เมื่อวันที่ 27-29 กันยายน 2565 Aspen International Mountain Foundation (AIMF) ร่วมกับรัฐโคโลราโด และสถาบันแอสเพน (Aspen Institute) จัดการประชุม Global Meeting of the Mountain Partnership ครั้งที่ 6 ที่รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา โดยมีสมาชิกของ Mountain Partnership จากหลายประเทศเข้าร่วม
การประชุมดังกล่าวถูกจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ ‘Mountains Matter: Ideas to Action/Building Alliances for Resilient Mountains’ โดยมุ่งอภิปรายถึงวาระการขยับขับเคลื่อน Mountain Partnership ไปข้างหน้าในการส่งเสริมให้ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภูเขาเป็นเรื่องสำคัญในเวทีระหว่างประเทศและการทำให้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ
สรุปการประชุมโดย Earth Negotiations Bulletin (ENB) พบว่า ภูเขาครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 27% ของพื้นที่แผ่นดินของโลก และช่วยให้การเอียงของแกนหมุนรอบตัวของโลกมีเสถียรภาพ ช่วยควบคุมสภาพอากาศและวัฏจักรของน้ำ (hydrological cycles) และสนับสนุนการดำรงชีวิตอยู่ของผู้คนหลายพันล้าน รวมถึงเป็นบริการทางระบบนิเวศ (ecosystem services) คือ ผลประโยชน์ที่มนุษย์ได้รับจากระบบนิเวศ เช่น ธรรมชาติของน้ำและป่าไม้ช่วยป้องกันการกัดเซาะของดิน การรองรับมลพิษ นอกจากนี้ยังพบว่า ภูเขาเป็นที่อยู่อาศัยและเป็นจุดเชื่อมโยงความหลากหลายทางชีวภาพประมาณครึ่งหนึ่งของโลก และภูเขายังมีบทบาทสำคัญในการผลิตพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม
อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบในทางลบต่อความมั่นคงด้านอาหาร การเกษตร และระบบนิเวศของการบริการทั่วภูมิภาคที่มีภูเขาหลายแห่งทั่วโลก นอกจากนี้การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ยังซ้ำเติมปัญหา หรือจุดอ่อนที่มีอยู่ขยายกว้างขึ้นอีกด้วย
ความสำคัญและความท้าทายที่ต่อภูเขาข้างต้น เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้สมาชิกของ Mountain Partnership ตกลงที่จะร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ภูเขาอย่างยั่งยืน จัดการกับความท้าทายซึ่งประเทศที่มีภูเขาต้องเผชิญในการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมความเชื่อมโยงกับสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และกระบวนการอื่น ๆ ซึ่งในช่วงท้ายของการประชุม ผู้เข้าร่วมได้รับรองปฏิญญาแอสเพน (Aspen Declaration) ที่อธิบายถึงบทบาทสำคัญของระบบนิเวศบนภูเขาในการเป็นแหล่งของทรัพยากรและบริการระบบนิเวศที่สำคัญ เช่น น้ำ อาหาร และความหลากหลายให้กับโลก รวมทั้งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากร 1.1 พันล้านคน โดยเน้นย้ำถึงความเปราะบางและความจำเป็นในการปกป้องระบบนิเวศบนภูเขา
คำมั่นสัญญาที่สมาชิกของ Mountain Partnership ให้ร่วมกัน อาทิ
- เพิ่มความพยายามในการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสร้างความสามารถในการตั้งรับปรับของตัวระบบนิเวศภูเขาและชุมชนซึ่งจะทำให้โลกเกิดความยั่งยืนมากขึ้น
- ระดมความร่วมมือจากประเทศที่มีพื้นที่ภูเขาเพื่อ “ร่วมกันทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์” กับกระบวนการพหุภาคีขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงการติดตามการดำเนินการตามผลลัพธ์ที่สำคัญ เช่น กรอบความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกหลังปี 2563 ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD)
- ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีพื้นที่ภูเขาในด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม การท่องเที่ยว วิทยาศาสตร์ และการศึกษา เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
- สนับสนุนความพยายามอย่างต่อเนื่องในการคิดค้น “วิธีการที่มีผลผูกพันประเทศทั่วโลกในการต่อสู้กับมลพิษขยะพลาสติก”
- ส่งเสริมความพยายามแก้ไขปัญหาที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดความเปราะบางอันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครอบคลุมถึง ความยากจน การอาศัยในพื้นที่ชายขอบ การกีดกันจากโครงข่ายรองรับทางสังคม (social safety nets) และความไม่เท่าเทียมทางเพศ
การประชุมครั้งนี้นับว่าเป็นอีกความก้าวหน้าของความพยายามผลักดันให้เกิดการตระหนัก รับรู้ และหาแนวทางร่วมกันในการจัดการและคุ้มครองระบบนิเวศภูเขา สำหรับประเทศไทยซึ่งมีภูเขากระจายอยู่ในทั่วทุกภูมิภาค ปัจจุบันกำลังเผชิญกับการตัดไม้บนภูเขาจนนำมาสู่ปัญหา “ภูเขาหัวโล้น” ส่งผลกระทบต่อป่าต้นน้ำ ผู้คน และสิ่งมีชีอื่นอื่น ๆ อย่างมาก การตระหนักและจริงจังกับการจัดการภูเขาเพื่อตอบสนองให้เกิดความยั่งยืนจึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญของประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย
●อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คุกคามระบบผลิตอาหารที่เก่าแก่ของชนพื้นเมืองทั่วโลก
– รายงานสังเคราะห์ของ UNEP เผยภูมิภาคทั่วโลกเห็นร่วมหาทางยุติการฆ่าล้างสิ่งแวดล้อม พร้อมผลักดันให้รับรองสิทธิ์ของธรรมชาติไว้ในกฎหมาย
– 7 ข้อเรียกร้องจาก‘สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ’ ถึง รมว.ทรัพยากรฯ หวังนำเรื่องเข้าที่ประชุมเอเปคป่าไม้
– พื้นที่ป่ามรดกโลก 257 แห่ง ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ไว้มากถึง 190 ล้านตันต่อปี
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.9) ออกแบบและใช้นโยบายที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่จะสร้างงาน และส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ภายในปี 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.8) สร้างหลักประกันว่าประชาชนในทุกแห่งมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องและความตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินรวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา และเขตแห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2563
– (15.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ระบบนิเวศภูเขาและความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศเหล่านั้น เพื่อจะเพิ่มพูนขีดความสามารถของระบบนิเวศเหล่านั้นที่จะให้ผลประโยชน์อันสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
– (15.5) ปฏิบัติการที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และภายในปี 2563 ปกป้องและป้องกันการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม
– (15.9) บูรณาการมูลค่าของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพเข้าไว้ในการวางแผน กระบวนการพัฒนารายงานและยุทธศาสตร์การลดความยากจน ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ภายในปี 2563
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
แหล่งที่มา: Global Partnership Promotes Sustainable Mountain Development
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย