รอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ดังนี้
หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมตอกย้ำความสำคัญของ COP 27
การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 หรือ COP 27 กำลังจะจัดขึ้น ณ เมืองชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์ โดยการประชุมเริ่มตั้งแต่วันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2565 มีประเด็นหารือที่สำคัญเรื่อง ‘ความสูญเสียและเสียหาย’ หรือ (Loss and Damage) อันเป็นวาระสำคัญ เพราะภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากคาดว่าอุณหภูมิโลกอาจสูงขึ้นถึง 2.5°C ในปลายศตวรรษนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบรรลุ SDG 13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อย (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ และ (13.2) บูรณาการมาตรการด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ ในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เข้าถึงได้ที่นี่ : UNFCCC Reports Warn About 2.5°C Warming Amid “Glimmers of Hope” | News | SDG Knowledge Hub | IISD
UNSC ผลักดัน “Delhi declaration” เพื่อต่อสู้กับการก่อการร้ายด้วยดิจิทัล
สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมการต่อต้านการก่อการร้าย ภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจัดการประชุมขึ้นในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย และได้ให้การรับรองเอกสาร “Delhi Declaration” ว่าด้วยการต่อต้านการใช้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่เพื่อจุดประสงค์ในการก่อการร้าย แถลงการณ์มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันและต่อสู้กับการก่อการร้ายในรูปแบบดิจิทัลของประเทศสมาชิกสหประชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้โดรนและสื่อโซเชียลมีเดียในทางที่ผิด รวมถึงการระดมทุนเพื่อวัตถุประสงค์ในการก่อการร้ายโลกออนไลน์ ซึ่งสอดคล้องกับ SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อย (16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม
เข้าถึงได้ที่นี่ : UN Security Council boosts commitment to fight digital terror | | 1UN News
ICC กับ UNDP ลงนามข้อตกลงร่วมกันตามกรอบข้อตกลง UNDP-ICC ฉบับใหม่
ตามกรอบข้อตกลงดังกล่าวที่โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) ได้ลงนามร่วมกับ ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) จะช่วยให้ ICC สามารถสอบสวนและดำเนินคดีอาชญากรรมร้ายแรงต่อประชาคมระหว่างประเทศได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับ SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อย (16.1) ช่วยลดความรุนแรงทุกในทุกแห่งให้ลดลง พร้อมทั้ง (16.3) ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และ (16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง โดยรวมถึงการกระทำผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อจะป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม
เข้าถึงได้ที่นี่ : UNDP and the International Criminal Court Sign New Partnership Agreement | United Nations Development Programme
7 มหาวิทยาลัยไทยติดอันดับ Sustainability Ranking 2023 ของ QS
Quacquarellity Symonds (QS) ประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่มีความยั่งยืนเป็นครั้งแรก โดยใช้ชื่อว่า QS Sustainability 2023 เพื่อประเมินถึงการดำเนินการของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการจัดการกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยมีมหาวิทยาลัยที่ได้รับการจัดอันดับทั้งสิ้น 700 แห่ง จาก 71 ประเทศ และมีมหาวิทยาลัยของไทยติดอันดับ 7 แห่ง ได้แก่ (1) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (3) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (4) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (5) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (6) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอันดับสุดท้าย (7) มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถูกจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยด้านความยั่งยืนอันดับ 1 ของไทย และอันดับ 5 ของอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับ SDG 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
เข้าถึงได้ที่นี่ : QS Sustainability University Rankings 2023
ประกาศบังคับใช้แล้ว พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย มีผลหลัง 120 วัน
ประเทศไทยมีกฎหมายเพื่อป้องกัน และปราบปรามการอุ้มหายและซ้อมทรมานแล้ว วันที่ 25 ตุลาคม 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระบรมราชโองการ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 โดย พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ตราขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ กฎหมายนี้ทำให้ไทยดำเนินการสอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งสอดคล้องกับ SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อย (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบ และ (16.3) ส่งเสริมหลักนิติธรรมในระดับชาติ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
เข้าถึงได้ที่นี่ : โปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย มีผลหลังประกาศในราชกิจจาฯ 120 วัน – Thairath
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ประกาศลงราชกิจนุเบกษาอย่างเป็นทางการแล้ว
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน 2570 โดยแผนฉบับนี้ได้รับรองกำหนดขึ้นให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเฉพาะหลักการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งสอดคล้องกับ SDG ทั้ง 17 เป้าหมายโดยเฉพาะ (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
เข้าถึงได้ที่นี่ : ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (ฉบับเต็ม)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย