งานเสวนาหัวข้อ “นโยบายที่ไทยต้องการ…เปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม” จัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้แทนจากพรรคการเมือง 4 พรรคการเมืองร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและเสนอนโยบายการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม ประกอบด้วย กิตติกร โล่ห์สุนทร (ประธานคณะกรรมาธิการการพลังงาน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร (อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล) เกียรติ สิทธีอมร (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์) พงศา ชูแนม (หัวหน้าพรรคกรีน) และดำเนินการเสวนาฯ โดย จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์
COP26 หมุดหมายสำคัญการเปลี่ยนผ่านพลังงานในไทย?
การเปลี่ยนผ่านพลังงานในประเทศไทยเป็นประเด็นที่ถูกหยิบนำมาถก และหารือในสภาผู้แทนราษฎรมากน้อยเพียงใด? เป็นคำถามสำคัญที่คำตอบจะฉายชัดให้เห็นถึงความก้าวหน้าของการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดในประเทศไทย ซึ่ง กิตติกร โล่ห์สุนทร หนึ่งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเผยว่าประเด็นเรื่องพลังงานถูกพูดถึงน้อยมาก โดยมากการหารือในรัฐสภาจะเป็นเรื่องค่าไฟและค่าน้ำมันที่ราคาเพิ่มสูงขึ้น เรื่องที่ดูเหมือนจะเกี่ยวกับพลังงานโดยตรงก็คือ ‘COP26’ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเดินทางไปลงนามรับรองร่วมกับประเทศอื่น ๆ ในการขยับปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดเมื่อปีก่อน
COP คือการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) จัดขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปี 1994 โดยการการประชุม COP26 จัดขึ้นเมื่อปี 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร สาระสำคัญของการประชุม ได้แก่ การหาข้อตกลงลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) ให้ได้ภายในปี 2593 และพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศา
ขณะที่ เกียรติ สิทธีอมร พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล ระบุถึงประเด็น COP26 ว่าก่อนที่รัฐบาลจะเดินทางไปร่วมประชุมได้มีการพูดคุยกันในฝ่ายบริหารของรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคเอกชนด้วยว่า จะดำเนินการไปผูกพันอย่างไรบ้าง ก่อนที่จะมาถึงสูตรว่าปีไหนจะมาถึงคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ มีการพูดคุยกันก่อนแล้วเพราะไม่เช่นนั้นภาคเอกชนก็จะไม่ทำตาม
ด้าน วิโรจน์ ลักขณาอดิสร ตั้งข้อสังเกตว่าว่า COP26 ที่รัฐบาลรับมานั้นตั้งเป้าบรรลุที่จะเป็น ‘net zero carbon’ ในปี พ.ศ. 2593 คืออีกประมาณ 30 ปีข้างหน้า นั้นเป็นการร่วมผูกพันโดยที่ไม่มีความรับผิดชอบ เพราะ ณ ปีดังกล่าว คณะที่ไปลงนามรับรองน่าจะเป็นปุ๋ยคอกกันหมดแล้ว การผลักเวลาบรรลุออกไปให้ไกลที่สุดสะท้อนถึงการทิ้งภาระไว้ให้ลูกหลาน ความหมายคือควรผลักดันและวัดผลการบรรลุผลให้อยู่ในช่วงสมัยของคนที่ไปร่วมรับมาหรือริเริ่มตั้งต้นด้วยจะดีกว่า
ประเด็น ‘COP26’ สะท้อนให้เห็นว่ายังมีข้อถกเถียงต่อการนำประเทศไทยไปผูกพันกับการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ ฟากหนึ่งมองว่ารัฐบาลยังมีความพร้อมไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว ขณะที่อีกฟากเชื่อว่ารัฐบาลอาจไม่ได้พร้อมที่สุด แต่ก็ยังสามารถขับเคลื่อนได้ในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดี COP26 นับว่าเป็นหมุดหมายสำคัญที่น่าติดตามว่าถึงที่สุดแล้วจะผลักดันและเป็นจุดตั้งต้นที่เป็นรูปธรรมของการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ไปไกลถึงความเป็นธรรมด้วยได้หรือไม่ ซึ่งในประเด็นถัดไปจะเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของตัวแทนจากสี่พรรคการเมืองต่อการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว
พรรคเพื่อไทย – ถัวเฉลี่ยประโยชน์จากการซื้อขายไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ แนะใช้รถไฟฟ้าแก้ปัญหามลพิษ
กิตติกร โล่ห์สุนทร ระบุถึงแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมว่า
“อีกไม่นานจะมีการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนกันหมด ใครมีบ้านอยู่ต่างจังหวัด และมีพื้นที่ก็แนะนำให้เก็บไว้ เพราะพื้นที่ดังกล่าวมีประโยชน์ในการจัดทำโซลาร์เซลล์ ขณะคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ หรือคอนโดซึ่งไม่มีหลังคาหรือพื้นที่เป็นของตนเองจะเสียเปรียบ และเมื่อแผงโซลาร์เซลล์เกิดขึ้นเยอะและขยายวงกว้าง อาชีพใหม่ ๆ ก็จะเกิดขึ้น อาทิ ตัดหญ้าใต้แผงโซลาร์เซลล์ การติดตามกระแสการเปลี่ยนผ่านพลังงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันน่าจะมาเร็วกว่าที่คิด”
การใช้ประโยชน์จากพลังงานหมุนเวียนอย่างโซลาร์เซลล์ในระดับภาครัฐ กิตติกร ให้ความเห็นว่า “เห็นด้วยกับมาตรการการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป (solar cell net metering) เนื่องจากเกิดประโยชน์จริง อย่างไรก็ดีไม่ใช่ทุกคนที่จะมีศักยภาพในการทำโซลาร์รูฟท็อป คนอยู่คอนโดไม่มีสิทธิ์ คนอยู่กทม. ก็ต้องมีฐานะดีจึงจะมีหลังคาใหญ่พอจะทำได้ ถ้าเราให้ ‘net metering’ จริง คนได้ประโยชน์มันจะเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งที่ผมมองคือการที่รัฐกดค่าไฟในการให้ซื้อโซลาร์เซลล์รับมาราคาถูก เพื่อให้ราคาถูกตรงนี้มาถัวเฉลี่ยกับคนที่ไม่มีโอกาสได้ทำโซลาร์รูฟท็อป เพราะฉะนั้นนโยบายที่ผมจะเสนอก็คือผลักดันให้เกิดโซลาร์รูฟท็อปง่ายที่สุด ให้ทุกคนได้ประโยชน์จากตรงนี้แล้วเอาประโยชน์จากค่าไฟราคาถูกตรงนี้มาถัวให้กับทุกคนในประเทศได้ประโยชน์ต่อไป”
“ทั้งนี้ นโยบายโซลาร์เซลล์ฟรี สำหรับพรรคเพื่อไทยไม่น่ามี ของให้ฟรีเหมือนจะช่วงแนะนำให้คนอยากมาใช้ อยากให้เห็นประโยชน์ แต่ตอนนี้โซลาร์เซลล์มันผ่านจุดนั้นมาแล้ว ผ่านจุดที่คนไม่รู้จัก จนคนเห็นประโยชน์หมดแล้ว มันต้องตอบโจทย์ในการคุ้มค่าเงินของตัวเอง แต่ถามว่าที่ห่างไกลที่การไฟฟ้าลากเสาไฟไปไม่ถึง ก็คิดว่าภาครัฐต้องรับผิดชอบจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้ทั่วถึง คือจะได้ฟรีในรูปนี้มากกว่า”
กิตติกร เสนอแนวคิดต่อมาเกี่ยวกับการหาจุดสมดุลด้านพลังงานและภาคเกษตรกรรมว่า “เรื่องการผสมชีวภาพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันไบโอดีเซลหรือแก๊สโซฮอลล์ โดยหลักแล้วผสมส่วนหนึ่งผมว่าดี แต่ที่ผ่านมาไม่รู้ว่ารัฐบาลถูกผลักดันจากที่ไหน จากนายทุนหรืออะไร พยายามจะเพิ่มส่วนผสมตรงนี้ให้มากขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายแล้วมันกลายเป็นภาระที่ย้อนกลับมาที่พวกเราทุกคน ทำให้ค่าพลังงานไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมัน หรือค่าไฟ แพงขึ้น ผมเองคิดว่ารัฐบาลควรจะคิดจุดเหมาะสมที่สุด เช่น ไบโอดีเซล ควะจะอยู่ที่ B5 หรือ B7 เอทานอลควรอยู่ที่แก๊สโซฮอลล์ 95 แล้วก็กำหนดตายตัวไป เราควรจะแบ่งให้ชัดว่าไม่ควรไปอุ้มพลังงานอะไรเต็มตัว อาจจะไม่เป็นนโยบายที่ถูกใจเกษตรกรทั่วไป แต่ผมคิดว่าเพื่อส่วนผลประโยชน์ของคนหมู่มากแล้วก็เป็นสิ่งที่ต้องพยายามเสนอให้รัฐบาลทำ หาจุดสมดุลที่ดีที่สุดของทั้งสองฟาก ทั้งด้านพลังงาน และเกษตรกรรม”
อีกข้อเสนอที่น่าสนใจของ กิตติกร คือการผลักดันการใช้รถไฟฟ้า “ผมเองเคยคิดนะครับว่าเมืองใหญ่ ๆ ที่มีปัญหามลพิษ ควรจะดึงรถไฟฟ้าเข้ามาใช้ ในฐานะคณะกรรมาธิการผมก็เคยทำข้อเสนอว่าถ้าอยากจะผลักดันรถ EV อยากจะลด PM2.5 เริ่มที่ภาครัฐก่อน รถของรัฐนี่แหละครับ หรือเริ่มที่ขนส่งสาธารณะ ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ช่วยได้ ตัวอย่างจากปักกิ่งที่จีนพอเขาเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้าหมด อากาศเขาดีเลย จริง ๆ ตรงนี้ถ้าเราผลักดันเป็นนโยบายได้ เมืองใหญ่เมืองไหนก็ตามที่มีปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 รัฐให้การสนับสนุนเลย และวินมอเตอร์ไซค์ก็อยู่ในข่ายที่จะได้รับการสนับสนุนให้เข้าถึงมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ถ้าราคาเท่ากับรถที่ใช้พลังงานเดิม รัฐอยากจะจูงใจให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้า รัฐก็ต้องช่วย น่าจะเป็นนโยบายที่ผมก็จะเสนอให้กับทางเพื่อไทย ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวเลย ได้ทั้งแก้มลพิษและช่วยประชาชนด้วย”
พรรคประชาธิปัตย์ – เสนอใช้ประโยชน์จาก ‘smart grid’ และต้องให้ความรู้ประชาชนเข้าใจการเปลี่ยนผ่านพลังงาน
เกียรติ สิทธีอมร ตั้งข้อสังเกตว่า “หากถามว่าวันนี้ประเทศไทยเริ่มทำระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (smart grid) กันหรือยัง คำตอบคือมีหลายโครงการเลยครับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทำแล้วหลายพื้นที่ด้วย การไฟฟ้านครหลวงก็มีแล้ว ทำไปเยอะ ‘smart grid’ จะเป็นตัวที่มารองรับนโยบายทั้งหลาย จะบอกว่าเรายังไปไม่ถึงไหน ไม่ขับเคลื่อนอะไรก็คงไม่ใช่ ถามว่าทำไมเมื่อก่อนเราพูดถึงโซลาร์เซลล์แล้วไม่มีใครสนใจ เป็นเพราะอะไรรู้มั้ยครับ เพราะมันแพง แต่วันนี้เทคโนโลยีการผลิตถูกลงจนสามารถที่จะลงทุนได้ โดยใครก็ได้ ในค่าไฟปัจจุบัน นี่เป็นเหตุผลที่เกิดขึ้นได้หมด ถามว่าวันนี้ผมมีบ้านของผมเอง ผมจะติดโซลาร์เซลล์ใช้ในบ้านมีใครจะมาว่าผมมั้ย ไม่มีใครว่าผมได้นะครับ แต่คุณจะไปทำแล้วขายกลับเข้าระบบ ‘smart gird’ ก็อีกเรื่องหนึ่ง อีกกติกาหนึ่ง ถามว่าวันนี้แม้กระทั่งโรงเรียน มหาวิทยาลัยที่ติดโซลาร์เซลล์แล้วใช้ภายในอาคารตัวเอง ลดค่าไฟที่จ่ายก็ดีอยู่แล้วครับ จะบอกว่าเราไม่ได้ขับเคลื่อนเลย ไม่จริง ข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนี้ มันเกิดขึ้นบางส่วน เราไม่ได้ล้าหลังที่สุด”
“ผมไม่ค่อยเป็นคนเอามันนะ ผมเอาความจริง แล้วความจริงแต่ละพรรคการเมืองจะนำไปปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด อันนั้นคือคำตอบที่ดี ถามว่านโยบายที่ดีที่ควรทำ เราเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เรายอมรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ก็ชัดเจนครับว่าเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนมีอยู่ในแผนทั้งหมด ทำได้ ส่วนในเรื่องการผลิตกระแสไฟฟ้า ผมก็จะไม่สุดโต่ง เพราะผมเป็นคนสร้างโรงไฟฟ้ามาแล้วเกือบทุกประเภทด้วยตนเอง ต้องบอกว่าถ้าสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำใช้เวลานานที่สุดครับ 5 ปี ถ้าสร้างโรงไฟฟ้าพลังก๊าซ 2 ปี เสร็จแล้ว ต้นทุนการก่อสร้างก็ไม่เท่ากัน ต้นทุนโรงไฟฟ้าพลังก๊าซ ประมาณครึ่งล้านเหรียญต่อเมกะวัตต์ แต่ถ้าคุณสร้างโรงไฟฟ้าเขื่อนที่กระทบสิ่งแวดล้อม สร้าง 5 ปีครับ ต้นทุนประมาณ 2-2.5 ล้านเหรียญต่อเมกะวัตต์ โจทย์มันไม่เหมือนกันนะครับ ทุกประเทศต้องใช้นโยบายหลากหลายผสมผสาน ไม่ให้เสี่ยงทางใดทางหนึ่งจนเกินไป อาจกระทบเสถียรภาพกับระบบ”
“สำหรับโซลาร์เซลล์ ผมเห็นด้วย 100% ว่ามีศักยภาพสูงมากเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและต้องส่งเสริม แต่จะทำไม่ได้เลย ถ้าเครือข่ายเชื่อมต่อสำหรับจ่ายไฟฟ้าไม่พร้อม สายส่งไม่พร้อม เพราะ ณ วันนี้จากส่วนกลางวิ่งลงใต้ไม่มีสำรองนะครับ และที่เราบอกจะมีระบบ ‘smart grid’ เชื่อมกับมาเลเซีย เชื่อมไม่ได้นะครับ ยังไม่มีกำลังสำรองเพียงพอ ตรงนี้ความพร้อมไม่ใช่ระบบผลิต ระบบส่งก็สำคัญมาก ต้องไปพัฒนาไปด้วยกัน”
อีกประเด็นซึ่ง เกียรติ เน้นย้ำคือการสร้างการรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชนต่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เกียรติ ระบุว่า “การให้ความรู้กับประชาชนที่ถูกต้องเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เพราะว่าสิ่งที่คุณจะทำอะไรลงไป ถ้าประชาชนรู้ไม่จริง ข้อมูลเท็จจริงคืออะไร หลักการเหตุผลคืออะไร เทคโนโลยีไปถึงไหน ข้อตกลงระหว่างประเทศเป็นอย่างไร สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าเรารู้น้อย สังคมเรารู้น้อย ผมก็อยากฝากบทบาทสื่อและนักการเมืองเองที่จะให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องที่สำคัญกับประเทศและกระทบกับชีวิตเราทุกคน ให้ข้อมูลที่ถูกต้องก่อน และนำเสนอว่าหลักการในโลกนี้มีทางเลือกอย่างไรบ้างที่เป็นเหตุผล อธิบายได้ ประชาชนก็จะได้เป็นพลังที่ช่วยให้การทำงานของเราในการกำกับดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงพลังงานทำได้ดีขึ้น”
พรรคก้าวไกล – เปิดเสรีไฟฟ้าสะอาด เน้นความมั่นคงพลังงานพร้อมกับความเข้มแข็งของชุมชน
วิโรจน์ ลักขณาอดิสร แสดงความเห็นถึงนโยบายการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมว่า “ผมคิดว่ามี 5 หมุดหมายที่จะต้องปักเป็นธงสำหรับเรื่องนี้ หนึ่งคือ เปิดเสรีไฟฟ้าสะอาด ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน สอง การสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ได้ สาม ความมั่นคงพลังงานที่เกิดจะต้องมาพร้อมกับความเข้มแข็งของชุมชนและของประชาชน สี่ การปลดโซ่ตรวนการผูกขาดของนายทุนโรงไฟฟ้า และนายทุนพลังงาน และสุดท้าย การผลักดันนโยบายเปิดเสรีไฟฟ้าสะอาดจะต้องทำอย่างน้อย 3 ระดับคือ ครัวเรือน ชุมชนและท้องถิ่น และโรงงานอุตสาหกรรม ถ้าทำได้อย่างเต็มลูป โรงงานก็จะซื้อไฟฟ้าจากชุมชนและท้องถิ่น ครัวเรือนได้ เม็ดเงินที่เกิดขึ้นก็เอามาพัฒนาท้องถิ่น ครัวเรือนที่จ่ายค่าไฟน้อยลงก็มีกำลังการบริโภคเพิ่มขึ้นก็ทำให้การค้าขาย เม็ดเงินกระจายสู่ระบบเศรษฐกิจในที่สุด นี่คือ 5 หมุดหมายที่ผมคิดว่าจะต้องปักให้ได้ในการขับเคลื่อน”
ต่อประเด็นสุดท้าย ‘การเปิดเสรีไฟฟ้าสะอาด’วิโรจน์ ขยายความเพิ่มเติมว่า “เราควรขับเคลื่อน 3 ระดับ ระดับแรกคือระดับครัวเรือน ต้องผลักดันระบบ ‘net metering’ ให้ได้ หรือที่เรียกว่าหน่วยหักลบการใช้ไฟฟ้าสุทธิ เนื่องจากเรามักกันพูดเสมอว่าต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า ซึ่งความมั่นคงที่แท้จริงคือการทำให้ประชาชนสามารถพึ่งตนเองและมีความเข้มแข็งในตนเองให้ได้ และที่สำคัญที่สุดนโยบายตรงนี้สำคัญมาก ไม่ใช่แค่ลดค่าไฟให้กับประชาชนเพียงอย่างเดียว แต่ควรครอบคลุมไปถึงการทำให้ค่าไฟถูกลง ผ่านระบบ ‘net metering’ หรือระบบหักลบหน่วยใช้ไฟฟ้าสุทธิให้สำเร็จ เงินที่จะใช้จ่ายได้ก็เหลือขึ้นก็เกิดการบริโภคภายในประเทศ เกิดอำนาจซื้อของครัวเรือนสูงมากขึ้น”
“ระดับต่อมาคือระดับชุมชนหรือระดับท้องถิ่น ถามว่าเราจะส่งเสริมชุมชนให้เข้มแข็ง พร้อมกับการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างไร เรารู้หรือมั้ยว่าเรามีกองทุนอนุรักษ์พลังงานที่มีเงินในกองทุนถึง 2.7 หมื่นล้าน แล้วเรามีหน่วยงานที่เป็นการรวมกันของชุมชนที่เข้มแข็งมากอย่างสหกรณ์บ้านมั่นคง 1,332 แห่ง กว่า 127,000 ครัวเรือน สหกรณ์เครดิตยูเนียนประมาณ 1,000 แห่ง สหกรณ์การเกษตรประมาณ 4,500 แห่ง และยังมีวิสาหกิจนาแปลงใหญ่อีก 1,500 กว่าแห่ง เราสามารถอัดฉีดเม็ดเงินลงไป เป็นกองทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้คนในชุมชุนไปติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้และที่สำคัญที่สุด อีกส่วนคือในพื้นที่ที่เป็นที่ต่ำ น้ำท่วมทุกปี คิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะใช้พื้นที่ตรงนั้นรับน้ำไปเลย แล้วรับเงินในการรับน้ำ นี่คือรายได้ทางที่หนึ่ง รายได้ที่สองคือ ตั้งเสาและทำโซลาร์ฟาร์มไปเลยครับ ก็จะเป็นประโยชน์จากการป้องกันเมืองจากน้ำท่วม และทำให้เกษตรกรมีรายได้ตรงนั้นด้วย นี่คือเรื่องของชุมชน และท้องถิ่นก็จะมีรายได้พัฒนาท้องถิ่นของตนเอง จัดสวัสดิการให้กับประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นด้วย”
“ระดับสุดท้ายคือภาคอุตสาหกรรม ผมคิดว่านโยบายภาษีต่าง ๆ ภาษีศุลกากร หรือว่าการหักลดหย่อนภาษีจากการลงทุนจะต้องทำต่อ และที่สำคัญต้องผลักดันการซื้อขายไฟฟ้าผ่านแพลตฟอร์ม “Peer-to-Peer Energy Trading” หรือแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถนำไฟฟ้าส่วนที่เกินจากความต้องการใช้งานมาเสนอซื้อและขายระหว่างกันได้โดยตรง อีกอย่างผมเห็นด้วยว่าการทำ “ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ” (smart grid) นั้นทำได้ เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันไปถึงแล้ว ราคาถูกลงเรื่อย ๆ จึงขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะผลักดันหรือเปล่า โดยควรทำให้ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก เพราะทุกวันนี้กระบวนการยุ่งยากเหลือเกินเหมือนพยายามจะไม่ให้ประชาชนมีความยั่งยืนในการผลิตพลังงานใช้เอง”
พรรคกรีน – แปลงต้นไม้เป็นพลังงาน ผลักดันโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นทางออก
พงศา ชูแนม ระบุถึงทิศทางนโยบายของพรรคกรีนต่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม โดยเน้นไปที่การเสนอเรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวลว่า “ถ้ามีพลังงานแดด ผมว่าดีนะ ลมก็ดี แต่ผมตั้งคำถามว่าเรามีกังหันลมมากมาย มีโซลาร์เซลล์เต็มไปหมด ชาวนายังจนมั้ย ทำไร่มันสำปะหลัง ทำไร่ข้าวโพด ยังทำเหมือนเดิมมั้ย ก็เหมือนเดิม ผมเห็นที่อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ กังหันลมตัวละ 100 กว่าล้าน หมุนเต็มทุ่ง แต่ข้างล่างคนยังยากจนอยู่ พลังงานเหล่านี้จึงเหมือนเป็นคนดีที่ถูกหลอก แล้วอะไรเป็นคนดีที่เท่าทันโลก เท่าทันครรลองธรรม พรรคเราเชื่อชัดว่าชีวมวลจากไม้คือทางออก เพราะชีวมวลจากไม้เป็นคนดีที่ทันครรลอง ทันโลก ถามว่าแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น แน่นอนว่าพื้นที่เกษตร 200 ล้านไร่ทั้งประเทศ ก็จะลดลงมา ถามว่าทำไม วันนี้ที่เราพื้นที่ทำเกษตรเกินก็ยังถูกหลอกอยู่ ยังจนอยู่ ถ้าส่วนหนึ่งเอาพื้นที่นามาปลูกต้นไม้ แล้วเอาต้นไม้เข้าโรงไฟฟ้าชีวมวล ผมจึงเสนอโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นอันดับหนึ่ง”
“แต่โซลาร์เซลล์ก็ไม่ได้ผิดนะครับ เพียงแต่อยู่อันดับต่อมา แต่เรื่องฟอสซิลบอกยกเลิก โลกบอกว่าเรากำลังทำผิดอยู่เป็นสัญญาณก็ไม่ควรทำ ควรจะหยุด พอหยุด ก็ต้องตั้งคำถามว่าอีก 20 ปีข้างหน้า ไม่มีปั๊มน้ำมันเราจะทำอย่างไร และคำถามที่ว่าใช้พลังงานอะไรแล้วประชาชนจะหายจน ไม่ใช่มีพลังงานเลิศหรู แต่ชาวนาชาวไร่ยังจนอยู่ มันก็ไม่ใช่คำตอบ และยังมีปัญหาในอนาคตเหมือนกัน”
“ภายในปี 2573 ต้องมีต้นไม้ 8 แสนล้านต้น แล้วกระบวนการว่าเราจะไม่ปล่อยคาร์บอนไปมากกว่านี้ เราจะหาสมการค่ากลางยังไงให้มีต้นไม้ ผมจึงเชื่อว่าถ้ามันสร้างแรงจูงใจ สร้างต้นไม้เป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ คิดว่าเป็น “carbon currency” แล้วเอา “carbon currency” ไปซื้อพลังงานเหมือนที่สหรัฐอเมริกาเคยทำ มันก็จะเกิดสิ่งนั้นที่เราไม่ได้แค่ตอบโจทย์ประเทศไทย แต่ไปไกลถึงการคิดถึงโลกว่าถ้าอยู่ไม่ได้ เราลำบากนะ ทีนี้โจทย์เขาก็บอกแล้วว่ามีต้นไม้ 8 แสนล้านต้น ถามว่าทำยังไงก็ต้องทำวิธีนี้แหละ เอาต้นไม้ไปทำพลังงาน”
กล่าวโดยสรุป ความเห็นและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของพรรคการเมืองนั้นแม้จะไม่ลงลึกถึง “ความเป็นธรรม” ของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน แต่การตั้งต้นคิดและมองหาแนวทางที่เป็นไปได้จากรูปธรรมปัจจุบัน ทั้งการเสนอเรื่องการใช้ประโยชน์จาก ‘smart grid’ การสนับสนุนการใช้รถไฟฟ้า การเปิดเสรีไฟฟ้า และการแนะโรงไฟฟ้าชีวมวลเป็นทางออก ก็นับเป็นก้าวสำคัญของการนำพาตัวพรรคการเมืองซึ่งมีส่วนในการกำหนดนโยบายและประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียขยับขึ้นไปยืนอีกขั้นของการรับรู้ถึงการมีอยู่ของประเด็น “การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม” และแน่นอนที่สุดว่าการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญดังกล่าวที่เชื่อมโยงถึงทั้งทิศทางของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังให้เผชิญกับความเดือดร้อนจากการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวจะยังคงเป็นประเด็นที่ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงาน ถกหาแนวทาง และร่วมกันกำหนดนโยบายที่เป็นธรรม ครอบคลุมกับคนทุกส่วน เพื่อตอบโจทย์ความเป็นสังคมประชาธิปไตยโดยแท้จริง
อติรุจ ดือเระ – ผู้เรียบเรียง
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ
กองบรรณาธิการ สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNews – ถอดเทปการเสวนา
อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Updates: ถอดบทเรียน: การจัดสรรงบประมาณการเปลี่ยนผ่านพลังงานในประเทศเยอรมนี (EP. 15)
– SDG Insights | เติมเต็มความเป็นธรรมที่อาจหล่นหาย ผ่านมุมมองการเปลี่ยนผ่านพลังงานอุตสาหกรรมยานยนต์ (EP. 16)
– SDG Updates | การปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและบทบาทของตลาดในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (EP.12)
– SDG Insights | ต่อจิ๊กซอว์การเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมของไทย ไปกับภาคประชาสังคม (EP. 11)
– SDG Updates | ใครบ้างที่มีบทบาทในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน? : สำรวจข้อมูลการใช้พลังงานและผู้มีอำนาจในการเลือกใช้พลังงานของไทย (EP.7)
– SDG Insights | ส่องบทบาทและความท้าทายของภาคเอกชน ในการเปลี่ยนผ่านพลังงานไทย (EP.6)
– SDG Updates | การพัฒนาที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมหน้าตาเป็นอย่างไร – ให้ SDGs ช่วยเป็นคำตอบ (EP.5)
– SDG Updates | ไทยอยู่จุดไหนในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน? : สำรวจข้อมูลการเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทย (EP. 4)
เวทีเสวนาหัวข้อ “นโยบายที่ไทยต้องการ…เปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม” เป็นส่วนหนึ่งจากโครงการสื่อสารองค์ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) จัดร่วมกันระหว่างมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประจำประเทศไทย (Friedrich-Ebert-Stiftung Thailand) ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม (GreenNews) และ ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม