ต่อเนื่องจากการสรุปเสวนาในหัวข้อ “หรือ SDGs กำลังโดนฟอก? ทำอย่างไรให้ข้ามพ้นความยั่งยืนปลอม – From SDG Washing to SDG Enabling” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2565 เพื่อหาคำตอบสถานการณ์เรื่อง “การฟอกการพัฒนาที่ยั่งยืน” (SDG Washing) ที่เจาะลึกลงไปอย่างเข้มข้นในทุกประเด็นและไขข้อสงสัยต่าง ๆ
SDG Updates | ถาม – ตอบ ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ พร้อมหาคำตอบในการข้ามพ้นความยั่งยืนปลอม ฉบับนี้จะพาท่านผู้อ่านติดตามทรรศนะจากผู้เชี่ยวชาญในประเด็นการฟอกการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Washing) ทั้งจากตัวแทนผู้ทำงานภาคประชาสังคม นักวิชาการ และผู้ทำงานในวิสาหกิจเพื่อสังคม ผู้เผชิญกับโจทย์ความท้าทายในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) พร้อมพาผู้อ่านทุกท่านแลกเปลี่ยนแนวทาง และร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับผู้อภิปราย พิจารณาสอดส่องปัญหาที่อาจละเลยไป ผ่านคำถามจากผู้ฟังในวันงานที่ส่งเข้ามาสอบถาม แลกเปลี่ยนกับผู้ร่วมเสวนา เพื่อชวนกันขบคิดให้มากขึ้นว่า “แท้จริงแล้วเรากำลังฟอก SDGs อยู่หรือไม่ ?” ผ่านคำถามเจาะลึกแบบตรงไปตรงมาทั้งคำถามแบบเจาะลึกเชิงเทคนิคตามประสาคนถามที่อาจติดตามหรือมีความสนใจในประเด็นการพัฒนาค่อนข้างลึกซึ้ง และคำถามเรียบง่าย แต่ก็น่าสนใจทำให้ฉุกคิดถึงความเป็นจริงของสังคมในแบบคนธรรมดาที่มีมุมมองช่างสังเกต ด้วยคำถามเหล่านี้ทำให้การพยายามหาคำตอบเพื่อ “ข้ามพ้นความยั่งยืนปลอม” นั้นดูจับต้องได้จริงมากขึ้น
คำถามที่ 1 : มีตัวอย่างการลงโทษ (sanction) ต่อหน่วยงานหรือองค์กรอย่างรูปธรรมหรือไม่ หากถูกพิสูจน์ได้ว่าหน่วยงานนั้น “ตั้งใจ” การฟอกการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Washing) หรือไม่ ? หากไม่มี ควรมีหรือไม่และควรอยู่ในรูปแบบใด ?
สำหรับคำถามดังกล่าว คุณสฤณี อาชวานันทกุล แสดงความสอดคล้องของ การลงโทษ (sanction) ซึ่งอีกนัยยะหมายถึง การลงโทษทางสังคม (social sanction) เป็นการได้รับแรงปะทะหรือต่อต้านจากประชาชน แต่ถึงอย่างนั้นแสดงว่าประชาชนต้องมีข้อมูลในการเชื่อมโยงปัญหานั้นอยู่ในมือเสียก่อน หากยกตัวอย่าง มุมของภาครัฐ การให้คะแนนความโปร่งใสที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่ามีความโปร่งใสครบทุกหน่วยงาน ประชาชนจำนวนมากมองว่า คะแนนเหล่านี้อาจจะไม่น่าเชื่อถือ จึงมีการลงโทษ (sanction) ผ่านการแสดงออกมุมมองส่วนบุคคล เช่น การแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางของหน่วยงานภาครัฐ ขณะที่ ในมุมของภาคธุรกิจ ยกตัวอย่าง ประชาชน ผู้บริโภคอาจลงโทษผ่านการประกาศว่าจะหยุดซื้อสินค้าหรือบริการของบริษัท ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรสามารถทำได้ เพื่อแสดงออกถึงพลังของผู้บริโภคในการเรียกร้องให้บริษัทเห็นถึงความสำคัญของปัญหา กดดันให้หาทางแก้ไข และรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น ๆ
ด้าน ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค เห็นด้วยอย่างยิ่งกับเรื่องแรงกดดันของประชาชนในการลงโทษต่อบริษัท ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในสังคมปัจจุบัน ทั้งนี้ ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ได้ให้ความเห็นว่า บางครั้งการเปิดเผยข้อมูล สามารถช่วยแก้วิกฤตการณ์ต่าง ๆ ได้ เนื่องจากหลายครั้งการต่อต้านบริษัทอาจเกิดจากที่บริษัทสร้างกระแสที่คิดไปเองว่าดี ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งหากบริษัทเปิดเผยข้อมูลล่วงหน้าให้ประชาชนรับทราบ ก็อาจเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยหลีกเลี่ยงวิกฤต พร้อมกับสามารถให้ข้อมูลตอบกลับความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นได้
ขณะที่ คุณประยงค์ ดอกลำใย ให้ความเห็นว่า การเปิดเผยข้อมูล นับเป็นประตูบานแรก ซึ่งในทางภาครัฐ ถึงไม่ได้มีการปิดบังข้อมูล แต่พบว่าการเข้าถึงข้อมูลเป็นไปได้ยาก คุณประยงค์ เสริมว่าเคยดำเนินการขอศึกษาข้อมูลงบประมาณที่ใช้ในโครงการปลูกป่า แต่กลับพบว่า มีการใช้งบประมาณเกินพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกป่ากลายเป็นการปลูกซ้ำ ซึ่งข้อมูลส่วนนี้เล็งเห็นว่า ควรเปิดเผยให้ประชาชนเข้าถึงและรับทราบ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนช่วยในการตรวจสอบและร่วมออกแบบปรับเปลี่ยนกระบวนการที่ล้มเหลว เพราะชุมชนคือผู้ใกล้ชิดพื้นป่าย่อมเข้าใจปัญหาที่แท้จริง เช่นนั้น แทนที่จะใช้เพียงกฎหมายหรือการดำเนินการเจ้าหน้าที่ของรัฐเพียงอย่างเดียว การเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงและมีส่วนร่วมต่อข้อมูล อาจช่วยให้ได้มาซึ่งวิธีการอนุรักษ์ป่าในรูปแบบใหม่ด้วย
คำถามที่ 2 : โครงการปลูกป่าสามารถดำเนินการให้สอดคล้องไปกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ได้หรือไม่
คุณประยงค์ ตอบประเด็นนี้ว่า ตามรายงานของสภาพัฒน์ นิยามของคำว่า “ป่า” ไว้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีการปกคลุมด้วยพันธุ์พืชเท่านั้น ไม่ครอบคลุมป่าที่อยู่ในลักษณะของวนเกษตร (agroforestry) หรือพื้นที่เกษตรผสม ด้วยนิยามดังกล่าว กลายเป็นสร้างข้อจำกัดให้คำว่า “ป่า” ว่าหากจะเพิ่มพื้นที่ป่าต้องเป็นที่ดินที่ไม่เคยมีการปลูกต้นไม้มาก่อน ซึ่งนั้นก็คือพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน เช่นนั้น ถ้าจะให้โครงการปลูกป่าสอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน จำเป็นจะต้องขยายคำนิยามให้คำว่า “ป่า” ให้ครอบคลุมถึง “พื้นที่สีเขียว” มากขึ้น เช่น กำหนดให้พื้นที่ทำกินสามารถปลูกพืชที่สามารถดูดซับคาร์บอนได้โดยไม่ต้องยึดแย่งที่ดินของประชาชน พร้อมสร้างโครงการปลูกป่ารูปแบบใหม่ที่เกิดจากความสมัครใจของชุมชน เช่นนั้น โครงการปลูกถึงจะสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
คุณสฤณี กล่าวเสริมว่า หากมองแค่ว่าการรักษาป่าไม้ คือ เป้าหมายที่ 14 ที่ต้องการอนุรักษ์ระบบนิเวศบนบก ขณะเดียวกัน การปลูกป่า ก็ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังต้องจับตาดูว่าเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net – Zero) นั้นคือการฟอกหรือไม่ เพราะเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ใช่การกล่าวอ้างว่าการปลูกป่ามาเป็นการดูดซับเรือนกระจก เช่นนั้นแล้ว เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net – Zero) จึงคิดว่ามีความสุ่มเสี่ยงมากว่าจะเป็นการฟอก ดังนั้น จำเป็นจะต้องมีการติดตามและมีการถกเถียงกันในระดับโลกต่อไป
คำถามที่ 3 : ความรู้เรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ยังมีการคิดค่าบริการทำให้ผู้ที่ไม่มีต้นทุน แต่ต้องการความรู้หมดโอกาสในการได้รับความรู้ เช่นนั้นแล้ว จะมีแนวทางช่วยเหลือหรือเปิดโอกาสให้เข้าถึงการศึกษา เพื่อมาขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนแบบมีส่วนร่วมได้อย่างไรบ้าง
ผศ.ชล บุนนาค อธิบายว่า ประเด็นความรู้เรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ยังคงมีปัญหาที่ว่าคนที่จะประมวลความรู้เรื่อง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้มีการเป็นระบบและสื่อสารต่อได้นั้นเกิดขึ้นได้ยากมาก จึงเป็นเหตุผลว่า หากค้นหาประเด็นความรู้เรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผู้คนจะพบเว็บไซต์ของ SDG Move เป็นอันดับแรก เพราะ SDG Move ได้พยายามสร้างการจัดการข้อมูลให้เป็นระบบและสื่อสารออกไปสู่สาธารณะ เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารความรู้ให้แก่ผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาและนำความรู้ เรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก็ได้พยายามผลักดันเรื่อง SDGs ผ่านการเผยแพร่สื่อประเภทคลิปวิดีโอ เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจเรื่องพื้นฐาน SDGs ให้แก่ผู้คนทั่วไป แต่ยังคงขาดการส่งเสริมความรู้ในการนำไปใช้ต่อ ส่วนความรู้แบบจำเพาะสามารถนำไปใช้ต่อยอดได้ เช่น ภาคเอกชน มีการให้ความรู้เรื่อง SDGs อยู่เป็นจำนวนมาก แต่อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะเป็นองค์ความรู้แบบจำเพาะและบริษัทสามารถใช้ประโยชน์เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง
ด้าน คุณสฤณี เสริมในส่วนของภาคเอกชนว่า เรื่องการขับเคลื่อน SDGs นั้น เป็นหนึ่งในพันธกิจที่สำคัญของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ซึ่งได้มีการเผยแพร่แผนที่การลงทุนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ปี 2565 (SDG Investor Map Thailand 2022) เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลด้านการตลาดที่ช่วยระบุโอกาสด้านการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมของประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งองค์การสหประชาชาติ ซึ่งประชาชนที่สนใจสามารถไปติดตามอ่านรายงานของแต่ละบริษัทได้ ทั้งนี้ บริษัทขนาดใหญ่ ก็ควรมีบทบาทในการส่งต่อแนวทางการเปิดเผยข้อมูลและการจัดทำรายงานเรื่องความยั่งยืนให้กับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ได้นำไปปฏิบัติต่อเช่นเดียวกัน
คำถามที่ 4 : อาจจะกล่าวได้หรือไม่ ว่าที่เกิดปัญหาของโครงการอนุรักษ์ป่าไม้ เพราะขาดการใช้หลักการได้รับความยินยอมโดยสมัครใจที่เป็นอิสระและได้รับข้อมูลล่วงหน้า (free, prior, and informed consent – FPIC) มาตั้งแต่ต้น
คุณประยงค์ เห็นว่าปัญหาที่แท้จริงนั้น เกิดขึ้นมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2532 หลังมีการจำกัดคำว่า “นโยบายป่าไม้แห่งชาติ” ขึ้น ซึ่งมีมติมาจากคณะรัฐมนตรี ทำให้แต่ละหน่วยงานที่ต้องนำนโยบายไปปฏิบัติ มีการตั้งเป้าหมายในการหาพื้นที่ สำหรับเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ตามเป้าหมาย ทั้งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมป่าไม้ และกรมอุทยาน กรมเหล่านี้ก็ได้มีการประกาศจำนวนพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นมาแล้วส่วนหนึ่ง เหลือเพียงบางส่วนที่ไม่สามารถประกาศได้ เนื่องจากขาดการยอมรับจากประชาชน ดังนั้น การจะแก้ปัญหา จึงจำเป็นต้องสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมและการเข้าถึงตั้งแต่ในระดับนโยบายให้เกิดขึ้นแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิ์ในการตัดสินใจและรับรู้ผลกระทบทั้งทางบวกและลบที่อาจจะเกิดขึ้น
คำถามที่ 5 : ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติ ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 กฎหมายเป็นส่วนช่วยให้หน่วยงานภาครัฐเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นจริงหรือไม่
ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ แสดงความคิดเห็นว่า ชื่อของ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารราชการ เห็นควรต้องมีการระบุให้เป็น “ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” เพราะแท้จริงแล้ว “ราชการ” เป็นเพียงผู้ถือข้อมูลแทนประชาชน ซึ่งหากจะสร้างความเข้าใจว่าข้อมูลที่เปิดเผยมีความเกี่ยวข้องกับประชาชน ควรเริ่มต้นตั้งแต่การนิยามชื่อใหม่ เพื่อนำสู่การขยายหลักการเปิดเผยข้อมูลให้กว้างขวางขึ้น
คุณสฤณี พบข้อจำกัดว่า การขอข้อมูลเป็นเรื่องทำได้ง่าย หากแต่ก็สามารถถูกปฏิเสธได้โดยง่ายเช่นเดียวกัน เพราะหน่วยงานสามารถกล่าวอ้างเรื่องความมั่นคงมาเป็นพื้นฐาน ยกตัวอย่าง สื่อมวลชน ได้พยายามขอข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับกรณีตรวจสอบข้อมูลทรัพย์สินของรองนายกรัฐมนตรี แต่กลับไม่ได้รับข้อมูลที่ต้องการ ท้ายที่สุด สื่อก็ไม่สามารถโต้แย้งต่อหน่วยงานได้ว่าข้อมูลที่ขอนั้นไม่ควรเป็นข้อมูลลับ ซึ่งหากจะต้องแก้ไข จึงควรเริ่มตั้งแต่การกำหนดระดับชั้นของความมั่นคงที่กว่าอ้าง เพื่ออธิบายให้ได้ว่าข้อมูลที่ไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะมีเหตุผลใด
ขณะที่ คุณประยงค์ มองว่านอกจากการเปิดเผยข้อมูลแล้ว ขั้นตอนการขอเข้าถึงข้อมูลไม่ควรมีค่าใช้จ่าย เพราะเคยได้ขอเข้าถึงข้อมูลและพบว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายในราคาที่สูง เช่นนั้นแล้ว ค่าใช้จ่าย นับเป็นอีกอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ซึ่งหวังว่าเทคโนโลยี จะช่วยให้การเปิดเผยข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายมากขึ้น
คำถามที่ 6 : การที่ประชาชนมักไม่เชื่อถือดัชนีหรือตัวเลขด้านการพัฒนาของประเทศไทย เช่น ตัวชี้วัดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Index) ที่ค่อนข้างดี จะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือไม่
ผศ.ชล ระบุว่า การที่ผู้คนคลางแคลงหรือไม่เชื่อถือนั้น ส่งผลดีต่อการขับเคลื่อน เพราะนั้นเป็นการจุดประเด็นให้ผู้คนสนใจค้นหาว่าเกิดอะไรขึ้น อย่างน้อยช่วยแสดงให้เห็นว่ามีการใช้ตัวชี้วัดแบบใด และประเทศไทย ดำเนินการตามตัวชี้วัดใดได้ดีและไม่ดี ผศ.ชล เคยศึกษาเจาะลึกลงไป เพื่อดูรายละเอียดตัวชี้วัดด้านที่ทำได้ไม่ดี พบว่า ประเทศไทย มีแนวโน้มแย่ลงในประเด็นด้านทรัพยากรและธรรมาภิบาล ซึ่งหมายความว่า แม้ตัวเลขด้านการพัฒนาจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีแล้วก็ตาม ก็อาจส่งผลให้การพัฒนาต่อในด้านอื่นเป็นไปได้ยากมาก เนื่องจากประเด็นที่ท้าทายที่สุดไม่ได้ดีขึ้น ทั้งนี้ การที่ SDG Index ค่อนข้างดี อาจส่งผลให้ภาครัฐชะล่าใจในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยเหมือนกัน
คุณสฤณี เสริมว่ามีข้อควรระวังในการใช้ SDG Index เพราะไม่มีประเทศไหนในโลก จะกล้ามาบอกว่าตัวชี้วัดตัวใดของประเทศไทยทำได้แย่ที่สุด สมมติว่ามีตัวชี้วัดที่ทำได้ไม่ดีมี 3 ตัว ส่วนที่เหลือทำได้ดี ก็ทำให้มองว่าในภาพรวมประเทศเราทำได้ดี ซึ่งหากขาดการระมัดระวังในส่วนนี้อาจทำให้สร้างผลต่อการพัฒนาได้ด้วยเช่นเดียวกัน ดังนั้นหากพิจารณาเรื่องตัวชี้วัด จึงควรระวังไม่ให้ติดกับดักในเรื่องดังกล่าว รวมถึงไม่ควรตีความให้ดูดีจนเกินความเป็นจริง คุณสฤณี ยกตัวอย่างกรณีสมมติว่า หากตัวชี้วัดของประเทศไทยแสดงผลดีแทบทุกด้าน แต่ตัวชี้วัดที่ทำได้ไม่ดีเป็นเรื่อง มลพิษทางอากาศ เช่น PM 2.5 กรณีนี้แม้จะมีตัวชี้วัดเพียงตัวเดียวที่อยู่ในเกณฑ์ไม่ดี ทว่ากลับเป็นประเด็นสังคมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน เช่นนี้ก็ไม่อาจมองว่าเป็นเพียงตัวชี้วัดเดียวแล้วจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่มองข้ามไปได้
คำถามที่ 7 : มีความเป็นไปได้ที่จะมีกฎหมายป้องกันและควบคุมการฟอกการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Washing) ของเอกชนหรือไม่ แล้วถ้าไม่ใช่กฎหมายอะไรคือการจูงใจ (incentive) ให้ภาคธุรกิจทำตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างจริงจัง
คุณสฤณี คิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีกฎหมายควบคุม จากที่อธิบายลักษณะการฟอกในช่วงแรกที่ต้องพิจารณาถึงความท้าทายของภาคเอกชนด้วย ซึ่งปัญหานั้น มีความเป็นพลวัตสูง ดังนั้น ต้องตั้งคำถามว่าการจะออกกฎหมายมาควบคุมนั้นเป็นเรื่องที่ยุติธรรมหรือไม่ เพราะบริษัทอาจบอกได้ว่ากำลังพยายามปรับตัวให้ทันกับความคาดหวังของสังคม ฉะนั้น จึงมองว่าอย่าไปคาดหวังกับกฎหมายเลย ส่วนถ้าเป็นการจูงใจ เห็นควรว่าการสร้างเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจน ตรงประเด็น และสามารถสะท้อนปัญหาได้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยสร้างแรงจูงใจให้แก่เอกชน
คำถามที่ 8 : แต่ละท่านคิดว่าวันนึง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน “SDGs” จะกลายเป็นคำที่ฟังแล้วสร้างความรู้สึกเคลือบแคลงใจน้อย ๆ เหมือนเวลาได้ยินคำว่า กิจกรรมเพื่อสังคม “CSR” หรือไม่
คุณสฤณี สะท้อนว่าหากความแคลงใจ หมายถึงการที่ได้ยินคำนั้นอยู่ตลอดเวลา คิดว่า “SDGs” ได้เข้าใกล้จุดนั้นแล้ว โดยเฉพาะภาคธุรกิจ เพราะในรายงานความยั่งยืนของทุกบริษัท ก็จะระบุว่ามีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนใดบ้าง ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจกว่านั้น คือ เราจะสามารถปรับเปลี่ยนสถานการณ์ ทำให้เรื่องของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นประโยชน์ต่อองค์กรและสังคมมากกว่านี้ได้อย่างไร
คุณประยงค์ ไม่อยากให้คิดว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เหมือนละครที่สร้างขึ้นมา เพื่อประโยชน์บางอย่างของผู้มีอำนาจ แล้วท้ายที่สุดก็ไม่เกิดอะไรขึ้นในปี ค.ศ. 2030 หรือถ้าให้นิยามเป็นภาษาเหนือเรียกว่า “จุ๊หมาน้อยขึ้นดอย” คือ กลายการหลอกสุนัขขึ้นไปบนดอย แล้วสุดท้ายเมื่อไปถึงบนยอดดอยก็ตกลงมาตาย ซึ่งไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น เพราะยังมีความหวังว่า “SDGs” จะเป็นหมุดหมายสำคัญของการพัฒนาให้เกิดขึ้นแก่สังคมไทย และเป็นส่วนช่วยในการปรับเปลี่ยนกรอบความคิด (mindset) การทำงานของภาครัฐ
ปิดท้ายด้วย ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ตอบคำถามประเด็นนี้ว่า คำว่า “SDGs” มีทั้งความเสี่ยงและความหวัง เกิดขึ้นควบคู่ไปพร้อม ๆ กัน เพราะถ้าพิจาณาจากมุมมองภายนอก ไม่มีการชวนคุย นำไปคิดต่อ หรือผลักดันอย่างที่ SDG Move และที่ทุก ๆ ท่านพยายามทำอยู่นั้น จะเป็นการทำงานแบบค่อย ๆ สร้างความเข้าใจ ซึ่งหากในอนาคต มีโครงการที่บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น ก็จะเป็นความหวังและแนวทางในการดำเนินงานต่อไป
จากคำตอบทั้งหมดทั้งมวลของวิทยากรทั้ง 4 ท่าน ทั้งผู้ทำงานภาคประชาสังคม นักวิชาการ และผู้ทำงานในวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ได้พยายามไขข้อกระจ่างถึงคำถามที่มีต่อ “การฟอกความยั่งยืน” รวมไปถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ว่าอาจมีในบางจุดที่อาจไม่ได้กล่าวถึงในการเสวนา ซึ่งสะท้อนได้ว่า เมื่อมีการถกถามให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมนั้น ทำให้เราสามารถสร้างความเข้าใจในประเด็นของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านต่าง ๆ ไปได้พร้อม ๆ กัน ทั้งนี้ ค้นพบว่าการร่วมกันตั้งคำถามช่วยสร้างให้เกิดการฉุกคิดถึงประเด็นที่ทุกภาคส่วนอาจละเลยและคิดไม่ถึงสิ่งเหล่านั้น การตั้งคำถามจึงนับว่าเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปเป็นอย่างมาก
เช่นนั้นแล้ว การย้อนกลับมาตั้งคำถามและทบทวนสิ่งที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ดำเนินการอยู่ อาจช่วยให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงการทำงานของตนอยู่เสมอว่าเรามาถึงจุดใดแล้วและทิศทางที่ทำอยู่ถูกต้องแล้วหรือไม่ หรือสิ่งที่ทำนั้นกำลังฟอก SDGs อยู่ ? เพื่อไม่ให้ผิดจากเจตนารมณ์ที่ได้ตั้งไว้และกลับกลายเป็นการทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทุกภาคส่วนจึงควรตั้งคำถามต่อสิ่งที่ทำอยู่เสมอโดยเฉพาะภาครัฐและเอกชน เพื่อไม่ให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเพียงมายาคติที่คนบางกลุ่มใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ แต่เป็นสิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงระบบได้อย่างแท้จริง
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – ผู้เรียบเรียง
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ
อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Updates | จากฟอกความยั่งยืน SDG washing สู่ความยั่งยืนที่แท้จริง SDG enabling
– Change agent ตัวจริง: หรือชนพื้นเมืองคือผู้ขับเคลื่อน ‘ความยั่งยืน’ อย่างแท้จริงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
– รายงานจาก Climate Bonds Initiative วิเคราะห์โอกาสการเติบโตของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวในไทย
– SDG Updates | กลไกทางการเงินกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
– SDG Updates | Six Transformations to Achieve the Sustainable Development Goals – แนวคิดการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานเพื่อบรรลุ SDGs ให้ทันเวลา
– SDG Insights | Inside SDG Index : เจาะลึก SDG Index 2021 ของประเทศไทย – ภาคเอกชนไทยกับการก้าวไปกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
อ่านสรุปจากงานเสวนาวิชาการสาธารณะได้ : ที่นี่
รับชมวิดีโอบันทึกจากงานเสวนาวิชาการสาธารณะ ได้ที่นี่: https://youtu.be/z5XDtYTN7Ps