SDG Insights | พื้นที่สีเขียว หัวใจสำคัญของเมืองยั่งยืน

อรณา จันทรศิริ

เมื่อพูดถึง “เมืองยั่งยืน” หนึ่งในภาพจำและการรับรู้ของแทบทุกคนคงมีภาพแนวต้นไม้ตามถนน สวนสาธารณะ ป่าในเมืองที่ให้ร่มเงา สร้างความรู้สึกสดชื่นเป็นหนึ่งในองค์ประกอบนั้น นอกจากความรู้สึกและการรับรู้ในทางส่วนตัวแล้วยังมีหลักฐาน งานวิจัยจำนวนมากที่ทำให้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าพื้นที่สีเขียวมีประประโยชน์ และจำเป็นต้องมีหากเราต้องการสร้างเมืองที่ยั่งยืน

SDG Insights ฉบับนี้ชวนผู้อ่านทุกท่านทำความรู้จะกับ “พื้นที่สีเขียว” และสถานการณ์การเข้าถึง การใช้ประโยชน์พื้นที่สีเขียว โดยเฉพาะสวนสาธารณะพื้นที่สีเขียวที่คนเมืองคงนึกถึงเป็นอย่างแรก พร้อมชวนมองภาพความเชื่อมโยงของพื้นที่สีเขียวกับวิถีชีวิต
สุขภาวะของคนเมือง

01 พื้นที่สีเขียวคืออะไร

หลายคนสงสัยว่าแท้จริงแล้วอะไร พื้นที่สีเขียว คืออะไร

ปัจจุบันนิยามของ “พื้นที่สีเขียว” มีหลากหลายประเภทด้วยกัน หากยึดตามนิยามของกรมโยธาธิการและผังเมือง สามารถแบ่งได้ถึง 6 ประเภท[1] แต่หากกล่าวให้เข้าใจง่าย พื้นที่สีเขียวหมายถึงพื้นที่ตามธรรมชาติ พื้นที่กึ่งธรรมชาติ (มีการก่อสร้าง) หรือพื้นที่ที่มีการเพาะปลูก สำหรับในบริบทชุมชนเมือง “สวนสาธารณะ” คงเป็นตัวอย่างพื้นที่สีเขียวที่ประชากรเมืองนึกถึงเพราะได้ใช้บริการ ใช้ประโยชน์ทางด้านนันทนาการ ทำกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจ กิจกรรมทางกาย (active) ตลอดจนใช้เป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้

ตัวอย่าง “พื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่สวนสาธารณะ”

สวนสาธารณะในประเทศไทยมีหลายแห่งน่าสนใจ ขอยกตัวอย่างสวนลุมพินีที่เป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย ที่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ เพื่อสร้างเป็นพื้นที่แสดงสินค้า กระตุ้นเศรษฐกิจ และตั้งพระราชหฤทัยว่าให้เป็นสวนขนาดใหญ่ให้ประชาชนใช้พักผ่อนหย่อนใจ ในยุคหนึ่ง พื้นที่นี้ได้กลายเป็นพื้นที่เสื่อมโทรม[2]เป็นที่จอดรถ ที่นอนคนจรจัด ดื่มเหล้ามั่วสุม แต่จากการเรียกร้องของเครือข่ายประชาชนที่ต้องการเห็นสวนลุมพินีที่คงสภาพตามพระราชดำริ ปัจจุบันสวนลุมพินี เป็นสวนสาธารณะที่สามารถรองรับประชาชนได้มากกว่า 10,000 คนต่อวัน และเป็นแรงบันดาลใจสำหรับการสร้างสวนสาธารณะแห่งอื่น ๆ อีกมากมาย

สวนลุมพินี ภาพจาก pixabay.com – public domain

02 พื้นที่สีเขียวในประเทศไทยมีมากน้อยเพียงใด

พื้นที่สีเขียวในประเทศไทยมีปริมาณมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับนิยามที่ถูกใช้เพื่อเรียกและเกณฑ์การแบ่งพื้นที่ หากกล่าวถึงพื้นที่สีเขียวที่ได้ใช้ประโยชน์ในเขตเมืองหรือสวนสาธารณะยังเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมให้มีการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลพบว่าประเทศไทย มีสวนสาธารณะกว่า 600 แห่ง[3] แต่การกระจายและคุณภาพของสวนสาธารณะมีความแตกต่างและหลากหลาย สวนสาธารณะในกรุงเทพมหานครมีสวนหลัก 39 แห่ง [4] มาตรฐานพื้นที่สวนสาธารณะต่อประชากรที่เป็นไปตามเป้าหมายของแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับบริบทของประเทศนั้น ๆ เราอาจเคยได้ยินเกณฑ์การกำหนดพื้นที่สีเขียว 9 ตารางเมตรต่อประชากร แต่เมื่อดูข้อมูลสนับสนุนทางการยังไม่พบข้อแนะนำดังกล่าว[5] อาจสรุปรวม ๆ ได้ว่าแนวคิดที่สอดคล้องกัน คือ พื้นที่ยิ่งมาก ยิ่งดี (The bigger, the better)

มีสัญญาณที่ดีว่าน่าจะเห็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวมากขึ้น จากแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ประเด็นการเติบโตอย่างยั่งยืนได้กำหนดเป้าหมายพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศไทย โดยแบ่งเป็นพื้นที่สีเขียวที่เป็นป่าธรรมชาติ ร้อยละ 35 พื้นที่สีเขียวเพื่อการใช้ประโยชน์ร้อยละ15 และป่าในเมืองและพื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและการเรียนรู้ร้อยละ 5 [6]

03 ภาพอนาคตเมืองยั่งยืน ความเชื่อมโยงของพื้นที่สีเขียว กับสุขภาวะของประเทศไทย

ภาพเมืองยั่งยืนที่ตอบโจทย์ต่อสุขภาวะมีความเป็นนามธรรมสูง โดยควรเริ่มจากการแก้ไขปัญหาในพื้นที่เขตเมืองที่เราอาศัยอยู่ก่อน ซึ่งปัญหาของเมืองทั่วโลกก็ประสบกับสถานการณ์คล้ายคลึงกัน หากวาดภาพเมืองและชุมชนยั่งยืนได้คงต้องยึดตามแนวคิด what get measured, get done หรือสิ่งใดที่ได้รับการประเมินผล สิ่งนั้นจะได้รับความสำเร็จ ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อุทิศให้กับการวาดภาพเมืองและชุมชนที่ยั่งยืนตาม SDG 11 ซึ่งต้องบอกว่าเมืองเพื่อสุขภาวะไม่ได้กล่าวถึงเฉพาะระเด็นด้านสุขภาพเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงทุกมิติชีวิตของประชาชนในเมืองอีกด้วย และต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับตัวอย่างตัวชี้วัด SDG 11 ที่ให้ความสำคัญทั้งด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเข้าถึงที่อยู่อาศัย คุณภาพสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ [7]

ภาพความเชื่อมโยงเรื่องเมืองยั่งยืนตาม SDG 11 ภาพจาก unep.org

พื้นที่สีเขียว กับประโยชน์ทรงตรงและทางอ้อมต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

พื้นที่สีเขียว เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่ประชาชน ในทางตรงเกี่ยวข้องด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

  1. ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน[8] [9] [10] [11]
  2. ส่งเสริมสุขภาพจิตของประชากรเมือง การได้อยู่ใกล้ชิดมากขึ้นกับธรรมชาติช่วยให้รับมือกับความเครียด ความวิตกกังวล ซึมเศร้าได้ดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพิ่มความมั่นใจ[12] [13]
  3. ระบบภูมิต้านทานดีขึ้น การได้ออกกำลังกายช่วงเช้าทำให้ได้รับแสงแดดที่มีผลต่อการสร้างวิตามินดี ช่วยให้กระดูกแข็งแรง สร้างภูมิต้านทานต่อโรคหอบหืด มะเร็งบางประเภทและโรคต่าง ๆ [14]
  4. เพิ่มการมีกิจกรรมทางกายและลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง เพิ่มโอกาสในการเดินและออกกำลังกาย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตและเจ็บป่วยก่อนวัย

ในทางอ้อม พื้นที่สีเขียวช่วยลดมลภาวะและปรากฎการณ์เกาะความร้อนเมือง เช่น

  1. ลดมลภาวะทางอากาศ เนื่องจาก ต้นไม้ช่วยลดมลภาวะทางอากาศและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ จากงานวิจัยพบว่าต้นไม้ภายในสวนสาธารณะสามารถช่วยลดฝุ่น PM10 ในชั้นบรรยากาศของเมืองได้ประมาณ 7% [15]
  2. เกราะลดมลภาวะทางเสียง จากงานวิจัยในเมืองอัมสเตอร์ดัม พบว่าสวนสาธารณะสามารถลดมลภาวะทางเสียงจากสนามบินสคิปโฮล (Schipol Airport) ได้ถึง 50% [16]
  3. ลดภาวะปรากฎการณ์เกาะความร้อนเมือง ในพื้นที่ 1 กิโลเมตรรอบสวนสาธารณะมีอุณหภูมิที่ต่ำกว่าบริเวณภายนอก [17]

04 ความท้าทายของการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวของคนทุกระดับ และการลดความเหลื่อมล้ำให้คนทุกระดับเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสวนสาธารณะได้

แม้ประโยชน์จากพื้นที่สีเขียวจะได้รับการพิสูจน์และเผยแพร่อย่างกว้างขวาง แต่ก็มีหลักฐานที่แสดงแง่มุมอีกด้านหนึ่ง กล่าวคือ มีผลงานตีพิมพ์ยืนยันถึงความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงบริการสวนสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่ออกแบบเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะหรือเพื่อให้บริการชุมชนเฉพาะ [18] เช่น สวนสาธารณะที่ออกแบบสำหรับกิจกรรมบาสเก็ตบอลจะส่งเสริมให้ผู้ใช้เล่นบาสเก็ตบอลและดึงดูดผู้ใช้บริการที่เล่นบาสเก็ตบอลเป็นหลัก ในขณะเดียวกันก็จะลดพื้นที่การใช้เพื่อกีฬาประเภทอื่น หรือแม้แต่ผู้ใช้บริการที่จะทำกิจกรรมพักผ่อนอื่น ๆ เช่น ปิกนิก อ่านหนังสือ เป็นต้น

การสร้างการรับรู้หรือความรู้สึกทางจิตใจก็มีผลสำคัญต่อความไม่เท่าเทียมต่อโอกาสการเข้าถึงกิจกรรมในพื้นที่โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเฉพาะ เช่น การออกแบบสนามเด็กเล่นที่ไม่น่าสนใจก็จำกัดการมาเล่นของเด็ก ๆ หรือสวนที่ไม่ได้คำนึงเรื่องอารยสถาปัตย์ก็ทำให้ประชากรกลุ่มพิเศษไม่สามารถใช้บริการได้ อาจต้องเข้าใจในมุมมองผู้ใช้บริการเรื่องการรักษาและคุ้มครองความปลอดภัย พื้นที่สวนที่ตั้งในบริเวณอาชญากรรมสูงจะมีผู้ใช้บริการน้อยกว่ายิ่งเป็นเด็กและผู้หญิง [19]

ตัวอย่างจากกรณีศึกษาในประเทศไทย จากการศึกษาผู้ใช้บริการสวนเบญจกิติ กรุงเทพมหานคร [20] ซึ่งเป็นสวนที่ตั้งอยู่ย่านธุรกิจใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร พบว่า ผู้ใช้งานหลักเพื่อกิจกรรมเดินและวิ่ง โดยเฉพาะช่วง 17.00-19.00 น. ส่วนใหญ่เป็นวัยผู้ใหญ่เดินทางกลับจากที่ทำงานในย่านนั้น ภาพลักษณ์ของสวนดึงดูดกลุ่มชุมชนเมืองรายได้ปานกลางถึงสูง ผลทางอ้อมทำให้กลุ่มอื่น ๆ ซึ่งไม่ได้ต้องการมาออกกำลังหนัก ๆ มาใช้บริการน้อยกว่ามาก เช่น กลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ และนอกจากนี้ กลุ่มชุมชนรายได้น้อยในละแวกก็มาใช้บริการคนละเวลา เนื่องจากมีความรู้สึกแตกต่างจากกลุ่มวัยทำงานในช่วงเย็น

สวนเบญจกิติ ภาพจาก readthecloud.co

ดังนั้น การสร้างรับรู้เพื่อเพิ่มการใช้งานสำหรับกลุ่มต่าง ๆ สามารถออกแบบจากลักษณะภายในสวนสาธารณะ สิ่งเหล่านี้เริ่มได้จากสิ่งเล็กน้อย ๆ ทั้งแสง ป้าย ที่ตั้งของสิ่งอำนวยความสะดวก กิจกรรมภายในสวน และการออกแบบภูมิทัศน์ [13] [14]ข้อเสนอแนะจากการวิจัย [13] ตั้งข้อสังเกตว่าการออกแบบสวนสาธารณะ เพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไปจะดึงดูดผู้ใช้บริการที่หลากหลายมากกว่าการมุ่งเป้าไปที่วัตถุประสงค์สำหรับผู้ใช้งานเฉพาะกิจกรรม อย่างไรก็ตามการพัฒนาสวนควรคำนึงถึงประโยชน์ในมุมมองผู้ใช้งานที่หลากหลาย ทั้งเพื่อการมีกิจกรรมทางกายและการพักผ่อนหย่อนใจ เพื่อสร้างโอกาสที่เท่าเทียมในการเข้าถึงและการใช้บริการ

05 กลไกการนำการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องไปใช้ในการกำหนดนโยบาย หรือมาตรการเมืองยั่งยืนของประเทศไทย

ความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากหลักฐานทางวิชาการระหว่างภาคสุขภาพกับภาคผังเมือง เห็นได้จากเอกสารนโยบายหน่วยงานทั้งด้านสุขภาพและนอกภาคสุขภาพ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีแผนการส่งเสริมพื้นที่สุขภาวะเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกาย [21] สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่ายร่วมกับรับรองมติสมัชชาการร่วมสร้างสรรค์พื้นที่สาธารณะในเขตเมือง เพื่อสุขภาวะสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน [22] เป็นต้น เหล่านี้เป็นกลไกสนับสนุนที่สำคัญในการนำผลการวิจัยสู่การสร้างความเข้มแข็งและการติดตามเชิงนโยบาย และต่อการนำผลการศึกษาวิจัย และแนวทางที่ดี (good practices) ที่เกิดขึ้นในพื้นที่มาขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ

ปัจจุบัน มีภาคีเครือข่ายหลักที่ดำเนินงานเกี่ยวกับพื้นที่สุขภาวะ โดยเฉพาะเครือข่ายด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์และผังเมืองจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จนเกิดผลลัพธ์การสร้างพื้นที่สุขภาวะที่ผ่านกระบวนการออกแบบจากการมีส่วนร่วมของชุมชนและมีการผนวกแนวคิดเรื่องสุขภาพในการออกแบบ

ตัวอย่างงานวิจัยหนึ่งที่ได้นำผลไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม คือ พื้นที่สวนเบญจกิติ ที่ตั้งอยู่ระหว่างถนนรัชดาภิเษกและถนนดำรงค์พิทักษ์ ในปี 2559 ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ให้มีการใช้ระเบียบวิธีวิจัยในการศึกษาการใช้ประโยชน์ด้านกิจกรรมทางกายภายในสวนฯ คณะวิจัยใช้เครื่องมือสำรวจ Systems Observing Play and Recreation in Community หรือ SOPARC เข้าใจง่าย ๆ คือ บันทึกการสำรวจผู้ใช้บริการสวนฯ ว่ามีกี่คน ลักษณะทางประชากร (เพศ กลุ่มอายุ) ระดับกิจกรรมทางกาย (ทำอะไรอยู่ เป็นกิจกรรมเบา ปานกลาง หรือหนัก) ซึ่งมีการสำรวจอย่างต่อเนื่องทุกวันในสัปดาห์ ผลสำรวจในขณะนั้นพบว่าสวนเบญจกิติมีผู้มาใช้บริการสูงถึง 2,663 คนต่อวัน ในจำนวนนี้มีกลุ่มเด็กเพียง 4% [23] ส่วนใหญ่มีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนัก (การเดินและวิ่ง) นอกจากนี้ การสำรวจพื้นที่ยังพบปัญหาเรื่องอุบัติเหตุจากความต้องการใช้พื้นที่ที่หลากหลาย เช่น คนปั่นจักรยานชนคนวิ่ง คนวิ่งชนเด็ก เป็นต้น ภายหลังการสำรวจได้นำผลการศึกษานำเสนอแก่ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่จนเกิดเป็นโครงการพัฒนาสวน ให้มีการแบ่งเขตพื้นที่ใช้งาน การเสริมความปลอดภัยในพื้นที่ และพื้นที่เล่นของเด็ก ทีมวิจัยได้ทำการเก็บข้อมูลหลังโครงการอีกครั้ง และพบการใช้บริการพื้นที่ในปริมาณที่มากขึ้นในทุกกลุ่มประชากร [24]

อีกตัวอย่างการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลสวนสาธารณะ (ขนาดพื้นที่ ผู้ใช้บริการ ฯลฯ) รายจังหวัดทั่วประเทศเป็นข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงต่อการกำหนดนโยบายระดับพื้นที่ ตัวอย่างการใช้งาน คือ การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีเป้าหมายการสร้างพื้นที่สวนสาธารณะเพิ่มเติม ในการจัดทำข้อเสนอโครงการได้มีการระบุประมาณการผู้ใช้งาน ซึ่งเกิดจากประมาณจากจำนวนผู้ใช้บริการในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง สามารถเยี่ยมชมได้ทางเว็บไซต์ www.activethai.org

06 แนวทางการสำคัญที่จะพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้กลายเป็นพื้นที่ต้นแบบเมืองสุขภาพที่ยั่งยืนของประเทศไทย หรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกิจกรรม/โครงการที่ท่านคิดว่าจะช่วยพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนได้

จากการศึกษาต่าง ๆ ขอรวบรวมและประมวล 4 หลักการในการพัฒนาพื้นที่สีเขียว

  1. ต้องเข้าถึงได้ (accessibility) เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของการพัฒนาพื้นที่สีเขียว เพื่อใช้ประโยชน์ในเขตเมือง กล่าวได้ว่าควรเลือกพัฒนาพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาสวนสาธารณะ ดูตัวอย่างจาก Central Park ในนิวยอร์ก หรือสวนลุมพินีที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ทั้ง 2 พื้นที่นี้ตั้งอยู่ใจกลางเมือง พื้นที่ชุมชนที่หนาแน่น และสามารถเดินทางได้ด้วยการคมนาคมจากเส้นทางและรูปแบบการเดินทางที่หลากหลาย ดังนั้นในข้อแนะนำที่เป็นรูปธรรม ควรพิจารณาการบูรณาการพื้นที่สำหรับสวนสาธารณะให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการพัฒนาเมือง การออกแบบเพื่อการเข้าถึงได้ของประชากรทุกกลุ่ม (inclusivity) เช่น เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มผู้มีรายได้น้อย และการใช้ประโยชน์สูงสุดจากการเดินทางมายังสวนสาธารณะ เช่น ทางเท้า ทางจักรยาน ในบริเวณรอบสวน เพื่อสร้างความกลมกลืนของพื้นที่และเพิ่มโอกาสการมาใช้บริการ
  2. “ยิ่งใหญ่ ยิ่งดี” “the bigger, the better” งานวิจัยหลากหลายยืนยันได้ว่าขนาดพื้นที่มีความสำคัญต่อการเพิ่มการใช้ประโยชน์โดยเฉพาะด้านกิจกรรมทางกาย จึงเสนอเพื่อพิจารณาในการรวบรวมพื้นที่ให้มีขนาดใหญ่พอสมควรมากกว่าที่จะสร้างพื้นที่เล็กและย่อย ๆ หลายพื้นที่ อย่างไรก็ดี ในบางพื้นที่อาจไม่สามารถจัดสรรพื้นที่ขนาดใหญ่ได้ การออกแบบเครือข่ายสวนสาธารณะเล็ก ๆ สามารถเป็นประโยชน์ต่อการเชื่อมกิจกรรม เช่น ตัวอย่างเส้นทางวิ่งและเส้นทางจักรยานในประเทศสิงคโปร์
  3. จัดอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะแก่ผู้ใช้งาน ปัจจัยนี้ช่วยสนับสนุนการใช้ประโยชน์โดยเฉพาะเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ทั้งเส้นทางวิ่ง เส้นทางปั่นจักรยาน สนามเด็กเล่น อุปกรณ์ออกกำลังกาย สนามกีฬาประเภทต่าง ๆ ในประเด็นนี้มีข้อเสนอแนะอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ ควรจัดสิ่งอำนวยความสะดวกที่หลากหลายประเภทกิจกรรม จัดสรรพื้นที่ลานโล่งเพื่อการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มหรือกิจกรรมมวลชน จัดสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางอ้อม เช่น จุดน้ำดื่ม เก้าอี้นั่ง โต๊ะปิคนิก และคำนึงถึงความหลากหลายของกลุ่มอายุและเพศ เช่น การศึกษาพบว่าผู้หญิงมีการใช้งานเส้นทางวิ่งน้อยกว่า เนื่องจากต้องดูแลลูกที่สนามเด็กเล่น ดังนั้น การออกแบบเส้นทางวิ่งหรือลานกิจกรรมอื่น ๆ รอบบริเวณพื้นที่เด็กสามารถช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางกายของผู้หญิงได้
  4. อย่าละเลยเรื่องความสวยงาม การดูแล และการจัดกิจกรรม นอกจากการพัฒนาให้เกิดพื้นที่แล้ว ประเด็นเหล่านี้ก็ส่งผลต่อความถี่ ระยะเวลาของการใช้บริการของประชาชน ซึ่งมีข้อเสนอแนะเพื่อพิจารณา ได้แก่ การออกแบบพื้นที่ทางธรรมชาติที่สามารถดูแลได้ง่ายในทุกฤดูกาลและทุกสภาพอากาศ การออกแบบและเลือกใช้อุปกรณ์ตามมาตรฐานความปลอดภัย สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนและเครือข่ายผู้ใช้บริการเพื่อร่วมกันสอดส่องดูแลความปลอดภัย กำหนดปฏิทินกิจกรรมเพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการสวนสาธารณะ

ข้อความทิ้งท้าย

พื้นที่สีเขียวให้ประโยชน์ทางตรงและทางอ้อมในแง่การส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพจิต การลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม เป็นพื้นที่เชื่อมสัมพันธ์ทางสังคม และเพิ่มมูลค่าของพื้นที่ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน เราต้องสร้างจุดเปลี่ยนที่จะทำให้พื้นที่สีเขียวกลายเป็นหัวใจสำคัญของเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน ต้องเน้นเรื่องการเข้าถึงได้ และต้องมีการจัดอุปกรณ์หลากหลายและคำนึงถึงความหลากหลายของกลุ่มอายุและเพศ


พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ


● อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
– SDG News | พื้นที่สีเขียวช่วยเยียวยาสุขภาพกายและจิตใจ
– SDG News | พื้นที่สีเขียวรอบโรงเรียนประถมศึกษา อาจช่วยพัฒนาผลการเรียนของนักเรียนได้
– SDG News | สุขภาวะโลกตอนนี้เป็นอย่างไร? : Recap ประเด็นอาหาร การผลิต/การบริโภค เมือง และ Climate Change

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพเเละความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองเเละชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.3) ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืนในทุกประเทศ ภายในปี 2573
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (11.7) จัดให้มีการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียว ที่ปลอดภัยครอบคลุมและเข้าถึงได้ โดยถ้วนหน้า โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก คนชรา และผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย ภายในปี 2573

อ้างอิง:

[1] สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. พื้นที่สีเขียว https://bit.ly/3b7QKbg

[2] มติชนออนไลน์. ภาพเก่าเล่าตำนาน: สวนลุมพินี ที่คนไทยชื่นชอบ โหยหา. 14 ตุลาคม 2562 https://www.matichon.co.th/article/news_1709758

[3] ฐานข้อมูลสวนสาธารณะ www.activethai.org

[4] รายงานสวนสาธารณะหลักของกรุงเทพมหานคร. http://203.155.220.118/green-parks-admin/reports/report2.php

[5] I see many studies citing WHO for their international minimum standard for green space (9m2 per capita). But where is the actual study? https://www.researchgate.net/post/I-see-many-studies-citing-WHO-for-their-international-minimum-standard-for-green-space-9m2-per-capita-But-where-is-the-actual-study

[6] แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (18) ประเด็นการเติบโตอย่างยั่งยืน (พ.ศ.2561-2580) https://bit.ly/3LrwK1n

[7] https://www.unep.org/explore-topics/sustainable-development-goals/why-do-sustainable-development-goals-matter/goal-11

[8] Bodicoat, D. H., O’Donavan, G., Dalton, A. M., Gray, L. J. (2014). The association between neighborhood greenspace and type 2 diabetes in a large cross-sectional study. BMJ Open, 4:e006076.

[9] Lanki, T., Siponen, T., Ojala, A., Korpela, K. (2017). Acute effects of visits to urban green environments on cardiovascular physiology in women: a field experiment. Environmental Research, 159, 176-185

[10] Gies, E. (2006). The Health Benefits of Parks How parks help keep Americans and their communities fit and healthy. The Trust for Public Land, 1–24. Retrieved from https://www.tpl.org/sites/default/files/cloud.tpl.org/pubs/benefits_HealthBenefitsReport.pdf

[11] Frumkin, H., and Fox, J. (2011). Making healthy places: Designing and building for health, well-being, and sustainability. Washington, DC: Island Press.

[12] Beyer, K. M. M., Kaltenbach, A., Szabo, A., Bogar, S. (2014). Exposure to neighborhood green space and mental health: evidence from the survey of the health of Wisconsin.
Int J Environ Res Public Health, 11(3), 3453-3472.

[13] Wood, L., Hooper, P., Foster, S., and Bull F. (2017). Public green spaces and positive mental health investigating the relationship between access, quantity and types of parks and mental wellbeing. Health Place, 48, 63-71.

[14] Rook, G.A.W. (2013). Regulation of the immune system by biodiversity from the natural environment: an ecosystem service essential to health. Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America, 110 (46).

[15] Vieira, J., Matos, P., Mexia, T., Silva, P.(2018). Green spaces are not all the same for the provision of air purification and climate regulation services: The case of urban parks. Environmental Research, 160, 306-313

[16] Miley, J. (2017). This Cleverly Designed Park Reduces Noise Pollution Around Amsterdam’s Busy Airport. Retrieved from  https://interestingengineering.com/designed-park-reduces-noise-pollution-amsterdams-airport

[17] Bowler, D. E., Buyung‐Ali, L., Knight, T. M., and Pullin, A. S. (2010). Urban greening to cool towns and cities: A systematic review of the empirical evidence. Landscape and Urban Planning, 97, 147‐155.

[18] Wang, D., Brown, J., Liu, Y. The Physical and Non-physical Factors That Influence Perceived Access to Urban Parks, Landscape and Urban

[19] Wilbur J., Chandler P., Dancy B., Choi J. (2002) Environmental, policy,and cultural factors related to physical activity in urban, African Americanwomen. Women& Health. 36(2), 17-28

[20] Chandrasiri, O., and Arifwidodo, S. D. (2017). Inequality in active public park: a case study of Benjakitti Park in Bangkok, Thailand. Procedia Engineering, 198, 193-199.

[21]ทิศทางและเป้าหมายระยะ 10 ปี สสส. https://www.thaihealth.or.th/Books/list/25/

[22]มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 พ.ศ.2561 https://infocenter.nationalhealth.or.th/node/27548

[23]Chandrasiri, O., and Arifwidodo, S. D. (2017). Inequality in active public park: a case study of Benjakitti Park in Bangkok, Thailand. Procedia Engineering, 198, 193-199.

[24] Arifwidodo, S. D., and Chandrasiri, O. (2021). The Effects of Park Improvement on Park Use And Park-Based Physical Activity. Journal of Architecture and Urbanism, 45(1): 73-79.

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on มกราคม 23, 2024

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น