การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ ‘แอฟริกาใต้’ ช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ ให้ประชากรนับล้าน

แม้แต่เมืองที่ใหญ่ที่สุดในสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ ก็กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเมืองโจฮันเนสเบิร์ก (Johannesburg) เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศแอฟริกาใต้ เมืองขนาดใหญ่อย่างจังหวัดเคาเต็ง (Gauteng) ซึ่งเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของประเทศต่างประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่ การนำจ่ายน้ำประปาขาดความต่อเนื่อง ขณะที่ในบางพื้นที่ไม่มีแม้แต่น้ำใช้อุปโภคหรือบริโภค

พื้นที่เขตมหานครในเมืองโจฮันเนสเบิร์กอย่างเขต Tshwane และ เขต Ekurhuleni  ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการที่ Rand Water หน่วยงานสาธารณูปโภคด้านน้ำที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกาและเป็นแหล่งจ่ายน้ำสำคัญของจังหวัดเคาเต็ง กำหนดลดปริมาณนำจ่ายน้ำประปาภายในเคาเต็งเหลือเพียงร้อยละ 30 ของการจ่ายน้ำ หลังพบว่า มีปริมาณการใช้น้ำที่มากเกินไปในช่วงฤดูใบไม้ผลิ เพื่อปรับปรุงระบบจัดการน้ำให้สมบูรณ์ และให้แน่ใจว่าจะสามารถจ่ายน้ำได้อย่างต่อเนื่อง จึงต้องมีการจัดการควบคุมการไหลของอ่างเก็บน้ำ สำหรับรักษาเสถียรภาพ หลีกเลี่ยงการปล่อยน้ำออกจากอ่างเก็บ และแก้ไขระบบที่ขัดข้อง

ย้อนไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 Rand Water ได้ปิดระบบนำจ่ายน้ำเป็นเวลา 54 ชั่วโมง ทำให้ประชาชนเดือดร้อนไม่มีน้ำใช้ ซึ่งเกิดจากปัญหาในการวางแผนบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ (water infrastructure) ทรุดโทรม ทั้งการเก็บน้ำ การจ่ายน้ำ และการบำบัดน้ำ รวมถึงขาดเงินทุนสำหรับบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานที่เก่า และมีระบบการจ่ายน้ำที่ไม่ทันกับการขยายตัวของเมืองที่รวดเร็ว ซึ่งเดิมจาก พ.ศ. 2554 ประชากรภายในจังหวัดมี 12 ล้านคน แต่ปัจจุบันประชากรเพิ่มเป็น 16 ล้านคน ซึ่งสาธารณูปโภคไม่เพียงสำหรับความต้องการของประชาชน  

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดปัญหาคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำในแอฟริกาใต้ อาทิ

  • ประการแรก โครงสร้างพื้นฐานมีมาตรฐานคุณภาพที่ต่ำ ขาดการวางแผนในระยะยาว  ขาดเทคนิคและวัสดุด้านการก่อสร้าง (construction technology) ที่ดี รวมถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานของแอฟริกาใต้ส่วนใหญ่มีอายุมากกว่ายี่สิบปี จึงตกอยู่ในสภาพทรุดโทรม
  • ประการที่สอง การจัดการน้ำไม่มีประสิทธิภาพ เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำภายในประเทศ ซึ่งการใช้น้ำโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 237 ลิตรต่อคน/ต่อวัน ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานสากลถึง 64 ลิตร พร้อมทั้งพบว่า น้ำที่สูญเสียไปร้อยละ 41 เนื่องจากการรั่วซึม เพราะขาดการบริหารจัดการน้ำที่ดี และโครงสร้างพื้นฐานในการบำบัดน้ำไม่มีประสิทธิภาพ
  • ประการที่สาม หน่วยงานระดับท้องถิ่น มีข้อจำกัดในการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานและมีงบประมาณในการลงทุนน้อย
  • ประการที่สี่ ระบบการจัดการทรัพยากรน้ำมีความซับซ้อน หลายหน่วยงานมีส่วนในการดูแลทำให้การจัดการแยกส่วนกัน อาทิ กรมน้ำและสุขาภิบาลเป็นผู้ดูแล ปกป้อง พัฒนา อนุรักษ์ จัดการ และควบคุมน้ำให้มีประสิทธิภาพภายในประเทศ ส่วนบริษัทเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบด้านการบริการน้ำประปาภายในประเทศ

ทั้งนี้ หากจะแก้ไขการจ่ายน้ำที่เหมาะสมควรพิจารณาขั้นตอน ต่อไปนี้

  • จำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณให้เหมาะสม พร้อมทั้งดำเนินการแก้ไขโครงสร้างพื้นฐานที่ทรุดโทรมอย่างเร่งด่วน เนื่องจากมีส่วนทำให้เกิดการรั่วไหลของน้ำ สูญเสียน้ำโดยไม่จำเป็น
  • จำเป็นต้องระบุข้อจำกัดของกำลังการผลิต ทักษะที่ขาด และต้องการแก้ไข
  • การลงทุนของภาคเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ จำเป็นต้องได้รับแรงจูงใจในการส่งเสริมให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership: PPP) 
  • การอนุรักษ์น้ำและการจัดการด้านอุปสงค์ (demand management) ต้องมีการดำเนินการให้เพียงพอต่อการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค
  • ภาคส่วนการเมืองควรให้ความสำคัญกับการจัดหาโครงสร้างพื้นฐานทั้งในด้านการบำรุงรักษา การฟื้นฟู และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่

อย่างไรก็ดี รัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อการวางแผนและการจัดการน้ำ เพื่อปกป้องแหล่งน้ำ จัดสรรให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เพื่อให้มีน้ำสะอาดที่เพียงพอสำหรับทุกคน เพราะน้ำนับเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่ช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
สหรัฐฯ จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำขนานใหญ่ แก้ปัญหาด้านน้ำและให้คนทั้งประเทศมีงานทำ
จะจัดการน้ำให้ยั่งยืน ต้องลงมือทำอย่างเป็นองค์รวมร่วมกับการปรับตัวต่อ Climate Change
World Water Week 2022 – UN ชี้ภัยเเล้งที่ขยายวงกว้างทำคนทั่วโลกต้องการน้ำเพิ่มขึ้น ขณะที่ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงน้ำสะอาดยังคงมีอยู่มาก
รายงานความคืบหน้าด้านน้ำโดย UN Water ชี้ สถานการณ์น้ำของโลกไม่เป็นไปตามแผน #SDG6
2564 ปีของวิกฤติน้ำในโลก: น้ำล้น แห้งแล้งไป ปนเปื้อนมาก ภัยพิบัติน้ำเกิดถี่ขึ้น

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG 6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
– (6.1) บรรลุเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยและมีราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 2573
– (6.3) ปรับปรุงคุณภาพน้ำ โดยการลดมลพิษ ขจัดการทิ้งขยะและลดการปล่อยสารเคมีอันตรายและวัตถุอันตราย ลดสัดส่วนน้ำเสียที่ไม่ผ่านกระบวนการลงครึ่งหนึ่ง และเพิ่มการนำกลับมาใช้ใหม่และการใช้ซ้ำที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนทั่วโลก ภายในปี 2573
– (6.4) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกภาคส่วนและสร้างหลักประกันว่าจะมีการใช้น้ำและจัดหาน้ำที่ยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และลดจำนวนประชาชนที่ประสบความทุกข์จากการขาดแคลนน้ำ ภายในปี 2573
– (6.5) ดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวมในทุกระดับ รวมถึงผ่านทางความร่วมมือระหว่างเขตแดนตามความเหมาะสม ภายในปี 2573

แหล่งที่มา: South Africa’s biggest cities are out of water, but the dams are full: what’s gone wrong – theconversation

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น