ก้าวเข้าสู่เดือนแรกของมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 จึงชวนอ่านข่าวสารเกี่ยวข้องในแวดวงฟุตบอลที่สำคัญ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization – ILO) รับข้อตกลงด้านแรงงานในระดับโลก (Global Labour Agreement – GLA) ฉบับแรก ในการตระหนักถึงความสำคัญของการเจรจาทางสังคม (social dialogue) เพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานและสิทธิของนักฟุตบอลอาชีพให้ครอบคลุมทั้งชายและหญิง
ข้อตกลงด้านแรงงานในระดับโลกสร้างกรอบการเจรจาระหว่างประเทศใหม่ระหว่าง World Leagues Forum (WLF) ซึ่งเป็นตัวแทนของลีกฟุตบอลอาชีพระดับชาติรวม 44 ลีก ประกอบด้วยสโมสร 1,100 แห่ง และฟิฟโปร (Fédération Internationale des Associations de Footballeurs Professionnels :FIFPRO) สหภาพนักฟุตบอลระดับโลก เป็นตัวแทนของผู้เล่นฟุตบอลอาชีพมากกว่า 60,000 คนในฐานะพนักงานในอุตสาหกรรมฟุตบอลระดับนานาชาติผ่านสหภาพแรงงานนักฟุตบอลระดับชาติ 66 แห่ง ทั้งในแอฟริกา สหรัฐอเมริกา (กีฬาชนิดนี้ เรียกว่า “soccer” ในสหรัฐอเมริกา) เอเชีย ยุโรป และโอเชียเนีย (Oceania)
พิธีลงนามดังกล่าวได้รับเกียรติจาก Guy Ryder ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ David Aganzo ประธาน FIFPRO และ Enrique Bonilla ประธาน World Leagues Forum เป็นผู้ลงนามรับข้อตกลงสำหรับนักฟุตบอลอาชีพ ณ สำนักงานใหญ่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในฐานะตัวแทนนายจ้างและลูกจ้างทั่วโลก ผู้ลงนามในข้อตกลงจะผูกพันให้ต้องมีความรับผิดชอบที่มากขึ้นในการค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันสำหรับความท้าทายที่อุตสาหกรรมฟุตบอลต้องเผชิญอยู่
ข้อตกลง GLA เป็นมาตรฐานที่ตกลงร่วมกัน เพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ด้านแรงงานในฟุตบอลอาชีพไปพร้อมกับการสร้างความเติบโตในการดำรงชีวิตที่ยั่งยืนให้แก่นักฟุตบอล ซึ่งข้อตกลงดังกล่าว เป็นเวทีสำคัญสำหรับหารือเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ในการปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของนักฟุตบอล รวมถึงความมุ่งมั่นในการปรับปรุงการเป็นตัวแทนและการมีส่วนร่วมของลีกในประเทศ สโมสรสมาชิก และสหภาพแรงงานนักฟุตบอล นอกจากนี้ ยังตระหนักถึงความสำคัญของฟุตบอลหญิงเพิ่มมากขึ้น ทั้งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันในประเทศ สโมสร และนักฟุตบอล
ทั้งนี้ การเจรจายังถึงประเด็นต่าง ๆ เช่น มาตรฐานการจ้างงาน การจัดการการถูกกระทบกระเทือน (concussion management) หรือการบาดเจ็บ ระหว่างแข่งขัน มาตรการในการจัดการกับการเลือกปฏิบัติและการเหยียดเชื้อชาติทั้งในสนามและบนโซเชียลมีเดีย รวมถึงการละเมิดในรูปแบบอื่น ๆ ภายใต้ข้อตกลง GLA อาจขอให้ ILO ให้คำแนะนำในด้านที่มีความเชี่ยวชาญ และการดำเนินการตามข้อตกลงต่าง ๆ
Guy Ryder ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ กล่าวว่า “ฟุตบอลมีพลังในการสร้างแรงบันดาลใจและรวมผู้คนจากทุกเชื้อชาติและทุกสาขาอาชีพ โดยไม่คำนึงถึงเพศและเชื้อชาติ” พร้อมเสริมว่านักฟุตบอล “จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองโดยหลักการพื้นฐานและสิทธิในการทำงาน”
สำหรับข้อตกลงด้านแรงงานในระดับโลก (GLA) นั้นปฏิบัติตามหลักการพื้นฐานและสิทธิในการทำงานที่กำหนดโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศในปฏิญญาว่าด้วยหลักการพื้นฐานและสิทธิในการทำงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งต่อมาได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมในปี 2565 นอกจากนี้ ยังสอดรับตามฉันทามติของ ILO Global Dialogue Forum เรื่อง งานที่มีคุณค่าในโลกของกีฬาปี พ.ศ. 2563 (Decent Work in the World of Sport 2020) โดยเฉพาะได้มีการอ้างถึงอนุสัญญาเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการจัดตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศปี 2491 (ฉบับที่ 87) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิในการจัดระเบียบและการเจรจาร่วมกันขององค์การแรงงานระหว่างประเทศปี 2491 (ฉบับที่ 98)
GLA นับเป็นสัญญาณที่ดีของการคุ้มครองสิทธิแรงงานแก่นักกีฬาฟุตบอล อย่างไรก็ดี กิจการฟุตบอลในระดับอาชีพนั้นยังองค์ประกอบอื่นมาเกี่ยวข้อง เช่น พนักงานในสโมสร แรงงานสร้างสนาม สิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงาน ที่มักอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงานอยู่แล้วก็ยังถูกปฏิบัติไม่เป็นธรรมในหลายกรณี เช่น กรณีการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ที่ต่อมาพบว่าประเทศเจ้าภาพละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงานทั้งการสร้างสนาม ที่พักรับรองนักกีฬา จึงเป็นที่น่าจับตาต่อไปว่าวงการฟุตบอล และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องจะตอบสนองต่อประเด็นนี้อย่างไร
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ILO รายงานสภาพการทำงานภาคเกษตรไทย พร้อมชี้แรงงานข้ามชาติ ยังเผชิญการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม
– ILO ชี้ วิกฤติซ้อนวิกฤติแช่แข็งความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
– รายงาน ILO เผยว่า ยังมีคนอีก 1.6 พันล้านคน ในเอเชียและแปซิฟิกที่ขาดการคุ้มครองทางสังคมด้านสุขภาพ
– ข้อยกเว้นทางกฎหมายและการจ้างงานนอกระบบ อุปสรรคต่อการมีงานที่มีคุณค่าของแรงงานทำงานบ้าน
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลและมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และกิจกรรมสาธารณะ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้
แหล่งที่มา:
– ILO welcomes first global agreement on professional footballers’ rights | | 1UN News
– ILO welcomes first global agreement on working conditions and rights of professional football players – ILO
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย
Last Updated on พฤศจิกายน 17, 2022