Site icon SDG Move

‘Momternships’ โปรแกรมฝึกงานสำหรับคุณแม่ ที่ช่วยเตรียมพร้อมเริ่มต้นสู่การทำงานอีกครั้ง

การกลับไปสู่ตลาดการจ้างงานหลังจากที่เหล่าคุณแม่ทั้งหลายต้องลาออกจากงานเพื่อเลี้ยงลูก นับว่าเป็นอีกปัญหาที่สร้างความกังวลใจ ความกลัว และหลายครั้งก็ทำให้เหล่าคุณแม่เสียกำลังใจไปไม่น้อย MullenLowe ครีเอทีฟเอเจนซี่ด้านโฆษณาจากลอนดอนเปิดตัว ‘Momternships’ โปรแกรมฝึกงานใหม่สุดเจ๋งที่จะช่วยให้เหล่าคุณแม่ผู้ห่างหายจากการทำงานกลับมาเรียนรู้ และเริ่มทำงานใหม่ได้อีกครั้ง ผ่านการเข้าร่วมฝึกงานเป็นเวลา 10 สัปดาห์ โดยมีการให้คำปรึกษาพร้อมเป็นพี่เลี้ยงช่วยในการฝึกงาน การสอนงาน (coaching) การสร้างเครือข่าย และมีการฝึกอบรมในขณะปฏิบัติงาน (On the Job Training : OJT) เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจและคลายความกังวลให้เหล่าคุณแม่ก่อนกลับเข้าสู่โลกของการทำงานจริงอีกครั้ง 

ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามรายงานของ Deloitte พบว่า การจ้างงานในผู้หญิงลดลงอย่างรวดเร็วกว่าการจ้างงานในผู้ชาย โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ที่ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโรคระบาด เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้หญิงถูกจ้างงานลดลงถึงร้อยละ 17.9 ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์จนถึงเมษายน ปี 2563 ซึ่งเมื่อเทียบกับการจ้างงานในผู้ชายที่ลดลงร้อยละ 13.9 ซึ่งยังถือว่าน้อยกว่าผู้หญิง และหากดูตามดัชนีชี้วัดครอบครัวสมัยใหม่ประจำปีครั้งที่ 5 (Modern Family Index) จากการสำรวจของบริษัท Bright Horizons พบว่าพ่อแม่ที่ทำงานร้อยละ 72 เห็นด้วยว่า ผู้หญิงเหมือนถูกลงโทษในอาชีพการงาน เมื่อเริ่มต้นที่จะมีครอบครัวในขณะที่ผู้ชายส่วนใหญ่ไม่ประสบปัญหานี้ 

ครีเอทีฟเอเจนซี่อย่าง MullenLowe ร่วมมือกับชุมชนออนไลน์ของเหล่าคุณแม่ที่ทำงาน HeyMama ได้ศึกษาและเก็บข้อมูลจากประสบการณ์ทั้งในอดีตและปัจจุบันของเหล่าคุณแม่ที่ทำงานและได้รับผลกระทบจากการจ้างงานที่ไม่เหมาะสม นำมาพัฒนาโปรแกรมฝึกงานนี้ขึ้น ซึ่ง Momternships เป็นโปรแกรมฝึกงานที่จะช่วยเฟ้นหาเหล่าคุณแม่ เข้ามาสมัครรับการฝึกงานเป็นเวลา 10 สัปดาห์โดยได้รับค่าจ้าง ซึ่งจะช่วยหางานที่เหมาะสมและสร้างความเข้าใจให้แก่เหล่าคุณแม่ที่ลาออกจากงานเพื่อมาเลี้ยงลูกกลับมาเตรียมพร้อมและยอมรับต่ออุปสรรคในการเริ่มต้นอาชีพใหม่หรือเปลี่ยนอาชีพใหม่ได้อีกครั้ง โดยมีการให้คำปรึกษา มีการส่งเสริมการทำงานทางไกลจากทางบ้านหรือสถานที่อื่น ๆ (remote working) มีการฝึกอบรมวิชาชีพและเทคโนโลยี มีการส่งเสริมการทำงานแบบยืดหยุ่น (flexible hour) พร้อมมีการสนับสนุนการดูแลเด็กผ่าน UrbanSitter และสิทธิประโยชน์อีกมากมายที่จะช่วยให้การทำงานของเหล่าคุณแม่นั้นสะดวกยิ่งขึ้น 

โดยเหล่าคุณแม่ที่สมัครฝึกงานในโปรแกรม Momternships จะได้ฝึกงานในบริษัทเอเจนซี่แผนกต่าง ๆ ตั้งแต่แผนกกลยุทธ์การสร้างสรรค์งานโฆษณา แผนกทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources : HR) ไปจนถึงแผนกพัฒนาธุรกิจใหม่ โดยผู้สมัครไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์ทางด้านการโฆษณา และไม่จำเป็นต้องอธิบายถึงช่วงที่ว่างงานในการสมัคร ทั้งนี้ บริษัท MullenLowe จะเริ่มจ้างให้ผู้สมัครเข้ามาฝึกงาน 6 คนในสำนักงานสามแห่งของบริษัทในสหรัฐอเมริกา ในการทดลองทำงานโปรแกรมนี้ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถสมัครได้ผ่าน Momternships website

Kris Mangini Thompson หัวหน้าครีเอทีฟ (creative director) และผู้ก่อตั้ง Momternship ได้ประสบปัญหานี้ด้วยตนเอง เนื่องจากเมื่อหลายปีก่อนเธอได้หยุดพักการทำงานด้านโฆษณาเพื่อไปดูแลครอบครัว ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานเธอตัดสินใจลองสมัครงานใหม่ในตำแหน่งพนักงานทั่วไป (entry level) ในหลายบริษัท แต่ไม่ได้รับเลือกเนื่องจากมีคุณสมบัติเกินเกณฑ์ สิ่งนี้จึงจุดประกายให้คิดค้นโปรแกรมนี้ขึ้นมา

เธอกล่าวว่า “…ฉันคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราสามารถลบกรอบของคุณสมบัติและให้สร้างมันเป็นโอกาส ซึ่งแทนที่จะมองว่าคนผู้สมัครมีคุณสมบัติเกินเกณฑ์ ให้เรียกว่ามีคุณสมบัติที่เหนือกว่า”

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้หญิงจำนวนมากจะได้กลับเข้ามาในตลาดแรงงานแล้ว แต่ความเหลื่อมล้ำทางเพศยังคงอยู่ และความเหลื่อมล้ำนั้นไม่อาจลดน้อยถอยลงได้หากขาดการสนับสนุนโอกาสจากองค์กรต่าง ๆ  ในการจ้างงานให้แก่เหล่าคุณแม่ทุกคน เช่นนั้นแล้ว หวังว่าองค์กรต่าง ๆ จะร่วมช่วยกันสร้างงานและเพิ่มจำนวนคุณแม่ที่ยังคงต้องการทำงานไว้ในทีมของคุณ พร้อมสร้างความเติบโตทางการทำงานอย่างเท่าเทียมกันทุกคน 

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
‘Breast Place’ แผนที่แสดงสถานที่สาธารณะในเบลเยียม ที่คุณแม่สามารถให้นมลูกได้อย่างปลอดภัยและสบายใจ
‘The Mom Project’ ดิจิทัลแพลตฟอร์มที่จะช่วยให้คุณแม่ ได้กลับเข้าสู่โลกของการทำงานอีกครั้ง
การทำงานบ้านควรคิดเป็นเงินมูลค่าเท่าไร ? เมื่อผู้หญิงทั่วโลกยังคงเป็นฝ่ายรับผิดชอบงานส่วนใหญ่ในบ้าน
การลงทุนเพิ่มในระบบบริการดูแลเด็กให้มีค่าใช้จ่ายถูกลง จะช่วยเพิ่มรายได้ให้มารดาที่ต้องทำงานนอกบ้าน
งานวิจัยในสหรัฐฯ เผยระบบเศรษฐกิจแบบ ‘กิ๊ก’ ผู้ชายทำเงินได้มากกว่าผู้หญิงถึงร้อยละ 48 เกิดเป็นช่องว่างทางรายได้ที่ต่างกันเพราะเพศสภาพ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.4) ตระหนักและให้คุณค่าต่อการดูแลและการทำงานบ้านโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ผ่านการให้บริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการคุ้มครองทางสังคม และสนับสนุนความรับผิดชอบร่วมกันภายในครัวเรือนและครอบครัว ตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573

แหล่งที่มา:
MullenLowe Launches ‘Momternships’ for Moms Who Want to Return to Work – (Adweekspy)
MullenLowe introduces momternships to help women restart their careers – (TrendWatching ) 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

Exit mobile version