เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นวาระระดับโลกที่หลายฝ่ายต่างกำลังดำเนินการร่วมกัน มาเป็นระยะเวลากว่า 7 ปี นับตั้งแต่องค์การสหประชาชาติและ 193 ประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติได้ให้การรับรอง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ไว้ เมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 2015 ซึ่งเริ่มมีการดำเนินการขับเคลื่อนขึ้น มาตั้งแต่ในปี ค.ศ. 2016 และกำหนดหมุดหมายว่าจะสามารถดำเนินการสำเร็จลุล่วงได้ภายในปี ค.ศ. 2030 องค์การสหประชาชาติมีการดูแลการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติ (United Nations Secretariat) ภายใต้กองสำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Department of Economic and Social Affairs : UNDESA)
เช่นเดียวกับ ประเทศไทย แม้คำว่า “ความยั่งยืน” จะเข้ามาสู่กระแสการรับรู้ และความตื่นตัวของคนในสังคม ภาครัฐให้คำมั่นในเวทีระดับโลก พร้อมประกาศทิศทางการพัฒนาประเทศว่าจะมุ่งสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ขณะที่ภาคธุรกิจประกาศจุดยืนสนับสนุนโมเดลธุรกิจสีเขียว สร้างผลิตภัณฑ์ทางเลือก กำหนดมาตรฐาน จัดทำรายงาน หวังให้เป็นมาตรการจูงใจ กระตุ้นผู้ประกอบการปรับรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับทิศทางความยั่งยืนมากขึ้น แต่พบว่าหลายครั้ง การพยายามเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายดำเนินการผิดจากเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ แต่กลับกลายเป็นการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาเชื่อมโยง และซ่อนรูปด้วยการดำเนินการแค่เพียงในระดับผิวเผินเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์มากกว่าสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง จึงเกิดเป็นคำถามว่า หรือแท้จริงแล้ว SDGs กำลังโดนฟอก (Washing) ?
เพื่อหาคำตอบแก่คำถามนี้เราได้จัดงานเสวนาวิชาการสาธารณะ เรื่อง “หรือ SDGs กำลังโดนฟอก? ทำอย่างไรให้ข้ามพ้นความยั่งยืนปลอม – From SDG Washing to SDG Enabling” เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา โดย SDG Move ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชวนผู้ทำงานภาคประชาสังคม นักวิชาการ และผู้ทำงานในวิสาหกิจเพื่อสังคม มาร่วมกันแลกเปลี่ยนมุมมอง ติดตาม และวิเคราะห์สถานการณ์รูปแบบของ “การฟอกความยั่งยืน” หรือ “การฟอกการพัฒนาที่ยั่งยืน” (SDG Washing) ในปัจจุบัน ชวนสังเกต สร้างความเข้าใจ เพื่อให้รู้เท่าทันการดำเนินงาน เพื่อไม่ให้ติดกับดักการฟอก พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะหลากหลายมุมสู่การก้าวผ่านการดำเนินงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง
โดยวิทยากรทั้ง 4 ท่าน ประกอบด้วย
- คุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด
- คุณประยงค์ ดอกลำใย ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด และผู้ดำเนินการเสวนา
- ผู้ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชล บุนนาค ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
งานเสวนาวิชาการสาธารณะ จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรก จะเป็นการอภิปรายเรื่อง SDG Washing ผู้ร่วมเสวนาแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ รูปแบบของการฟอก SDGs ผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยชี้ให้เห็นถึงลักษณะของการฟอก SDGs และสภาพการณ์ในปัจจุบัน ส่วนช่วงที่สอง จะเป็นการอภิปรายเรื่อง SDG Enabling ผู้ร่วมเสวนาจะร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นว่าจะ “ทำอย่างไรให้เราก้าวข้ามความยั่งยืนปลอม ไปสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง”
SDG Updates ฉบับนี้ จะพาทุกท่านเก็บตกประเด็นสำคัญจากวงเสวนาฯ เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์ รูปแบบการฟอก SDGs ของภาคส่วนต่าง ๆ ในปัจจุบัน และความรู้ที่จำเป็นต่อการรู้เท่าทัน แยกแยะกิจกรรมที่มีลักษณะเป็นการฟอก (Washing) พร้อมเสนอแนะ แลกเปลี่ยนมุมมอง และแนวทางการดำเนินงานขององค์กรหรือหน่วยงาน ว่าจะสามารถก้าวผ่านการฟอกสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนที่แท้จริงได้หรือไม่ ผ่านมุมมองของผู้ทำงานภาคประชาสังคม นักวิชาการ และผู้ทำงานในวิสาหกิจเพื่อสังคม
ก่อนเริ่มต้นการเสวนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้เกียรติมากล่าวต้อนรับผู้ร่วมเสวนา และเปิดงานเสวนาจากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้เริ่มต้นแนะนำถึงหลักการพื้นฐานของ SDGs เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการทำความเข้าใจ ก่อนจะร่วมกันพิจารณาในรายละเอียดตลอดการเสวนาว่าสิ่งใดเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับแนวทางของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสิ่งใดเป็นแนวทางที่ไม่สอดคล้องหรืออาจเป็นการฟอก SDGs
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชล เริ่มต้นอธิบายว่า การดำเนินการแค่ 17 เป้าหมายอย่างทุกวันนี้อาจไม่เพียงพอกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจุดหมายปลายทางของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแท้จริง ก็คือต้องการที่จะแก้วิกฤตสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่มีบนโลกใบนี้ พร้อมลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ซึ่งการจะไปสู่โลกแบบนั้น ต้องอาศัยการพัฒนาของ 3 คำหลักเป็นแกนกลาง ได้แก่ 1) Sustainable คือ การพัฒนาที่รับผิดชอบ 2) Inclusive คือ การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และ 3) Resilient คือ การพัฒนาที่ทำให้คนตั้งรับปรับตัวได้
แต่ถ้าหากขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแล้วสุดท้าย ไม่อาจได้ผลปลายทางที่สอดคล้องกับ 3 คำหลักนี้ เราต้องย้อนกลับไปตั้งคำถามแล้วว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นท้ายที่สุดแล้วยั่งยืนจริงหรือไม่?
Section 1: SDG Washing
01 – สถานการณ์รูปแบบของการฟอกการพัฒนาที่ยั่งยืนในปัจจุบัน
คุณสฤณี อาชวานันทกุล กล่าวว่า สำหรับคนทั่วไปแล้วเวลาได้ยินคำว่า “SDG Washing” มักจะเกิดอารมณ์และความรู้สึกในแง่ลบ มีมุมมองว่าคนหรือองค์กร อาจดำเนินการทำอะไรแย่ ๆ แล้วไม่อยากให้คนรู้ และแทนจะแก้ปัญหานั้น กลับมาใช้วิธีการโฆษณากลบเกลื่อนความผิด แต่ในมุมของสำหรับภาคธุรกิจนั้น เรื่องดังกล่าวไม่ได้มีความชัดเจนมากนักที่จะสามารถตัดสินได้ว่าองค์กรกำลังทำผิดหรือกลบเกลื่อนสิ่งใดอยู่ คุณสฤณีกล่าวว่าการขับเคลื่อน SDGs ของภาคธุรกิจต้องเผชิญกับความท้าทาย 3 ประการ คือ ประการแรก การประยุกต์ใช้ SDGs ในฐานะที่เป็นเป้าหมายระดับชาติ ประการที่สอง การเชื่อมโยง SDGs หลายเป้าหมายร่วมกัน โดยที่ไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อเป้าหมายอื่น และ ประการที่สาม การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งต้องยอมรับว่าภาคธุรกิจนั้นไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การวางแผนธุรกิจจึงจำเป็นต้องมีการร่วมหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นชุมชน ผู้บริโภค และผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมจริง ๆ นอกจากนี้ บางองค์กรยังคงมีโครงสร้างและข้อจำกัดในการจัดทำแผนการขับเคลื่อน SDGs เกิดขึ้นอยู่
| ลักษณะของการฟอก SDGs: ปกปิดข้อเท็จจริง ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขาดกลยุทธ์ที่ชัดเจน ต่างคนต่างทำ
คุณสฤณี ได้อธิบายถึงลักษณะของ SDG Washing หรือการทำงานที่สร้างความสงสัยให้เกิดแก่สังคมว่าลักษณะเช่นนี้เป็นการ “Washing หรือไม่” โดยแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะ คือ หนึ่ง การฟอกของโครงการหรือธุรกิจที่มีสร้างปัญหาบางอย่างชัดเจนแทนที่จะแก้ไขปัญหาผู้ดูแลโครงการหรือผู้ประกอบการกลับจัดโครงการหรือกิจกรรมหนึ่ง ๆ ขึ้นมาในรูปแบบของกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) มาช่วยเสริมภาพลักษณ์องค์กรแทนการขจัดปัญหานั้นอย่างจริงจัง สอง การฟอกที่อาจเกิดขึ้นจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จากการทำวิจัยเกี่ยวกับธุรกิจที่ยั่งยืน คุณสฤณีกล่าวถึงข้อค้นพบว่าโครงการในหลายบริษัทยังทำงานแบบ ไซโล (SILO) กล่าวคือ ต่างฝ่ายในภาคธุรกิจทำงานขับเคลื่อน SDGs ในรูปแบบที่แยกส่วนกัน ไม่เกิดการบูรณาการทำให้ขาดการคำนึงถึงความเชื่อมโยงและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่ออีกฝ่าย และสาม การฟอกของโครงการหรือบริษัทที่ปรับตัวไม่เท่าทันกับความคาดหวังหรือเป้าหมายของสังคม ซึ่งเกิดจากการรับฟังเสียงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ผู้ได้รับผลกระทบมากเพียงพอ
| มุมมองของภาคธุรกิจในการดำเนินการ SDGs
คุณสฤณี ยกตัวอย่างการประเมิน “ESG” หรือ สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) ของเขื่อนแห่งหนึ่งในประเทศบราซิล จำเป็นจะต้องประเมินถึงความครอบคลุมความเสี่ยงทั้ง 12 ประเด็น แต่ยังคงพบว่ามีช่องว่างที่ต้องเข้าไปอุด (significant gaps) อยู่ 2 เรื่อง คือ หนึ่ง ด้านการเปิดเผยข้อมูลเรื่องปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ยังไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ และ สอง ผลกระทบของโครงการที่มีต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกว่ามีจำนวนมากเท่าไร และมีอีกเงื่อนไขที่สำคัญ คือ การสื่อสารและกระบวนการปรึกษาหารือกับชุมชน เป็นสิ่งที่สร้างให้บุคคลภายนอกเชื่อมั่นว่าเป็นโครงการที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
แต่หากโครงการใดมีกระบวนการปรึกษาหารือที่ไม่เป็นไปตามหลักสิทธิสำหรับชนพื้นเมือง เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมตัดสินใจและรับรู้ข้อมูลล่วงหน้า (Free, Prior and Informed Consent : FPIC) ในการแลกเปลี่ยนข้อกังวลพร้อมทั้งให้ความเห็นชอบนั้น ก็ถือว่าโครงการนั้นไม่ทำตามหลักสากลและผ่านมาตรฐานการรับรองจาก Climate Bond จากตัวอย่างมาตรฐานที่พยายามรับมือกับความท้าทายที่กล่าวมานั้น และถึงแม้จะเป็นโครงการที่มีความเฉพาะเจาะจงด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังต้องคำนึงถึงประเด็นความเสี่ยงและผลกระทบต่อสังคมและสิทธิมนุษยชนด้วย
จากที่กล่าวมาทั้งหมด พยายามสะท้อนให้เห็นความท้าทายของการดำเนินการลักษณะโครงการว่าโครงการใดที่ควรพิจารณาว่าเป็นการฟอกการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Washing) เพราะหลากหลายครั้งจากมุมมองของภาคธุรกิจการดำเนินการค่อนข้างจะมีความยากและมีความคาบเกี่ยวกันว่าฟอกหรือไม่ฟอก
ทำให้ “กระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาจเข้ามาเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ช่วยคลี่คลายให้ภาคธุรกิจสามารถวางแผนแนวทางการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง“
คุณสฤณี อาชวานันทกุล
02 – ผลกระทบจากการฟอก SDGs ที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายและการบริหารจัดการของภาครัฐ
เมื่อทราบถึงลักษณะของการฟอกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในเบื้องต้นแล้วต่อมาจึงเป็นการหยิบยกตัวอย่างผลกระทบจากการฟอกที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายและการบริหารจัดการของภาครัฐ โดยคุณประยงค์ ดอกลำใย ได้นำเสนอบทเรียนจากการติดตามการดำเนินงานของภาครัฐ ซึ่งนับตั้งแต่รัฐบาลไทยรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับองค์การสหประชาชาติ ก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ขึ้นมา เพื่อเป็นกลไกสำหรับการขับเคลื่อน โดยมีสภาพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานประสานงาน แต่กลับพบว่าการดำเนินการไม่มีความเข้มแข็งมากพอที่จะบูรณาการและขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาครัฐให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
| “ความยั่งยืน” ภายใต้กฎหมายและนโยบายในมุมมองการปฏิบัติของภาครัฐ
กรณีศึกษากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการจัดทำแผนในการขับเคลื่อน SDGs ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำหนดเป้าหมายชัดเจนว่าจะต้องแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน ภายใต้แผนการปฏิบัติการของกระทรวง ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับผิดชอบและประสานงานหลัก 4 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 12: สร้างแบบแผนการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 13: ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายที่ 14: อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน และเป้าหมายที่ 15: ปกป้องฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน จัดการป่าไม้ที่ยั่งยืน
โดย คุณประยงค์ ตั้งข้อสังเกตจากการติดตามการดำเนินการของกระทรวงทรัพย์ พบว่า
- SDGs ไม่ได้ให้คุณให้โทษหรือส่งผลกระทบกับหน่วยงานรัฐอย่างแท้จริง เพราะภาครัฐมีกฎหมายและแนวทางปฏิบัติของตนเอง แต่ด้วยความที่ SDGs เป็นสิ่งที่หน่วยงานมีข้อบังคับว่าจำเป็นต้องปฏิบัติ จึงจำเป็นต้องดำเนินงานให้ดูเสมือนว่าหน่วยงานได้ปฏิบัติแล้ว หลายครั้งจึงไม่อาจบรรลุเป้าหมายได้อย่างแท้จริง
- ขาดความสอดคล้องกับเป้าหมายและภารกิจขององค์กรหรือหน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีการนิยามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแตกต่างกัน ทำให้ทางการปฏิบัติกลับกลายเป็นขาดการบูรณาการร่วมกันในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย
- กฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติของหน่วยงานไม่เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ยกตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 จำกัดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 4 มาตรา ซึ่งเป็นมาตราสำคัญเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพ สิทธิเสรีภาพในการสืบทอดมรดก โดยในรายละเอียดนั้นขัดต่อวิถีชีวิตของชุมชนที่หาเลี้ยงชีพ
- วัฒนธรรมองค์กรและทัศนคติของเจ้าหน้าที่นำไปสู่การตีความคำว่า “พัฒนา” และ “ยั่งยืน” ที่แตกต่างกับภาคประชาชน เนื่องจากลักษณะของการดำเนินงานของภาครัฐที่เป็นไซโล (silo) แยกกันทำงาน และมีการสั่งงานแบบบนลงล่าง (top – down) จึงเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการ
- นโยบายหรือเจตจำนงของฝ่ายการเมืองหรือผู้บริหารกระทรวงทรัพย์ เพราะหากให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวมากเกินไป ก็อาจทำให้ละเลยต่อเรื่องอื่น เช่น สิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน และการใช้ประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนได้
| ผลกระทบการปฏิบัติในพื้นที่: ปลูกป่าบนพื้นที่ทำกินของประชาชน
จากการดำเนินการของ “แผนแม่บท” ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) พบว่า มีการกำหนดเป้าหมายให้มีพื้นที่ป่าไม้ 40% ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 31.2% นั่นหมายความว่าหากต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายต้องเพิ่มพื้นที่ป่าไม้อีก 8.8% หรือคิดเป็น 25 ล้านไร่ จึงนำไปสู่การตั้งคำถามว่า 25 ล้านไร่นั้นจะเอาพื้นที่ดังกล่าวมาจากไหน หากไม่ใช่พื้นที่ทำกินของประชาชนที่อยู่ใกล้เขตพื้นที่อุทยาน โดยสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายของหน่วยงานที่พยายามทำงานจะบรรลุเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน แต่สร้างผลกระทบละเมิดสิทธิของชุมชน กลายเป็นการยึดแย่งพื้นที่ของชุมชนเพื่อมาปลูกป่า
ในระดับของแผนปฏิบัติการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช หรือกรมป่าไม้ พบว่าในรายละเอียดเริ่มไม่เห็นการกล่าวถึง SDGs แล้ว ซึ่งมีเป้าหมายที่ปรากฏอยู่เพียง 4 ประการ ได้แก่
- พื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้รับการบริหารอย่างยั่งยืน ซึ่งตามกฎหมาย ชุมชนมีสิทธิในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้น้อยมากหรือค่อนข้างจำกัด
- เพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตามเป้าหมาย 80 ล้านไร่ มีการประกาศไปแล้วประมาณ 70 ล้านไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนถึง 4,192 ชุมชน กลายเป็นตัวชี้วัดว่าชุมชนเหล่านี้จะอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์เช่นไรภายใต้กฎกติกาที่กำหนดขึ้นใหม่
- สัตว์ป่าได้รับการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน ชุมชนเองนั้น มีศักยภาพในการร่วมมือกับอุทยานในการคุ้มครองดูแลทั้งสัตว์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติ แต่ด้วยกฎหมายไม่เปิดโอกาสให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วม ทำให้การบริหารจัดการที่ออกมาโดยรัฐขัดต่อวิธีการปฏิบัติจริง เมื่อมีการนำมาปฏิบัติจึงไม่เป็นที่ยอมรับ
- พื้นที่ป่าอนุรักษ์เสื่อมโทรมสภาพคืนเป็นป่าอนุรักษ์สมบูรณ์ หากมีการตีความว่าพื้นที่ป่าอนุรักษ์เสื่อมโทรม คือ พื้นที่ทำกินของชาวบ้าน การดำเนินการตามแผนปฏิบัติการของกรมป่าไม้และกรมอุทยานในการสร้างพื้นที่ปลูกป่า เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ 13 ประชาชนในพื้นที่ย่อมได้รับผลกระทบที่เกิดขึ้น
ท้ายที่สุด การดำเนินการโดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอาจกลายเป็นการสร้างความไม่เป็นธรรม เกิดการแบกรับภาระด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ไม่เท่ากันภายในประเทศไทย ซึ่งตามแผนภูมิแสดงสัดส่วนการใช้ประโยชน์ 10 จังหวัด พื้นที่ป่าส่วนใหญ่เกินร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด อยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก ลำปาง เชียงใหม่ แพร่ กาญจนบุรี น่าน ลำพูน เพชรบุรี และอุตรดิตถ์ เป็นส่วนใหญ่ สะท้อนว่าประชาชนที่อาศัยในต่างจังหวัด มีการแบกรับภาระที่มากกว่ากรุงเทพมหานคร เพราะพื้นที่ป่าไม้ใรกรุงเทพมหานครมีเพียง 3,901 ไร่ หรือคิดเป็นสัดส่วน 0.40% ของพื้นที่ทั้งหมดเท่านั้น กลับกลายเป็นว่าการพัฒนาเพิ่มพื้นที่ป่า อาจไปสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นแก่คนอีกกลุ่มหนึ่ง
03 – การฟอกตัวเองผ่านกฎเกณฑ์และมาตรฐานที่กำหนดโดยรัฐ
นอกจากการฟอกจะเกิดขึ้นในภาคธุรกิจ และการดำเนินการตามนโยบายของรัฐแล้ว การฟอก SDGs ยังอาจเกิดจากการฟอกตัวเองผ่านกฎเกณฑ์และมาตรฐานที่กำหนดโดยรัฐได้ด้วย โดย ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้กล่าวถึง การต่อต้านการคอร์รัปชันในประเทศไทย พบว่า มีกฎหมายที่บังคับใช้จำนวนมาก มีการเขียนกฎหมาย การออกกฎระเบียบ และการจัดทำแผนฯ ของแต่ละหน่วยงานวาดฝันกฎระเบียบไว้อย่างสวยงาม หากแต่พอมองย้อนกลับกฎหมายเหล่านั้น ก็ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้ เพราะท้ายที่สุด ก็มีการหาประโยชน์จากช่องว่างหรือวิธีหลีกเลี่ยงจากกฎหมาย ยกตัวอย่างกรณี ประเทศไทยได้ให้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption: UNCAC) ไว้ โดยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งมาเพื่อประชุมหารือในการต่อต้านทุจริต แต่เมื่อนำเอานโบบายที่คณะกรรมการชุดนี้ร่างขึ้นมา กลับพบว่ายังคงมีช่องว่างหรือวิธีหลีกเลี่ยงกฎหมายนี้ได้ เช่นนั้นแล้ว เกิดเป็นคำถามว่าสิ่งนี้นับเป็นการฟอกหรือไม่ เพราะหากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วนโยบายกลับมาเพิ่มผลกระทบในทางลบให้เกิดแนวทางการทุจริตที่เพิ่มขึ้นมาใหม่
คุณสฤณี กล่าวเสริมว่า ปัญหาคอร์รัปชัน นับเป็นหนึ่งในการฟอก ซึ่งสอดคล้องกับ SDG16 (สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง) และ SDG 17 (ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) อันเป็นรากฐานที่สำคัญในการวางแผนแก้ปัญหาด้านอื่น ๆ โดยตั้งข้อสังเกตว่า วิธีหนึ่งที่หน่วยงานรัฐมักจะใช้เพื่อให้ได้ชื่อว่าดำเนินงานสำเร็จตามเป้าหมาย คือ การเปลี่ยนเป้าหมายจากผลลัพธ์ (outcome) มาเป็นการมองที่ผลผลิต (output) แทน เพราะสามารถระบุเป้าหมายที่ทำสำเร็จได้ง่ายกว่า อย่างไรก็ดี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ดำเนินการอะไรไปแล้วขาดกลไกการรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำ จึงกลายเป็นอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขาดทิศทางและเกิดขึ้นอย่างไม่เป็นรูปธรรม
| ความสอดคล้องกันของนโยบาย เป้าหมายกับการปฏิบัติจริง
ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาฉายภาพลักษณะการฟอกที่เกิดขึ้นในภาครัฐ หลายหน่วยงานได้มีการตั้งพันธกิจให้เป็นหน่วยงานที่โปร่งใสตรวจสอบได้ แต่เมื่อมีการขอให้เปิดเผยข้อมูล กลับมิอาจเปิดเผยให้ได้ ด้วยการอ้างเหตุว่าเป็นความลับของทางราชการหรือเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ทำให้หลายครั้งประชาชนไม่สามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือของภาครัฐได้ว่ามีความโปร่งใส่อย่างแท้จริงหรือไม่ จึงทำให้ในทางปฏิบัติจริงไม่เป็นไปตามกลไกที่ได้วางไว้และมีการปฏิบัติในแบบเดิมอยู่
ผศ.ชล บุนนาค ผู้ดำเนินรายการ ชวนแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม ในมุมมองของภาคเอกชนว่า มีทั้งลักษณะการฟอกแบบตั้งใจ แบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และแบบปรับตัวไม่ทัน แล้วในเรื่องคอร์รัปชันมีมิติเหล่านี้บ้างหรือไม่
คุณสฤณี แลกเปลี่ยนมุมมองนี้ว่า การฟอกที่เกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ย่อมมีอยู่แน่นอน หากแต่เมื่อเปรียบเทียบว่าโครงสร้างการทำงานของภาคเอกชนเป็นไซโลแล้วนั้น ภาครัฐก็ถือได้ว่าเป็น “ซุปเปอร์ไซโล” เลยก็ว่าได้ เพราะการสร้างแรงจูงและการตั้งเป้าหมายคงจะเป็นเรื่องยากหากปราศจากกลไกรับผิดชอบที่ชัดเจน อันเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และท้ายที่สุดผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบเหล่านี้ ก็คงไม่อาจพ้นผู้ที่ต้องอยู่กับปัญหา ผู้ที่ไม่ค่อยมีสิทธิ์มีเสียง หรือผู้ที่ด้อยโอกาสอยู่ดี
คุณประยงค์ เห็นด้วยว่า เนื่องจากปัญหาที่เป็นรูปธรรมนั้น ชี้ให้เห็นปัญหาที่ทับซ้อนได้อย่างชัดเจน เช่น กิจกรรมการปลูกป่านั้น นับเป็นส่วนหนึ่งในการนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันได้โดยง่าย จึงกลายเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มในด้านอื่น ๆ ทั้งด้านสิทธิมนุษยชน ด้านคอร์รัปชัน และการายงานข้อมูลอาจขาดความโปร่งใส่ เช่นนั้นแล้ว จึงควรมีกลไกเข้ามาช่วยตรวจสอบผู้รับผิดชอบ รวมถึงกลไกที่ช่วยบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนด้วย
Section 2: SDG Enabling
04 – ก้าวข้ามความยั่งยืนปลอม ไปสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง
คุณสฤณี เสนอว่า ในการขับเคลื่อนเพื่อให้ไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง ต้องดำเนินการ 2 ระดับ
- ระดับองค์กร นับเป็นกระดุมเม็ดแรกที่ต้องติดให้ถูก คือ ต้องมีการประเมินผลกระทบของกิจการตนเองในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน ส่วนกระดุมอีกเม็ดมีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ รับฟังเสียงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างจริงจัง (stakeholder engagement) ให้เป็นตามหลักสากลที่เรียกว่า FPIC กล่าวคือต้องมีการรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน ครบถ้วน และมีการแลกเปลี่ยนสองทาง ซึ่งหากติดกระดุมสองเม็ดแรกนี้ถูกต้องแล้ว สิ่งที่จะได้ตามมา คือ หนึ่ง ช่วยให้มองเห็นประเด็นเสี่ยงอย่างครบถ้วนรอบด้าน ซึ่งหากองค์กรใดมองปัญหาไม่รอบด้านในอนาคตก็อาจจะถูกเพ่งเล็งได้ว่าสิ่งที่ทำเป็นการฟอกเขียว เนื่องจากไม่เป็นไปตามการประเมิน และ สอง ช่วยสะท้อนโอกาสทางธุรกิจจากการมองเห็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น หรือความเสี่ยงที่ยังไม่เคยจัดการ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ รวมถึงช่วยลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
- ระดับผู้บริโภค ต้องตื่นตัวและร่วมตรวจสอบ และรู้เท่าทันการฟอก ซึ่งจำเป็นจะต้องอาศัย 2 ปัจจัย คือ หนึ่ง สื่อมวลชน ที่จะต้องทำงานหนักขึ้นในการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบบริษัท และ สอง การให้ความร่วมมือจากภาครัฐในการเปิดเผยข้อมูล
อย่างไรก็ดี ในมุมของนักลงทุน การเปิดเผยข้อมูลที่ละเอียดและหลากหลาย และการมีช่องทางให้ตรวจสอบข้อมูลจะเป็นส่วนช่วยสำคัญในการออกแบบเครื่องมือการลงทุน และการเข้าไปลงทุนในบริษัทที่มีการส่งเสริมด้านความยั่งยืนที่ดี
05 – การบรรลุ SDGs อย่างแท้จริงของหน่วยงานระดับท้องที่ ภาคประชาสังคมและชุมชนท้องถิ่น
คุณประยงค์ ได้นำเสนอการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เกิดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
- การปฏิบัติงานควรทำให้กลไก ระเบียบ หรือกฎหมายมีผลอย่างจริงจังต่อการกำกับการปฏิบัติงาน อาจกำหนดอยู่ในรูปแบบของดัชนีที่บ่งชี้ความสำเร็จ (Key Performance Indicators : KPI) เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานดำเนินการตามเป้าหมายที่กำหนด
- การแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ และวิธีปฏิบัติภายในองค์กรให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเอื้อให้หน่วยงานปฏิบัติงานได้จริง
- การทำให้กลไกในการติดตามและประเมินผล เป็นอิสระ พร้อมทั้งให้เกิดการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วน จะช่วยตรวจสอบแผนปฏิบัติการได้อย่างเปิดเผยและโปร่งใส
- การทำให้เกิดการกระจายอำนาจการตัดสินใจและปฏิบัติการไปสู่ชุมชนและท้องถิ่น เพื่อเพิ่มพูนความหลากหลายทางความคิดมากขึ้น
- การสร้างเจตจำนงและความมุ่งมั่นของฝ่ายการเมือง ตลอดจนสร้างทัศนคติของผู้บริหารหน่วยงาน ให้ตระหนักว่าการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างการมีส่วนร่วมและจำเป็นต้องตระหนักถึงผลกระทบในหลายด้าน
- การเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนและภาคประชาสังคม ในการจัดทำรายงานคู่ขนานในเวทีระดับนานาชาติ เช่น ในเวทีขององค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) เพื่อตรวจสอบจุดอ่อนหรือช่องว่างในรายงาน นำมาสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริง มาตรการ และแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้
06 – วิธีการช่วยลดปัญหาการฟอก SDGs โดยการเปิดเผยข้อมูล
ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค อธิบายถึง ขั้นตอนในการสร้างความโปร่งใสของหน่วยงาน ว่าควรจะต้องเปิดเผยข้อมูลให้ภาคประชาชนได้รับทราบและมีส่วนในการเข้าถึงข้อมูล เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการติดตามและตรวจสอบการทำงานของหน่วยงาน เพราะการไม่เปิดเผยข้อมูล นับเป็นอีกอุปสรรคขวากหนามต่อของการกำหนดแนวทางลดการฟอก SDGs
ผศ.ชล บุนนาค ชวนตั้งคำถามว่า ถ้ามองว่ากระดุมเม็ดแรก คือ ความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูล แล้วกระดุมเม็ดถัดไปภายหลังจากที่มีการทราบข้อมูลแล้ว และหากไม่มีพื้นที่ให้ได้ทำอะไรบางอย่างต่อไปก็นับเป็นความยากลำบาก เช่นนั้นแล้วควรจะทำอย่างไร
ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ กล่าวว่า การสร้างสถาบันที่เข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบนั้น ไม่ใช่แค่การเปิดเผยข้อมูลอย่างเดียว และนอกจากการสร้างกลไกการสร้างความรับผิดชอบแล้วนั้น จำเป็นจะต้องมีเวทีที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม และมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ นับเป็นกระดุมเม็ดถัดมา ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ยากมากหากไม่ได้เห็นข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอเสียก่อน เพราะผู้ที่มีหน้าที่ออกแบบจะไม่สามารถนำไปออกแบบกระบวนการได้ถูกต้องได้ หรือผู้ที่มีหน้าที่ให้ความเห็นก็จะให้ความเห็นได้ไม่ตรงจุด
คุณสฤณี เสริมในประเด็นนี้ว่า สำหรับหน่วยงานภาครัฐการที่จะเปิดเผยข้อมูลในอนาคต จำเป็นต้องมีการแก้ไขหลักการเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารทางกฎหมายเสียก่อน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเสนอให้ปรับเปลี่ยนจาก พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ให้เป็นกลายเป็นพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารสาธารณะ เพราะแท้จริงแล้ว ข้อมูลส่วนใหญ่นั้นไม่ใช่ของรัฐแต่เป็นข้อมูลของสาธารณะหรือส่วนรวม ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยสำคัญในการเปลี่ยนหลักคิดใหม่ของการเปิดเผยข้อมูล ให้กลายเป็นเรื่องพื้นฐานและหากจะปิดบังข้อมูลใดรัฐจำเป็นจะต้องต้องมีเหตุผลที่ชัดเจนในเรื่องนั้น ภาคเอกชนก็ด้วย หากสามารถเปิดเผยข้อมูลได้จะช่วยให้การดำเนินการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่าง ๆ มีการตรวจสอบได้มากขึ้น และช่วยให้องค์กรระมัดระวังต่อการรับผิดชอบต่อผลกระทบได้มากขึ้น
การเสวนาทั้งหมดทั้งมวลนี้มาจากมุมมองของผู้ทำงานภาคประชาสังคม นักวิชาการ และผู้ทำงานในวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ได้พยายามช่วยชี้มุมมองและวิเคราะห์รูปแบบของ “การฟอกความยั่งยืน” หรือ “การฟอกการพัฒนาที่ยั่งยืน” (SDG Washing) ว่าแม้บางครั้งเป้าหมายการดำเนินการอาจมีมุมมองที่ดี แต่เมื่อปฏิบัติจริงกลับยังไม่ครอบคลุมสำหรับคนทุกคน พร้อมทั้งกลับกลายเป็นการสร้างผลกระทบให้แก่คนบางกลุ่ม
ทั้งนี้ ก็อาจเพราะยังขาดข้อเท็จจริง ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือขาดกลยุทธ์ที่ชัดเจนการกำหนดเป้าหมาย การจัดลำดับความสำคัญและวิธีการในการพัฒนาที่ยังมีกลไกไม่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาครัฐที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าการดำเนินการมักเป็นไปในทิศทางที่แยกส่วนกัน ต่างคนต่างทำ ต่างฝ่ายต่างมีเป้าหมายขององค์กรหรือหน่วยงานของตนเองที่ต้องการดำเนินการให้บรรลุ จึงเกิดความกระจัดกระจายในการควบคุมดูแลและรับผิดชอบอย่างชัดเจนในการขับเคลื่อนในมิติต่าง ๆ ทำให้หลายครั้งผิดจากเจตนารมณ์ที่ได้ตั้งไว้ กลายเป็นการฟอกในแบบที่ตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ เช่นนั้นแล้ว จึงนำมาสู่การค้นหาคำตอบในส่วนตอนท้ายที่ว่าจะ “ก้าวข้ามความยั่งยืนปลอม ไปสู่ความยั่งยืนที่แท้จริง” ซึ่งส่วนหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือทุกองค์กรและหน่วยงานจำเป็นต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกเสียก่อน ควรมีการประเมินผลกระทบและการดำเนินการอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ หัวใจหลักที่สำคัญของการก้าวข้ามความยั่งยืนปลอม คือ การให้ประชาชนได้มีสิทธิ์เข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูล ติดตาม และตรวจสอบสิ่งที่ทุกภาคส่วนดำเนินการได้ เพราะผู้ได้รับผลกระทบก็คือประชาชน ท้ายที่สุดนี้ เป็นโจทย์ว่าทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาครัฐและภาคเอกชน ต้องมาร่วมกันขบคิดให้มากขึ้นว่าสิ่งที่ได้ดำเนินการอยู่นั้น แท้จริงแล้วเรากำลังฟอก SDGs อยู่หรือไม่ ?
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – ผู้เรียบเรียง
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ
อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Updates | จากฟอกความยั่งยืน SDG washing สู่ความยั่งยืนที่แท้จริง SDG enabling
– SDG Insights | Inside SDG Index : เจาะลึก SDG Index 2021 ของประเทศไทย
– SDG Updates | กลไกทางการเงินกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
– SDG Updates | ทำไมนโยบายสาธารณะไทย (ยัง) ไปไม่ถึงความยั่งยืน
– Director Notes: 24: อย่าทำลาย SDGs ด้วยการนำไปปฏิบัติแบบผิด ๆ
– Change agent ตัวจริง: หรือชนพื้นเมืองคือผู้ขับเคลื่อน ‘ความยั่งยืน’ อย่างแท้จริงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
– รายงานจาก Climate Bonds Initiative วิเคราะห์โอกาสการเติบโตของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวในไทย
– ตลาดบริการให้คำปรึกษาด้านความยั่งยืนและ ESG สำหรับภาคธุรกิจ จะเติบโตมากกว่า 2 เท่าภายใน 5 ปีนี้
– ภาคเอกชนไทยกับการก้าวไปกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
– 7 ข้อเรียกร้องจาก‘สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ’ ถึง รมว.ทรัพยากรฯ หวังนำเรื่องเข้าที่ประชุมเอเปคป่าไม้
ดาวน์โหลดเอกสารในงานเสวนาได้ที่ : เอกสารประกอบงานเสวนาวิชาการสาธารณะ หัวข้อ “หรือ SDGs กำลังโดนฟอก? ทำอย่างไรให้ข้ามพ้นความยั่งยืนปลอม – From SDG Washing to SDG Enabling”
Last Updated on ตุลาคม 19, 2022