ปัญหาด้านพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ย่อมส่งผลต่อคุณภาพของประชากรที่จะเป็นอนาคตของประเทศชาติ การค้นพบปัญหาพัฒนาการผิดปกติ ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม เพื่อที่จะเร่งให้การช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ให้เด็กกลับมามีพัฒนาการใกล้เคียงปกติหรือปกติ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมสร้างความเป็นธรรมในสังคม พร้อมปูทางสร้างฐานรากของชีวิตให้แก่เด็ก เนื่องจากเด็กวัยนี้ เป็นช่วงวัยที่ต้องการการปลูกฝัง บ่มเพาะพิเศษ โดยตามนโยบายของรัฐ ได้มีการเร่งรัดให้เด็กปฐมวัยทุกคนได้รับการพัฒนาที่รอบด้าน ตามวัยอย่างมีคุณภาพ แต่ทางกลับกัน จากสภาวการณ์ทั่วโลก ได้บ่งชี้ว่ากลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง (Low- and Middle-Income Countries; LMICs) คาดว่าเด็กก่อนวัยเรียน (preschool age) เด็ก 1 ใน 3 คน มีความบกพร่องในการรับความรู้ ความเข้าใจ และพัฒนาการสำคัญด้านพัฒนาการจิตสังคม (Socio Emotional Developmental) ซึ่งเป็นการรับรู้เกี่ยวกับตนเองในทางที่ดี เช่นนั้น จึงจำเป็นต้องส่งเสริมพัฒนาการในวัยเด็กที่เหมาะสม สร้างรากฐานของคุณภาพของประชากรในสังคม
ด้วยปัญหาข้างต้น ประเทศไทย จึงได้มีการดำเนินการระดับชาติตามหลักสากลของในการพัฒนา “คู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย” (Developmental Surveillance and Promotion Manual : DSPM) เช่นเดียวกับ งานวิจัยเรื่อง “Thailand’s national universal developmental screening programme for young children: action research for improved follow-up” โดย Dr. Joanna Morrison Institute for Global Health, University College London ร่วมกับ รศ. พญ.อิสราภา ชื่นสุวรรณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะ ศึกษาการตรวจหาความผิดปกติของพัฒนาการ และเพื่อให้การบริการช่วยเหลือที่เหมาะสมระยะแรกเริ่ม (Early Intervention: EI) พร้อมเสนอการปรับปรุงผลลัพธ์ด้านสุขภาพเด็ก ค้นหาคำตอบจากงานการวิจัยเชิงปฏิบัติการที่ได้จากการดำเนินการตามโครงการพัฒนาการเฝ้าระวังและส่งเสริมคัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM) ในประเทศไทย
ด้วยประเด็นดังกล่าว เน้นการพัฒนาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้ยั่งยืนของประชากรภายในสังคม โดยเฉพาะเด็ก เชื่อมโยงกับนโยบายแนวทางความพร้อมในการดูแลสุขภาพ การบริการช่วยเหลือ และปรับปรุงผลลัพธ์ด้านสุขภาพของเด็ก ผ่านการป้องกันรักษาและให้ความรู้แก่ประชาชน งานวิจัยดังกล่าว จึงมีความสอดคล้องและเป็นองค์ความรู้ที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และเป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
จุดเริ่มต้นความเป็นมา “การเฝ้าระวังและส่งเสริมคัดกรองพัฒนาการเด็ก” ในประเทศไทย ร่วมค้นหาติดตามผ่านการวิจัยเชิงปฏิบัติการ
จากการประมาณการทั่วโลก สะท้อนให้เห็นว่าประมาณร้อยละ 5 ของเด็ก มีภาวะทุพพลภาพระดับปานกลาง (moderate) ถึงระดับรุนแรง (severe) ซึ่ง 1 ในจำนวนนั้นประมาณ 18.75/10 000 มีความผิดปกติในด้านพัฒนาการหลากหลายด้าน (Pervasive Developmental Disorders : PDD) อาทิ การโต้ตอบเข้าใจภาษา การมีความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดรอบข้าง และการมีความคิดจินตนาการที่เหมาะตามวัย เป็นต้น ซึ่งความผิดปกติทางด้านพัฒนาการ (developmental disorders) และภาวะพัฒนาการช้าในเด็ก (developmental delay) นั้น ไม่เพียงเป็นเรื่องของพัฒนาการเท่านั้น แต่ได้ให้ความหมายอย่างกว้างขวางและครอบคลุมไปจนถึง ภาวะบกพร่องทางสติปัญญา (intellectual disabilities) หรือ ภาวะปัญญาอ่อน (mental retardation) และความผิดปกติในด้านพัฒนาการหลายด้าน (PDD) รวมจนถึงโรคออทิสติกอีกด้วย
จากการศึกษามีเด็กมากถึงร้อยละ 15 ในสหรัฐอเมริการายงานว่า มีความผิดปกติทางด้านพัฒนาการ โดยข้อมูลปี 2553 จาก 35 ประเทศ ระบุว่า กลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง (LMICs) เด็กก่อนวัยเรียน (preschool age) อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 2-6 ปี 1 ใน 3 คน มีความบกพร่องในการรับความรู้ ความเข้าใจ และพัฒนาการสำคัญด้านพัฒนาการจิตสังคม (Socio Emotional Developmental) นอกจากนี้ พบว่าร้อยละ 85 ของผู้ที่มีความผิดปกติทางด้านพัฒนาการในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง (LMICs) นั้น ไม่ได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงและเหมาะสม โดยความผิดปกติทางด้านพัฒนาการ จะเริ่มเกิดขึ้นช่วงวัยเด็ก และส่งผลคงอยู่จนถึงวัยผู้ใหญ่ ทำให้ผู้ที่มีความผิดปกติทางด้านพัฒนาการ มีความเสี่ยงต่อความเจ็บป่วยทางกายภาพมากกว่าคนปกติ และหากไม่ได้รับการรักษาเด็กที่มีความผิดปกติทางด้านพัฒนาการ จะมีโอกาสมีปัญหาทางพฤติกรรมมากกว่าเด็กทั่วไปถึง 2 หรือ 3 เท่า และอาจรุนแรงขึ้นในช่วงวัยรุ่น ต่อเนื่องจนถึงวัยผู้ใหญ่ จึงเป็นนับเป็นอีกประเด็นด้านสุขภาพที่ควรให้ความสำคัญและติดตามเป็นพิเศษอีกประเด็นหนึ่ง
งานการวิจัยของ Dr. Joanna Morrison และ รศ.พญ.อิสราภา ชื่นสุวรรณ จะแสดงให้เห็นว่า การตรวจหาและการเฝ้าระวังความผิดปกติทางด้านพัฒนาการของเด็กตั้งแต่แรก ๆ มีประโยชน์อย่างมาก โดยประเทศไทยนั้น ได้มีการดำเนินการระดับชาติตามหลักสากลในการพัฒนา “คู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย” (Developmental Surveillance and Promotion Manual : DSPM) ที่ช่วยแนะนำแนวทางการตรวจหาความผิดปกติของพัฒนาการ และเพื่อให้การบริการช่วยเหลือตั้งระยะแรกเริ่ม (Early Intervention : EI) พร้อมปรับปรุงผลลัพธ์ด้านสุขภาพเด็ก ซึ่งหลายครั้งพบว่าการนำคู่มือเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM) ไปปฏิบัตินั้น ยังพบข้อจำกัดและอุปสรรคต่าง ๆ อาทิ เด็กหลายคนไม่ได้การเข้าร่วมการคัดกรองตามการนัดหมาย การติดตามผลของเด็กบกพร่อง รวมถึงเด็กหลายคนไม่ผ่านการคัดกรองขั้นต้น (initial screening) และขาดการติดตามผลกลับ
นำมาสู่การตั้งคำถามว่า “ปัจจัยใดที่ส่งผลต่อการดำเนินการตามโครงการเฝ้าระวังและส่งเสริมคัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM) ในประเทศไทย” ร่วมศึกษาและค้นหาคำตอบผ่านการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ทบทวนติดตามว่าการพัฒนาการเฝ้าระวังและส่งเสริมคัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัยระดับชาติเป็นอย่างไร
การศึกษาเชิงปฏิบัติการ ค้นหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์จริง
งานวิจัยฉบับนี้ของ Dr. Joanna Morrison และ รศ. พญ.อิสราภา ชื่นสุวรรณ ตั้งต้นโจทย์ค้นคว้า โดยใช้กรอบความคิดเชิงทฤษฎี (Theoretical Framework) นำการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) มาช่วยศึกษาเพื่อค้นหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งสามารถช่วยให้เข้าใจถึงสถานการณ์ความเป็นจริงของสังคม พร้อมลงไปศึกษาปัญหาผ่านผู้ประสบกับสิ่งเหล่านั้น สะท้อนความรู้และใช้ประสบการณ์การค้นหาแนวทางในการแก้ไข โดยตั้งสมมติฐานอย่างมีความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เริ่มต้นด้วยการนิยามปัญหา จากนั้นเก็บรวบรวมข้อมูล ร่วมทบทวนและลงมือปฏิบัติ พร้อมสร้างแรงจูงใจในการเปลี่ยนแปลงให้แก่ผู้คน ซึ่งจะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมอย่างไม่เป็นทางการแก่ผู้กำหนดนโยบายและผู้ดำเนินโครงการ โดยได้ดำเนินการตามขั้นตอน ร่วมค้นหาแนวทางพัฒนาการเฝ้าระวังและส่งเสริมคัดกรองพัฒนาการเด็กปฐมวัย
กระบวนการของโครงการตรวจคัดกรองพัฒนาการเด็ก สรุปได้ดังนี้
- 0.33% ของเด็กอายุ 0-14 ปีในประเทศไทยมีความพิการ และ 1.2% ของการเสียชีวิตต่อประชากร 100,000 คน เกิดจากความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรม (Mental and behavioural disorders) จากการศึกษาในโรงพยาบาลพบว่า 3.8% ของเด็กที่ได้รับการตรวจสุขภาพตามปกติ มีปัญหาด้านพัฒนาการและพฤติกรรม
- สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย จึงได้จัดทำคู่มือสำหรับเฝ้าระวังพัฒนาการสุขภาพเด็กที่ดี ในปี พ.ศ. 2556 และการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยระดับชาติ (DSPM) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อปรับปรุงการระบุความผิดปกติของพัฒนาการของเด็กตั้งแต่เนิ่น ๆ และเพื่อกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ผ่านการให้คำแนะนำและส่งต่อการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย (DSPM) ซึ่งดำเนินการโดยพยาบาลที่ได้รับการฝึกอบรมหรือเจ้าหน้าที่ดูแลหลัก จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ หรือ (Health Promoting Hospital : HPH) และคลินิกเด็กดี (well baby clinic) ของท้องถิ่น จังหวัด และมหาวิทยาลัย
- เด็กจะได้รับการตรวจคัดกรองในการเข้ารับการฉีดวัคซีนตามปกติช่วงอายุ 9, 18, 30 และ 42 เดือน โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (HPH) ใช้คู่มือ DSPM เพื่อเป็นแนวทางในกระบวนการคัดกรอง ซึ่งคู่มือนี้ช่วยให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้ดูแลเกี่ยวกับวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่ควรปฏิบัติตามช่วงอายุ พร้อมมีรูปภาพและคำแนะนำในการฝึกปฏิบัติให้แก่เด็ก
- ตามขั้นตอนเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จะให้เด็กไปที่ห้องแยกและเลือกแบบฝึกหัด 8-10 ข้อจากคู่มือ DSPM เพื่อทดสอบพัฒนาการทางร่างกาย สังคม อารมณ์ และความรู้ความเข้าใจของเด็ก
จากข้อมูลการประเมินระดับประเทศตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2558 ถึงกุมภาพันธ์ ปี 2560 พบว่าเด็ก 15% ไม่ผ่านการตรวจคัดกรองครั้งแรก และมีเพียง 57% ของเด็กที่ไม่ผ่านคัดกรองเท่านั้นกลับมาตรวจคัดกรองครั้งที่สอง นอกจากนี้ ยังพบว่าจาก 57% ที่กลับมาตรวจคัดกรองครั้งที่สอง มีเด็กเพียง 95% ที่ผ่านการคัดกรอง แต่กลับไม่ต้องการติดตามผลเพิ่มเติม นำมาสู่การทำความเข้าใจสาเหตุต่อว่า “ทำไมเด็กเหล่านั้น ไม่เข้าร่วมการนัดหมายเพื่อติดตามผล” จึงได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการการวิจัยสุขภาพจิตในกรุงเทพฯ เพื่อทำความเข้าใจเหตุผล สำหรับการไม่เข้าร่วมในการนัดหมายติดตามผล
สู่ข้อค้นพบเชิงปฏิบัติ “อุปสรรค” เกิดจากระบบสุขภาพและการสื่อสารในการเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก
งานวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการติดตาม คัดกรอง การเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ซึ่งได้อธิบายแนวทางปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน แต่เมื่อศึกษาลงไปในการปฏิบัติจริงของผู้ปฏิบัติงาน ผู้ปกครอง และเด็ก กลับประสบพบกับเหตุผล อุปสรรคปัญหา และข้อจำกัด ในการที่เด็กไม่เข้าร่วมในการคัดกรอง นัดหมายติดตามผล ซึ่งมาจากทั้งตัวระบบและทางการปฏิบัติ
สำหรับอุปสรรคที่ค้นพบจากงานวิจัย มีหลายประการ อาทิ
- ขาดแคลนเจ้าหน้าที่ การเฝ้าระวังและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยระดับชาติ (DSPM) ถึงแม้จะเป็นโครงการตรวจคัดกรองระดับสากล แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฏิบัติงานคัดกรองเด็กได้ทุกคน เพราะเด็กที่ต้องรับการตรวจคัดกรอง มีอายุตั้งแต่ 9, 18, 30 หรือ 42 เดือน หากมีการนัดหมายเกิดขึ้นพร้อมกัน บางกรณีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อการดูแลและคัดกรองเด็ก และด้วยเวลาการตรวจคัดกรองที่นานอาจทำให้ตรวจคัดกรองได้อย่างไม่ทั่วถึง
- ขาดการนัดหมายและติดตามผล บางกรณีเมื่อเด็กไม่ผ่านการตรวจคัดกรอง บางครั้งก็ไม่ได้มีการนัดติดตามผล รวมถึงขาดการรับแจ้งเกี่ยวกับการนัดหมายครั้งถัดไป
- กระบวนการส่งต่อผู้ป่วย เมื่อพบว่าเด็กมีพัฒนาการล่าช้าอย่างรุนแรง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต้องปฏิบัติตามระเบียบการของให้คำปรึกษาและขอให้มาตามนัดหมายติดตามผลที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งไม่ควรส่งต่อการรักษาผู้ป่วยโดยทันที แต่บางกรณีผู้ดูแลเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าอย่างรุนแรง ไม่ได้เข้ารับการติดตามผลอย่างต่อเนื่อง แต่กลับได้รับคำแนะนำพาเด็กไปโรงพยาบาลเอกชนหรือศูนย์ส่งต่อผู้ป่วยโดยตรงแทน
- อุปกรณ์สนับสนุน ไม่เพียงพอ แม้ว่าผู้ดูแลเด็กทุกคนจะได้รับคู่มือ DSPM จากการตรวจคัดกรอง แต่พบว่ากลับมีคู่มือไม่เพียงพอ พร้อมพบข้อจำกัดในการใช้งาน เช่น หากผู้ปกครองของเด็ก คือ ปู่ย่าตายายที่อ่านหนังสือไม่ออก อาจทำให้ไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาภายในคู่มือและไม่สามารถนำมาดูแลบุตรหลานได้ เป็นต้น
- ผู้ดูแลเด็กอาจไม่เข้าใจถึงการสื่อสารเกี่ยวกับการตรวจคัดกรอง โดยเฉพาะปู่ย่าตายายขาดความเข้าใจในการให้คำแนะนำส่งเสริมพัฒนาการเด็ก และไม่เข้าใจถึงผลการตรวจคัดกรองที่ล้มเหลว
- ผู้ดูแลมักรู้สึกว่าถูกตำหนิ เมื่อเด็กขาดพัฒนาการที่ควรจะเป็นตามช่วงวัย เมื่อได้ผลตรวจคัดกรอง ผู้ดูแลมักมีความกังวลว่าเด็กจะทุพพลภาพร้ายแรง รวมถึงมีความไม่เข้าใจ ไม่เชื่อผลการตรวจ และไม่เห็นถึงประโยชน์จากการตรวจคัดกรอง นำไปสู่การขาดติดตามผลในการนัดหมาย
ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมระบบสุขภาพ ชุมชน และการสื่อสารการตรวจคัดกรองเฝ้าระวังพัฒนาการเด็กปฐมวัยให้ดีขึ้น
ปลายทางสุดท้ายจากการศึกษางานวิจัย Dr. Joanna Morrison ร่วมกับ รศ.พญ.อิสราภา ชื่นสุวรรณ และคณะ ได้อภิปรายเสนอแนะประเด็นทิ้งทายน่าสนใจหลายประการ อาทิเช่น
- เพิ่มการรับรู้ถึงประโยชน์และความจำเป็นในการตรวจคัดกรอง เมื่อผู้ดูแลตระหนักถึงประโยชน์ของพัฒนาการเด็กปฐมวัยมากขึ้น การวิจัยพบว่ามีแนวโน้มที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ การฝึกอบรมกลุ่มเป้าหมาย อาทิ ครู เจ้าหน้าที่รับเลี้ยงเด็ก และอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน จะช่วยเพิ่มความตระหนักเกี่ยวกับการกระตุ้นพัฒนาการ ทั้งนี้ กลยุทธ์การส่งเสริมสุขภาพ จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากได้เป็นส่วนหนึ่งของแผนบูรณาการของชุมชน
- กลยุทธ์อุปกรณ์ทางสุขภาพเคลื่อนที่ (mHealth) การแจ้งเตือนการนัดหมาย ผ่านทางข้อความอาจเพิ่มประสิทธิภาพในการนัดหมายเพื่อติดตามผล ซึ่งข้อความจะสามารถช่วยแจ้งเตือนความจำในการนัดหมาย รวมถึงสามารถเพิ่มการนัดหมายด้านสุขภาพ โดยสามารถแจ้งเตือนได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ
- กลุ่มเป้าหมายผู้ปกครองที่เป็นผู้สูงอายุ พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมาที่อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายายเพิ่มขึ้น จาก 2% ในปี 2529 เป็น 8% ในปี 2549 ซึ่งผลมาจากการย้ายถิ่นที่เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นจะต้องสร้างความตระหนักเกี่ยวกับพัฒนาการเด็กเพิ่มมากขึ้นแก่กลุ่มผู้สูงอายุ
กล่าวโดยสรุป งานวิจัยของ Dr. Joanna Morrison Institute for Global Health, University College London ร่วมกับ รศ. พญ.อิสราภา ชื่นสุวรรณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะ ได้จุดประกายความสนใจให้แก่ประชาชนในการหันมาให้ความสนใจประเด็นด้านพัฒนาการสุขภาพของเด็กเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการศึกษาช่วยสะท้อนว่าการตรวจพบเด็กที่มีพัฒนาการผิดปกติตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะสามารถช่วยเหลือให้เด็กกลับมามีพัฒนาการใกล้เคียงปกติหรือปกติได้ ซึ่งการมีพัฒนาการตามปกตินั้น มีประโยชน์ต่อสุขภาพในระยะยาว หากพ่อแม่ผู้ปกครองสามารถช่วยกันพัฒนาและปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลเด็ก จากผลที่ได้การวิจัยเชิงปฏิบัติการ ช่วยสะท้อนสถานการณ์ความเป็นจริงของสังคมไทยได้อย่างชัดเจน ด้วยข้อค้นพบอุปสรรค ข้อจำกัด และแนวทางการแก้ไขปัญหาสังเคราะห์มาได้จากผู้ประสบปัญหาจริง เช่นนั้นแล้ว การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของทุกภาคส่วนควรคำนึงถึง ‘เด็ก’ ที่นับว่าเป็นทรัพยากรสำคัญของชาติมากยิ่งขึ้นในทุกระดับอย่างมีคุณภาพ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กและประชากรภายในประเทศ
งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) ธีมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย
งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.2) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนเข้าถึงการพัฒนา การดูแล และการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพ ภายในปี 2573 เพื่อให้เด็กเหล่านั้นมีความพร้อมสำหรับการศึกษาระดับประถมศึกษา
ข้อมูลงานวิจัย: Morrison, J., Chunsuwan, I., , et al . (2018). Thailand’s national universal developmental screening programme for young children: action research for improved follow-up. Growth and Change, BMJ Global Health. 3(1),1-11. DOI: 10.1136/bmjgh-2017-000589
ชื่อผู้วิจัย – สังกัด: Dr. Joanna Morrison Institute for Global Health, University College London ร่วมกับ รศ.พญ.อิสราภา ชื่นสุวรรณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะ
Research Brief แนะนำงานวิจัยเชิงลึกของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)