เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 มีการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีระดับสูงว่าด้วยนวัตกรรมในการจัดการธาตุอาหารในดินและพืช (High-level Ministerial session on Innovations in Soil and Plant Nutrient Management) ระหว่างการการประชุมอาหารโลก (World Food Forum) ณ สำนักงานใหญ่ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of United Nation: FAO) กรุงโรม ประเทศอิตาลี โดยมีประเด็นหารือถึงความพยายามที่จะสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมการใช้แหล่งปุ๋ยทางเลือก และแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้การดูแลบำรุงดินและพืชให้มีต้นทุนที่ถูกกว่า สะอาดกว่า และมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งมีการกล่าวถึงสิ่งที่ต้องทำเพื่อให้แน่ใจว่าดินของโลกจะเพียงพอต่อการเลี้ยงดูประชากรที่เพิ่มขึ้นได้โดยไม่ต้องทำลายโลก
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีข้อค้นพบที่น่าสนใจว่าสภาพความสมบูรณ์ของดินลดลงเนื่องจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ การพังทลายของหน้าดิน ความไม่สมดุลของธาตุอาหารและความเค็ม ประกอบกับปัจจัยอื่น ๆ ที่ขับเคลื่อนความเสื่อมโทรมของดิน และแนวทางการจัดการธาตุอาหารที่ไม่ยั่งยืน ทำให้ดินชั้นบนซึ่งเป็นชั้นดินที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด กำลังสูญเสียไปอันเป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ หนึ่งในสาเหตุคือการทำเกษตรที่ไม่ยั่งยืน ขณะที่ ดินที่อุดมสมบูรณ์ประมาณ 24 พันล้านตันต่อปีสูญเสียไป เนื่องจากการกัดเซาะ นอกจากนี้ ประเทศที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคแอฟริกา ละตินอเมริกา และเอเชีย กำลังต่อสู้กับราคาปุ๋ยที่พุ่งสูงขึ้น และเกษตรกรรายย่อยไม่สามารถเข้าถึงปุ๋ยอินทรีย์และอนินทรีย์ได้ ปัญหาเหล่านี้นับว่าสร้างความกังวลต่อทิศทางประชากรโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.7 พันล้านคนภายในปี 2593
ในการกล่าวปราศรัยในการประชุมรัฐมนตรี Qu Dongyu ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของคุณภาพดินและนวัตกรรมที่จะช่วยรักษาดินเอาไว้ว่า “ดิน ไม่ใช่แค่ประเด็นปัญหาระยะสั้น เราทุกคนรู้ว่ามันเป็นเรื่องระยะยาว บางทีอาจจะต้องใช้เวลาทั้งชีวิตของเราในการจัดการและเราก็อาจยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่แท้จริงจากความพยายามดังกล่าวในทันที แต่เราต้องการที่จะทำเพื่อคนรุ่นหลัง นั่นคือความมุ่งมั่นในระยะยาว จากประสบการณ์ของผมพบว่าถ้าคุณดูแลดินดำต้องใช้เวลา ถึง 40 ปี กว่าหน้าดินจะเพิ่มขึ้น 1 เซนติเมตร”
Qu Dongyu กล่าวเพิ่มเติมว่า เราจำเป็นต้องอาศัยความพยายามของเราในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น วิธีเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน พร้อมทั้งยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนระยะยาวสำหรับการทำแผนที่ดิน
ในการประชุมดังกล่าว รัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีจำนวน 5 คน ซึ่งได้แก่ Oumar Ibn Daoud รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาการเกษตรของชาร์ด, Omer Hussein Oba รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของเอธิโอเปีย, Redouane Arrach รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร การประมงทางทะเล การพัฒนาชนบท น้ำและป่าไม้ของโมร็อกโค, Jongwe Masuka รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดิน เกษตรกรรม การประมง น้ำ และการพัฒนาชนบทของซิมบับเว และ William Dar อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของฟิลิปปินส์ ออกแถลงการณ์ร่วมในประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องกับดินในประเทศของตนและความคิดเห็นเกี่ยวกับความพยายามที่จะรักษาและปรับปรุงคุณภาพของดิน
ด้าน Ismahane Elouafi หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้สรุปประเด็นหลักของการอภิปราย ที่เน้นย้ำว่าข้อมูลเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการจัดการดูแลดินอย่างยั่งยืน พร้อมชี้ให้เห็นถึงฉันทามติว่าการจัดการดินอย่างยั่งยืนเป็นหนึ่งในวิธีแก้ปัญหาที่คุ้มค่าที่สุดในการเพิ่มปริมาณสารอาหารหลักและสารอาหารรองในดิน
การประชุมหารือเกี่ยวกับดินแม้จะดูเป็นเรื่องที่มีการพูดถึงอย่างทั่วไป อย่างไรก็ดี หากมองถึงอนาคตข้างหน้าตามที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติแสดงความกังวลในเรื่องของจำนวนประชากรโลกที่จะเพิ่มสูงขึ้น อาจไม่สอดรับกับคุณภาพดินซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการผลิตน้ำและอาหาร การเร่งรัดหาแนวทางโดยเฉพาะการมองหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาจัดการคุณภาพดินให้ยั่งยืน จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการรักษาความมั่นคงทางอาหารของโลก
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ระบบอาหารในปัจจุบันอยู่ ณ จุดแตกหัก เพราะการใช้ที่ดิน ดิน และน้ำทำเกษตรและผลิตอาหารยังไม่ยั่งยืน
– Machine Learning กับการเป็น ‘เครื่องมือติดตาม’ ผลกระทบจากการใช้ที่ดินของมนุษย์ที่มีต่อ #SDG15
– โครงการสร้างทางหลวงแห่งใหม่ในบาหลี มีเสียงกังวลถึงผลกระทบต่อพื้นที่ปลูกข้าว ระบบชลประทาน และทางเดินน้ำของเกาะ
– พลาสติกจากการเกษตรตกค้างในดิน เป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม
– โครงการนำร่อง พ่นเอนไซม์ย่อยตอซังข้าวหลังเก็บเกี่ยว ช่วยเป็นปุ๋ยให้ดินและลดปัญหาฝุ่นพิษในอินเดีย
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.4) ทำให้เกิดความมั่นใจในระบบการผลิตอาหารและการปฏิบัติด้านการเกษตรที่ยืดหยุ่นเพื่อเพิ่มผลิตภาพผลผลิตและผลผลิตที่จะช่วยรักษาระบบนิเวศน์ที่จะเพิ่มความเข้มแข็งในศักยภาพในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ภูมิอากาศที่เลวร้าย, ความแห้งแล้ง, น้ำท่วม และความเสียหาย และเพื่อปรับปรุงคุณภาพดินและที่ดินอย่างก้าวกระโดด ภายในปี 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.b) สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรมภายในประเทศในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการทำให้เกิดความมั่นใจว่ามีนโยบายสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการนำไปสู่ความหลากหลายของอุตสาหกรรมและการเพิ่มมูลค่าของสินค้า
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.3) ต่อสู้การแปรสภาพเป็นทะเลทราย ฟื้นฟูแผ่นดินที่เสื่อมโทรม รวมถึงที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากการแปรสภาพเป็นทะเลทราย ความแห้งแล้ง และอุทกภัย และพยายามที่จะบรรลุถึงความสมดุลของการจัดการทรัพยากรที่ดินภายในปี 2573
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลาย
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
แหล่งที่มา: World Food Forum: Exploring options for future soil and plant nutrition (FAO)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย