โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) โดยการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป เชิญชวนหน่วยงานและบุคคลที่สนใจทดลองใช้เว็บไซต์ Know More No More Violence ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้ ข่าวสาร และข้อมูลที่น่าสนใจ รวมถึงนำเสนองานวิจัย นโยบาย และแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันเหตุการณ์รุนแรงในประเทศ
เว็บไซต์ใหม่เอี่ยมดังกล่าวนับว่าเป็นช่องทางการศึกษาและสื่อสารที่มีฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลายและน่าสนใจ ดังนี้
- คลังความรู้: เป็นพื้นที่เรียนรู้ ทำความเข้าใจปัญหาและการป้องกันความรุนแรง ผ่านงานวิจัย กรอบนโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่น่าสนใจ ซึ่งรวบรวมมาจากเครือข่ายของ UNDP ทั้งในและต่างประเทศ ตัวอย่างสื่อความรู้ที่ปรากฏในฟังก์ชันนี้ อาทิ You Me We Us – นิทรรศการออนไลน์เรื่อง “เรา” ชาวชาติพันธุ์ในประเทศไทย และ ภาพยนตร์สารคดี ‘บ้านที่ไม่เคยได้กลับ’
- ข้อมูลและสถิติ: เป็นพื้นที่เผยแพร่และตีแผ่ความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงของสังคม โดยการรวบรวมสถิติจากศูนย์ติดตามเหตุการณ์อาชญากรรมความรุนแรง (MOVE) เบื้องต้นฟังก์ชันนี้ยังไม่มีตัวอย่างให้เข้าถึง
- กรอบและแนวนโยบาย: เป็นพื้นที่การเรียนรู้แนวทางและความสำเร็จของแผนปฏิบัติการระดับชาติ (National Action Plan – NAP) แนวนโยบาย และแนวปฏิบัติของประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง ตัวอย่างแผนที่ปรากฏในฟังก์ชันนี้ อาทิ แผนปฏิบัติการระดับชาติของประเทศแคนาดา
- เรื่องราวและกิจกรรม: เป็นพื้นที่สื่อสารและแบ่งปันประสบการณ์ เรื่องราว และกิจกรรมจากสมาชิกของ UNDP ซึ่งช่วยให้เข้าใจแง่มุมที่หลากหลายของปัญหาความรุนแรงจากทั่วโลก รวมไปถึงผลกระทบและแนวทางป้องกันแก้ไข ตัวอย่างเรื่องราวและกิจกรรมที่ปรากฏในฟังก์ชันนี้ อาทิ ถอดบทเรียน ‘National Dialogue’: อยู่อย่างเข้าใจและไม่ใช้ Hate Speech และ ‘Local Chef’s To Peace Project’ สร้างสันติ ‘ไทยพุทธ มุสลิม ไทยจีน’ ในชายแดนใต้ด้วยอาหารถิ่น
- ห้องสนทนา: เป็นพื้นที่แสดงความคิดและแบ่งปันความเห็น เพื่อมีส่วนช่วยป้องกันเหตุความรุนแรงในประเทศ โดยการใช้งานผู้ใช้จะต้องสมัครสมาชิกเพื่อสร้างห้องสนทนาและแสดงความคิดเห็น ตัวอย่างกระทู้ที่ปรากฏในฟังก์ชันนี้ อาทิ Do we have Buddhist Extremism in Thailand? และ Has polarization in Thailand resulted in hate speech spread through online media?
เว็บไซต์ Know More No More Violence ถือได้ว่าเป็นอีกก้าวสำคัญของการสื่อสารและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับสภาพปัญหาและแนวทางป้องกันความรุนแรงในสังคมไทย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ในทุกระดับ ทั้งในครอบครัว สถานศึกษา ที่ทำงาน และสถานที่สาธารณะ
ทั้งนี้ ในระยะเริ่มแรกของการเปิดตัวเว็บไซต์ดังกล่าว (จนถึงธันวาคม 2565) UNDP ยังคงจำกัดให้เข้าใช้ผ่านการเชิญเท่านั้น สำหรับหน่วยงานหรือบุคคลที่สนใจทดลองใช้เว็บไซต์สามารถติดต่อ UNDP ผ่านทางอีเมล arachapon.nimitkulpon@undp.org หรือ kansiree.sittipoonaegkapat@undp.org
●อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Updates | การลดอาวุธและการควบคุมอาวุธ: สันติภาพที่ซ่อนไว้ในการขับเคลื่อน SDGs
– SDG Recommends | 5 อินโฟกราฟิกเล่าสถานการณ์ “ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง” ในโลก 5 รูปแบบ
– “ความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ เป็นปัญหาสาธารณสุข” แนวทางระบบสุขภาพจึงมีบทบาทสำคัญเพื่อจัดการปัญหา
– ยิ่งอุณหภูมิโลกร้อนขึ้น ปัญหาสุขภาพจิตและการใช้ความรุนแรงจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น
– ไทยมีระดับ ‘สันติภาพ’ อยู่ในอันดับ 113 จาก 163 ประเทศ ตาม Global Peace Index 2021
– Stand to End Rape (STER) ต่อสู้กับความรุนแรงทางเพศในสถาบันอุดมศึกษาในไนจีเรีย ด้วยการเปลี่ยนแปลงระดับชาติ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการที่วัฒนธรรมมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.2) ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่รโหฐาน รวมถึงการค้ามนุษย์ การกระทำทางเพศ และการแสวงประโยชน์ในรูปแบบอื่น
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.2) ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก
แหล่งที่มา: Know More No More Violence (UNDP Thailand)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย
Last Updated on กันยายน 26, 2022