์ โดยสาระสำคัญมุ่งไปที่การฉายภาพให้เห็นว่าการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวกระทบต่อภาวะการเสียชีวิตและภาวะเจริญพันธุ์อย่างไร
เอกสารฉบับดังกล่าว เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่าโรคโควิด-19 ทำให้เกิดอัตราการตายส่วนเกิน (excess deaths) คิดเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ของการเสียชีวิตทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นสาเหตุทำให้อายุคาดเฉลี่ย (life expectancy) ของบางประเทศลดน้อยถอยลง ขณะที่ผลกระทบต่ออัตราการเกิดยังคงถูกจำกัดในวงแคบ
สำหรับอัตราการตายส่วนเกินนั้นวัดจากความแตกต่างระหว่างจำนวนผู้เสียชีวิตจริง (actual deaths) จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 กับจำนวนผู้เสียชีวิตที่ถูกคาดการณ์ในกรณีที่ไม่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เกิดขึ้น ทั้งนี้ อัตราการตายส่วนเกินที่กล่าวถึงครอบคลุมทั้งการเสียชีวิตจากโควิด-19 ด้วยตัวเอง และจากสาเหตุของการรักษาพยาบาลที่ไร้ประสิทธิภาพหรือมีความล่าช้า
เอกสารยังระบุด้วยว่าอัตราการเสียชีวิตส่วนเกินที่เปลี่ยนแปลงในระดับภูมิภาคและประเทศเกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่ โครงสร้างอายุของประชากร โครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพ สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม มาตรการควบคุมโรคโควิด-19 และอัตราการฉีดวัคซีน
ด้านภาวะการเจริญพันธุ์ เอกสารระบุว่าผลกระทบของการระบาดใหญ่มีนัยสำคัญน้อยกว่าที่คาดไว้และส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว โดยในประเทศที่มีรายได้สูง เช่น อิตาลี เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา อัตราการเกิดดีดตัวเพิ่มขึ้นในปี 2564 หลังจากที่เคยลดลงเล็กน้อยในปี 2563 ขณะที่อัตราการเกิดของประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีเลย
ข้อค้นพบสำคัญซึ่งเพิ่มอยู่ในเอกสารข้อมูลปีนี้ ได้แก่
- ในปี 2563-2564 จำนวนผู้เสียชีวิตทั่วโลกที่นับเป็นอัตราการตายส่วนเกิน มีประมาณ 15 ล้านคน
- หากพิจารณาการเสียชีวิตที่ 300 คนต่อ 100, 000 คน พบว่ายุโรปตะวันออกมีอัตราการเสียชีวิตส่วนเกินโดยเฉลี่ยต่อปีสูงสุดอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงในปี 2563-2564
- ระหว่างปี 2562 ถึง 2564 พบว่าอายุคาดเฉลี่ยในประเทศสหรัฐอเมริกาลดลงจาก 78 ปี เป็น 76 ปี ขณะที่อายุคาดเฉลี่ยทั่วโลกเมื่อแรกเกิดของเพศหญิงอยู่ที่ 75 ปี และเพศชายอยู่ที่ 70 ปี
- พิจารณาการเกิดที่ 2.3 ต่อผู้หญิงหนึ่งคน พบว่าอัตราการเกิดโดยรวม (Total Fertility Rate: TFR) ทั่วโลกยังคงสูงกว่าระดับทดแทน (replacement level) โดยเอเชียตะวันออกมีอัตราการเกิดโดยรวมในระดับภูมิภาคต่ำสุดอยู่ที่เพียง 1.2 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคน
- ประชากรโลกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และยังไม่ถึง 8 พันล้านคน โดยคาดการณ์ว่าอินเดียจะเผชิญกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในโลกระหว่างปี 2565 ถึงปี 2593 จาก 253 ล้านคนเป็น 1.67 พันล้านคน
- ภูมิภาคที่มีผู้สูงวัยมากที่สุดคือยุโรปใต้ โดยมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากถึง 22 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ ภูมิภาคที่มีเด็กและเยาวชนมากที่สุดคือแอฟริกากลางโดยประชากรอายุน้อยกว่า 15 ปีมีมากถึง 45 เปอร์เซ็นต์
กล่าวได้ว่า การเพิ่มขึ้นและลดของจำนวนประชากรทั่วโลกมีความสัมพันธ์อย่างยากจะแยกออกจากการพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากเป็นภาพสะท้อนที่ฉายให้เห็นถึงความไม่พร้อม ขาดไร้ประสิทธิภาพ หรือล้มเหลวของการจัดการและตั้งรับปรับตัวทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และโลก ในเรื่องสาธารณสุข การผลิตและการบริโภค และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ขณะที่อีกแง่หนึ่งก็เป็นโจทย์ท้าทายในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งภาคส่วนต่าง ๆ อาจต้องหันหน้ามาร่วมกันหาแนวทาง เป็นต้นว่าจะเลือกลดอัตราการตาย จะควบคุมอัตราการเกิด หรือจะทำให้อายุคาดเฉลี่ยของประชากรในประเทศเพิ่มขึ้นได้อย่างไร เพื่อรักษาสมดุลของการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพของทุกคน
อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Updates | การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร: หนึ่งปัจจัยสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
– การลดเงินอุดหนุนยารักษาโรคในเลบานอน ทำให้ค่ายาแพงและอาจมีจำนวนประชากรเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
– การคุมกำเนิดฟรี ทำให้การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและการทำแท้งในฟินแลนด์ลดลง
– การศึกษาพบว่า หากสหรัฐฯ ยุติบริการทำแท้งทั้งประเทศ การเสียชีวิตในหญิงตั้งครรภ์อาจสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 21%
– ข้อมูลการใช้ยาคุมกำเนิดที่หายไปช่วงโควิด-19 ทำให้ขาดข้อมูลอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงและอัตราการเกิดในอนาคต
– อัตราการเจริญพันธุ์ทั่วโลกลดลง และ 39 ประเทศรวมไทยจะมีประชากรในปี 2050 น้อยกว่าปัจจุบัน
– นโยบายใหม่ให้มีลูกได้ 3 คนของจีนเผชิญแรงต้าน เมื่อการมีลูกมีราคาแพงและผู้หญิงยังประสบกับความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศ
– SDG Recommends | Aging and the Labor Market in Thailand รายงานจากธนาคารโลกเผยว่า ไทยมีประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่คนส่วนมากยังยากจน
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพเเละความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573
– (3.7) สร้างหลักประกันถ้วนหน้า ในการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธ์ รวมถึงการวางแผนครอบครัว และข้อมูลข่าวสารและความรู้และการบูรณาการอนามัยเจริญพันธุ์ไว้ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี 2573
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา: World Population Data Sheet 2022 Highlights Excess Deaths Due to COVID-19 (IISD)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย