ปิดฉากประชุม APEC ครั้งที่ 28 ชวนสำรวจ 4 ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ SDGs

ปิดฉากเป็นที่เรียบร้อยสำหรับการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก (APEC Economic Leaders’ Meeting) หรือการประชุมเอเปก ครั้งที่ 28 ณ ประเทศไทย ซึ่งตลอดระยะเวลา 6 วัน คือระหว่างวันที่ 14 – 19 พฤศจิกายน 2565 ปรากฏความเคลื่อนไหวทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนที่น่าสนใจมากมาย SDG News ฉบับนี้จึงคัดสรร 4 ประเด็นสำคัญจากเวทีเอเปกที่เกี่ยวกับ SDGs ดังนี้

1. ปฏิญญาผู้นำ APEC 2022

ประเทศสมาชิกเอเปกได้ร่วมลงนามรับรอง ‘ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC 2022’ (2022 Leaders’ Declaration) ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญครอบคลุมหลายประเด็น อาทิ 

  • การดำเนินการแผนปฏิบัติการ ‘Aotearoa’ เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ปุตราจายา 2040 (APEC Putrajaya Vision 2040) ที่มุ่งเน้นให้ประชาคมเอเชีย-แปซิฟิก เปิดกว้าง มีพลวัต และสงบสุข ภายในปี 2583
  • ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกร่วมแสดงจุดยืนเสียใจอย่างรุนแรงในการรุกรานของรัสเซียต่อยูเครน พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัสเซียยุติสงครามและถอนกำลังทหารออกจากดินแดนของยูเครนโดยเร็ว 
  • ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกเห็นพ้องถึงแนวทางการฟื้นตัวเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยให้เน้นการออกแบบการปฏิรูปโครงสร้างที่ครอบคลุม ยั่งยืน และเป็นมิตรกับนวัตกรรม รวมถึงการส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยสำหรับธุรกิจทุกประเภท

2. เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วย BCG (Bangkok Goals on Bio-Circular-Green (BCG) Economy)

เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วย BCG เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่ประเทศสมาชิกเอเปกร่วมลงนามรับรอง ซึ่งนับว่าเป็นเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนฉบับแรกของเอเปก โดยเน้นเป้าหมายหลัก 4 ประการ ได้แก่ 

  • การจัดการความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ ครอบคลุมทั้งปัญหาสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติธรรมชาติ โดยมุ่งเน้นการบรรเทาสาธารณภัยและการตั้งรับปรับตัว
  • การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนที่สอดรับกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม
  • การบริหารจัดการทรัพยากรให้ยั่งยืน โดยเน้นการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน รวมทั้งการปกป้องและฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวภาพ
  • บริหารจัดการการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดและจัดการของเสียอย่างยั่งยืน

ทั้งยังมีการระบุถึงกลไกที่ประเทศสมาชิกเอเปกจะสามารถร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายกรุงเทพฯ โดยเน้นถึงความสำคัญของการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน ไม่เชื่อมโยงธุรกิจกับการทำลายสิ่งแวดล้อม และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งจากทุกภาคส่วน นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัวเว็บไซต์ www.bangkokgoals.apec.org เพื่อรวบรวมแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและข้อริเริ่มของสมาชิกเอเปกให้เป็นฐานข้อมูลสำหรับผู้สนใจสืบค้น ศึกษา และประยุกต์ใช้ต่อไป

3. Green Meeting ไม่เน้นสร้างขยะ

วัสดุและอุปกรณ์สำหรับการประชุมเอเปกครั้งนี้ได้รับการออกแบบโดย เอสซีจี แพคเกจจิ้ง หรือ SCGP บริษัทด้านบรรจุภัณฑ์ของไทย ซึ่งเน้นการออกแบบด้วยแนวคิด Green Meeting เพื่อลดการเกิดขยะให้ได้น้อยที่สุด ดังจะเห็นได้จากการนำ ‘กระดาษรีไซเคิล’ มาออกแบบเป็นเก้าอี้และโต๊ะอย่างแข็งแรงและทนทาน และหลังจากใช้งานในการประชุมเสร็จแล้ว SCGP ยังรับกลับมารีไซเคิลเป็นวัตถุดิบผลิตชั้นหนังสือใหม่ ส่งมอบให้กับเด็ก ๆ ในโรงเรียนที่ขาดแคลนทั่วประเทศ

4. ความพยายามจะมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

การประชุมเอเปกครั้งนี้ ภาคประชาชนพยายามแสดงออกเพื่อเรียกร้องถึงการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนโยบายต่าง ๆ โดยนายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เสนอว่ารัฐบาลควรจัดสถานที่ให้ภาคประชาชนจัดการชุมนุมคู่ขนานได้เหมือนในต่างประเทศ เพื่อนำเสนอวาระของประชาชนที่แตกต่างจากรัฐบาลต่อผู้นำโลกที่มาเข้าร่วมการประชุมเอเปก ขณะที่ ‘กลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022’ ซึ่งนัดรวมตัวกันชุมนุม ณ ลานคนเมือง ได้เสนอข้อเรียกร้อง 3 เรื่อง โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องที่สำคัญคือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องยกเลิกนโยบาย BCG และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากนโยบายดังกล่าวเป็นการสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน และเอื้อประโยชน์กับนายทุนในประเทศ” 

นอกจากนี้ ‘ภาคสื่อสารมวลชน’ บางส่วนยังได้วิพากษ์วิจารณ์การประชุมเอเปกที่เกิดขึ้น อาทิ Way Magazine เผยแพร่บทความ “กระชากหน้ากาก APEC 2022วาระซ่อนเร้นเพื่อกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ยั่งยืน” โดยใจความสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า “วาระหลักของการประชุมเอเปกที่กรุงเทพฯ แม้จะพยายามกล่าวถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การรับมือกับเรื่องโลกร้อน การส่งเสริมบทบาทสตรี แต่ที่จริงแล้ว เป็นเพียงวาทะสวยหรูที่แอบซ่อนเป้าหมายหลักสำคัญ คือ การส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุนให้มากยิ่งขึ้น และลดทอนข้อจำกัดต่าง ๆ ทางการค้า แม้ว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนคนเล็กคนน้อย”

ความเคลื่อนไหวจากภาคส่วนต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะ ‘เสนอ’ และ ‘ตรวจทาน’ นโยบายและความมุ่งหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งการเปิดกว้างและรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคส่วนที่หลากหลายเป็นประโยชน์อย่างมากในการออกแบบและยกระดับนโยบายการพัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง และก้าวไปไกลกว่า “การฟอก SDGs” หรือการฟอกอื่น ๆ ตามที่ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์   

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APEC 2022 หวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตของโควิด-19 พร้อมนำเสนอแนวคิด ‘โมเดลเศรษฐกิจ BCG’
SDG Updates | เมื่อโลกต้องการโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ไทยจึงมี ‘BCG’ (Bio-Circular-Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติปี 2564
7 ข้อเรียกร้องจาก‘สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ’ ถึง รมว.ทรัพยากรฯ หวังนำเรื่องเข้าที่ประชุมเอเปคป่าไม้
SDG Updates | สรุปเสวนา หรือ SDGs กำลังโดนฟอก? ทำอย่างไรให้ข้ามพ้นความยั่งยืนปลอม – From SDG Washing to SDG Enabling

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะไม่เชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนโดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม 
– (9.1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ยั่งยืนและมีความแข็งแรง ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคและพื้นที่เขตแดน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ โดยมุ่งเป้าให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมในราคาที่สามารถจ่ายได้
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (11.a) สนับสุนนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท โดยการเสริมความแข็งแกร่งของการวางแผนการพัฒนาในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573
– (12.5) ภายในปี 2573 จะต้องลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดการแปรรูป เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำกลับมาใช้ซ้ำ
– (12.6) สนับสนุนให้บริษัท โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนลงวงจรการรายงานของบริษัทเหล่านั้น
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.9) เพิ่มพูนการสนับสนุนระหว่างประเทศสำหรับการดำเนินการด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถที่มีประสิทธิผลและมีการตั้งเป้าในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสนับสนุนแผนระดับชาติที่จะดำเนินงานในทุกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงผ่านทางความร่วมมือแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี
– (17.13) เพิ่มพูนเสถียรภาพเศรษฐกิจมหาภาคของโลก โดยรวมถึงผ่านทางการประสานงานนโยบายและความสอดคล้องเชิงนโยบาย
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

แหล่งที่มา:
สรุป 4 เป้าหมาย 4 แนวทาง ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG’ (The Reporter)
สรุปประชุมผู้นำ APEC 2022 สำเร็จแค่ไหน อะไรคือผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม? (The Standard) 
จบวาระประชุม แต่ไม่เป็นภาระโลก: เบื้องหลัง APEC 2022 กับการเป็น Green Meeting ที่ไร้ซึ่งขยะ (The Matter)
ขอพื้นที่ให้ประชาชน! เปิดเวทีประชุมคู่ขนาน APEC 2022 (ไทยโพสต์)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น