ปรีชญาณ์ นักฟ้อน
ปัญหา ‘ยาเสพติด’ นับเป็นปัญหาสาธารณะที่แต่ละประเทศให้ความสำคัญ และยังส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อสังคมบนฐานคติที่ว่า ยาเสพติดมักเป็นจุดเริ่มต้นของอาชญากรรมหรือก่ออันตรายต่อสังคมด้านต่าง ๆ รวมถึงเป็นสิ่งที่ขัดขวางการพัฒนาศักยภาพประชากรในประเทศ อย่างไรก็ดี การใช้ยาเสพติดนั้นมีสาเหตุความจำเป็นที่หลากหลาย เช่น ผู้จำเป็นต้องใช้ยาเสพติดเพื่อการรักษา ทำให้ปัจจุบันมีความพยายามเปลี่ยนมุมมองต่อผู้ใช้ยาเสพติดค่อยเปลี่ยนไปสู่การมองว่าผู้ติดยาเสพติดเป็น “ผู้ป่วย” ที่ต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา เยียวยา มากกว่าเป็น “ผู้ร้าย” ของสังคม
SDG Insights ฉบับนี้ชวนทำความรู้จัก การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด (harm reduction) แนวทางสำคัญที่จะสร้างความปลอดภัยแก่สังคมอย่างแท้จริง
01 – ลักษณะของปัญหาที่หลากหลายของผู้ใช้ยาเสพติด
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทุกสังคมทั่วโลก คือ การแพร่ระบาดของยาเสพติดในวงกว้างและต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน จนอาจกล่าวได้ว่า ยาเสพติดเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์ อันเนื่องมาจากเหตุผลและปัจจัยแวดล้อมรอบด้านที่ผลักดันให้คนในสังคมไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และไม่สามารถตัดขาดจากยาเสพติดได้ ส่งผลให้แต่ละประเทศกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการจัดการปัญหายาเสพติดของตนเองในแนวทางที่แตกต่างกันไปตามสถานการณ์และลักษณะปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งการเกิดกรอบความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาร่วมกันของนานาประเทศภายใต้ข้อกำหนดขององค์กรระหว่างประเทศที่ตนเองเป็นสมาชิก
อย่างไรก็ดี การกำหนดนิยามและขอบเขตของ “ยาเสพติดหรือสารเสพติด” ที่เป็นตัวปัญหาที่สำคัญของแต่ละประเทศนั้น แม้จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป แต่ยังคงมุ่งพิจารณายาหรือสารที่มีผลออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท อันก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย พฤติกรรม และเกิดอาการเสพติดในรูปแบบต่าง ๆ เป็นสำคัญ[1] ส่งผลให้ยาเสพติดหรือสารเสพติดมีความครอบคลุมยาและสารที่หลากหลายซึ่งล้วนแต่มีอันตรายหรือออกฤทธิ์ทางใดทางหนึ่งต่อผู้ใช้ โดยการกำหนดให้ยาเสพติดหรือสารเสพติดใดเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย ยาอันตราย ยาหรือสารควบคุม หรือยาเสพติดผิดกฎหมาย ย่อมเป็นอำนาจของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งประเทศส่วนใหญ่มักกำหนดให้การใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทหลายชนิดที่นอกเหนือจากประโยชน์ทางการแพทย์ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย[2] และจะนำไปสู่การกำหนดแนวนโยบายในการจัดการต่อสถานการณ์ปัญหาที่แตกต่างกันไป
ภาพจาก: recovery research institute
02 – แนวคิดการลดอันตรายกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด
ด้วยสถานการณ์ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดที่ทุกประเทศต่างทุ่มเททรัพยากรในการจัดการและควบคุมปัญหา โดยมุ่งลดปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดปัญหาบนพื้นฐานของแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ ทั้งฝั่งของผู้ผลิตและผู้ค้า (demand side) โดยการปราบปรามลงโทษโดยใช้กฎหมายเป็นหลัก รวมทั้งการลดจำนวนความต้องการหรือผู้ใช้ยาเสพติดในสังคม โดยใช้มาตรการการลงโทษ การบำบัดรักษา รวมทั้งการป้องกันมิให้เกิดผู้ใช้ยาเสพติดรายใหม่
แต่การดำเนินการที่ไม่สมดุลระหว่างสองแนวทางดังกล่าว ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นปัญหาในตัวเอง กล่าวคือ เมื่อมีการมุ่งเน้นการควบคุมปริมาณยาเสพติด กลับส่งผลให้กลไกราคาของยาเสพติดเพิ่มขึ้น และกลายเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตกล้าเสี่ยงที่จะผลิตและจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น เพราะต้องการผลตอบแทนจากการค้ายาเสพติดที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกันพบว่าการมีปริมาณยาเสพติดจำนวนมากและมีหลากหลายประเภทในสังคม ส่งผลให้ผู้ค้ายาเสพติดมุ่งแข่งขันเพื่อแย่งตลาดกันเองด้วยการกดราคายาเสพติดให้ต่ำลง และมีแนวทาง การจูงใจหลายรูปแบบต่อผู้ใช้ยาเสพติด ทั้งรายเก่าและรายใหม่
มุมมองต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดในลักษณะดังกล่าว จึงส่งผลให้เกิดการแก้ไขตรงจุดหนึ่ง แต่สภาพปัญหากลับไปโป่งอีกจุดหนึ่ง เสมือนหนึ่งการกดลงบนลูกโป่ง หรือที่เรียกว่าเกิด “Balloon Effect” กลับกลายเป็นวัฏจักรของปัญหาที่วนเวียนในสังคมโดยไม่มีจุดสิ้นสุด จึงเกิดแนวทางใหม่ที่เปลี่ยนมุมมองในการแก้ไขปัญหาโดยมองปรากฏการณ์ปัญหาในเชิงเศรษฐศาสตร์แบบเดิม มาเป็นการใช้มุมมองด้านสาธารณสุขในการแก้ไขปัญหาที่เรียกว่า “การลดอันตราย (Harm Reduction)” โดยมุ่งหวังให้ผู้ใช้ยาเสพติดมีอันตรายจากการใช้ยาหรือสารเสพติดลดลง ควบคู่กันไปกับการใช้แนวทางในการลดจำนวนผู้ใช้ยาเสพติดในด้านอุปสงค์แบบเดิม[3] เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับลักษณะของปัญหาที่แท้จริง เนื่องจากปัญหายาเสพติดมีความซับซ้อนเชื่อมโยงและสร้างผลกระทบต่อปัญหาอื่นทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ดังนั้น การกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาจึงจำเป็นต้องพิจารณาในทุกมิติ เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหารอบด้านและคำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลลัพธ์จากการดำเนินงานจริง
| แนวคิดการลดอันตราย หรือ Harm reduction
เริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายทศวรรษที่ 19 (ค.ศ.1970) และยอมรับกันในวงกว้างมากขึ้นใน ค.ศ.1980 โดยมุ่งเป้าหมายหลักในการป้องกันหรือลดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ด้านสุขภาพอันเนื่องมาจากพฤติกรรมการใช้ยาเสพติด มากกว่าการมุ่งเน้นเพียงการป้องกันการเข้าไปใช้ยาเสพติด ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยหลายประการทั้งปัจจัยส่วนตัว และปัจจัยแวดล้อมจากภายนอก หรืออาจกล่าวได้ว่าแนวคิดการลดอันตรายมุ่งเน้นการป้องกันอันตรายผู้ที่ใช้ยาเสพติดและการคำนึงถึงสิทธิพื้นฐานเป็นเป้าหมายสำคัญ นับเป็นการแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพเชิงบวกที่มีประสิทธิภาพ[4] โดยยังมิได้ให้ความสำคัญกับเป้าหมายให้ผู้ป่วยหยุดให้ยาเสพติดมากนัก อย่างไรก็ดี เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่า แนวทางที่ทำให้การลดอันตรายสมบูรณ์ คือ “การไม่มีอันตราย” (harmless) โดยมุ่งหาหนทางในการป้องกัน หรือลดการใช้ยาเสพติดในทุกระดับ
ทั้งนี้พบว่า การลดอันตรายเป็นประเด็นที่เริ่มถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวางเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV ในกลุ่มของผู้ใช้ยาเสพติดด้วยวิธีการฉีด โดยพบว่า ประเทศในยุโรปหลายประเทศได้มีการนำแนวคิดการลดอันตรายไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ฯลฯ[5]
นักวิชาการได้ให้คำจำกัดความของแนวทางการลดอันตรายในหลายรูปแบบ โดยคำจำกัดของ Harm Reduction International (2021) ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่า “การลดอันตราย คือ นโยบาย แผนงาน และแนวทางการดำเนินงานที่มุ่งลดผลกระทบเชิงลบด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ จากการใช้ยาที่มีผลต่อจิตประสาท ทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย โดยไม่จำเป็น ต้องลดการใช้ยา ซึ่งการลดอันตรายดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ใช้ยา ครอบครัว และสังคม”
การลดอันตรายมุ่งเน้นการกำหนดแนวทางเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาเสพติด โดยให้ผู้ใช้ยาเสพติดรับรู้ถึงเงื่อนไขในการใช้ยาเสพติดด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดการตระหนักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดอันตรายหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม[6] หรืออาจกล่าวได้ว่า การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดเป็นการทำให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นอันตรายลดลง ในขณะที่ยังไม่สามารถหยุดยาเสพติดได้ โดยมุ่งเน้นป้องกันมิให้เกิดอันตรายหรือผลกระทบเชิงลบทั้งต่อตัวเอง ครอบครัว และสังคม แต่มิใช่แนวทางที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ให้คนใช้ยาเสพติดเพิ่มขึ้น[7]
แนวทางการลดอันตรายอยู่บนพื้นฐานของการให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและสิทธิมนุษยชน โดยการกำหนดแนวทางการดำเนินงานควรยึดมั่นในหลักการพื้นฐานที่สำคัญ คือ
1) การเคารพสิทธิของผู้ใช้ยา โดยอยู่บนพื้นฐานของหลักการที่มุ่งปกป้องสิทธิความเป็นมนุษย์และการพัฒนาสุขภาพ โดยการดูแลผู้ใช้ยา ครอบครัว และชุมชน ด้วยความเมตตาและเคารพศักดิ์ศรีของทุกคน
2) การทำงานบนฐานของข้อมูลและหลักฐาน เพื่อเป็นการรับประกันว่า แนวทาง การลดอันตรายเป็นสิ่งที่ทำได้จริงในทางปฏิบัติ มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และมีความคุ้มค่า
3) การยอมรับกระบวนการยุติธรรมทางสังคมและเครือข่ายความร่วมมือของผู้ใช้ยาเสพติด เนื่องจากการกำหนดและพัฒนานโยบายตามหลักการลดอันตราย ควรมาจากการเปิดพื้นที่ในการพูดคุย แลกเปลี่ยน และเสนอความคิดเห็นระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละกลุ่มในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ใช้ยา ครอบครัว หรือชุมชนที่เกี่ยวข้อง ในฐานะของกลุ่มเป้าหมายหลักของนโยบาย
4) การหลีกเลี่ยงการตีตรา (stigma) ผู้ปฏิบัติงานด้านการลดอันตรายพึงต้องยอมรับผู้ใช้ยาตามลักษณะที่เขาเป็น และยินยอมที่จะพบพวกเขาในสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่ โดยไม่ตัดสินสิ่งที่เขาเป็น[8]
การลดอันตรายจึงเป็นชุดของแนวความคิดและกลยุทธ์การดำเนินงานที่มีเป้าหมายเพื่อลดทอนผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากการใช้ยาเสพติด อีกทั้งยังเป็นการปรับฐานคติของความยุติธรรมทางสังคมให้อยู่บนพื้นฐานของความเชื่อและการเคารพในสิทธิของผู้ใช้ยา โดยมุ่งแสวงหากลยุทธ์และแนวทางการดำเนินงานที่หลากหลายทั้งแนวทางการใช้ยาเสพติดที่ปลอดภัยกว่า การจัดการ การละเว้น การเข้าถึงสภาพแวดล้อมของผู้ใช้ยา และการจัดการกับเงื่อนไขในการใช้ยาเสพติดด้วยตัวผู้ใช้ยาเสพติดเอง[9] โดยการลดอันตรายเป็นแนวทางที่เน้น “การเอื้ออำนวย (facilitation)” มากกว่า “การบังคับ (coercion)” และอยู่บนพื้นฐานของความจำเป็นของแต่ละบุคคล โดยการลดอันตราย เป็นแนวทางที่ปฏิเสธการสร้างความเจ็บปวดและความเสียหายให้แก่ผู้ใช้ยา ภายใต้แนวทางการควบคุมและป้องกันปัญหายาเสพติด แต่เป็นแนวทางที่ตอบสนองการใช้ยาด้วยความเคารพและปกป้องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสาหรับทุกคนในทุกช่วงวัย และเป้าหมายที่ 16 มุ่งสร้างสังคมสงบสุขและการเข้าถึงความยุติธรรม
ทั้งนี้ แนวทางการลดอันตรายควรมุ่งออกแบบมาเพื่อดูแลหรือให้บริการต่อผู้ใช้ยาเสพติดตามความจำเป็นและความต้องการเฉพาะบุคคลและความต้องการของชุมชน โดยเน้นการปฏิบัติที่เข้าถึงตัวบุคคล คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน ความเข้าใจธรรมชาติของผู้ใช้ยาเสพติด บนพื้นฐานของคุณภาพชีวิต สุขภาพของบุคคลและชุมชน[10] ดังนั้น จึงเป็นการยากในการกำหนดแนวทางการดำเนินงานลดอันตรายที่เป็นสากลในทางใดทางหนึ่งเป็นการเฉพาะที่ชัดเจน สำหรับการกำหนดมาตรการหรือวิธีการดำเนินการใดตามแนวทาง การลดอันตรายนั้นต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ หรือผลการวิจัยรองรับว่าเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล คุ้มค่า ก่อให้เกิดผลดีกับผู้ใช้ยา ครอบครัว ชุมชน และสังคม โดยมาตรการลดอันตรายต้องกำหนดให้ครอบคลุมทั้งในประเด็นการให้ความช่วยเหลือให้ผู้ใช้ยาเสพติดสามารถควบคุมการใช้ยาเสพติดได้อย่างปลอดภัย รวมทั้งการช่วยเหลือให้ผู้ใช้ยาเสพติดสามารถตัดขาดจากยาเสพติดอย่างเด็ดขาด ซึ่งนับเป็นการลดอันตรายที่ดีที่สุด
เมื่อพิจารณาจากหลักการดังล่าวอาจกล่าวได้ว่า การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดเป็นมาตรการที่เปิดกว้างและมีความยืดหยุ่นในการดำเนินการ โดยยึดเป้าหมายเป็นสำคัญในการให้ลดปัญหาหรือภาวะเสี่ยงอันตรายจากการใช้ยาเสพติด รวมทั้งมุ่งหมายให้สามารถลดการแพร่ระบาด และการสูญเสียที่อาจเกิดกับตัวบุคคล ชุมชน และสังคม อันเกิดจากการใช้ยาเสพติด ทั้งนี้ วิธีการรักษาต้องยึดความพร้อมของผู้ป่วยเป็นพื้นฐานสำคัญ
03 – มุมมองต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคมไทย – จากสังคมปลอดยา (เสพติด) สู่สังคมปลอดภัย
แนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดของหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยมักมุ่งขจัดยาเสพติดให้หมดไปจากสังคมหรือการสร้างสังคมปลอดยาเสพติด (drug free society) ด้วยการบังคับใช้กฎหมายเป็นหลัก ทั้งการปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดในฐานะอาชญากร และแม้ว่าจะมีการปรับมุมมองต่อผู้ใช้ยาเสพติดว่าเป็น ‘ผู้ป่วย’ ซึ่งไม่ควรถูกลงโทษตามกฎหมาย แต่ยังคงมุ่งเน้นการนำผู้ใช้ยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาในรูปแบบต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายให้สามารถตัดขาดจากยาเสพติดได้หลังจากสิ้นสุดการบำบัดรักษาตามระยะเวลาที่กำหนด
แต่จากผลการดำเนินงานตามนโยบายดังกล่าวมักพบว่า ผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาจำนวนมากยังไม่สามารถตัดขาดจากยาเสพติดได้อย่างแท้จริง โดยยังคงมีจำนวนผู้กระทำผิดซ้ำและผู้เสพติดซ้ำจำนวนมากในแต่ละปี อันเนื่องมาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ทั้งลักษณะส่วนบุคคลของผู้ใช้ยาเสพติด ความไม่พร้อมด้านร่างกายและจิตใจในการตัดขาดยาเสพติดของผู้ใช้ยาเสพติดแต่ละรายที่มีสาเหตุแตกต่างกันไปตามประเภทของยาเสพติดที่ใช้ ระดับความรุนแรงของการเสพติด ลักษณะนิสัยส่วนบุคคล หรือทัศนคติส่วนบุคคลที่เห็นว่าการใช้ยาเสพติดของตนเองไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น (ไม่มองว่าตนเองเป็นผู้ป่วย หรือผู้ที่ต้องได้รับการดูแล) และสภาพแวดล้อมของชุมชนที่อยู่อาศัยที่มีการแพร่ระบาดของยาเสพติดเป็นจำนวนมาก ทำให้สามารถเข้าถึงยาเสพติดได้โดยง่าย ประกอบกับการชักชวนจากเพื่อนและบุคคลใกล้ชิด
อีกทั้งยังพบว่า การถูกตีตราจากสังคมทั้งในฐานะของผู้ใช้ยาเสพติดที่มีภาพลักษณ์ทางลบ ซึ่งแม้ว่าหน่วยงานภาครัฐจะมีความพยายามสร้างการรับรู้แก่สังคมโดยทั่วไปว่า ผู้ใช้ยาเสพติดคือผู้ป่วยที่ควรเข้ารับการบำบัดรักษา มิใช่อาชญากรที่ต้องถูกจำคุกเช่นในอดีต หากแต่การนำตัวผู้ใช้ยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาในรูปแบบต่าง ๆ จากหน่วยงานรัฐ (ยกเว้นการสมัครใจเข้ารับการรักษาด้วยตัวผู้ใช้ยาเสพติดเองหรือครอบครัว) นับเป็นการตีตราผู้ใช้ยาเสพติดว่าเป็นผู้ที่กระทำผิดกฎหมายหรือมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ แปลกแยก หรือเป็นคนไม่ดีในสังคม และก่อให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัวและรังเกียจจากประชาชนทั่วไป หรือแม้ว่าผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาไปแล้ว ก็ยังได้รับโอกาสจากสังคมไม่มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกอบอาชีพหรือการอยู่ร่วมกับคนในชุมชน อันเนื่องมาจากอคติและมุมมองต่อบุคคลเหล่านี้ ซึ่งมีภาพลักษณ์ของผู้ที่เคยกระทำผิด ทำให้ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ ประกอบกับปัญหาด้านเศรษฐกิจ ครอบครัว และสังคมอื่น ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่ผลักดันให้ผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษาหวนกลับใช้ยาเสพติดเช่นเดิม เช่นเดียวกับผู้ต้องขังที่กระทำผิดในคดียาเสพติดซึ่งมักไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมเมื่อพ้นโทษ ประกอบกับแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้กลับไปกระทำผิดซ้ำเมื่อกลับสู่สังคม ทั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าปัจจัยสำคัญประการหนึ่งมาจากมาตรการของรัฐในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดยังไม่มีความสอดคล้องกับลักษณะและบริบทของปัญหาที่แท้จริง[11]
อย่างไรก็ดี มุมมองในการปฏิบัติต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดโดยการบังคับใช้หลักกฎหมายเป็นหลักตามหลักการว่า พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งปวง ถือเป็นความผิดตามกฎหมายนั้น อาจได้รับการยอมรับและดำเนินการได้จริงในกลุ่มของผู้ค้าหรือผู้ผลิต แต่ถูกท้วงติงถึงการดำเนินงานต่อผู้ใช้ยาเสพติด ว่าเป็นแนวทางที่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงมากน้อยเพียงใด เนื่องจากการกำหนดแนวปฏิบัติต่อผู้ใช้ยาเสพติด มักขึ้นอยู่กับมุมมองที่มีต่อผู้ใช้ยาเสพติดในแต่ละสังคมว่าอยู่ในสถานะของอาชญากรที่ควรถูกลงโทษ ผู้ป่วยที่ควรได้รับการบำบัดรักษาหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติให้เป็นไปตามค่านิยมทั่วไปของสังคม หรือเป็นกลุ่มบุคคลที่มีลักษณะและพฤติกรรมส่วนบุคคล (ในการใช้ยาเสพติด) รูปแบบหนึ่งซึ่งไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ซึ่งมักสะท้อนให้เห็นจากข้อกฎหมายที่แต่ละสังคมกำหนดไว้เป็นสำคัญ
อีกทั้งยังพบว่า การดำเนินงานบำบัดรักษาในรูปแบบต่าง ๆ ที่ผ่านมา มุ่งเน้นให้เกิดการนำตัวผู้ใช้ยาเสพติดจำนวนมากเข้ารับการบำบัดรักษาในแต่ละช่วงเวลาตามรูปแบบกลางที่กำหนด ซึ่งไม่สอดคล้องกับลักษณะของผู้ป่วยยาเสพติดที่ส่วนใหญ่มีอาการเสพติดทางสมองที่ควรได้รับการดูแลรักษาทั้งทางกายและทางจิต โดยการประเมินลักษณะอาการส่วนบุคคลที่นำไปสู่การเลือกใช้รูปแบบหรือวิธีการรักษา รวมทั้งระยะเวลาในการบำบัดรักษาที่แตกต่างกันไป การมุ่งเน้นการบำบัดรักษาภายใต้ระยะเวลาที่กำหนดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเชิงปริมาณดังกล่าว จึงไม่ส่งเสริมให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงในด้านผู้เสพผู้ติด รวมทั้งการกำหนดเป้าหมายที่มุ่งเน้นจำนวนผู้ผ่านการบำบัดที่สามารถตัดขาดยาเสพติดได้ตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อสะท้อนความสำเร็จของการดำเนินงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบ จึงนับเป็นการกำหนดเป้าหมายที่ไม่ยืดหยุ่นและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาที่แท้จริงเช่นกัน
หากพิจารณาในรายละเอียดถึงการคงอยู่ในระบบการดูแลรักษา (retention) และความก้าวหน้าในการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม (behavior changing) ของผู้ใช้ยาเสพติดที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ประกอบกับการพิจารณาถึงเงื่อนไขและบริบทแวดล้อมของผู้ใช้ยาเสพติดแต่ละราย เพื่อปรับเปลี่ยนหรือสร้างแนวทางการจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมและนำไปสู่การลด ละ เลิก หรือตัดขาดจากยาเสพติดได้อย่างแท้จริงตามความพร้อมของผู้ใช้ยาเสพติดเป็นหลัก ย่อมเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับลักษณะปัญหาและเป้าหมายที่แท้จริงในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน คือ การดูแลช่วยเหลือผู้ใช้ยาเสพติด อันจะเป็นการป้องกันมิให้ผู้ใช้ยาเสพติด ครอบครัว ชุมชน และสังคมวงกว้าง ได้รับอันตรายหรือผลกระทบเชิงลบจากการใช้ยาเสพติดดังกล่าว
04 – การนำแนวทางลดอันตรายมาปรับใช้ในการดำเนินงานแก้ไขปัญหายาเสพติดของไทย
การแก้ไขปัญหายาเสพติดบนพื้นฐานของหลักการลดอันตราย ถือเป็นนโยบายการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์และลักษณะปัญหาที่แท้จริงของสังคม ทั้งนี้ การดำเนินงานต่อกลุ่มผู้ค้าหรือผู้ผลิตในสังคมทั่วไปยังคงเป็นการมุ่งเน้นการดำเนินงานตามาตรการทางกฎหมายเป็นหลัก เพื่อมุ่งหวังจะควบคุมปริมาณยาเสพติดในสังคม รวมทั้งการปราบปรามการก่ออาชญากรรมอันเนื่องมาจากอิทธิพลของผู้ค้าและผู้ผลิตอย่างจริงจัง ซึ่งมักมีการกระทำความผิดที่เป็นอันตรายต่อสังคมในลักษณะอื่นควบคู่ไปด้วย อย่างไรก็ดี พบว่ามีการนำแนวทางยุติธรรมทางเลือก (alternative justice) มาใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานเพิ่มเติมควบคู่กับการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ เพื่อลดทอนผลกระทบเชิงลบอันจะเกิดจากการลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งอาจเกิดต่อผู้กระทำผิดจนเกิดความจำเป็น หรือมากกว่าความผิดที่กระทำไป
ดังนั้น แนวทางการปรับเปลี่ยนฐานความคิดและมุมมองในการจัดการปัญหายาเสพติดบนพื้นฐานของหลักการลดอันตรายที่สำคัญจึงมุ่งเน้นไปที่การลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดเป็นหลัก โดยมีเป้าหมายในการจูงใจให้ผู้ใช้ยาเสพติดมีความสามารถในการจัดการกับความจำเป็นที่ต้องพึ่งพิงยาเสพติดของตนเองได้ โดยมิใช่เพียงหวังให้เกิดการเลิกใช้ยาเสพติดเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ การกำหนดนิยามเชิงปฏิบัติการของการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดที่ชัดเจนนับเป็นประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานลดอันตรายจากยาเสพติดที่เป็นรูปธรรม เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงานในลักษณะที่สอดประสานไปในทิศทางเดียวกัน โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อลดทอนปัญหาและผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากการใช้ยาเสพติด หรือสามารถกำหนดนิยามเชิงปฏิบัติการของการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดว่าหมายถึง
การแก้ไขปัญหายาเสพติดบนพื้นฐานของหลักการลดอันตรายมีเป้าหมายเพื่อมุ่งลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด ทั้งต่อตัวผู้ใช้ยาเสพติด บุคคลใกล้ชิด ชุมชน และสังคม บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนอันจะนำไปสู่การสร้างสังคมปลอดภัยจากปัญหายาเสพติด โดยมีแนวทางการดำเนินงาน[12] ดังนี้
1) การมุ่งเน้นการเข้าถึงผู้ใช้ยาเสพติด (reach) และจูงใจให้เข้ามาสู่การดูแล (recruit) จากหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ โดยความสมัครใจ เพื่อเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนผลักดันให้เกิดการยอมรับในแนวทางการปฏิบัติจากหน่วยงานที่ดูแลในด้านต่าง ๆ อย่างแท้จริง โดยควรผลักดันให้เกิดการค้นหาและจูงใจผู้ใช้ยาเสพติด ทั้งจากครอบครัวและชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานภาคประชาสังคม ซึ่งมีลักษณะและความสามารถในการเข้าถึงและสร้างความไว้วางใจให้แก่ผู้ใช้ยาเสพติดแต่ละกลุ่มแตกต่างกัน
2) การประเมินข้อมูลเพื่อคัดกรองผู้ใช้ยาเสพติด (screening) เมื่อสามารถจูงใจผู้ใช้ยาให้เข้ารับการดูแลอย่างเป็นทางการแล้ว ควรดำเนินการประเมินเพื่อจำแนกและคัดกรองผู้ใช้ยาเสพติดว่าควรได้รับบริการ หรือการดูแล หรือการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบใด โดยควรพิจารณาข้อมูล 3 ส่วนหลัก ได้แก่
- 2.1) ข้อมูลด้านลักษณะการเสพติด ซึ่งเป็นการประเมินทางการแพทย์ในการจำแนกระดับการเสพติดหรือภาวะพึ่งพิงยาเสพติดของแต่ละบุคคล ว่าอยู่ในระดับผู้ใช้ ผู้เสพ หรือผู้ติด รวมทั้งผู้ติดที่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย เพื่อกำหนดรูปแบบการดูแลบำบัดรักษาที่ตรงตามอาการและความจำเป็นของผู้ใช้ยาเสพติดแต่ละราย
- 2.2) ข้อมูลด้านสังคม เพื่อประเมินสถานะทางสังคมของผู้ใช้ยาเสพติด ทั้งเรื่องความสัมพันธ์กับครอบครัวและชุมชน การเรียนหรือการประกอบอาชีพ และการเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชน เพื่อกำหนดรูปแบบการดูแลบำบัดรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดการแทรกแซงการใช้ชีวิตในสังคมของผู้ใช้ยาเสพติด ซึ่งอาจกลายเป็นการตีตราและสร้างผลกระทบเชิงลบต่อผู้ใช้ยาจนเกินความจำเป็น และทำให้ผู้ใช้ยาเสพติดรายนั้นไม่สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้ตามเดิม
- 2.3) ข้อมูลทางกฎหมาย หรือการกระทำความผิดตามกฎหมายในลักษณะอื่น เพื่อทราบข้อมูลเกี่ยวกับการก่ออาชญากรรมของแต่ละบุคคล และนำไปสู่การดำเนินการตามความจำเป็นต่อพฤติกรรมที่เกิด เพื่อควบคุมอันตรายอันอาจเกิดจากบุคคลนั้นได้ ทั้งนี้ หากพบข้อมูลว่าผู้เข้ารับการคัดกรองมีพฤติการณ์หรือการกระทำผิดในลักษณะอื่นที่ก่อให้เกิดอันตรายหรือเป็นปัญหาต่อบุคคลอื่นและสังคม แต่มิใช่ความผิดในระดับร้ายแรงหรือความผิดอุกฉกรรจน์ อาจมีการนำแนวทางการดำเนินงานตามหลักยุติธรรมทางเลือก อาทิ การลงโทษทางการปกครอง หรือมาตรการทางสังคมมาบังคับใช้แทนการลงโทษทางอาญาได้ เพื่อมิให้เป็นการตัดโอกาสของผู้ใช้ยาเสพติดในการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของตนเอง
3) การจัดบริการหรือการดูแลผู้ใช้ยาเสพติด พิจารณาจากความจำเป็นและความพร้อมของผู้ใช้ยาเป็นหลัก ทั้งการให้บริการด้านความรู้และการสร้างทัศนคติที่เหมาะสมของผู้ใช้ยาเสพติด (knowledge & attitude) บริการด้านสุขภาพและสังคม (health & social service) รวมทั้งการบำบัดฟื้นฟูตามหลักทางการแพทย์และสาธารณสุข (Treatment and Rehabilitation Programs) ทั้งนี้ เป้าหมายของการให้บริการในด้านต่าง ๆ คือ การมุ่งเน้นการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด ทั้งในความเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต ปัญหาด้านสุขภาพกายและจิต รวมทั้งผลกระทบเชิงสังคม ทั้งที่เกิดต่อตัวผู้ใช้ยาเสพติดเอง บุคคลใกล้ชิด และชุมชนวงกว้าง โดยติดตามและประเมินผลได้จากการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม ทัศนคติ และการคงอยู่ในระบบของผู้ใช้ยาเสพติด โดยหากมีผู้ใช้ยาเสพติดรายใดที่มีความพร้อมและความต้องการในการเลิกใช้ยาเสพติด ควรสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการตัดขาดจากยาเสพติดอย่างเป็นรูปธรรม
อย่างไรก็ดี ด้วยลักษณะของการเสพติดและพฤติกรรมของผู้ใช้ยาเสพติดมีโอกาสกลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำ อันเนื่องมาจากเหตุปัจจัยแวดล้อมหลายประการ หน่วยงานดูแลยังควรให้การติดตามดูแลเพื่อสร้างความตระหนักและจูงใจให้ผู้ใช้ยาเสพติดยังคงให้ความสำคัญในการดูแลตนเอง และรับผิดชอบต่อคนรอบข้างและสังคม เพื่อมิให้ได้รับอันตรายหรือลดทอนความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ จากการกลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำของตนเอง ทั้งนี้ การมุ่งลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดทั้งกระบวนการ ย่อมเป็นการลดผลกระทบเชิงลบให้แก่ตัวผู้ใช้ยาเสพติดเอง ครอบครัวหรือคนใกล้ชิด ตลอดจนสังคมวงกว้าง ในทุกขณะที่ผู้ใช้ยาเสพติดอาจยังไม่สามารถตัดขาดจากยาเสพติดได้ โดยหากผู้ใช้ยาเสพติดรายใด มีความพร้อม และความมุ่งมั่นที่จะหยุดการใช้ยาเสพติด หน่วยงานทุกภาคส่วนพึงต้องให้การส่งเสริมสนับสนุน และพร้อมให้บริการเพื่อผลักดันให้ผู้ใช้ยาเสพติดรายนั้นสามารถตัดขาดจากยาเสพติดได้อย่างแท้จริง เพราะเป็นแนวทางที่ลดอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– UN เรียกร้องให้หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปิดศูนย์กักกันและบำบัดการใช้ยาเสพติดแบบบังคับ
– โควิด-19 เพาะเชื้อให้คนจำนวนไม่น้อยหันมาใช้ยาเสพติดมากขึ้น ส่วนคนขายปรับตัว ขายออนไลน์-ส่งไปรษณีย์
– รายงานฉบับใหม่ของ UNODC ชี้ยาบ้าในอาเซียนราคาถูกลง เข้าถึงง่ายขึ้น ส่งผลให้การค้าและเสพขยายตัวสูงต่อเนื่อง
– SDG Updates | ภาพรวมสถานการณ์ยาเสพติดโลกกับผลกระทบที่มีต่อ SDGs
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.5) เสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้สารในทางที่ผิดรวมถึงการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิดและการใช้แอลกอฮอล์ในทางที่เป็นอันตราย
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.3) สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าว
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง
– (16.8) ขยายและเสริมความแข็งแกร่งของการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาในสถาบันของธรรมาภิบาลระดับโลก
– (16.10) หลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ
– (16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง โดยรวมถึงกระทำผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา เพื่อป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม
– (16.b) ส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
อ้างอิง:
[1] Kleiman, Mark A.R., Caulkins, Jonathan P., and Hawken, Angela. (2011). Drugs and Drug Policy : what everyone needs to know. New York: Oxford University Press.
[2] มูฮัมมัดฟามีห์ ตาเละ และ รัศมน กัลป์ยาศิริ. (2563). กรอบของปัญหา. ใน สาวิตรี อัษณางค์กรชัย และ รัศมน กัลป์ยาศิริ (บรรณาธิการ), นโยบายสารเสพติดกัลบประโยชน์สาธารณะ (พิมพ์ครั้งที่ 2), (3-18). สงขลา: คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
[3] วรพล หนูนุ่น. (2556). “การลดอันตราย (Harm reduction) และแนวทางการลดอุปสงค์ (Demand reduction) ยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหายาเสพติดในประเทศไทย,” การพัฒนาสุขภาพชุมชน มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 1(3), 16.
[4] Harm reduction International. (2020). The Global State of Harm Reduction 2020 (7th edition). Retrieved from https://www.hri.global/files/2021/03/04/Global_State_HRI_2020_BOOK_FA_Web.pdf
[5] วรพล หนูนุ่น. (2556). “การลดอันตราย (Harm reduction) และแนวทางการลดอุปสงค์ (Demand reduction) ยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหายาเสพติดในประเทศไทย,” การพัฒนาสุขภาพชุมชน มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 1(3), 7.
[6] นวลตา อาภาคัพภะกุล. (2550). การลดอันตรายจากการใช้ยา. สงขลานครินทร์เวชสาร. ปีที่ 25 ฉบับที่ 1 (ม.ค.-ก.พ.).
[7] Harm Reduction Australia. (2016). Does harm reduction encourage drug use?. Retrieved from http://www.nswnma.asn.au/wp-content/uploads/2016/10/HRA-2016-Presentation-wide-format-Dorota-Sacha-Krol.pdf
[8] Harm reduction International. (2021). Harm Reduction. Retrieved from https://www.hri.global/what-is-harm-reduction
[9] National Harm Reduction Coalition. (2021). Principles of Harm reduction. Retrieved from https://harmreduction.org/
[10] เครือข่ายเพื่อนไทยลดอันตรายจากสารเสพติด. (2550). การประชุมสัมมนา ระดับชาติด้านการลดอันตรายจากสารเสพติด. สืบค้นจาก https://kb.hsri.or.th/dspace/handle/11228/2730?locale-attribute=th
[11] เกษมศานต์ โชตชาครพันธุ์, สืบสกุล เข็มทอง, และ ปรีชญาณ์ นักฟ้อน. (2558). ปัจจัยส่งผลต่อการกระทำผิดซ้ำในคดียาเสพติดและการพัฒนาคุณภาพชีวิต (รายงานผลการวิจัย). กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด.
[12] ปรีชญาณ์ นักฟ้อน, อานุภาพ รักษ์สุวรรณ, กฤษฎา พรรณราย, สุธินี อัตถากร และกานต์รวี วิชัยปะ. (2564). นวัตกรรมเชิงนโยบาย: การลดอันตรายจากยาเสพติด. กรุงเทพมหานคร: ศูนย์การพิมพ์แก่นจันทร์.
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย