Site icon SDG Move

มหา’ลัยแมสซาชูเซตส์ ริเริ่ม ‘ติดฉลากคาร์บอน’ บนเมนูในโรงอาหาร อีกหนึ่งวิธีช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์

มหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์แอมเฮิร์สต์ (University of Massachusetts Amherst : UMass) ดำเนินการติดฉลากคาร์บอนแสดงปริมาณคาร์บอนไว้บนเมนูอาหารทุกรายการภายในโรงอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจของการขยายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2575 หรือ การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ โดยฉลากคาร์บอนจะช่วยให้นักศึกษาพิจารณารายการอาหารที่ตนเองซื้อได้ว่าจะสร้างปริมาณคาร์บอนเท่าใด เนื่องจากผลสำรวจพบว่าการผลิตอาหาร คิดเป็นอย่างน้อยหนึ่งในสี่ของการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว UMass จะกลายเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาที่สร้างความตระหนักถึงปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (carbon footprint) ที่ใช้บนรายการเมนูอาหาร

ฉลากคาร์บอน (carbon labelling) เป็นหนึ่งในตัวช่วยที่ทำให้ผู้บริโภครู้ว่าสินค้าที่ซื้อสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ซึ่งฉลากคาร์บอน จะแสดงข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ โดยแสดงผลอยู่ในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 equivalent) แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ฉลากบ่งชี้การปล่อยคาร์บอนต่ำ (low-carbon seal) ฉลากบ่งชี้ระดับการปล่อยคาร์บอน (carbon rating) ฉลากระบุขนาดคาร์บอน (carbon score) และฉลากชดเชยคาร์บอน (carbon offset/neutral) สำหรับฉลากคาร์บอนที่แสดงบนรายการอาหารของ UMass เป็นฉลากลักษณะบ่งชี้ระดับการปล่อยคาร์บอน 

ผลการสำรวจนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยในฤดูใบไม้ร่วงปี 2564 มากกว่า 800 คน พบว่านักศึกษาร้อยละ 88 ระบุว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศมีผลต่อการตัดสินใจในการเลือกซื้อ พร้อมทั้งเผยว่านักศึกษาตระหนักถึงความเชื่อมโยงกันระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบริโภคอาหารนักศึกษาร้อยละ 75 ระบุว่า อาหารที่เลือกรับประทานมีผลต่อการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และนักศึกษาร้อยละ 76 ระบุว่า การช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของแต่ละคนก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ UMass จึงพยายามสร้างกรอบการทำงานในการเลือกรับประทานอาหารอย่างมีสติ ซึ่ง UMass ตั้งเป้าหมายว่า นักศึกษาจำนวน 28,635 คน จะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นในการช่วยกำหนดทางเลือกต่อการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารได้

การติดฉลากคาร์บอนริเริ่มโครงการระยะแรกในช่วงสัปดาห์คุ้มครองโลก (Earth Week) มีการจัดระดับการปล่อยคาร์บอน ตั้งแต่ A ถึง E สำหรับรายการเมนูอาหารทั้งหมดของโรงอาหารในแมสซาชูเซตส์ (Hampshire Dining Commons) โดยจะมีฉลากบ่งชี้ระดับการปล่อยคาร์บอนไว้ทั้งบนเมนูอาหารทั่วไป เมนูอาหารออนไลน์ และเมนูอาหารบนแอปพลิเคชัน UMass Dining ซึ่งจะแสดงข้อมูลระบุปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของอาหารแต่ละจาน และข้อมูลกระบวนการต่าง ๆ ของการผลิตอาหารตั้งแต่การใช้น้ำ การจัดเก็บและการขนส่ง ทั้งนี้เพื่อสร้างวิธีการสื่อสารที่ชัดเจนและรัดกุมในการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค 

ภาพ : ฉลากบ่งชี้ระดับการปล่อยคาร์บอน (carbon rating) จาก wbur.org

ในการดำเนินโครงการนี้ UMass ได้ร่วมมือกับ My Emissions ผู้ให้บริการชั้นนำด้านฉลากคาร์บอนในอาหาร นำกระบวนการมาตรฐานและวิธีการที่ง่ายในการคำนวณระดับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ มาใช้ในการกำหนดมาตราส่วนการให้ระดับคะแนน การแยกองค์ประกอบสัดส่วนของคาร์บอน โดย My Emissions ได้พัฒนามาตราส่วนการให้ระดับคาร์บอนตั้งแต่ A ถึง E ซึ่งบ่งชี้ตามค่าความเข้มข้นของคาร์บอน เช่น ฉลาก “A” บ่งชี้การปล่อยคาร์บอนระดับต่ำ และฉลาก “E” บ่งชี้การปล่อยคาร์บอนระดับสูงมาก เพื่อแสดงให้ผู้บริโภคเห็นถึงผลกระทบต่อการเลือกซื้ออาหาร

Matthew Isaacs ผู้ร่วมก่อตั้ง My Emissions กล่าวว่า “การรับประทานอาหารคาร์บอนต่ำเป็นอีกหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ …ฉันหวังว่าการเปิดตัวฉลากคาร์บอนในสหรัฐอเมริกา จะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้บริโภคตัดสินใจในการเลือกซื้อที่ยั่งยืนได้มากขึ้น พร้อมเป็นแรงบันดาลใจให้สถาบันอื่น ๆ อีกหลายแห่งปฏิบัติตามได้ด้วยแนวทางของตนเอง”

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยหลายร้อยแห่งในสหรัฐอเมริกา นอกเหนือจาก UMass ก็ได้เริ่มตระหนักถึงปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เกิดขึ้นจากการผลิตอาหารและเตรียมแผนเริ่มปรับเปลี่ยนมาสร้างสรรเมนูอาหารจากพืชเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกันกับผู้ให้บริการด้านอาหารและสิ่งอำนวยความสะดวก โซเด็กซ์โซ่ (Sodexo) ที่เปิดเผยว่า เพื่อเร่งการลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์บริษัทได้กำลังศึกษาการเปลี่ยนแปลงเมนูอาหาร 42 เปอร์เซ็นต์เป็นอาหารมังสวิรัติ เพราะจากการศึกษาพบข้อมูลว่าการปล่อยมลพิษส่วนใหญ่มาจากอาหารประเภทเนื้อสัตว์และนม และด้วยมลพิษที่เกิดจากการผลิตอาหารส่งผลให้ปัจจุบันคนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจต่อการบริโภคอาหารมากยิ่งขึ้น

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
มนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จากหลากวิธี และ ‘ระบบอาหาร’ ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ทำให้โลกร้อนมากขึ้น
บริโภคผักนำเข้ายังยั่งยืนกว่าเนื้อสัตว์ผลิตในท้องถิ่น เพราะการขนส่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าการเลี้ยงสัตว์ 
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำฟาร์มทั่วโลก คุกคามความพยายามลดโลกร้อนตามความตกลงปารีส 
Carbon Footprint มหาศาลจากการขุด Bitcoin ทั่วโลก นำมาสู่การยกเลิกการชำระเงินซื้อ Tesla ด้วย Bitcoin 
SDG Updates | Plant-Based Diet กุญแจสำคัญเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของโลก 
SDG Updates | การเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศเยอรมนี และการถอดบทเรียนเพื่อสร้างการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (EP.13) 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย 
– (2.4) ทำให้เกิดความมั่นใจในระบบการผลิตอาหารและการปฏิบัติด้านการเกษตรที่ยืดหยุ่น เพื่อเพิ่มผลิตภาพผลผลิตและผลผลิตที่จะช่วยรักษาระบบนิเวศน์ที่จะเพิ่มความเข้มแข็งในศักยภาพในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ภูมิอากาศที่เลวร้าย, ความแห้งแล้ง, น้ำท่วม และความเสียหาย และเพื่อปรับปรุงคุณภาพดินและที่ดินอย่างก้าวกระโดด ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน 
– (12.3) ลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารจากระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี 2573
– (12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดภายในปี 2563
– (12.8) สร้างหลักประกันว่าประชาชนในทุกแห่งมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องและความตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า

แหล่งที่มา: 
UMass Becomes First US College To Start Carbon Labelling Cafeteria Meals – (Greenqueen)
UMass Dining Initiates Ground-Breaking Program to Measure Carbon Footprint for Individual Dishes – Amherst Indy 
ก่อนจะถึงจุดที่แก้ปัญหาโลกร้อนไม่ได้: สำรวจ 5 แนวทางภาครัฐ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก – (Thematter)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

Exit mobile version