อ.ดร.ลดาวัลย์ ไข่คำ
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดของประเทศไทย ภายใต้กระทรวงมหาดไทย (ไม่รวมกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ) ร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติ และพันธมิตรในการลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน เพื่อสนับสนุนความมุ่งมั่นของประเทศต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) สร้างความตระหนักในการพัฒนาที่ยั่งยืนและเสริมสร้างขีดความสามารถภายในจังหวัดของตนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 และแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) พ.ศ. 2564-2570 [I] การลงนามประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญที่การบริหารราชการระดับภูมิภาครับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้ข้าราชการในส่วนภูมิภาคได้เข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับความสำคัญของ SDGs และส่งเสริมให้พวกเขามีส่วนร่วมในการตอบสนองต่อเป้าหมายอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม
แท้จริงแล้ว การลงนามดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า SDGs กับการเมืองนั้นไม่สามารถแยกออกจากกันได้ และผู้ว่าราชการจังหวัด (ผู้ว่าฯ) คือผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้ SDGs สามารถบรรลุได้ภายในปี 2573 เราอาจทำความเข้าใจการลงนามในประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าวได้ในแง่ของการสร้างสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ (SDG16) และการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนที่หลากหลายระหว่างรัฐบาลระดับภูมิภาค (SDG17) องค์การสหประชาชาติและพันธมิตร ดังที่ปรากฏในการริเริ่ม Local Authorities Major Group (LAMG) ตั้งแต่ปี 2547 เพื่อสร้างเครือข่ายตัวแทนของรัฐบาลท้องถิ่นและระดับย่อยจากทุกทวีปทั่วโลก เพราะหน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคเป็นขอบเขตของรัฐบาล ที่มีบทบาทโดยตรงในการรับผิดชอบการให้บริการสาธารณะพื้นฐาน (public services) การวางผังเมือง การให้บริการสังคมและสุขภาพ การศึกษา การประปา การพัฒนาธุรกิจ รวมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อม ตามที่ 28 ของแผนปฏิบัติงาน 21 [II] (Agenda 21) [1] เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการกระจายอำนาจ (decentralization) และหลักการปกครองตนเอง (local self-government)
นอกจากนี้ รายงาน Local Support for Global Challenges [2] ให้ความสำคัญกับอำนาจของหน่วยงานปกครองระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่นต่อการบรรลุ SDGs เพราะหน่วยงานเหล่านี้ล้วนเป็นกุญแจสำคัญในการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายจากด้านล่างขึ้นสู่ด้านบน (bottom-up dynamics) ซึ่งช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกที่ยั่งยืนได้ การมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันของหน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่นส่งเสริมให้โลกบรรลุ SDGs ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ภายในปี 2573 ในหลายด้าน เช่น ความยากจน และความหิวโหย บทบาทนี้ยิ่งตอกย้ำความสำคัญของเมืองและชุมชนที่ยั่งยืนซึ่งเกี่ยวข้องกับหน่วยงานท้องถิ่นโดยตรง (SDG 11) ซึ่งความรับผิดชอบของหน่วยงานระดับภูมิภาคในตัวมันเองล้วนแต่มีเป้าหมายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประชาชนทุกคน [3]
ภาพจาก VVSG
จุดเด่นของหน่วยงานปกครองระดับภูมิภาคกับการตอบสนองต่อ SDGs
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการทางการเมืองในหลายระดับ ตั้งแต่การเมืองระดับท้องถิ่นไปจนถึงการเมืองในระดับโลก รัฐบาลเป็นผู้กำหนดเป้าหมายของนโยบายในระดับชาติ และวิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น นอกจากนี้ รัฐยังต้องอาศัยปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและกลุ่มต่าง ๆ มากมาย เช่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมที่ช่วยก่อให้เกิดการตัดสินใจในระดับรัฐบาล กลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลายเป็นภาพสะท้อนต่อนโยบายของรัฐ และมีบทบาทในการตรวจสอบเครื่องมือและเป้าหมายของนโยบายเหล่านั้น ภายใต้การถกเถียงทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพลวัต [4]
หน่วยงานปกครองระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่นมีจุดเด่นสำคัญที่รัฐบาลกลางไม่มีคือการเป็นองค์กรขนาดเล็ก ๆ ที่ทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด และต้องทำงานเพื่อตอบสนองต่อชีวิตของผู้คนมากกว่าครึ่งของจำนวนประชากรโลกที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ความรับผิดชอบเหล่านี้มาพร้อมกับอำนาจและความรับผิดชอบในด้านต่างๆ เช่น การบรรเทาผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงาน การจัดการของเสีย เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา การขนส่ง การใช้ที่ดินและการวางแผน การผลิตอาหารและความมั่นคง การขนส่ง การจัดการน้ำและสุขาภิบาล การคุ้มครองและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ขณะที่การขยายตัวของเมืองหรือการทำให้เป็นเมือง (urbanization) และการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น UN Habitat [5] คาดการณ์ว่าการขยายพื้นที่เข้าสู่เขตเมืองมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 56 ในปี 2564 เป็นร้อยละ 68 ในปี 2593 ส่งผลให้มีประชากรย้ายถิ่นฐานจากพื้นที่ชนบทสู่เมือง ทำให้มีประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองเพิ่มขึ้น 2.2 พันล้านคน นำมาซึ่งการใช้ทรัพยากรในเขตเมืองอย่างมหาศาล ส่งผลโดยตรงต่อการอพยพย้ายถิ่น การขาดแคลนอาหาร ความยากจน ความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม มลภาวะ และสภาวะโลกร้อน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 21 [6]
เมืองจึงเป็นความหวังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับอนาคตที่ยั่งยืน เพราะเมืองเป็นพื้นที่ที่ดีที่สุดสำหรับหน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคในด้านการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ มาตรฐาน และโครงการต่างๆ เพื่อจัดการบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่เหมาะสม การรับมือกับอุปสรรค และตอบสนองต่อชีวิตของผู้คน หน่วยงานปกครองระดับภูมิภาคและท้องถิ่นจึงสำคัญและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยตรง ขณะเดียวกัน การบริหารราชการระดับภูมิภาคมีโอกาสมากมายที่จะใช้นโยบายที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาที่ยั่งยืนในเมืองและภูมิภาค สามารถนำไปสู่การขจัดความยากจนขั้นรุนแรง กระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ในเมือง วัฒนธรรมและความหลากหลาย ทำให้บริการสาธารณะเข้าถึงได้มากขึ้น เพิ่มการรวมตัวทางสังคม ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพลเมือง ส่งเสริมการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน และลดความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ [7]
ดังนั้น บทบาทของหน่วยงานปกครองในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของรัฐบาลและการเมืองในระดับอื่นๆ จึงเป็นที่ยอมรับในการประชุมระหว่างรัฐบาล รวมถึงได้ระบุไว้ในย่อหน้า 42 ของเอกสาร “อนาคตที่เราต้องการ” (“The Future We Want”) ของผลการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (United Nations Conference on Sustainable Development: UNCSD) จัดขึ้นที่กรุงรีโอเดจาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิลในปี 2555 ซึ่งล้วนแต่เป็นการรับรองบทบาทสำคัญของหน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับโลกในการตอบสนองต่อ SDGs เพื่อให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2573
ข้อจำกัดของผู้ว่าราชการจังหวัดต่อการตอบสนองต่อ SDGs
ผู้ว่าฯ ทุกท่านที่ลงนามในประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืนถูกคาดหวังให้เป็นผู้นำการจัดทำแผนปฏิบัติการและขับเคลื่อนในพื้นที่ สามารถสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อมโลกซึ่งเน้นไปที่การให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ยั่งยืน แม้ว่าหน่วยงานปกครองระดับภูมิภาคและท้องถิ่นมีข้อได้เปรียบคือการทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด แต่ผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นผู้บริหารหน่วยงานปกครองในระดับภูมิภาคกลับต้องเผชิญกับข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคในการบรรลุ SDGs ได้แก่ ข้อจำกัดในอำนาจและหน้าที่ ข้อจำกัดในเขตการปกครองและวาระการดำรงตำแหน่ง และข้อจำกัดในการจัดสรรงบประมาณ ดังนี้
1. ข้อจำกัดในอำนาจและหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด
โดยตำแหน่งแล้วนั้น ผู้ว่าฯ ได้รับการแต่งตั้งตามข้อเสนอของปลัดกระทรวงมหาดไทย ในการจัดวางกําลังคนหรือนักบริหารในสายราชการกระทรวงมหาดไทยลงไปในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นผู้นำที่สำคัญในการขับเคลื่อนบริหารจัดการงานทุกด้านของรัฐบาล และทำหน้าที่ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ให้แก่ประชาชนในพื้นที่มายาวนานกว่า 130 ปีของการปกครองส่วนภูมิภาคของไทย [8] แม้ว่าจะเป็นผู้ปกครองสูงที่สุดในจังหวัดนั้น ๆ แต่เนื่องจากผู้ว่าฯ ถูกส่งมาจากส่วนกลาง การบริหารงานจึงยังคงต้องตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลส่วนกลาง ทำให้ผู้ว่าฯ ไม่มีอิสระในการริเริ่มนโยบายที่แตกต่าง และไม่มีอำนาจในการออกกฎหมายเฉพาะได้เอง นอกจากนี้ ในแต่ละจังหวัดมีความเปราะบางที่แตกต่างกันซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ไม่เหมือนกัน เช่น ความหลากหลายของประชากร ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ รวมทั้งความสัมพันธ์ทางการเมืองในภูมิภาคนั้น ส่งผลให้แต่ละจังหวัดมีความสามารถในการตอบสนองต่อ SDGs ในระดับที่แตกต่างกัน
ตัวอย่างข้อจำกัดในอำนาจและหน้าที่ของผู้ว่าฯ ที่เห็นได้ชัดคือ การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเพื่อการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตจนถึงการกำจัด ปี 2558 คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบใน ยุทธศาสตร์การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เชิงบูรณาการ พ.ศ. 2557-2564 เพื่อใช้เป็นกรอบนโยบายการบริหารจัดการซากผลิตภัณฑ์และอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง โดยให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยตรง แต่ยังคงมีความยุ่งยาก ลำบาก และทับซ้อนกันในการบังคับใช้กฎหมาย [9]
ในปี 2547 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความพยายามในการยกร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์อื่น พ.ศ…… ประกอบด้วยการเพิ่มหลักเกณฑ์การจัดระบบรับคืน การรีไซเคิล และการกำจัดซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในชุมชนตามหลักการ “หลักการขยายขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ผลิต” (Extended Producer Responsibility: EPR) กำหนดความรับผิดชอบของ อปท. ในพื้นที่เมืองโดยเน้นไปที่เขตเทศบาลระดับเทศบาลเมืองขึ้นไปให้จัดตั้ง “ศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์” อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายดังกล่าวยังไม่ได้ความเห็นชอบจากฝ่ายนิติบัญญัติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังคงดำเนินการแก้ไขและคาดว่าอาจใช้เวลาอีกประมาณ 2 ปีซึ่งคาดว่ากฎหมายจะสามารถประกาศใช้ได้อย่างเป็นทางการ
2. ข้อจำกัดในเขตการปกครองและวาระการดำรงตำแหน่ง
หน่วยงานปกครองระดับภูมิภาคต้องเผชิญกับความยากลำบากที่สำคัญคือการแบ่งเขตการปกครองและวาระการดำรงตำแหน่ง ในการเมืองไทย ผู้ว่าฯ ยังคงมีอำนาจการปกครองที่ได้รับมาจากส่วนกลางและใช้อำนาจนั้นได้ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของตนเองเพื่อตอบสนองต่อส่วนกลาง ตามวาระที่ตนได้รับมอบหมายเท่านั้น ซึ่งวาระของผู้ว่าฯ นั้นมีระยะเวลาที่สั้นเกินไป ผู้ว่าฯ บางท่านดำรงตำแหน่งไม่ถึง 1 ปีแล้วจึงเกษียณอายุราชการหรือถูกโยกย้ายไปดำรงตำแหน่งในจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งส่งผลให้การทำงานไม่มีความต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นข้อจำกัดสำคัญซึ่งขัดแย้งกับธรรมชาติของความท้าทายรูปแบบใหม่ที่ SDGs พยายามจะตอบสนอง ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ความหิวโหย การศึกษา สิ่งมีชีวิตทุกชนิด รัฐบาลในทุกระดับ และการสร้างความร่วมมือระดับโลก ความท้าทายเหล่านี้มีลักษณะเด่นเป็นพลวัต ข้ามชาติ (transnational) และข้ามพรมแดนการปกครอง (transboundary) ที่เกินขอบเขตพื้นที่การปกครองของหน่วยงานปกครองระดับภูมิภาค และความท้าทายรูปแบบใหม่เหล่านี้ไม่เพียงแต่สั่นคลอนความมั่นคงในอธิปไตยของรัฐเท่านั้น แต่ยังสะเทือนความมั่นคงของมนุษย์ทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคม เช่น ความอยู่รอด ความเป็นอยู่ที่ดี และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ [10]
การตอบสนองต่อ SDGs จึงไม่อาจถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ภายในพื้นที่เขตการปกครองใดเขตการปกครองหนึ่งเท่านั้น เช่น ความยากจนในเขตภูมิภาคหนึ่งส่งผลต่อความยากลำบากไปยังเขตภูมิภาคอื่น หรือมลพิษจากจังหวัดหนึ่งส่งผลต่อจังหวัดใกล้เคียงโดยรอบได้โดยไม่อาจถูกจำกัดอยู่ในเขตการปกครองระดับใดทั้งสิ้น หรือกรณีการเกิดอุทกภัยเป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์แนวราบระหว่างจังหวัด สถานการณ์น้ำท่วมครอบคลุมและกระทบพื้นที่เป็นบริเวณกว้างและข้ามเส้นแบ่งเขตแดนจังหวัด การรับมือและจัดการน้ำในจังหวัดหนึ่งอาจส่งผลกระทบทางลบต่ออีกจังหวัดหนึ่ง เช่น ความพยายามทำให้น้ำไม่ท่วมในกรุงเทพมหานคร กลับทำให้จังหวัดในพื้นที่ปริมณฑลต้องรับน้ำที่ผันออกมา หรือการจัดการน้ำในจังหวัดหนึ่งอาจล้มเหลวได้หากอีกจังหวัดหนึ่งไม่ให้ความร่วมมือ ดังนั้น ความท้าทายเหล่านี้ต้องได้รับการตอบสนองที่ต่อเนื่องและอาจยาวนาน ซึ่งวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ว่าฯ ที่สั้นเกินไป และไม่แน่นอนเป็นข้อจำกัดต่อความต่อเนื่องของการตอบสนองต่อ SDGs
3. ข้อจำกัดในการจัดสรรงบประมาณ
หน่วยงานปกครองระดับภูมิภาคต้องเผชิญกับความท้าทายในด้านกลไกการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานและการเข้าถึงทรัพยากรทางการเงินหรือการจัดสรรงบประมาณที่จำกัด ในแต่ละปี จังหวัดต่างๆ จะได้รับการจัดสรรงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดซึ่งถูกแบ่งมาจากรัฐบาลกลาง งบประมาณดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะลดน้อยลง เช่น งบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัดตาม ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดไว้จำนวน 17,411 ล้านบาท จากกรอบวงเงินเดิม 28,000 ล้านบาท ทำให้งบประมาณเหลือเพียงร้อยละ 62.2 ของกรอบวงเงินงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาหรือพัฒนาจังหวัดในสถานการณ์ปัจจุบันได้ [11] นอกจากนี้ การจัดสรรงบประมาณยังไม่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ในส่วนภูมิภาค เช่น สัดส่วนคนจน รายได้ครัวเรือน และผลการเบิกจ่าย แสดงให้เห็นถึงการจัดสรรงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับปัญหาที่จังหวัดกำลังเผชิญอยู่ ประกอบกับหน่วยงานปกครองระดับภูมิภาคไม่สามารถดำเนินการเพื่อหารายได้ให้แก่ตนเองได้ ด้วยงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดจึงทำให้การตอบสนองต่อ SDGs ของหน่วยงานปกครองระดับภูมิภาคจึงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง
แต่ในกรณีของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้นแตกต่างจากผู้ว่าฯ ในจังหวัดอื่น ๆ ของประเทศไทย เนื่องจากกรุงเทพมหานครอยู่ในฐานะเขตพื้นที่เมืองหลวง มีสถานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเพื่อให้เกิดความความคล่องตัวในการบริหารและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็ว [12] กทม. อยู่ในฐานะฝ่ายบริหารของกรุงเทพมหานคร เป็นนิติบุคคลเป็นผู้ดำเนินการบริหารกรุงเทพมหานครภายใต้ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2562 กทม. จึงมีอำนาจในการหารายได้ของตนเองได้ ข้อมูลงบประมาณของ กทม. พบว่าสำนักสิ่งแวดล้อมได้รับการจัดสรรงบประมาณ 7,758 ล้านบาทในปี 2564 และ 6,845 ล้านบาทในปี 2565 ซึ่งเป็นงบประมาณที่มากเป็นอันดับที่สองรองจากสำนักงานระบายน้ำ [13]
นอกจากนี้ กทม. ใช้งบประมาณในการกำจัดขยะสูงถึงหลักพันล้านบาทโดยส่วนหนึ่งจ่ายให้กับบริษัทเอกชนเพื่อนำขยะออกไปฝังกลบในต่างจังหวัด งบประมาณจำนวนมหาศาลเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นความท้าทายลำดับต้นๆ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร แม้ว่า กทม. จะมีความสามารถในการหารายได้ด้วยตนเอง แต่ กทม. เองยังคงมีข้อจำกัดในงบประมาณที่ต้องนำไปส่งเสริมในด้านอื่นๆ เช่น สำนักการโยธา สำนักการแพทย์ และสำนักการจรจรและขนส่งซึ่งเป็นสำนักงานที่ใช้งบประมาณสูงที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของงบประมาณ กทม.
การเสริมบทบาทของผู้ว่าฯ ต่อ SDGs
แม้ว่าจะมีข้อจำกัดหลักตามได้กล่าวมาข้างต้น แต่ผู้เขียนยังคงเห็นว่าผู้ว่าฯ และหน่วยงานปกครองระดับภูมิภาคยังคงเป็นความหวังและโอกาสที่สำคัญในการตอนสนองต่อ SDGs จากระดับล่างขึ้นสู่ระดับบนทั้งในด้านนโยบาย กลยุทธ์ มาตรฐาน และโครงการต่าง ๆ รวมทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนรัฐบาลระดับชาติเพื่อดำเนินนโยบายในภาพรวม อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะในการเสริมบทบาทของผู้ว่าฯ ดังนี้
ในด้านอำนาจและหน้าที่ แม้ว่าผู้ว่าฯ มีอำนาจการบริหารจำกัดในพื้นที่จังหวัดของตน และไม่สามารถออกกฎหมายใดๆ เองได้ แต่ในการนำนโยบายไปปฏิบัติ ผู้ว่าฯ สามารถสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ เช่น ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน กลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มที่เคลื่อนไหวทางสังคม และภาคประชาสังคม เพื่อขยายการมีส่วนร่วมในการตอบสนองต่อ SDGs ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลระดับชาติได้
นอกจากนี้ การตอบสนองต่อ SDGs ไม่อาจบรรลุได้ด้วยอำนาจของผู้ว่าฯ ภายใต้เขตการปกครองจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งเท่านั้น และวาระการดำรงตำแหน่งอันจำกัด แต่ต้องอาศัยผู้ว่าฯ ที่ได้รับอำนาจเพิ่มมากขึ้นในการตัดสินใจ ริเริ่มนโยบาย และสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างแท้จริงในระดับภูมิภาค อีกทั้งผู้ว่าฯ จะต้องดำรงตำแหน่งยาวนานขึ้นอย่างน้อยประมาณ 4-5 ปี เพื่อให้การพัฒนาภายในจังหวัดมีความต่อเนื่อง และต้องพิจารณาการตอบสนองต่อ SDGs ด้วยมุมมองใหม่ ให้ทะลุขอบเขตการปกครองแบบดั้งเดิม หรือต้องสลายเส้นแบ่งในเชิงพื้นที่ออกไป
ท้ายที่สุด การจัดสรรงบประมาณต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลระดับชาติและหน่วยงานปกครองระดับภูมิภาค โดยรัฐบาลระดับชาติต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรงบประมาณจังหวัดให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์จริงของจังหวัดนั้นๆ เพื่อให้เพียงพอต่อการแก้ปัญหาที่สำคัญและปัญหาเฉพาะของพื้นที่จังหวัดให้เกิดประสิทธิผล และการลงนามในประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืนกับองค์การสหประชาชาติจะสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงก็ต่อเมื่อผู้ว่าฯ และหน่วยงานปกครองระดับภูมิภาคได้รับการจัดสรรงบเพิ่มเติม เพื่อตอบสนองต่อ SDGs ในด้านต่าง ๆ ตามที่จังหวัดนั้นเห็นว่าเหมาะสม
สรุป
การลงนามของผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดของประเทศไทยในประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืนกับองค์การสหประชาชาติและพันธมิตรเพื่อสนับสนุนความมุ่งมั่นของประเทศต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการยอมรับว่า SDGs กับการเมืองแยกออกจากกันไม่ได้ และผู้ว่าฯ เป็นผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้ประเทศสามารถบรรลุ SDGs ได้อย่างเป็นรูปธรรมเพราะหน่วยงานปกครองระดับภูมิภาคทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด และจัดหาบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน เพื่อตอบสนองต่อชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง อย่างไรก็ตามอำนาจของผู้ว่าฯ ยังมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากยังต้องตอบสนองต่อรัฐบาลระดับชาติมากกว่าประชาชน อีกทั้งยังมีข้อจำกัดในเขตการปกครอง วาระการดำรงตำแหน่ง และการจัดสรรงบประมาณ
ดังนั้น เพื่อให้การลงนามในครั้งนี้ปรากฎผลอย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลกลางต้องมีนโยบายระดับชาติทั้งในระยะสั้นและในระยะยาวต่อเป้าหมายต่าง ๆ เปิดโอกาสให้ผู้ว่าฯ มีอำนาจเพิ่มขึ้นในการดำเนินการเร่งด่วนตามเป้าหมายเฉพาะของจังหวัดนั้น ๆ ได้ และจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อการบริหารในระดับภูมิภาค ขณะเดียวกันผู้ว่าฯ สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดด้านอำนาจ เขตการปกครอง และงบประมาณ ด้วยการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนอื่น ๆ ในการตอบสนองต่อ SDGs ท้ายที่สุดการปกครองทุกระดับต้องพิจารณาการตอบสนองต่อ SDGs แบบองค์รวมเพื่อสลายเส้นแบ่งในเชิงพื้นที่ ก้าวข้ามเส้นแบ่งเขตแดนของจังหวัด ภูมิภาค และเส้นแบ่งเขตแดนแบบดั้งเดิม ให้สอดคล้องกับธรรมชาติของ SDGs
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ
● อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
– เเผนที่นำทางเพื่อพัฒนา SDGs ในระดับพื้นที่ : การดำเนินการเเละติดตามผลในระดับท้องถิ่น
– SDG Updates | โค้งสุดท้ายก่อน 2030: แผนพัฒน์ 13 กับการพลิกโฉมประเทศไทยสู่ความยั่งยืน? (ส่วนที่ 04-ปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ)
– Director Notes: 22: การนำ SDGs ไปปฏิบัติในระดับท้องถิ่นและการฟื้นตัวจากโควิด-19 – คำกล่าวของผู้อำนวยการ SDG Move สำหรับกิจกรรมคู่ขนานของ HLPF 2022 ที่จัดโดยรัฐบาลมาเลเซีย
– SDG Updates | (EP.6) Futures Literacy: คิดถึงความหมายใหม่ “การพัฒนาระหว่างประเทศ” – รับรู้ความเชื่อมโยงของปัญหา เปิดใจฟังความต่าง เข้าใจบริบทท้องถิ่น
– SDG 101 | รู้หรือไม่? แม้ SDGs จะเป็นเป้าหมาย ระดับโลกแต่จะสำเร็จได้ต้องให้ความสำคัญกับท้องถิ่น
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
#SDG3 สุขภาพเเละความเป็นอยู่ที่ดี
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม เเละอุตสาหกรรม
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
#SDG11 เมืองเเละชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.3) ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืนในทุกประเทศ ภายในปี 2573
– (11.a) สนับสุนนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท โดยการเสริมความแข็งแกร่งของการวางแผนการพัฒนาในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดภายในปี 2563
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.6) พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.1) เสริมความแข็งแกร่งของการระดมทรัพยากรภายในประเทศ โดยรวมถึงการสนับสนุนระหว่างประเทศไปยังประเทศกำลังพัฒนา เพื่อปรับปรุงขีดความสามารถภายในประเทศในการเก็บภาษีและรายได้อื่น ๆ ของรัฐ
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.15) เคารพพื้นที่ทางนโยบายและความเป็นผู้นำของแต่ละประเทศที่จะสร้างและดำเนินงานตามนโยบายเพื่อการขจัดความยากจนและการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
อ้างอิง:
[1] Mensah, C. (1996). The United Nations Commission on Sustainable Development. In Greening International Institutions. Routledge.
[2] [3] VVSG International. (2020). Local Support for Global Challenges. Retrieved from https://www.local2030.org/library/view/778
[4] Kraft, M. E. (2017). Environmental Policy and Politics (7th edition). Massachusetts: Routledge.
[5] [6] UN Habitat. (2022). World Cities Report 2022. Retrieved from https://unhabitat.org/wcr/
[7] Arikan, Y. (2022). Local Authorities .:. Sustainable Development Knowledge Platform. Retrieved from https://sustainabledevelopment.un.org/localauthorities.html
[8] กองการต่างประเทศ. (2565). พิธีลงนามประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดของประเทศไทย. สำนักงานปลัด กระทรวงมหาดไทย.
[9] เฉลียว นครจันทร์ & ศิริพงศ์ โสภา. (2561). ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย. วารสารวิชาการสถาบันวิทยาการจัดการแห่งแปซิฟิค (สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์), 4(1), 241–259.
[10] Caballero-Anthony, M. (2016). An Introduction to Non-Traditional Security Studies: A Transnational Approach. London: SAGE Publications Ltd. https://doi.org/10.4135/9781473972308
Searle, M. (2020). Non-Traditional Security: An Evolving Solution to New Challenges. In Non-Traditional Security in the Asia-Pacific (pp. 15–18). Singapore: World Scientific. https://doi.org/10.1142/9789811224430_0003
[11] สำนักงบประมาณของรัฐสภา. (2565). วิเคราะห์งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565: จังหวัดและกลุ่มจังหวัด. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
[12] อรทัย ก๊กผล. (2547). กรุงเทพมหานคร. In นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ (Ed.), สารานุกรมการปกครองท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า. Retrieved from https://kpi.ac.th/knowledge/book/data/561
[13] ราชกิจจานุเบกษา. (2564). ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565. ราชกิจจานุเบกษา.
[I] โมเดลเศรษฐกิจ BCG คือการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ( Bioeconomy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืน (NSTDA, 2022)
[II] แผนปฏิบัติงาน 21 (Agenda 21) ประกาศใช้เมื่อปี 1993 เป็นพิมพ์เขียวของแผนปฏิบัติการ การดำเนินงานร่วมกันในประเทศสมาชิก เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
Last Updated on มกราคม 23, 2024