“ฝุ่น PM2.5 ทำให้คนป่วยเป็นมะเร็งปอด” นับเป็นประเด็นสำคัญที่ในสังคมและโลกออนไลน์ ให้ความสนใจกันอย่างมาก ณ ขณะนี้ โดยหลังจากกรณี นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล อาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “สู้ดิวะ” ตรวจพบว่าป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย แม้จะดูแลสุขภาพเป็นอย่างดีและไม่สูบบุหรี่ แต่พบว่าตั้งแต่เรียนจนถึงทำงาน นพ.กฤตไท ได้ใช้ชีวิตที่เชียงใหม่มาโดยตลอด ทำให้กระแสสังคมเริ่มมีการพูดถึงจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปอด และสถานการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถูกจัดอันดับเป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศติดอันดับโลก
ถึงแม้จะไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่าสาเหตุมาจากฝุ่นพิษ PM2.5 (particulate matter) แต่หากทบทวนก็จะพบว่า มลพิษทางอากาศ PM2.5 นับเป็นอีกภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชากร สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (International Agency for Research on Cancer : IARC) ได้จัดให้มลพิษในอากาศเป็นสารก่อมะเร็ง (carcinogen) โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ประมาณการณ์ในปี 2559 ว่าไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด ซึ่งมีสาเหตุจากมลพิษทางอากาศถึง 6,330 ราย สำหรับการเจ็บป่วย พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ตามรายงานการเจ็บป่วยโรคจากมลพิษทางอากาศของคลังข้อมูลสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ในปี 2563 พบรายงานผู้ป่วยมะเร็งปอด 122,104 ราย คิดเป็น 186.26 ต่อแสนของจำนวนประชากร
จากการคำนวณ Rocket Media Lab จัดทำข้อมูลค่าฝุ่น PM2.5 ในปี 2564 ของพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยอ้างอิงข้อมูลสถิติจากเว็บไซต์ The World Air Quality Index Project พบว่า จังหวัดเชียงใหม่ จัดอยู่ในพื้นที่ระดับสีแดง มากถึง 36 วัน คิดเป็นร้อยละ 9.86 ซึ่งอยู่ในระดับมีผลกระทบต่อสุขภาพ ระดับสีส้ม 60 วัน คิดเป็นร้อยละ 16.44 อยู่ในระดับที่มีผลต่อสุขภาพต่อกลุ่มคนที่มีสัมผัสไวต่อมลพิษ ระดับสีเหลือง อากาศมีคุณภาพปานกลาง 207 วัน คิดเป็นร้อยละ 56.71 และระดับสีเขียว อากาศมีคุณภาพดีเพียง 62 วัน คิดเป็นร้อยละ 16.99 ซึ่งอากาศจะเลวร้ายเต็มไปด้วยฝุ่นพิษมากที่สุดในเดือนมีนาคม โดยวันที่มีค่าฝุ่นเป็นค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงสุดของปี คือวันที่ 11 มีนาคม 2564 อยู่ในระดับสีแดง สูงถึง 192 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และตลอดทั้งเดือนในจังหวัดเชียงใหม่ ไม่มีวันที่อากาศอยู่ในเกณฑ์สีเขียวเลย อาจหมายความได้ว่าประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ต้องเผชิญกับมลพิษเกือบทั้งปี
ทั้งนี้ งานของ Dr. Richard A. Muller นักวิจัยชาวอเมริกันจากสถาบันวิจัยสภาพอากาศ Berkeley Earth แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ได้คำนวณเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศหรือ PM2.5 กับปริมาณมลพิษที่ได้รับจากการสูบบุหรี่ พบว่า ค่าฝุ่น PM2.5 จำนวน 22 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทียบได้กับการสูบบุหรี่ 1 มวน ซึ่งเทียบกันแล้วปี 2564 ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ต้องสูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 เทียบเท่าการสูบบุหรี่ทั้งหมด 1,379.05 มวน ทำให้แม้ไม่สูบบุหรี่แต่การที่ต้องสูดดมฝุ่นพิษ PM2.5 อย่างไม่รู้ตัวเป็นเวลานานติดต่อกัน ก็อาจสร้างความเจ็บป่วยแก่สุขภาพร่างกาย สอดคล้องกับ งานวิจัยของ systematic review and meta-analysis ปี 2564 จากวารสาร Environmental Research (impact factor 8.43) ระบุว่า PM2.5 และ PM10 เพิ่มความเสี่ยงในการก่อให้เกิดมะเร็งปอดอย่างชัดเจน แม้ตัดปัจจัยเรื่องการสูบบุหรี่ออกไปแล้ว
อย่างไรก็ดี สาเหตุของมะเร็งปอดอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ด้วยเช่นกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 กัดกินสุขภาพเป็นเวลายาวนานและเป็นอีกภัยคุกคามที่ประชาชนไม่อาจรู้ตัว ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน จึงเป็นโจทย์ต่อไปว่าหากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจังในระยะยาว ประเทศไทย คงต้องพบผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะดูแลสุขภาพร่างกายอย่างดีแล้วก็ตาม
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติปรับลดค่ามาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในรอบ 12 ปี ใกล้เคียงกับค่ามาตรฐานของ WHO มากขึ้น
– WHO ออกเกณฑ์แนะนำคุณภาพอากาศใหม่ในรอบ 15 ปี หวังช่วยลดการเสียชีวิตจาก PM2.5 ได้หลายล้านคนต่อปี
– การแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างยั่งยืน : เมื่อการสร้างความตระหนักไม่เพียงพอ
– SDG Insights | ส่องเพื่อนบ้าน III : ฝุ่น PM2.5 ในเวียดนาม
– SDG Updates | พ.ร.บ. อากาศสะอาด หลักประกันให้คนไทยกลับมาสูดอากาศที่ดีต่อลมหายใจ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
แหล่งที่มา:
– Rocket Media Lab : ปี 2021 คนเชียงใหม่ สูด PM2.5 เท่ากับการสูบบุหรี่ 1,379 มวน | ประชาไท Prachatai.com
– หมอชี้ ฝุ่น PM 2.5 ทำให้คนป่วยเป็น “มะเร็งปอด” เพิ่มขึ้น พบมากสุดในแถบภาคเหนือ – Thairath
– กรมอนามัย หวั่นฝุ่นจิ๋วกระทบปอด ย้ำ ‘เลี่ยงอยู่นอกอาคาร – ใส่หน้ากากป้องกัน’ – กรมอนามัย
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย