เมื่อวันที่ 3-7 ตุลาคม 2565 องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) จัดการประชุมคณะกรรมการด้านป่าไม้ (Committee on Forestry: COFO) ครั้งที่ 26 ในรูปแบบไฮบริด ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี พร้อมกับการจัดสัปดาห์ป่าโลกครั้งที่ 8 (World Forest Week) ควบคู่กันไป ซึ่งเป็นการประชุมในรูปแบบพบปะกันต่อหน้า (in person) เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19
การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นทุก ๆ สองปี โดยปีนี้มีประเด็นหารือสำคัญเกี่ยวกับการจัดการป่าไม้ อาทิ
- การหารือถึงแนวทางที่ FAO ควรดำเนินการเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรรม ป่าไม้ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- การเตรียมการตรวจสอบเพื่อประเมินทรัพยากรป่าไม้โลก (Global Forest Resources Assessment: FRA) ฉบับปี 2568
- การหารือถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างเกษตรกรรม ป่าไม้ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการติดตามผลรายงานที่สำคัญของ FAO ที่ชื่อว่า “The State of the World’s Forests 2022” (SOFO 2022) และ “XV World Forestry Congress” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี
- การหารือถึงการผลิตไม้และผลิตภัณฑ์จากป่าที่ไม่ใช่ไม้อย่างยั่งยืน รวมถึงบทบาทของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- การร่างแผนปฏิบัติการเพื่อนำยุทธศาสตร์ใหม่ล่าสุดของ FAO ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปปฏิบัติ
- การนำเสนอข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการดำเนินการตามแนวคิด ‘ทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศ 2564 – 2573’ (UN Decade on Ecosystem Restoration 2021-2030) และยุทธศาสตร์ด้านการป่าไม้ขององค์การสหประชาชาติ (UN Strategic Plan for Forests 2017-2030) ตลอดจนความพยายามอื่น ๆ ในการสนับสนุนการบริหารจัดการป่าไม้ (forest governance) และการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน (sustainable forest management: SFM) รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (conservation)
ทั้งนี้ ผลประโยชน์แห่งชาติของประเทศต่าง ๆ ซึ่งแตกต่างกัน เผยออกมาผ่านการอภิปรายว่า รายงานการประชุมควรสะท้อนถึงแนวทางการจัดการกับสงคราม ตลอดจนประเด็นบางประเด็นที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อป่าไม้ ดังเช่นที่ Earth Negotiations Bulletin (ENB) หน่วยงานที่ทำหน้าที่สื่อข่าวสารประจำวันด้านการเจรจาของสหประชาชาติในประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมของสถาบันนานาชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (IISD) ระบุว่าผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ที่สุดของโลกบางคนคัดค้านรายงานการประชุม รวมถึงสภาวะอาหารและการเกษตร ปี 2564 (State of Food and Agriculture: SOFO 2022) ที่พบว่า “การแปลงที่ดินเพื่อการเกษตรมีส่วนต่อการตัดไม้ทำลายป่าทั้งหมด 90%”
นอกจากนี้ หลายประเทศยังรายงานในที่ประชุมว่ามีต้นไม้เพิ่มขึ้นและมีการริเริ่มเพื่อขับเคลื่อน SDG15 (ระบบนิเวศบนบก) ซึ่งรวมถึงโครงการปลูกต้นไม้หนึ่งพันล้านต้นทั่วประเทศของซาอุดิอาระเบีย และโครงการ Great Green Wall ในหลายประเทศที่กำลังดำเนินอยู่ในภูมิภาคแอฟริกา
เวทีการประชุม COFO ครั้งนี้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งเวทีการประชุมระดับสากลที่พยายามฉายภาพความเชื่อมโยงระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับภาคการเกษตรและป่าไม้ โดยเฉพาะผลกระทบจากการเสื่อมสภาพของดิน น้ำ ภาวะแปรปรวนของฤดูกาล ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเผชิญกับปัญหาในการเติบโต ขณะที่ อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นก็ส่งผลกระทบให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากพืชพันธุ์บางชนิดไม่อาจทนสภาพอากาศที่เปลี่ยนไปได้
●อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คุกคามระบบผลิตอาหารที่เก่าแก่ของชนพื้นเมืองทั่วโลก
– รายงานสังเคราะห์ของ UNEP เผยภูมิภาคทั่วโลกเห็นร่วมหาทางยุติการฆ่าล้างสิ่งแวดล้อม พร้อมผลักดันให้รับรองสิทธิ์ของธรรมชาติไว้ในกฎหมาย
– 7 ข้อเรียกร้องจาก‘สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ’ ถึง รมว.ทรัพยากรฯ หวังนำเรื่องเข้าที่ประชุมเอเปคป่าไม้
– พื้นที่ป่ามรดกโลก 257 แห่ง ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ไว้มากถึง 190 ล้านตันต่อปี
– Global Meeting of the Mountain Partnership ครั้งที่ 6 – นานาประเทศร่วมให้คำมั่นสัญญาจัดการระบบนิเวศภูเขาอย่างยืน
– SDG Updates | Flora of Thailand – พรรณพฤกษชาติของไทย นักพฤกษศาสตร์กับการพิทักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในป่าไทย
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
#SDG12 การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
– (13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินรวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา และเขตแห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2563
– (15.2) ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม และเพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าทั่วโลกอย่างจริงจัง ภายในปี 2563
– (15.5) ปฏิบัติการที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และภายในปี 2563 ปกป้องและป้องกันการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
แหล่งที่มา: FAO Committee Explores Forestry, Agriculture, Climate Change Linkages (IISD)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย