Site icon SDG Move

สธ. ประกาศ ‘ทำแท้งได้ ’ ไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ อายุครรภ์ 12 – 20 สัปดาห์ เพื่อคุ้มครองสิทธิแม่และชีวิตของทารกในครรภ์

เมื่อวันที่ 27 กันยายน ที่ผ่านมา นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมากล่าวถึง ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ให้สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ถือเป็นความผิดทางอาญา แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดว่าหญิงที่ประสงค์จะยุติการตั้งครรภ์ต้องมีอายุครรภ์มาแล้วเกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ให้สามารถกระทำได้ตามที่เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 โดยจะมีผลบังคับเมื่อพ้น 30 วันนับตั้งแต่วันประกาศ

มาตรา 305 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2565 ระบุว่า หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ถือเป็นความผิดทางอาญา แต่หญิงนั้นต้องได้รับคำปรึกษาจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้หญิงนั้นได้รับข้อมูลที่รอบด้านก่อนการตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ จะมีการกำหนดขั้นตอนในการเข้ารับคำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งหญิงที่มีอายุครรภ์ตามเงื่อนไขสามารถแจ้งความประสงค์ต่อหน่วยบริการปรึกษาทางเลือก (ซึ่งกรมอนามัยจะประกาศรายชื่อให้ทราบต่อไป) เพื่อเข้ารับคำปรึกษาในการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งจะแจ้งผ่านช่องทางใดช่องทางหนึ่งก็ได้ โดยแจ้งด้วยตนเอง เป็นหนังสือ ทางโทรศัพท์ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ได้ตามความประสงค์

การยุติการตั้งครรภ์ต้องเป็นไปการตรวจวินิจฉัยอายุครรภ์ของหน่วยบริการปรึกษาทางเลือก ซึ่งหากพบว่า  

  1. อายุครรภ์ เกิน 12 สัปดาห์ แต่ ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ให้ดำเนินการให้คำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ได้ 
  2. ถ้าอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ แต่หากหญิงยืนยันจะยุติการตั้งครรภ์ ให้ดำเนินการเพื่อให้หญิงได้รับการยุติการตั้งครรภ์ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับแพทยสภา 
  3. อายุครรภ์เกิน 20 สัปดาห์ ให้หน่วยบริการปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ดำเนินการเพื่อให้หญิงได้รับการดูแลช่วยเหลือหรือได้รับการจัดสวัสดิการสังคมที่เหมาะสม แก่การตั้งครรภ์และเลี้ยงดูบุตรต่อไป
ภาพจาก : bbc

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “การให้คำปรึกษาทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ถือเป็นการส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงและชีวิตของทารกในครรภ์ อีกทั้งสร้างความมั่นใจต่อบุคลากรทางการแพทย์ในการให้บริการยุติการตั้งครรภ์โดยสมัครใจ ลดแรงจูงใจของผู้หญิงในการทำแท้งผิดกฎหมายด้วย” 

อย่างไรก็ตาม จากประกาศฯ ดังกล่าวที่ออกมาย่อมมีทั้งผู้ที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ซึ่งหากทบทวนอย่างถี่ถ้วนจะพบว่าในประเทศไทย มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ต้องประสบปัญหากับการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม (unplanned pregnancy) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยรุ่น ตามรายงานสังเคราะห์การวิเคราะห์สถานการณ์การตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในประเทศไทย ปี 2558 ของ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children’s Fund – UNICEF) พบว่า การตั้งครรภ์ในกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มสูงขึ้น แต่ในทางกลับกันการคุมกำเนิดกับลดลง ซึ่งอัตราเจริญพันธุ์ของวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 15-19 ปี ในประเทศไทย เพิ่มจาก 39.7 ต่อ 1,000 ในปี พ.ศ. 2539 เป็น 53.6 ในปี พ.ศ. 2554 และนอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสังเกต คือ ในปี พ.ศ.2556 มีการตั้งครรภ์ขึ้นในกลุ่มสตรีที่มีอายุระหว่าง 15-19 ปี จำนวน 129,541 คน และสตรีที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 3,725 คน ซึ่งนับว่าประเทศไทยมีอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี 

บนข้อคิดเห็นที่แตกต่างอาจต้องชวนสังคมหันกลับมาขบคิด พยายามทำความเข้าใจเหตุผลความจำเป็นคำนึงถึงความปลอดภัยในสุขภาพ และเคารพในการตัดสินใจด้วยตนเองของผู้หญิงบนพื้นฐานว่า “ไม่มีผู้หญิงคนไหนตั้งใจตั้งครรภ์ เพื่อมาทำแท้ง” การที่กฎหมายเปิดโอกาสให้ทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมายนั้นจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และบาดเจ็บจากการทำแท้งแบบผิดกฎหมายได้ อีกทั้งการยุติการตั้งครรภ์ภายใต้ขอบเขตและกระบวนทางการแพทย์ย่อมมีผลที่ดีกว่าสถานพยาบาลที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย การทำแท้งจึงมิใช่อาชญากรรม ผู้หญิงที่ต้องตั้งครรภ์อย่างไม่พร้อมมีสิทธิตัดสินใจบนร่างกายของตนเอง โดยผู้อื่นมิควรมาตีตราว่าเป็นความผิด ตราบใดที่อยู่ในขอบเขตที่กฎหมายนั้นรองรับ

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
การศึกษาพบว่า หากสหรัฐฯ ยุติบริการทำแท้งทั้งประเทศ การเสียชีวิตในหญิงตั้งครรภ์อาจสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 21%
การคุมกำเนิดฟรี ทำให้การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและการทำแท้งในฟินแลนด์ลดลง 
อัตราวัยรุ่นตั้งครรภ์ในสกอตแลนด์ ต่ำสุดในเกือบ 30 ปี เพราะความรู้วิธีคุมกำเนิดที่ดีขึ้นและไลฟ์สไตล์วัยรุ่นที่เปลี่ยนไป
นโยบายใหม่รัฐบาลฝรั่งเศสให้บริการคุมกำเนิดฟรีสำหรับหญิงอายุต่ำกว่า 25 ปี เพื่อช่วยลดภาระทางการเงิน 
SDG Recommends | #MyBodyisMyOwn เพราะสิทธิเหนือเรือนร่างและการตัดสินใจของผู้หญิงเป็นสิทธิมนุษยชน
SDG Updates | แก้กฎหมายอาญาเปิดทางให้ ‘ทำแท้ง’ถูกกฎหมาย มองมติของสภาผู้แทนฯ ผ่านเลนส์ SDGs 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.1) ลดอัตราการตายของมารดาทั่วโลกให้ต่ำกว่า 70 ต่อการเกิดมีชีพ 1 แสนคน ภายในปี 2573
– (3.7) สร้างหลักประกันถ้วนหน้า ในการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธ์ รวมถึงการวางแผนครอบครัว และข้อมูลข่าวสารและความรู้และการบูรณาการอนามัยเจริญพันธุ์ไว้ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.6) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิด้านการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า ตามที่ตกลงในแผนปฏิบัติการของการประชุมนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนา และปฏิญญาปักกิ่งและเอกสารทบทวนผลลัพธ์จากการประชุมเหล่านั้น

แหล่งที่มา: 
สธ.ประกาศแล้ว ตั้งครรภ์เกิน 12-20 สัปดาห์ ทำแท้งได้ ไม่ผิดกฎหมาย – (ไทยรัฐออนไลน์) 
สธ. ออกประกาศหลักเกณฑ์ให้คำปรึกษา ‘ยุติการตั้งครรภ์’ ไม่ผิดกฎหมาย เพื่อคุ้มครองส่งเสริมสิทธิแม่และเด็ก- (thestandard) 
รายงานสังเคราะห์การวิเคราะห์สถานการณ์การตั้งครรภ์ของวัยรุ่นในประเทศไทย | UNICEF Thailand  

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

Exit mobile version