ประชุมสมัชชา ICAO สมัยที่ 44 – ประเทศสมาชิกร่วมหารือจัดการการบินอย่างยั่งยืน หวังช่วยบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

เมื่อวันที่ 27 กันยายน – 7 ตุลาคม พ.ศ. 2565 องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางระหว่างประเทศสมาชิก (ปัจจุบันมี 193 ประเทศ) ในการออกกฎระเบียบและมาตรฐาน ข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัยในการบิน และความสะดวกในการเดินอากาศสำหรับการบินพลเรือนระหว่างประเทศได้จัดการประชุมสมัชชา ICAO (ICAO Assembly) สมัยที่ 41 ณ สำนักงานใหญ่ของ ICAO เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา

การประชุมดังกล่าวมีการหารือในเรื่องสำคัญหลายประการ อาทิ

  • ประเทศสมาชิกของ ICAO ตกลงร่วมกันในการนำเป้าหมายระยะยาวของประเทศทั่วโลกที่มุ่งเน้นให้การปล่อยมลพิษสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero emissions) ภายในปี 2593 เเละมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) รวมถึงเร่งรัดให้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีอากาศยานใหม่มาใช้ 
  • การหารือร่วมกันถึงการดำเนินการคมนาคมทางอากาศให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและการใช้เชื้อเพลิงที่ยั่งยืนสำหรับการบิน ซึ่งจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายข้างต้นได้
  • การหารือถึงความสำคัญของการจัดหาเงินทุนและการลงทุนที่เป็นไปได้เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายใหม่ และสนับสนุนโครงการความช่วยเหลือ การสร้างขีดความสามารถ และการฝึกอบรมการใช้เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืนของ ICAO เพื่อเร่งความพร้อมในการใช้งาน 
  • การตรวจ ทบทวนโครงการชดเชยและการลดคาร์บอนสำหรับการบินระหว่างประเทศ (Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation: CORSIA) ในช่วงแรก และได้มีการตกลงกำหนดเส้นฐานของการลดการปล่อยคาร์บอนร่วมกันใหม่ ซึ่งจะใช้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2567 โดยกำหนดให้มีการลดการการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 85% ของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากปี 2562

ด้าน Juan Carlos Salazar เลขาธิการของ ICAO ระบุว่า “ประเทศต่าง ๆ ประสบความสำเสร็จในความก้าวหน้าทางการทูตอย่างดีเยี่ยม รวมถึงเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความยั่งยืนในอนาคตของโลกเรา และระบบขนส่งทางอากาศซึ่งอำนวยประโยชน์และเชื่อมโยงผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก” 

ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการคมนาคมทางอากาศภายในประเทศครอบคลุมอยู่ในข้อผูกพันของประเทศต่าง ๆ ภายใต้ข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement) และการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการดำเนินงานของเที่ยวบินระหว่างประเทศได้รับการดำเนินการรวมไว้ในอนุสัญญาชิคาโก (Chicago Convention) และข้อตกลงที่เกี่ยวข้องที่บรรลุผลโดยประเทศสมาชิกของ ICAO

ความตื่นตัวและก้าวหน้าในการประชุม ICAO สมัยล่าสุดนี้ นับเป็นการตระหนักและขยับขับเคลื่อนร่วมกันของประเทศทั่วโลก ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการลดการปล่อยคาร์บอนจากการคมนาคมทางอากาศ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่การร่วมหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังรุนแรงอยู่ในปัจจุบัน

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
  เชื้อเพลิงอากาศยานทางเลือกช่วยลดมลพิษทางอากาศ และลดการตายก่อนวัยของผู้อาศัยใกล้สนามบินจาก PM2.5
‘Fit for 55’ แพ็กเกจนโยบายและกฎหมายลดคาร์บอน เพื่อต่อสู้กับ Climate Change ของสหภาพยุโรป
 ยุโรปออกแผน ‘Destination 2050’ ให้การบินยุโรปปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2593
 Maersk ลงทุน 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับเรือขนส่งสินค้าที่ใช้เมทานอลปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์รายแรก ใช้จริงภายใน 3 ปีนี้

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

แหล่งที่มา: Countries Adopt Net-zero 2050 Aspirational Goal for International Flights (IISD)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น