ชวนอ่านงานวิจัย “การขับเคลื่อนนโยบายความร่วมมือด้านการศึกษาสู่ประชาคมอาเซียน : กรณีศึกษาโครงการโรงเรียนคู่พัฒนาไทย – อินโดนีเซีย” โดย ดร. อำพา แก้วกำกง สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา สนับสนุนการเผยแพร่โดยสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
งานวิจัยฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการนำนโยบายไปปฏิบัติในโครงการโรงเรียนคู่พัฒนาไทย-อินโดนีเซียภายใต้นโยบายการขับเคลื่อนการศึกษาสู่ประชาคมอาเซียนของไทย ผ่านการใช้วิธีการวิจัยแบบผสมผสานระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยได้มีการแบ่งการศึกษาเป็น 2 รูปแบบ คือ 1) การสำรวจด้วยแบบสอบถาม และ 2) การสัมภาษณ์เชิงลึกร่วมกับการศึกษาเยี่ยมชมการปฏิบัติของโรงเรียนและสังเกตการณ์และการวิเคราะห์เนื้อหานโยบายจากเอกสาร ร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติโดยเฉพาะระดับส่วนกลาง และโรงเรียน
ที่มาของงานวิจัย เกิดจากข้อตกลงการเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 (ASEAN Community 2015) ประเทศไทย ได้มีความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียนอย่างจริงจัง และเพื่อให้สอดรับกับแนวนโยบายชาติ กระทรวงศึกษาธิการ จึงมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปฏิบัติการขับเคลื่อนโรงเรียนสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อสร้างโอกาสการศึกษา พร้อมสร้างความตระหนักการเป็นประชาคมอาเซียน ผ่านการใช้การศึกษาเป็นกลไก ซึ่งตามแผนงานของไทย ได้มีการนำแนวทางการศึกษาสู่ประชาคมอาเซียนที่ยั่งยืนเข้าไปผสานแนวคิดร่วมกับหลักสูตรสถานศึกษา เป็นการทำงานตามปกติ ขณะเดียวกัน ก็ได้ขับเคลื่อนเตรียมการให้ผู้เรียนมีทักษะ เจตคติ ค่านิยม และความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้สามารถอยู่ในประชาคมอาเซียนได้อย่างดี โดยได้ดำเนินโครงการโรงเรียนนำร่องทั่วประเทศให้เป็นต้นแบบการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียนขึ้นมา และเวลาต่อมา จึงได้ริเริ่มเป็น “โครงการโรงเรียนคู่พัฒนาไทย- อินโดนีเซีย” จำนวน 23 โรงเรียน
ด้วยเหตุผลนี้ งานวิจัยของ ดร. อำพา จึงต้องการศึกษาการนำนโยบายขับเคลื่อนการศึกษาสู่ประชาคมอาเซียนของไทยไปปฏิบัติในโรงเรียนนำร่องของโครงการ “โรงเรียนคู่พัฒนาไทย-อินโดนีเซีย” ซึ่งเป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมและปลูกฝังให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นสำคัญของอาเซียน โดยได้รับความร่วมมือกับศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยการศึกษาแบบเปิดของซีมีโอ (SEAMEO Regional Open Learning Center: SEAMOLEC) โดยเนื้อหาสาระการเรียนการสอนจะมุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมและปลูกฝังให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจและปลูกฝังค่านิยมที่ดีเกี่ยวกับประเด็นสำคัญของอาเซียน ประกอบด้วย
- ประเด็นสิ่งแวดล้อม เช่น การบูรณาการเรื่องคุณค่าของการใช้น้ำสะอาด (Human Values-Based Water) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ภาวะโลกร้อน (Global Warming) และสภาวการณ์ขาดแคลนน้ำ (Water Scarcity) พัฒนาขึ้นโดยองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) ร่วมกับ ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยการศึกษาแบบเปิด (SEAMOLEC) และโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (United Nations Human Settlement Programme : UN HABITAT )
- การเรียนรู้ภาษาของประเทศสมาชิกอาเซียน ในโครงการนี้คือ ภาษาบาฮาซา อินโดนีเซีย
- การเรียนรู้เกี่ยวกับค่านิยมร่วม (Common Values) และความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Sensitivity)
ซึ่งงานวิจัยฉบับนี้ สอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเฉพาะ เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ และเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยังยืน
จากผลการศึกษาการวิจัยของ ดร. อำพา สามารถสรุปได้ว่า จากสภาพการดำเนินโครงการโรงเรียนคู่พัฒนาไทย-อินโดนีเซีย โรงเรียนนำร่องของไทยมีผลการดำเนินงานภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งความท้าทายในการขับเคลื่อนนโยบายและการดำเนินโครงการ เกิดจากที่ส่วนกลางขาดช่วงการสนับสนุนงบประมาณ การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ และการติดตามประเมินผล รวมถึงผู้ปฏิบัติในโรงเรียนงานขาดช่วงการดำเนินงานที่ต่อเนื่อง นอกจากนี้ ด้านการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือของโรงเรียนไทยกับอินโดนีเซีย พบอุปสรรคและปัญหา ในด้านทักษะภาษาอังกฤษและภาษาท้องถิ่น รวมถึงช่วงเวลากิจกรรมการเรียนการสอนและการปิด-เปิดภาคเรียนไม่ตรงกัน และ ในบางโรงเรียนนำร่องพบว่ามีคู่ความต้องการที่ไม่ตรงกัน
ด้วยเหตุผลนี้ จึงต้องร่วมรับมือกับข้อจำกัดต่าง ๆ ในการจัดการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมอินโดนีเซียได้เต็มรูปแบบและต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ด้วยการทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับมหาวิทยาลัยในพื้นที่เพื่อรับนักศึกษาฝึกประสบการณ์จากประเทศอินโดนีเซียมาช่วยจัดการเรียนรู้และกิจกรรมเสริมหลักสูตรในโรงเรียนและการรวมกลุ่มแบบคลัสเตอร์ (cluster) เพื่อพึ่งพาอาศัยกัน พร้อมอัปเดตความรู้ที่เกี่ยวข้อง และแบ่งปันทรัพยากรการเรียนรู้ เพื่อต่อยอดขับเคลื่อนนโยบายความร่วมมือให้กว้างออกไปสู่ภาคประชาสังคม
สุดท้ายนี้ ดร. อำพา ได้ระบุข้อเสนอแนะ ประการแรก ทางเลือกนโยบายเพื่อการตัดสินใจนั้น สามารถเกิดได้ 3 เงื่อนไข คือ ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และยุตินโยบาย และประการที่สอง แผนที่ยุทธศาสตร์ต่อการนำนโยบายไปปฏิบัตินั้น ต้องบูรณาการแนวคิดด้านการประเมินผลโครงการทางการศึกษาด้านบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และผลผลิต (CIPP Model) กับแนวคิดการนำนโยบายด้านการศึกษาไปปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์นั้น ต้องมีองค์ประกอบด้านการออกแบบนโยบายและแผนการพัฒนาผู้ปฏิบัติ และการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานปฏิบัติ (Honig Model) ร่วมอยู่ด้วย
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ งานวิจัยฉบับนี้ แม้ยังพบปัญหาและอุปสรรคบางประการไม่ได้ดำเนินการต่อเนื่อง สาเหตุจากข้อจำกัดหลายประการโดยเฉพาะด้านงบประมาณและทรัพยากรทางนโยบายอื่น ๆ แต่ผลการศึกษาก็พบว่าประเด็นการจัดการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมมีผลการปฏิบัติดีกว่าประเด็นอื่น ๆ ของโครงการ ทั้งได้เกิดแนวปฏิบัติที่ดี (Good Practice) หลายอย่างที่แต่ละโรงเรียนสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำไปปรับใช้และต่อยอดให้เป็นประโยชน์ได้ต่อไป เช่นนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายความร่วมมือด้านการศึกษาให้มีความเหมาะสมต่อบริบทและนำไปปรับใช้ได้ต่อไปในอนาคต
งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) ธีมความร่วมมือและกลไกการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการที่วัฒนธรรมมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยังยืน
– (17.9) เพิ่มพูนการสนับสนุนระหว่างประเทศสำหรับการดำเนินการด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถที่มีประสิทธิผลและมีการตั้งเป้าในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสนับสนุนแผนระดับชาติที่จะดำเนินงานในทุกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงผ่านทางความร่วมมือแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)