สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอนและรวันดา ทุ่มงบประมาณพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพ หวังผลสัมฤทธิ์ที่สูงขึ้น เพิ่มการเข้าถึงแก่ทุกคน

ภายใต้สภาวะที่โลกต่างเผชิญวิกฤตค่าครองชีพ ราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นประกอบกับสงครามในยูเครน ส่งผลให้หลายประเทศมีแนวโน้มที่จะลดงบประมาณทางด้านการศึกษาลงเพื่อประหยัดเงินงบประมาณภายในประเทศและนำไปพยุงเศรษฐกิจ แต่ในทางกลับกัน สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอนและสาธารณรัฐรวันดา กลับมีแนวทางที่น่าสนใจในการลงทุนด้านการศึกษา โดยรัฐบาลของสาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน ได้ทุ่มงบประมาณกว่า 1 ใน 5 ให้กับด้านการศึกษา ส่วนสาธารณรัฐรวันดา ได้ส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาระดับประถมศึกษาให้มีมาตรฐานใกล้เคียงกับระดับสากล พร้อมทั้งมีการสร้างระบบวัดผลและปรับปรุงผลการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

ในสาธารณรัฐรวันดา เด็กเกือบทั้งหมดจะได้เข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษา แต่มีเด็กเพียง 1 ใน 10 เท่านั้นที่ได้เข้ารับการศึกษาระดับอุดมศึกษา ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลของรวันดา จึงเน้นสนับสนุนให้เด็กสามารถเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานในโรงเรียนได้อย่างน้อย 12 ปี การดำเนินการดังกล่าวใช้ดัชนีทุนมนุษย์ (Human Capital Index : HCI) ของธนาคารโลก เป็นกรอบการทำงานเพื่อจัดลำดับความสำคัญและแทรกแซงเพิ่มงบประมาณในการขยายสิทธิขั้นพื้นฐานการศึกษาให้ไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งพยายามพัฒนาระบบการศึกษาใหม่อย่างเต็มที่ โดยมีการประเมินการเรียนรู้ที่หลากหลาย รวมถึงมีการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในโรงเรียนของรวันดา (Learning Achievement in Rwandan Schools – LARS) ทุก ๆ สองปี แต่หลังจากมีเครื่องมือประเมินผลแบบดิจิทัลในปี 2563 คาดว่าจะดำเนินการประเมินผลเพื่อปรับปรุงการเรียนรู้ได้บ่อยยิ่งขึ้น 

ขณะที่ รัฐบาลเซียร์ราลีโอน ได้มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับดัชนีทุนมนุษย์ (HCI) ในด้านการศึกษา สุขภาพ และการเกษตร ซึ่งสาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน ได้จัดตั้งหน่วยงานการประเมินการเรียนรู้ระดับรัฐมนตรีและมีการวางแผนการประเมินโดยภาพรวมทั่วประเทศเป็นประจำ จากการศึกษาการวัดและประเมินความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้น (Early Grade Reading Assessment : EGRA) และการประเมินคณิตศาสตร์ชั้นต้น (Early Grade Mathematics Assessment : EGMA) ปี 2564 พบว่า การลงทุนงบประมาณด้านการศึกษาของรัฐบาลเซียร์ราลีโอน สามารถยกระดับประสิทธิภาพการศึกษาจากระดับต่ำสุดมาอยู่ที่ระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยได้ในรอบเจ็ดปี ซึ่งมีการลงทะเบียนเรียนเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 และมีจำนวนนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาในทุกระดับจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์

อย่างไรก็ตาม สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอนและสาธารณรัฐรวันดา ยังได้พยายามเร่งดำเนินการความก้าวหน้าด้านการศึกษาผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีผ่านช่องทางอื่น ๆ นอกเหนือจากการเรียนการสอนภายในห้องเรียน อาทิ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งสองประเทศได้สนับสนุนบทเรียนฟรีผ่านทางวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ และช่องทางออนไลน์ ทั้งนี้ สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอนและสาธารณรัฐรวันดาตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้โรงเรียนทั้งหมดเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน ได้มีการดำเนินการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเริ่มต้น 1,000 โรงเรียนแรกผ่านโครงการ GIGA Connect โดย UNICEF-ITU เพื่อให้เด็กและเยาวชนทุกคนได้เข้าถึงข้อมูล โอกาส และทางเลือกต่าง ๆ ขณะที่สาธารณรัฐรวันดาตั้งเป้าหมายว่าจะจัดให้มีห้องเรียนอัจฉริยะภายในปี 2566 

Hon Dr David Moinina Sengeh รัฐมนตรีกระทรวงการศึกษาขั้นพื้นฐานและมัธยมศึกษา สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน กล่าวให้การสนับสนุนว่า “ระบบการศึกษาของรัฐที่มีคุณภาพ เป็นวิธีที่จัดการปัญหาที่ดีที่สุดและใช้ได้ในระดับสากล เพื่อแก้ไขความท้าทายที่ยากจะคาดเดาบนโลกใบนี้”

เพราะการศึกษา ไม่ใช่เพียงเรื่องของการสร้างความรู้เพื่อนำไปประกอบอาชีพให้แก่บุคคลเท่านั้น แต่ยังมีส่วนช่วยให้ผู้คนได้เรียนรู้และตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องต่าง ๆ ทั้งการลดการปล่อยมลพิษทั่วโลก ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ การเสียชีวิตในเด็กและมารดา หรือแม้แต่อัตราการเกิดอาชญากรรม เช่นนั้นแล้ว ทุก ๆ ประเทศควรให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านการศึกษา และพร้อมสนับสนุนงบประมาณการลงทุนในเรื่องนี้ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไรก็ตาม เพื่อให้การศึกษาได้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระยะยาวและยั่งยืนจนถึงคนรุ่นต่อ ๆ ไป

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
รายงาน ILO ชี้ โควิด-19 เป็นเหตุให้ภาวะว่างงานเพิ่มสูงทั่วโลก อัตราเยาวชนไม่มีการศึกษาและไม่มีงานทำเพิ่มขึ้นกว่า 1.5 %
UN และพันธมิตรเปิดตัวแคมเปญ #LetMeLearn ก่อนการประชุมสุดยอดด้านการศึกษา – หลังพบว่าเด็ก 260 ล้านคนทั่วโลกไม่ได้เรียนหนังสือ
การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ESD) เป็นความเร่งด่วนสำหรับเด็ก แต่หลักสูตรการศึกษาในอาเซียนยังพัฒนาช้าเกินไป
สนับสนุนครูด้าน “สุขภาวะ-ทักษะความรู้-เทคโนโลยี” เพื่อเป็นกำลังสำคัญฟื้นฟูระบบการศึกษาหลังโควิด-19
SDGs in Focus for HLPF 2022: โลกหลังโควิดมีเด็กหญิงราว 11 ล้านคนเสี่ยงไม่ได้เรียน ต้องเร่งสร้างคุณภาพทางการศึกษาที่มีความเท่าเทียมทางเพศ 
ปรับโฉมการศึกษาในเอเชียเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงในอนาคต – สรุปการแสดงปาฐกถา โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.1) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิผล ภายในปี 2573
– (4.3) สร้างหลักประกันให้ชายและหญิงทุกคนเข้าถึงการศึกษาด้านเทคนิค อาชีวศึกษา อุดมศึกษา รวมถึงมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพในราคาที่สามารถจ่ายได้ ภายในปี 2573
– (4.5) ขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศด้านการศึกษา และสร้างหลักประกันว่ากลุ่มที่เปราะบางซึ่งรวมถึงผู้พิการ ชนพื้นเมือง และเด็ก เข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่างเท่าเทียม ภายในปี 2573
– (4.6) สร้างหลักประกันว่าเยาวชนทุกคนและสัดส่วนของผู้ใหญ่ในทั้งชายและหญิง สามารถอ่านออกเขียนได้และคำนวณได้ ภายในปี 2573
– (4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการที่วัฒนธรรมมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
– (4.b) ขยายจำนวนทุนการศึกษาทั่วโลกให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด รัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก และประเทศในแอฟริกา เพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา รวมถึงการฝึกอาชีพ และโปรแกรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านเทคนิค วิศวกรรม และวิทยาศาสตร์ ในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ภายในปี 2563
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.1) สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 2573
– (7.b) ขยายโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการจัดส่งบริการพลังงานสมัยใหม่และยั่งยืนให้โดยถ้วนหน้าในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ที่สอดคล้องกับโครงการสนับสนุนของประเทศเหล่านั้น ภายในปี 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม 
– (9.c) เพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสาร และพยายามที่จะจัดให้มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยถ้วนหน้าและในราคาที่สามารถจ่ายได้ ในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ภายในปี 2563
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา

แหล่งที่มา: How to prioritize education in a time of crisis –  (World Economic Forum)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น