Site icon SDG Move

บทบาทผู้ว่าฯ ในการขจัดขยะในทะเล จังหวัดตรัง

หากได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ดิฉันจะส่งเสริมประเด็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญในมิติสิ่งแวดล้อม (planet) ผ่านบทบาทผู้ว่าราชการจังหวัดที่ส่งเสริมการแก้ไขปัญหาขยะในทะเลของจังหวัดตรัง เนื่องจากดิฉันเล็งเห็นว่าพื้นที่ในจังหวัดตรังเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ที่สำคัญ และในแต่ละอำเภอนั้น มีประชาชนในท้องถิ่นทำอาชีพการประมงเป็นหลักเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าปัญหานี้สอดคล้องต่อวิถีการดำเนินชีวิตของคนในท้องที่นี้เป็นอย่างมาก โดยเรียงความชิ้นนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่ง ความเป็นมาของขยะในทะเล ส่วนที่สอง สถานการณ์ปัญหาขยะในทะเล และส่วนสุดท้าย คือการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการแก้ไขปัญหาขยะในทะเลของจังหวัดตรังผ่านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 14 โดยอาศัยบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด

ขยะทะเลเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญสำหรับด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก เนื่องจากมหาสมุทรและทะเลมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อวัฏจักรของสิ่งมีชีวิตบนโลก จึงเป็นสาเหตุในการมีความเกี่ยวข้องกับหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม กฎระเบียบ หรือกฎหมายระหว่างประเทศ โดยประเทศไทยมีพื้นที่ทะเลและชายฝั่ง คิดเป็นร้อยละ 60 ของอาณาเขตทางบก และครอบคลุม 23 จังหวัด แสดงให้เห็นได้ว่าปัญหาท้องทะเลไทยที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง เนื่องด้วยทรัพยากรทางทะเลที่สร้างประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต และการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศไทยต้องตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนอย่างมีนัยสำคัญ

ประการแรก คือความเป็นมาของขยะในทะเล ขยะในทะเล (marine debris) เป็นวัสดุแข็งที่ถูกทิ้งจากอุตสาหกรรมสู่สภาพแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งประกอบด้วยสิ่งของที่ถูกทำขึ้นหรือถูกใช้โดยมนุษย์ และทิ้งลงสู่ทะเล แม่น้ำ หรือบนชายหาด โดยสามารถพบได้ทุกพื้นที่ของทะเลทั่วโลก เนื่องจากขยะในทะเลสามารถถูกพัดพาไปได้ในระยะทางไกลที่ห่างจากแหล่งกำเนิด ด้วยกระแสน้ำในมหาสมุทรและกระแสลม ส่วนต้นกำเนิดของขยะในทะเลมาจาก 2 แหล่งสำคัญ คือ แหล่งที่หนึ่ง ต้นทางของขยะในทะเลที่อยู่บนแผ่นดิน ได้แก่ หลุมฝังกลบขยะชุมชนระบบการเก็บรวบรวม การขนย้ายขยะทั้งทางบก และทางน้ำ หรือแม้กระทั่งในช่วงฝนตกหนักสามารถพัดพาขยะลงสู่ทะเล และการผลิตการจัดการขยะมูลฝอยที่ไม่เหมาะสม แหล่งที่สอง ต้นทางของขยะในทะเลที่อยู่ในมหาสมุทร อาจมาจากทั้งในทะเลและชายฝั่ง เช่น การขนส่งทางเรือ เรือสำราญ เรือท่องเที่ยว การประมงทะเลและชายฝั่ง แท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ กิจกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, ม.ป.ป.) สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดภัยคุกคามเป็นวงกว้างต่อสัตว์ทะเล และระบบนิเวศทางทะเล จากการรวมกลุ่มของเศษพลาสติกขนาดใหญ่ ตัวอย่างเช่น มีขยะในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือซึ่งขยายไปถึงพื้นที่ผิวที่ใหญ่กว่าสเปนและโปรตุเกสรวมกันเสียอีก อีกทั้งความทนทานของพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ง่าย และสามารถคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายทศวรรษ เนื่องจากพลาสติกค่อย ๆ แตกตัวเป็นชิ้นเล็ก ๆ ที่เรียกว่า “ไมโครพลาสติก” จึงมักถูกสัตว์ทะเลกินเข้าไป จนสุดท้ายก็เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ที่เต็มไปด้วยสารอันตราย และสารเคมี (OceanCare, 2017, n.d.)

โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแบ่งผลกระทบของขยะทะเลได้ 3 ส่วน ได้แก่

ประการที่สอง คือสถานการณ์ปัญหาขยะในทะเล โดยสถานการณ์ปัญหาขยะในทะเลของประเทศไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากขยะพลาสติกที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธีและไหลลงสู่ทะเล โดยมีแหล่งกำเนิดจากบนบก ร้อยละ 80 และในทะเล ร้อยละ 20 โดยข้อมูลระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2562 มีปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนใน 23 จังหวัดชายฝั่งทะเลมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่การจัดการขยะมูลฝอยอย่างถูกต้องก็มีแนวโน้มดีขึ้นจากการนำกลับมาใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น ซึ่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในการกำหนดให้ปัญหาขยะมูลฝอย และขยะทะเลเป็นวาระแห่งชาติ แสดงให้เห็นได้จากการมีแผนบริหารจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นแผนปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559 – 2564) Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ. 2561 – 2573) และความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีกับ “แผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลปี พ.ศ. 2564 – 2568 (ASEAN Regional Action Plan for Combating Marine Debris, 2021 – 2025)” (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, ม.ป.ป.) ซึ่งแผนเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงการประสานงานความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันในหลายๆ ระดับ เพื่อตอบสนองการปกป้องสภาพแวดล้อมทางทะเลในการจัดการกับปัญหาขยะในทะเล จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกล่าวว่า “ในปีงบประมาณ 2564 ได้มีการดำเนินงานโครงการการจัดการขยะทะเลที่สามารถจัดเก็บขยะที่ตกค้างออกจากระบบนิเวศชายฝั่งทะเลได้รวมทั้งสิ้น 443,987 กิโลกรัม (ประมาณ 444 ตัน) รวมจำนวนขยะ 3,950,904 ชิ้น โดยองค์ประกอบของขยะตกค้างชายฝั่งที่พบมาก 10 อันดับแรก ได้แก่ ขวดเครื่องดื่มพลาสติก (ร้อยละ 13) ถุงพลาสติกอื่น ๆ (ร้อยละ 11) เศษโฟม (ร้อยละ 8) ขวดเครื่องดื่มแก้ว (ร้อยละ 8) ถุงก๊อปแก๊ป (ร้อยละ 8) ห่อ/ถุงอาหาร (ร้อยละ 7) เศษพลาสติก (ร้อยละ 6) เสื้อผ้า/รองเท้า/เครื่องประดับ/แว่นตา/สร้อยคอ (ร้อยละ 4) กล่องอาหาร/โฟม (ร้อยละ 4) และกระป๋องเครื่องดื่ม (ร้อยละ 3) รวมคิดเป็นร้อยละ 73 ส่วนที่เหลือเป็นขยะประเภทอื่น ๆ (ร้อยละ 27) และในจำนวนขยะตกค้างชายฝั่ง ที่เก็บได้ทั้งหมดนี้ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก (ร้อยละ 83) ” (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, ม.ป.ป.)

จังหวัดตรังตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย มีพื้นที่เลียบชายฝั่งทะเลตะวันตกของมหาสมุทรอินเดีย มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 4,917.519 ตารางกิโลเมตร มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นลําดับที่ 4 ของภาคใต้ และลําดับที่ 33 มีพื้นที่ชายฝั่งทะเลตลอดแนวเขตจังหวัดยาว 135.03 กิโลเมตร ประกอบไปด้วย เกาะน้อยใหญ่ จํานวน 54 เกาะ โดยมีเกาะที่สําคัญ เช่น เกาะลิบง ซึ่งเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เกาะมุก เกาะกระดาน จังหวัดตรัง โดยขอบเขตความรับผิดชอบเชิงพื้นที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในท้องที่จังหวัดตรัง มีทั้งสิ้น 28 ตําบล 5 อําเภอ คือ อําเภอสิเกา อําเภอกันตัง อําเภอย่านตาขาว อําเภอหาดสําราญ และอําเภอปะเหลียน เนื้อที่ 1,097,102 ไร่ (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2561, น.1-2) ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ที่สำคัญ เช่น พะยูน โลมา และเต่าทะเล เป็นต้น ซึ่งถูกขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และมี “มาตรา 23 การกำหนดมาตรการคุ้มครอง ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่มุ่งคุ้มครองประกอบด้วย หญ้าทะเล ปะการังธรรมชาติ ปะการังเทียม เกาะ ป่าชายเลน พื้นที่ปากแม่น้ำ พะยูน โลมา เต่าทะเล” (พื้นที่คุ้มครอง ทช. “ชายฝั่งจังหวัดตรัง”, ม.ป.ป.) 

ประการที่สาม คือการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการแก้ไขปัญหาขยะในทะเลของจังหวัดตรังผ่านเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 14 โดยอาศัยบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาจังหวัดและจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดร่วมกัน เนื่องด้วยจังหวัดเป็นระบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ที่ได้รับมอบอำนาจหน้าที่เป็นตัวแทนของราชการส่วนบริหารส่วนกลาง ซึ่งเป็นการบริหารราชการที่มีผลโดยตรงกับประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ และเป็นองค์การเชื่อมต่อระหว่างนโยบายของรัฐกับการบริการสาธารณะในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเชื่อมถึงประชาชน (พินิจ บุญเลิศ และคณะ, 2558, น.1290-1291) อย่างไรก็ดี หากดิฉันเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดจะเสนอการแก้ไขปัญหาตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 14 ดังนี้   

ในการจัดการขยะทะเลนั้น มีข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ (2560) “รายงานการเกิดปริมาณขยะในเขตจังหวัดชายฝั่งทะเล ของจังหวัดตรัง ในอัตรา 663 ตัน/วัน มีการกําจัดอย่างถูกต้อง 130 ตัน/วัน นํากลับมาใช้ประโยชน์ 299 ตัน/วัน มีปริมาณขยะกําจัดไม่ถูกต้อง 233 ตัน/วัน ทั้งนี้ ขยะบางส่วนอาจมีการรั่วไหลลงสู่ทะเลได้ ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้วิเคราะห์ข้อมูลแม่น้ำ ลําคลองที่ไหลลงสู่ทะเลของจังหวัด พบว่ามี 41 ลําน้ำ” (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, 2561, น. 133) จากข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นต่อการพัฒนาระบบขยะให้ดีขึ้นกว่าเดิม โดยดิฉันขอยกกรณีตัวอย่างการจัดระเบียบระบบขยะของประเทศสิงคโปร์และเกาหลีใต้ โดยสิงคโปร์ มีกลยุทธ์ระบบการจัดการขยะมูลฝอยที่ยั่งยืน (Sustainable solid waste management system) จากทุกภาคส่วน เช่น การเริ่มคัดแยกขยะต้นทางจากภาคประชาชน และใช้หลัก 3Rs ในการคัดแยกขยะ และการมีส่วนภาคเอกชนเป็นผู้รับสัมปทานดำเนินจัดการขยะ ส่วนภาครัฐภายใต้การควบคุมของหน่วยงาน Waste Management Departure สังกัด National Environment Agency (NEA) ทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (วนิดา เสริมเหลา และ ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวส, 2564, น.240) ส่วนเกาหลีใต้ เป็นประเทศที่มีการรีไซเคิลได้เป็นจำนวนมากที่สุด จากการจัดอันดับของ Eunomia Research and Consulting บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและสำนักงานสิ่งแวดล้อม แห่งยุโรป ในปีพ.ศ. 2561 ในภาคส่วนของรัฐบาลได้ “ออกกฎหมายการจัดการขยะ (Waste Control Act.) และ Act of Promotion of Saving and Recycling of Resources ที่มุ่งเน้นการจัดการ การใช้ซ้ำ และนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่อีกครั้ง รวมทั้งเป้าหมายการลดขยะพลาสติกลงร้อยละ 50 และรีไซเคิลร้อยละ 70 โดยอาศัยความร่วมกับทุกภาคส่วนในการดำเนินการให้สำเร็จภายในปีพ.ศ. 2573” โดยสามารถจำแนกการดำเนินการจัดการขยะของเกาหลีใต้ ได้ดังนี้ หนึ่ง การคัดแยกและลดขยะ ณ แหล่งกำเนิด สอง การควบคุมบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ สาม การตั้งศูนย์ในการใช้ซ้ำ และสุดท้าย สี่ การเก็บขนและการกำจัดขยะ (วนิดา เสริมเหลา และ ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวส, 2564, น.241)

อย่างไรก็ตาม ดิฉันมีความเห็นว่าจากที่ได้เสนอการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 14 ไว้ข้างต้นทั้งระบบการจัดการขยะ และการทำประมงตามฎหมายจะเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลในจังหวัดตรังได้ เนื่องจากทุกกิจกรรมของมนุษย์นั้นสร้างขยะในทะเลได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม หากแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ จะสามารถช่วยส่งเสริมการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล เพื่อรักษาทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่ง ในการฟื้นฟูดูแลหญ้าทะเล ปะการังธรรมชาติ ปะการังเทียม เกาะ ป่าชายเลน พื้นที่ปากแม่น้ำ พะยูน โลมา เต่าทะเล และสัตว์น้ำอื่น ๆ สามารถรักษาความอยู่รอด และลดไมโครพลาสติกที่สามารถพบในสัตว์ทะเล เพื่อป้องกันสารที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์จากการบริโภคได้ แม้ยังเป็นเพียงการคาดการณ์ในวงการวิทยาศาสตร์

โดยสรุปแล้ว เรียงความนี้ได้เสนอและส่งเสริมในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในจังหวัดตรัง ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ในการพัฒนา เพื่อการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่ของสัตว์ทะเลหายากใกล้สูญพันธุ์ที่สำคัญ และอาชีพการประมงเป็นสำคัญในท้องที่แห่งนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งปัญหานี้สอดคล้องต่อวิถีการดำเนินชีวิตของคนในท้องที่เป็นอย่างมาก จึงควรมีการส่งเสริมการแก้ไขปัญหาขยะในทะเลของจังหวัดตรังผ่านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 14  โดยอาศัยบทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อรักษาสภาพระบบนิเวศให้มีแนวโน้มในทิศทางที่ดีขึ้น จากการเริ่มแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ คือ การจัดระบบขยะจากความร่วมมือทั้งประชาชนท้องถิ่น และนักท่องเที่ยว และการให้ความรู้เกี่ยวกับการทำประมงอย่างถูกกฎหมายให้ประชาชนในจังหวัดตรังได้เข้าใจถึงข้อปฏิบัติต่างๆ ได้อย่างชัดเจน อันเป็นหนึ่งในฐานะพลเมืองโลกคนหนึ่ง

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี 2568
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563
– (14.4) ภายในปี 2563 ให้กำกับในเรื่องการเก็บเกี่ยวและยุติการทำประมงเกินขีดจำกัด การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และแนวปฏิบัติด้านการประมงที่เป็นไปในทางทำลายอย่างมีประสิทธิภาพและดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อจะฟื้นฟูมวลสัตว์น้ำ (fish stock) ในเวลาที่สั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อย่างน้อยที่สุดในระดับที่สามารถไปถึงระดับผลผลิตการประมงสูงสุดที่ยั่งยืน (maximum sustainable yield) ตามคุณลักษณะทางชีววิทยาของสัตว์น้ำเหล่านั้น


อ้างอิง :
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (2561). ข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดตรัง. https://dmcrth.dmcr.go.th/attachment/dw/download.php?WP=rUqjMT03qmEZG22DM
7y04TyerPMjBJ04qmIZZz1CM5O0hJatrTDo7o3Q
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (ม.ป.ป.). ความหมายของขยะในทะเล. https://km.dmcr.go.th/c_260/d_386
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (ม.ป.ป.). สถานการณ์ขยะทะเลปี พ.ศ. 2564. https://km.dmcr.go.th/c_260/d_19461
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (ม.ป.ป.). ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม. https://km.dmcr.go.th/c_260/d_398
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (ม.ป.ป.). ผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายาก. https://km.dmcr.go.th/c_260/d_19462
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. (ม.ป.ป.). ผลกระทบต่อระบบนิเวศแนวปะการัง. https://km.dmcr.go.th/c_260/d_19463
กองเกษตรสารนิเทศ. (ม.ป.ป.). กฎ IUU กับการประมงไทย. https://www4.fisheries.go.th/local/file_document/20170301102240_file.pdf
จังหวัดตรัง. (2565). แผนพัฒนาจังหวัดตรัง พ.ศ. 2561-2565 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565. https://ww2.trang.go.th/files/com_news_struct/2021-05_1fc7a7451d85cf5.pdf
วนิดา เสริมเหลา และ ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวส. (2564). ถอดบทเรียนความสำเร็จจากการจัดการขยะของ
ประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้และไต้หวัน. Journal of Modern Learning Development, 6(1), 240-241. https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jomld/article/download/247145/167860/871323
พวงทอง อ่อนอุระ. (2561). การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม
(IUU Fishing) ตามหลักการ แนวคิด และบทบัญญัติของตราสารระหว่างประเทศ. การประมง อิเล็กทรอนิกส์, 1(2), 86. https://www4.fisheries.go.th/local/pic_activities/202006181415191_pic.pdf
พินิจ บุญเลิศ และคณะ. (2558). บทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัดไทยในการบริหารการเปลี่ยนแปลง. สาขา มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ, 8(1), 1290-1291. https://he02.tci-thaijo.org/index.php/Veridian-E-Journal/article/download/32331/30163/82501
พื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง “ชายฝั่งจังหวัดตรัง”. (ม.ป.ป.). ความสำคัญของพื้นที่. https://projects.dmcr.go.th/miniprojects/174/description/48843
พื้นที่คุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง “ชายฝั่งจังหวัดตรัง”. (ม.ป.ป.). ข้อมูลเชิงพื้นที่. https://projects.dmcr.go.th/miniprojects/174/description/48939
OceanCare. (n.d.). Marine debris and the Sustainable Development Goals. https://www.oceancare.org/wp-content/uploads/2017/10/Marine_Debris_CMS.pdf

ผู้เขียน: พิชญ์สินี ศิริพันธ์
สถาบันการศึกษา: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ผลงานดังกล่าวเป็นผลงานจากการประกวดโครงการเขียนเคลื่อนโลกด้วย SDGs ภายใต้หัวข้อ “หากได้เป็นผู้ว่าฯ จะส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในจังหวัดตนเองอย่างไร” 

Author

Exit mobile version