SDG Insights | นักวิชาการสายมโน – เพราะมีจินตนาการจึงสร้างหลากอนาคต

ญาณิน จิวะกิดาการ หุยากรณ์

Highlight

  • การยึดติดอยู่กับหลักการ ความเป็นเหตุเป็นผลและข้อมูลเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ แม้จะเกิดความรู้ที่น่าเชื่อถือ แต่ก็ปิดกั้นวิสัยทัศน์ โดยเฉพาะการเตรียมการที่คำนึงถึงอนาคตในระยะยาว
  • การเสพข้อมูลจากงานเขียนที่เกิดจากจินตนาการ เช่น นวนิยาย เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างทักษะการจินตนาการให้แข็งแรงขึ้น รวมถึงทักษะการเข้าใจมุมมองที่ต่างไปจากจุดยืนของตนเอง
  • จินตนาการเป็นจุดตั้งต้นที่จำเป็นแต่ไม่ใช่ทุกจินตนาการจะนำมาต่อยอดได้ การเลือกวิเคราะห์อนาคตด้วยหลักของอนาคตศาสตร์ยังมีความจำเป็น เพียงแต่ผู้เข้าร่วมกระบวนการมองอนาคตอาจพิจารณาอนุญาตให้จินตนาการมีพื้นที่ในงานวิชาการมากขึ้น
  • เสนอให้มีการทำงานเชื่อมโยงกันของศาสตร์เชิงวิทยาศาสตร์-สังคมศาสตร์และศิลปศาสตร์-มนุษยศาสตร์มากขึ้น รวมถึงสนับสนุนการสร้างงานวรรณกรรมในประเทศเป็นวาระที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่างานวิจัยสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี

ในช่วงของการวางแผนสื่อสารองค์ความรู้ให้กับงานประชุมวิชาการ CU Futures Literacy ทีมงาน SDG Move มีการถกกันว่าเราควรจะใช้ภาษาไทยกับคำว่า Imagination ในนิยามภาษาอังกฤษของ future literacy ว่าอย่างไร เพราะนี่คืองานประชุมวิชาการ หากเราใช้คำว่าจินตนาการอย่างตรงตัวแล้วจะยังคงมีความเป็นวิชาการอยู่หรือไม่ ควรจะใช้คำว่า “มองไปข้างหน้า” “พยากรณ์” หรือ “คาดการณ์” มากกว่าหรือไม่ หลังจากถกเถียงกันสักพัก ทีมทำงานก็ตัดสินใจใช้คำว่า จินตนาการ ตรง ๆ ตามที่ UNESCO เลือกใช้คำว่า imagination เนื่องด้วยทางเลือกทั้งสามคำก่อนหน้านี้ไม่สามารถนำมาใช้แทนคำว่าจินตนาการได้  และสุดท้ายก็เคาะคำแปลภาษาไทยของ futures literacy ว่า “ทักษะความรู้รอบในการจินตนาการถึงอนาคต”

กระนั้น ทีมงานเองก็เล็งเห็นถึงความน่าสนใจในช่วงที่ถกเถียงกันเรื่องความ (ไม่) สัมพันธ์กันระหว่างจินตนาการกับงานวิชาการ รวมถึงความต้องการที่จะขยายความสำคัญต่อบทบาทของการจินตนาการในกลุ่มนักวิชาการมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะสำหรับการรับมือหรือสร้างอนาคตที่ปรารถนา จึงตกลงกันว่าจะต้องมีงานเขียนตบท้ายอีกชิ้นหนึ่งที่เน้นว่า ทักษะการคิดจินตนาการนั้นเป็นเรื่องที่นักวิชาการต้องให้ความสนใจโดยแท้ ซึ่งรวมถึงทุกคนในฐานะมนุษย์ที่ต้องอยู่อาศัยในโลกที่อนาคตผันผวนด้วย และนั่นก็คือบทความนี้นั่นเอง

01 นักวิชาการกับการอ่าน

ก่อนที่จะเริ่มเข้าประเด็น จินตนาการกับความเป็นวิชาการ ผู้เขียนขอเล่าถึงเรื่องที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง ซึ่งหยิบยกมาจากงานตีพิมพ์ในปี 2021 โดยรองศาสตราจารย์ David R. Smith แห่งภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออนตาริโอ ประเทศแคนาดา อันจะขอถือวิสาสะเรียกว่า คุณเดวิด มา ณ ที่นี้

ในบทความ คุณเดวิดเริ่มด้วยการเล่าถึงชีวิตของท่านสมัยที่กำลังเรียนปริญญาเอก ถึงความเครียดกับการเรียนที่มากล้น ซึ่งพอคุณเดวิดได้กลับบ้านเจ้าตัวถึงกับน้ำตาไหลต่อหน้าคุณพ่อกับคุณแม่ ด้วยความที่มีหนังสือตำราวิชาการยาก ๆ เป็นร้อยเล่มกองอยู่บนโต๊ะรอที่จะได้รับการวิเคราะห์-สังเคราะห์เป็นรายงานส่งอาจารย์ และคุณเดวิดก็ไม่รู้จะทำยังไงให้มันสำเร็จเพราะตอนนี้ขมขื่นกับการอ่านงานวิชาการจำนวนมหาศาลนี้เหลือเกิน

คนที่ชี้ทางสว่างให้กับคุณเดวิดและเปลี่ยนชีวิตท่านไปตลอดกาลคือ คุณพ่อ นั่นเอง คุณพ่อของคุณเดวิดอธิบายว่า การที่คุณเดวิดล้ากับการอ่านงานวิชาการพวกนี้ เปรียบเหมือนคนธรรมดาที่จู่ ๆ ก็มาวิ่งมาราธอนมหาวิบากเลย ซึ่งสิ่งที่ควรทำคือต้องเริ่มวิ่งเหยาะ ๆ บนพื้นราบเรียบให้ได้ดีเสียก่อน

ว่าแล้วก็หยิบหนังสือมาวางไว้หน้าลูกชายจำนวนหนึ่งพร้อมบอกว่า ต้องเริ่มทำตัวให้เคยชินกับการอ่านหนังสืออย่างต่อเนื่องสักสามชั่วโมง หรือมากกว่านั้นได้ก็ดี จุดสำคัญอยู่ที่ว่า หนังสือที่คุณพ่อหยิบมาให้ล้วนเป็นวรรณกรรมเยาวชนหรือหนังสือนิยายคลาสสิก เช่นนิยายของ Hemingway หรือ Stienbeck, Atwood, Chekhov และอื่น ๆ เป็นชิ้นงานที่คุณเดวิดไม่คิดจะหยิบขึ้นมาอ่านในเวลาปกติเลย และเย็นวันนั้นคุณเดวิดก็ทำตามคำแนะนำของคุณพ่อ ตั้งป้อมพยายามอ่านวรรณกรรมรางวัลโนเบลเรื่อง “ผู้เฒ่าทะเล” (Old Man and the Sea) ซึ่งวันนั้นก็อ่านไปได้ประมาณ 50 หน้า แต่หลังจากผ่านไปได้ไม่กี่วันก็พบว่าตัวเองกำลังเริ่มนิยายเรื่องที่สามแล้ว นอกจากนี้ คุณพ่อยังสมัครสมาชิกหนังสือพิมพ์รายวัน และวารสารรายสัปดาห์ให้คุณเดวิดอ่านเป็นประจำ ซึ่งก็เชียร์ให้อ่าน “ทุกคำ” ตั้งแต่ปกหน้ายันปกหลังอีกด้วย หลังจากนั้นไม่นานคุณเดวิดก็กลายเป็นคนที่พกหนังสือไปอ่านทุกที่ ตอนไปออกกำลังกายในยิมก็อ่านหนังสือกระทั่งช่วงรอยกเวทรอบถัดไปก็ขอจัดสักสองสามหน้าเถอะ

ภาพหน้าปกหนังสือ Old man and the sea

สุดท้าย คุณเดวิดก็กลับไปตั้งใจทำหน้าที่นักศึกษาปริญญาเอก ไปลุยงานวิชาการต่อ ซึ่งผลประกอบการออกมาแบบที่คุณพ่อว่าไว้เลย การอ่านเปเปอร์วิชาการหรือหนังสือเรียนที่ก่อนหน้านี้เรียกว่ายากและซับซ้อน ตอนนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าทรมานอีกแล้ว และสิ่งที่ผิดคาดน่าประหลาดใจคือ เวลาเรียนให้ห้อง คุณเดวิดกลายเป็นคนที่ถกงานวิชาการกับเพื่อนร่วมชั้นและอาจารย์ด้วยมุมมองที่แปลกแตกต่างออกไปได้ดีกว่าเดิมมาก นำประเด็นน่าสนใจมาสู่ห้องเรียนอยู่เสมอ ซึ่งคุณเดวิดได้ระบุในบทความของเขาอย่างชัดเจนว่า ทั้งหมดนี้เกิดจากการอ่านนวนิยายของเขา ที่ส่งผลให้สมองได้รับการพัฒนาให้จินตนาการข้ามพ้นไปจากมุมมองที่ผูกอยู่แต่กับกฎเกณฑ์หลักการต่าง ๆ

นักวิชาการ-นักวิทยาศาสตร์ที่มีจินตนาการจนถึงขั้นผันตัวเองไปเป็นนักเขียนนวนิยายจนมีชื่อเสียงไปเลยก็มีมากมาย สำหรับชาวไทย เรามีบิดาแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ไทย คือ อ.จันตรี ศิริบุญรอด ซึ่งแต่เดิมเป็นคุณครูสอนวิทยาศาสตร์ แต่ได้ประพันธ์งานสุดจินตนาการมากมายกว่า 30 เรื่อง และต่อมาได้สร้างบันดาลใจให้วินทร์ เลียววาริณ สร้างสุนทรภู่ฉบับไซไฟอย่าง “เดือนช่วงดวงเด่นฟ้าดาดาว” “จรูญรัศมีพราวพร่างพร้อย” หากท่านใดคิดว่าเป็นมนุษย์ผู้ขาดจินตนาการคนหนึ่ง อาจจะเริ่มลองอ่านนวนิวยายไซไฟก่อนได้เพราะก็ยังมีกลิ่นของวิชาการให้เพลิดเพลินบนหลักการในทางหนึ่ง

ผู้เขียนยกเรื่องราวของคุณเดวิดมาเล่าให้ทุกท่านฟังก็ด้วยเชื่อว่า นักวิชาการที่จะมีทักษะในอ่านอนาคตได้อย่างน้อยต้องจินตนาการเป็นวิชาการได้อย่างคุณเดวิดนี่แล ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุดคือการเริ่มจากการหาเวลาอ่านนวนิยาย (ดี ๆ) ให้มากขึ้น ถ้าผู้อ่านเป็นนักวิชาการ ลองหันไปดูชั้นหนังสือของตัวเองดูอีกสักทีว่ามีเรื่องอะไรอื่น ๆ นอกความสนใจทางวิชาการของคุณอยู่บนนั้นสักกี่เล่ม และอาจถามตัวเองสักนิดว่าอยากจะฉวยโอกาสท่องเที่ยวไปยังมิติอื่น ๆ แบบไม่มีเป้าหมายดูบ้างไหม

มีงานวิจัยมากมายที่ยืนยันว่าการดื่มด่ำไปกับนวนิยายทำให้ผู้อ่านมีทักษะคิดอย่างสร้างสรรค์ มีมุมมองกว้างไกล นอกจากนี้ยังสร้าง “กล้ามเนื้อ” ที่ทำหน้าที่เข้าอกเข้าใจผู้อื่น (Berns et al., 20013; Bergland, 2014; Kidd & Castano, 2013; Kidd & Castano, 2017) ที่การดูภาพยนตร์ไม่สามารถสร้างได้เท่า คงจะดีไม่น้อยถ้านักวิชาการ นักนโยบาย ผู้มีความรู้ความสามารถ จะจินตนาการถึงฉากทัศน์หรือความเป็นไปได้ต่าง ๆ ในอนาคต และเตรียมตัววางแผนรับมือโดยคำนึงความรู้สึกของผู้คนที่หลากหลายได้ โดยเฉพาะจากกลุ่มคนที่ตะโกนเท่าไรใครก็มักไม่ได้ยินเสียง

02 เสริมทักษะการจินตนาการ ก่อนต้องรับมือถึงสิ่งที่ไม่ได้คาดการณ์

คงไม่มากไปหากจะกล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 และผลพวงที่เกิดขึ้นกับทั้งโลกเป็นเรื่องเกินกว่า “ใครจะคิด?”

ใครจะคิดว่าอยู่ดี ๆ คนทั้งโลกจะไม่เดินทาง ใครจะคิดว่าอยู่ดี ๆ เมืองไทยจะไม่มีนักท่องเที่ยว ใครมันจะคิดว่าวันนี้ป่วยแทบตายก็ไม่มีใครว่างรักษา ใครจะคิดว่าวันหนึ่งตัวเองจะต้องกลัวที่จะแวะเวียนไปหาและสวมกอดคนที่เรารักที่มากสุด ไม่มีใครเตรียมตัวได้ทันเพราะ “ความเป็นไปได้” ที่เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นมัน “น้อย”

ครั้นพาดพิงถึงโควิด-19 แล้ว ผู้เขียนก็พาลนึกไปถึงฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง World War Z (มีเนื้อหาสปอยล์ หากใครยังไม่ได้รับชมต้องขออภัยด้วย) ในขณะที่ทั่วโลกต่างโดนซอมบี้บุกพังเมืองแตกไปตาม ๆ กัน แต่อิสราเอลเป็นประเทศเดียวที่ “เอาอยู่” ซึ่ง Warmbrunn บุคคลผู้รับผิดชอบเรื่องการเตรียมการปกป้องประชาชนจากฝูงซอมบี้ได้บอกความลับหนึ่งกับพระเอก ว่า [1]อิสราเอลมีที่ปรึกษาของประเทศอยู่ทั้งหมด 10 คน ถ้า 9 คนได้ที่รับข้อมูลเดียวกันแล้วเกิดลงมติแบบเดียวกันขึ้นมา จะเป็นหน้าที่ของคนที่ 10 ที่ต้องไม่เห็นด้วยและมองตรงข้ามกับมตินั้น แม้ว่ามันอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ก็ต้องตั้งธงไว้เลยว่าทั้ง 9 คนคิดผิด และเขานี่แหละคือ “คนที่ 10” ผู้ยืนยัน ว่าคำว่า ซอมบี้ ที่กองทัพอินเดียพูดถึง หมายถึง ผีซอมบี้ จริง ๆ ถึงไม่มีใครเชื่อว่าโลกนี้จะมีผีดิบก็ตามที แล้วก็เริ่มสร้างกำแพงสูงลิ่วล้อมเมืองไว้ปกป้องประชาชน คำกล่าวหนึ่งในบทของ Warmbrunn ที่ติดใจผู้เขียนถึงทุกวันนี้ คือ

“Most people don’t believe something can happen until it already has. That’s not stupidity or weakness, its just human nature.” แปลได้ว่า คนส่วนมากไม่เชื่อว่าอะไรแบบนี้จะเกิดขึ้นจนมันเกิดขึ้นไปแล้ว และนั้นไม่ใช่เป็นความโง่หรือไก่อ่อน มันเป็นแค่ธรรมชาติของมนุษย์

ซึ่งก็น่าจะจริงเลยทีเดียว มนุษย์ถูกจับให้คิดตรง ๆ เดินตรงไปกับคำสั่งสอนในโรงเรียน สิ่งที่เคยเห็นและประสบการณ์ที่ได้รับ ดังนั้นการคิดอะไรที่แตกต่าง “นอกกรอบ” ไปจากนี้จึงเป็นเรื่องของการฝืนธรรมชาติ (เดอ โบโน, 2561) ซึ่งสิ่งที่ผู้เขียนอยากจะเน้นตรงนี้คือ หากเรารับมือกับสิ่งที่เราไม่คาดคิดไม่ทันเพราะธรรมชาติของตัวเรา อาจจะเป็นการดีที่มนุษย์จะ “ตั้งใจ” สร้างทักษะที่ฝืนธรรมชาติขึ้นมา ซึ่งในภาพยนตร์ก็คือการตั้งกฎคนที่สิบ (the tenth man rule) ที่ผลลัพธ์ในตอนแรกฟังดูแล้วฝืนใจสุด ๆ แต่พอถึงเวลาปัญหาเกิดแล้วมันกลายเป็นคำตอบ! 

สิ่งสำคัญก่อนสิ่งอื่นคือ ทำอย่างไรจะมีทักษะคิดจินตนาการถึงอนาคตให้ได้ เพราะกลุ่มบุคคลที่มีแนวความคิดตรรกะตัวแม่ ได้แก่ นักกฎหมาย หมอ และนักวิชาการนี่แล เราต่างยึดมั่นในสิ่งที่ได้กำหนดไว้แล้วอย่างตรงไปตรงมา จะอ้างสิ่งใดก็ต้องมีหลักฐานสนับสนุนความเป็นไปได้ นักวิชาการไม่ได้ถูกฝึกแบบเน้นให้เป็นศิลปิน จิตรกรผู้มีความคิดสร้างสรรค์ (แม้อาจจะเป็นในเชิงหนีหลักการมากไปหน่อยในหลายครั้ง) แล้วนอกจากนี้ หากจินตนาการได้แล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าฉากทัศน์ใดควรใช้เวลาวิเคราะห์ให้เป็นรูปร่าง ฉากทัศน์ใดเป็นเรื่องเพ้อเจ้อที่ไม่ต้องลงทุนลงเวลากับมัน

03 ทลายตรรกะที่ปิดกั้น imagination

สำหรับผู้เขียนที่เป็นวิทยากรเรื่องการคิดเชิงวิพากษ์และต้องใช้พื้นฐานตรรกศาสตร์ในการบรรยาย นอกจากที่เป็นนักวิชาการด้วยแล้ว ก็ต้องยอมรับว่า เมื่อเริ่มศึกษาทักษะการคิดนอกกรอบและพบว่าการคิดอย่างมีเหตุมีผล มีตรรกะหลักการเป็นจุดอ่อนของการอ่านอนาคต ในตัวเองก็มีการต่อสู้ขึ้นหลายยก แต่ก็ต้องยอมรับ เมื่อได้อ่านหนังสือที่มีชื่อเสียงเล่มหนึ่ง คือ “Lateral Thinking” โดยนักปรัชญา Edward De Bono ที่เขียนขึ้นตั้งแต่ปี 1967 แต่เพิ่งได้รับการเรียบเรียงเป็นภาษาไทยในชื่อ “มองนอกกรอบ” เมื่อปี 2018 นี่เอง

เหตุผลที่หยิบแนวคิด lateral thinking ขึ้นมาอ้างถึงในบทความนี้เนื่องจากพบว่าเป็นสิ่งที่อยู่บนฐานของจินตนาการ แต่ยังมีการลงมาอ้างอิงกับความเป็นไปได้ของหลักการอยู่ ผู้เขียนจึงเห็นว่าน่าจะเป็นหนึ่งในทักษะที่ใกล้เคียงกับการจินตนาการที่ future literacy หมายถึง หลักการของการคิดหรือมองนอกกรอบคือ การข้ามพ้นจากข้อจำกัดของการคิดแบบตรรกะที่ขัดขวางไม่ให้เกิดความคิดมุมมองใหม่ ๆ ที่ต่างออกไป

De Bono ได้พิสูจน์ต่อผู้อ่าน (อย่างน้อยก็ต่อตัวผู้เขียน) ว่า มนุษย์เรามักใช้สมองส่วนจิตสำนึกคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นเหตุเป็นผล และวิธีเดิมที่ใช้ได้ผลก็จะถูกนำมาใช้ซ้ำ ๆ จนกระทั่งเจอทางตันจึงจะคิดหาวิธีใหม่ แล้วก็มองและแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ เช่นนั้นเรื่อยไป ซึ่งเปรียบได้กับนักวิชาการที่ถือทฤษฎีอยู่ในมือ และมักจะใช้ทฤษฎีชุดเดิมที่เคยอธิบายสิ่งหนึ่งได้ผลมาอธิบายสิ่งอื่น ๆ ที่น่าจะเกี่ยวข้อง สิ่งที่เกิดขึ้นจากความเข้มงวดในหลักการคือการตอกเสาลงไปให้ลึก แต่คับแคบ มองเห็นแต่สิ่งเดิม ๆ ย้ำแนวคิดเดิมให้มั่นคงแต่ไร้ความยืดหยุ่นต่อปัญหาที่แปรเปลี่ยน

ในที่นี้ไม่ได้กล่าวว่าหลักการเป็นสิ่งไม่ดี แต่การมองในมุมเดียวเป็นจุดอ่อนและเห็นภาพปลายทางแค่ทางเดียว “การคิดแบบตรรกะเป็นการกำหนดจุดต่าง ๆ ที่เป็นเหตุเป็นผลกัน จากจุดหนึ่งเชื่อมโยงไปอีกจุดหนึ่ง ไหลเป็นภาพต่อเนื่องกันไปเป็นเรื่องราว ความคิดนอกกรอบก็คือการหาทางให้หลุดออกจากภาพต่อเนื่องเหล่านั้น สร้างภาพใหม่แยกเป็นเรื่องราวใหม่ หรือสลับภาพเกิดเป็นเรื่องราวใหม่” ซึ่งในที่นี้หมายถึงทักษะการจิตนาการถึงอนาคตที่เป็นไปได้หลากหลาย และการจินตนาการนั้นใช้สมองส่วนจิตใต้สำนึกที่จริง ๆ แล้วเป็นเนื้อสมองก้อนที่ใหญ่กว่าสมองส่วนจิตสำนึกด้วยซ้ำไป

พฤติกรรมและความคิดที่เกิดจากจิตใต้สำนึกมักจะไม่มีเหตุผล De Bono เรียกว่าเป็นทักษะ “ทำเล่น ๆ คิดเล่น ๆ” ยกตัวอย่างเช่น นั่งทานข้าวอยู่ก็เคาะช้อนเคาะส้อมดู ดื่มน้ำอยู่ก็ยกก้นแก้วขึ้นมาส่องดู ซึ่งกลุ่มคนที่เป็นเจ้าแห่งเหตุและผลจะมองคนที่ชอบคิดทำอะไรเล่น ๆ ว่าไร้สาระ ทำอะไรไปเรื่อย แทบหาประโยชน์ไม่ได้ ทั้งที่ในคำว่า “ไปเรื่อย” นั้นมีคำสำคัญคือ randomness ที่เป็นการปล่อยให้มีข้อมูลกว้าง ๆ เรื่อยเปื่อย มีอิสระไร้กฎเกณฑ์มาบังคับ เหล่านี้เป็นลักษณะของคนที่สามารถสร้างสรรค์โอกาสที่จะสังเกตพบอะไรที่ต่างออกไปจนหลุดจากหลุมของหลักการ คนที่ “ขี้เล่น” จนพบทฤษฎีเกี่ยวกับแสงและอนุภาคอย่าง James Cleke Maxwell เป็นหนึ่งในหลักฐานที่ดีของทักษะการคิดนอกกรอบจากการชอบคิดเล่น แต่หากใครมิได้มิลักษณะขี้เล่นเช่นนั้น การหยิบนวนิยายอะไรก็ได้ที่วางไว้บนชั้นหนังสือแนะนำของห้องสมุดมาอ่านก็ถือว่าเป็นการ “อ่านไปเรื่อย” ที่เติมข้อมูลนอกกรอบของคุณได้เหมือนกัน

การคิดตรงกันข้ามสวนทางกับคนอื่นแบบ “คนที่ 10” ก็เป็นส่วนหนึ่งของเทคนิคการคิดนอกกรอบของ De Bono เช่นกัน หากบางทีผู้อ่านพบว่าไม่มีใครเห็นด้วยกับความคิดของตนเอง มันอาจจะไม่ได้แปลว่าเราไม่ถูก แต่เรากำลังสร้างทางเลือกอื่นที่รอเวลาที่เหมาะสมในการแสดงพลังออกมา

04 จินตนาการและการมองอนาคต

การมองกว้างและใช้จินตนาการนั้นสามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับการทำงานของกลุ่มผู้ออกแบบนโยบายเพื่อการเปลี่ยนแปลงระยะยาว นักอนาคตศาสตร์เองก็ระบุถึงบทบาทของทักษะการจินตนาการนี้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะ “การมองอนาคต” หรือ “foresight” ที่หลายท่านอาจจะคุ้นเคยว่าเป็นศาสตร์ที่ทำการวิเคราะห์ คาดการณ์ และอธิบายการเปลี่ยนแปลงในอนาคต (Yawson & Greiman, 2017 อ้างใน ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา และ ธันยพร สุนทรธรรม, 2561) ก็มีการระบุว่า

ทักษะที่จำเป็นในการดำเนินกระบวนการ foresight ต้องมีการใช้จินตนาการด้วย การจินตนาการ (imagination) จะยิ่งทวีความสำคัญยิ่งขึ้นเมื่อต้องนึกถึงจินตภาพ (ideation) ความเป็นไปได้ที่ไกลห่างออกไปในอนาคต

หลายส่วนในกระบวนการของ foresight มีความสอดคล้องกับ lateral thinking ของ De Bono เช่น การระดมความคิดเห็นจากผู้คนที่มาจากศาสตร์สาขาต่าง ๆ ในการตัดสินใจร่วม (participatory and deliberative process) ซึ่งก็คือการมองอนาคตในหลายมุมจากหลากหลายหลักการ หรือการสร้างฉากทัศน์ขึ้นมาจากสัญญาณบางอย่างในสังคม สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะเน้นเสริมในกระบวนการนี้ คือการใช้จินตนาการในกระบวนการเหล่านี้ให้มากขึ้น เช่น การระดมความคิดเห็นจะต้องอนุญาตให้ออกความเห็นอย่างอิสระไม่ว่าจะฟังดูเป็นไปไม่ได้อย่างไรก็ตาม ลักษณะของบุคคลที่เข้ามาในกระบวนการระดมสมองนอกจากจะหลากหลายแล้วควรจะเป็นคนที่มีทักษะในการมองนอกกรอบ คือสามารถเปิดใจและทำเข้าใจมุมมองของผู้อื่นได้ หรือการเลือกวิเคราะห์อนาคตที่มีความเป็นไปได้น้อยเข้ามาในการพิจารณามากขึ้น อาจจะเป็นในลักษณะของการทำเล่น ๆ ไม่น่าเกิดประโยชน์ แต่หากประกอบไปด้วยทักษะการสังเกตและความรู้รอบของนักวิชาการ การหยิบอะไรนอกกรอบมาลองคิดจินตนาการอาจเปิดทางให้มนุษย์ชาติได้ตระเตรียมอะไรบางอย่างให้ดีขึ้นก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม อนาคตศาสตร์ก็ยังถือว่าเป็นศาสตร์ที่มีความเป็นวิชาการ หากใช้มีการเปิดกว้างกับ randomness มาก ก็ต้องมาอธิบายความน่าเชื่อถือของประบวนการกันอีก แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่าจินตนาการใดได้เข้ารอบต่อ?

จากหลักการของ De Bono การ “มโน” นั้นควรถอยออกจากตรรกะเพื่อให้ได้จำนวน “อนาคต” ที่เป็นไปได้มากเพียงพอ จำนวนอนาคตเหล่านี้คือสิ่งที่สร้างสรรค์ แล้วจึงกลับมาใช้ตรรกะเป็นสรณะอีกครั้งว่า ภาพที่คิดไว้นั้นเป็นไปได้หรือไม่ เปลี่ยนจากความคิดสร้างสรรค์ให้เป็นความคิดนอกกรอบ ซึ่งในประเด็นการอ่านอนาคต เราก็กลับมาที่กระบวนการและชุดเครื่องมือของ foresight ที่จะมาช่วยคัดกรอง แต่ผู้เขียนต้องย้ำอีกครั้งว่าว่าถ้าเราไม่ทิ้งหลักการก่อน เราอาจจะไม่ได้จินตนาการภาพอนาคตใหม่ ๆ มาทำงานกันอย่างเต็มที่ ทั้งอนาคตที่อาจเกิดขึ้นหรืออนาคตที่เราพึงปรารถนาต่อเราทุกคน

สรุปและขมวดความคิด

บทความนี้ มีความตั้งใจสนับสนุนการ “อ่านอนาคต” ด้วยการสร้างเสริม “ทักษะความรู้รอบในการจินตนาการถึงอนาคต” ในคนทุกกลุ่ม ด้วยการพยายามเปิดพื้นที่ให้กับจินตนาการได้มีบทบาทในการอ่านอนาคตมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ซึ่งผู้เขียนได้อ้างถึง Edward De Bono กับแนวคิด lateral thinking ที่ยืนยันว่าการมองเห็นสิ่งใหม่ (เช่น ภาพอนาคตใหม่ ๆ) นั่นแทบเป็นไปไม่ได้หากเราไม่สามารถหลุดไปจากกรอบความคิดแบบตรรกะและกระบวนการค้นหาคำตอบแบบเดิม ๆ

แต่การสร้างทักษะดังกล่าวนั้นไม่ได้เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย ต้องเกิดจากการฝึกฝนซ้ำ ๆ โดยเฉพาะทักษะในการมองและคิดนอกกรอบที่นอกจากจะผิดไปจากธรรมชาติของมนุษย์แล้ว ยังได้ต้องพิสูจน์บทบาทในแวดวงวิชาการที่วางอยู่บนเหตุและผลอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ช่วยเสริมทักษะการรู้รอบในการจินตนาการถึงอนาคต ก็คือ การเน้นไปที่การ “รู้รอบ” หรือรับ input ที่หลากหลาย (จนแทบจะเรียกว่าสุ่มเอา) เป็นวัตุดิบที่มากพอจนเกิดการ “จินตนาการถึงอนาคต” จึงได้ยกประสบการณ์ของ David R. Smith ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างมุมมองหลากหลายจากการเสพย์จินตนาการในนวนิยาย เพื่อเสนอเป็นแนวทางที่กลุ่มผู้เคยชินกับการยึดมั่นในความเป็นวิชาการได้

ในขณะเดียวกัน ก็เกิดคำถามชวนขบคิดกันต่อไปว่า ประเทศไทยของเรามีการสนับสนุนการสร้างวัตถุดิบคุณภาพสำหรับเสริมจินตนาการให้กับประชาชนมากน้อยอย่างไร บางทีคำตอบอาจจะอยู่ในสัดส่วนของนวนิยาย วรรณกรรมโดยผู้ประพันธ์ชาวไทยบนชั้นหนังสือของห้องสมุดว่าเป็นอย่างไรบ้าง คงจะเป็นเรื่องดีไม่น้อยหากมีการสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้และบุคลากรผู้เปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์ กล่าวคือองค์ความรู้เกี่ยวกับมนุษยศาสตร์ วิจิตศิลป์ ศิลปศาสตร์ อักษรศาสตร์ สนับสนุนด้วยเสียงอันดังเหมือนที่สนับสนุนองค์ความรู้ทาง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) และยิ่งไปกว่านั้นคือการประสานเชื่อมโยง ระหว่างศาสตร์ที่เป็นตัวแทนของทั้งสมองทั้งสองข้างนี้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของวงสนทนา การเสวนาสาธารณะ การทำงานวิจัยร่วมกัน การระดมความคิดเห็น หรือขับเคลื่อนนโยบายของประเทศ  เชื่อว่าจะสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ มากขึ้น รวมไปถึงจินตภาพของอนาคตรูปแบบต่าง ๆ ที่เราต้องการ


พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ


● อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
SDG Updates | (EP.1) Futures Literacy: กรอบธรรมาภิบาลใหม่กับการปลดเปลื้องจินตนาการของผู้คนสู่อนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันมากกว่าเดิม
– SDG Updates | (EP.2) Futures Literacy: ทบทวนการมีอยู่ของ “มหาวิทยาลัย” ในอนาคต ทั้งในฐานะผู้นำการเปลี่ยนผ่าน และ ผู้ถูกเปลี่ยนผ่าน
– SDG Updates | (EP.3) Futures Literacy: ร่วมคิดร่วมสร้างอนาคตผ่านการศึกษาเพื่อการสร้างพลเมือง บทสนทนา และการมีส่วนร่วมในสังคมของเยาวชน
– SDG Updates | (EP.4) Futures Literacy: เปิดฉากทัศน์แห่งอนาคตของลุ่มน้ำอุษาคเนย์ – แนวโน้มของความจริงและสิ่งที่วาดฝัน
– SDG Updates | (EP.5) Futures Literacy: บูรณาการการเรียนรู้เพื่อรู้รับปรับตัวพร้อมฟื้นคืนจากปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นธรรม
– SDG Updates | (EP.6) Futures Literacy: คิดถึงความหมายใหม่ “การพัฒนาระหว่างประเทศ” – รับรู้ความเชื่อมโยงของปัญหา เปิดใจฟังความต่าง เข้าใจบริบทท้องถิ่น
– SDG Updates | (EP.7) Futures Literacy: เสริมสร้างสังคมที่ยั่งยืนในอนาคตด้วยแนวคิดศาสนา ศรัทธา และจิตวิญญาณ
– SDG Updates | (EP.8) Futures Literacy: เรียนรู้รอบด้าน – บูรณาการศาสตร์และศิลป์เเก้ไขวิกฤต เพื่อเตรียมพร้อมสู่โลกหลังโควิด-19 อย่างมีภูมิคุ้มกัน

อ้างอิง:

[1] ..If nine of us with the same information arrived at the exact same conclusion, it’s the duty of the tenth man to disagree. No matter how improbable it may seem, the tenth man has to start thinking with the assumption that the other nine were wrong.

Bergland, C. (2014) Reading fiction improves brain connectivity and function. Psychology Today.

Berns, G.S., Blaine, K., Prietula, M.J., Pye, B.E. (2013) Short-and long-term effects of a novel on connectivity in the brain. Brain Connect, 3: 590–600.

Kidd, D.C., Castano, E. (2013). Reading literary fiction improves theory of mind. Science, 342: 377–380.

Kidd, D., Castano, E. (2017) Different stories: How levels of familiarity with literary and genre fiction relate to mentalizing. Psychol Aesthet Creat Arts, 11: 474–486.

Smith, R.D. (2021). Do scientists read enough fiction? Embro Report, 22 (2). doi: 10.15252/embr.202052206

ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา และ ธันยพร สุนทรธรรม. (2561) Foresight Tools คู่มือการมองอนาคต. ร่างชุดเครื่องมืออยู่ในระหว่างการตรวจสอบและปรับปรุงให้กับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การ

มหาชน).

เดอ โบโน, เอ็ดเวิร์ด, (2561) มองนอกกรอบ Lateral Thinking. ซีเอ็ดยูเคชั่น.

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on กุมภาพันธ์ 17, 2023

Author

  • Yanin Chivakidakarn Huyakorn

    Deputy Director of Knowledge Communications | คุณแม่นอนน้อย ผู้ชอบนั่งฝันกลางวันว่า วันหนึ่งจะตื่นมาในแดนอิเซไค มีชีวิตใหม่เป็นน้องสาวของจอมคนแดนฝัน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น