เมื่อวันพุธที่ 19 ตุลาคม 2565 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) รายงานสถานะของทั่วโลกเกี่ยวกับกิจกรรมทางกาย ปี 2022 (Global status report on physical activity) ว่าผู้คนเกือบ 500 ล้านคน เสี่ยงจะเป็นโรคหัวใจ โรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases : NCDs) ด้วยเหตุผลมาจาก ‘การไม่เคลื่อนไหวร่างกาย’ (physical inactivity) ซึ่งระหว่างปี ค.ศ. 2020 – 2030 หากรัฐบาลทั่วโลก ยังไม่เริ่มดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการส่งเสริมประโยชน์ของการออกกำลังกาย อาจมีราคาที่ต้องจ่ายสำหรับค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น
WHO ได้ออกมาระบุว่า ราคาของการอยู่เฉย ๆ โดยไม่ออกกำลังกาย ทำให้สูญเสียงบประมาณค่ารักษาพยาบาลพิเศษทุกปี สูงถึง 27 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งจากรายงานสถานะของทั่วโลกเกี่ยวกับกิจกรรมทางกาย ปี 2022 เผยมาตรการที่รัฐบาลดำเนินการนำคำแนะนำไปปฏิบัติ เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกาย (physical activity) ของประชาชน จากข้อมูลของ 194 ประเทศทั่วโลก ชี้ว่าจากภาพรวมการดำเนินการทั้งหมด คืบหน้าไปอย่างล่าช้ามาก ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องเร่งพัฒนาและดำเนินการตามนโยบายส่งเสริมการออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ช่วยป้องกันโรค และลดค่าใช้จ่ายในการให้บริการด้านสุขภาพที่กำลังพุ่งสูงขึ้น
สถิติแสดงความท้าทายที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเผชิญอยู่ในการส่งเสริมการออกกำลังกาย เช่น
- น้อยกว่าร้อยละ 50 ของประเทศ มีนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกายแห่งชาติ ซึ่งน้อยกว่าร้อยละ 40 ที่ยังดำเนินการนโยบาย
- มีเพียงร้อยละ 30 ของประเทศ ที่มีแนวทางกิจกรรมทางกายระดับชาติสำหรับทุกเพศทุกวัย
- ในขณะที่ เกือบทุกประเทศมีรายงานระบบการติดตามการออกกำลังกายของผู้ใหญ่ แต่มีเพียงร้อยละ 75 ของประเทศ ที่ติดตามการออกกำลังกายของวัยรุ่น และน้อยกว่าร้อยละ 30 ที่ตรวจสอบกิจกรรมทางกายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
- ในแง่ของนโยบายด้านการขนส่ง มีเพียงร้อยละ 40 ของประเทศ ที่มีการออกแบบถนนอย่างมีมาตรฐาน เพื่อส่งเสริมการเดินและการปั่นจักรยานที่ปลอดภัย
ทั้งนี้ รายงานของ WHO ระบุเพิ่มเติมว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) รายใหม่จะสูงถึงเกือบ 3 แสนล้านดอลลาร์ ภายในปี 2573 ถึงแม้จะมีการดำเนินนโยบายระดับชาติเพิ่มขึ้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อจัดการกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและการไม่ออกกำลังกาย แต่ปัจจุบันยังคงมีรายงานว่านโยบาย 28 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้รับการสนับสนุน และนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การดำเนินการดังกล่าวหยุดชะงัก ทั้งยังเกิดความไม่เท่าเทียมกันในการสนับสนุนนโยบายการออกกำลังกายของหลายชุมชน
เพื่อช่วยให้ประเทศต่าง ๆ เพิ่มกิจกรรมการออกกำลังกาย WHO ได้จัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมกิจกรรมทางกายระดับโลก (Global Action Plan on Physical Activity : GAPPA) ปี พ.ศ. 2561 – 2573 เป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 20 ข้อ ซึ่งสาระสำคัญได้มีการกำหนดให้มีการออกแบบถนนที่ปลอดภัยขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนได้ปั่นจักรยานและเดินได้มากขึ้น พร้อมจัดให้มีโปรแกรมสำหรับกิจกรรมทางกายมากขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น การสถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียน การสาธารณสุขมูลฐาน (primary health care) และสถานที่ทำงาน อย่างไรก็ดี ทุกประเทศควรหันมาให้ความสำคัญกับการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้เพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งจัดหาโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนการเข้าถึงสวนสาธารณะ เลนจักรยาน เส้นทางเดินเท้าภายในประเทศอย่างเหมาะสม เพื่อส่งเสริมการออกกำลังกายอย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพให้แก่ประชาชน
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– กลยุทธ์ส่งเสริมให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น เป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุ SDGs มากถึง 15 เป้าหมาย
– ‘ไม่ขยับ ไม่ออกกำลังกาย’ เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อ เช่น ภาวะสมองเสื่อมและความดันโลหิตสูง
– เทรนด์การออกกำลังกายชี้ 58% ของประชาชนใน 29 ประเทศต้องการออกกำลังกายมากขึ้น แต่อุปสรรคแรกคือไม่มีเวลา
– โรคหัวใจและหลอดเลือด: โรคไม่ติดต่อที่การตายมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกอยู่ใน ‘เอเชีย’
– เพียงเพราะ ‘ไม่ได้ขยับร่างกาย’ ก็ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อแล้ว
– WHO เสนอว่า การลงทุนเพิ่มไม่ถึง 1 USD ต่อคนต่อปี สามารถช่วยรักษาชีวิตคน 7 ล้านคนจากโรค NCDs ได้
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.6) ลดจำนวนการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนนทั่วโลกลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2563
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.2) ภายในปี 2573 จัดให้ทุกคนเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้ พัฒนาความปลอดภัยทางถนน โดยการขยายการขนส่งสาธารณะ โดยคำนึงถึงกลุ่มคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ผู้หญิง เด็ก ผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย และผู้สูงอายุ เป็นพิเศษ
– (11.7) จัดให้มีการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียว ที่ปลอดภัยครอบคลุมและเข้าถึงได้ โดยถ้วนหน้า โดยเฉพาะผู้หญิง เด็ก คนชรา และผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย ภายในปี 2573
แหล่งที่มา:
Time to get off the couch, WHO warns, as 500 million risk developing chronic illness – UN News
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย