Site icon SDG Move

‘โรงงานต้นแบบแปรรูปสมุนไพร’ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดย่อม มีกระบวนการอย่างไร? ชวนหาคำตอบจากงานวิจัยของ ‘รศ.ดร.กิตติพงศ์ ไชยนอก’

ชวนอ่านงานวิจัย “กิจกรรมการส่งเสริม พัฒนา โรงงานต้นแบบแปรรูปสมุนไพร (Support Center Model) ภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพ SMEs สมุนไพรเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2560 ประเด็นเมืองสมุนไพร” โดย รศ.ดร.กิตติพงศ์ ไชยนอก คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินงานผ่านสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)

อุตสาหกรรมสมุนไพรเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ และสามารถสร้างความยั่งยืนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งที่เป็นอุตสาหกรรมเดิม (first S-Curve) และเป็นอุตสาหกรรมที่ถูกคาดการณ์ว่าจะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (new engine of growth) โดยการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสินค้าและการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศอย่างยั่งยืน อีกทั้งปัจจุบันความต้องการใช้สมุนไพรในประเทศไทยและทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์และสารสกัดสมุนไพร จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้ประกอบการไทย ให้ความสนใจและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรมากยิ่งขึ้น

แต่ทว่าการบริหารจัดการอุตสาหกรรมสมุนไพรของประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่มีระบบที่ชัดเจน วัตถุดิบไม่เพียงพอต่อการผลิตเชิงอุตสาหกรรม คุณภาพวัตถุดิบไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงปัญหาด้านการจัดการห่วงโซ่อุปทานและโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ผู้ประกอบการด้านสมุนไพรส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีความสามารถในการแข่งขันน้อย หากพิจารณาจากสัดส่วนของโรงงานที่ผ่านการรับรองมาตรฐานมีเพียง 4.47% เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการด้านสมุนไพรในประเทศไทยจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมให้ได้การรับรองมาตรฐาน รวมถึงช่วยเหลือด้านเงินทุนเพื่อให้เกิดศักยภาพตามที่กำหนด จึงเป็นที่มาในการศึกษาวิจัยของ รศ.ดร.กิตติพงศ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมสมุนไพร ด้วยมาตรฐานการผลิต เทคโนโลยี และกระบวนการผลิตหรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่อุตสาหกรรมสมุนไพรในภาพรวม สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ เป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม และเป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

สำหรับการดำเนินโครงการในครั้งนี้ มีกลุ่มเป้าหมายคือ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน บุคลากรที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตสมุนไพรแปรรูป กระชายดำ ขมิ้นชัน บัวบก และไพล โดย รศ.ดร.กิตติพงศ์ ได้กำหนดพื้นที่ศึกษานำร่อง จำนวน 2 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดเชียงราย ซึ่งทั้ง 2 จังหวัดมีเครือข่ายสมุนไพรที่เข้มแข็ง โดยมีกระบวนการดำเนินงานดังนี้

  1. ทีมที่ปรึกษาโครงการให้กลุ่มเครือข่ายสมุนไพรคัดเลือกและเสนอพื้นที่ที่จะพัฒนาเป็นโรงงานต้นแบบ
  2. ทำการสำรวจ ศึกษา และคัดเลือกพื้นที่ รวมทั้งวินิจฉัยความพร้อมของสถานประกอบการ ทั้งในแง่ของสถานที่และบุคลากร เพื่อส่งเสริมและพัฒนาเป็นโรงงานต้นแบบแปรรูปสมุนไพร
  3. จัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิตสารวัตถุดิบตั้งต้น และสารสกัดสมุนไพร ที่เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละพื้นที่
  4. ให้คำปรึกษาแนะนำแก่กลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการเกี่ยวกับ
    • การจัดวางระบบการผลิตให้ถูกต้องตามมาตรฐานสากล เช่น GMP, ISO เป็นต้น
    • การออกแบบวางแปลน (plan layout) ของโรงงานต้นฉบับ พร้อมกับจัดวางเครื่อจักร อุปกรณ์ในการผลิต และระบบการขนส่งในโรงงาน
    • จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การใช้เครื่องจักรและการบำรุงรักษา วิธีการใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัย
    • จัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ การขอขึ้นทะเบียนอาหารและยา (อย.) และการจัดทำระบบมาตรฐาน GMP
    • การเขียนแผนธุรกิจ (business plan) ที่เหมาะสมกับความต้องการของกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการ เพื่อให้เกิดตัวอย่างแผนธุรกิจสำหรับโรงงานต้นแบบแปรรูปสมุนไพร

นอกจากนี้ ยังนำกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการไปศึกษาดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกกับผู้เชี่ยวชาญด้านการแปรรูปสมุนไพร จำนวน 2 แห่ง คือ 1) โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด สาขาลำพูน และ 2) ลำปางรักษ์สมุนไพร จังหวัดลำปาง

ผลจากการดำเนินกิจกรรมทั้งหมดตลอดโครงการ พบว่า กลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการได้รับเครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ใช้แปรรูปสมุนไพรเบื้องต้นในโรงงานต้นแบบ พร้อมทั้งความรู้เกี่ยวกับการใช้งาน การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ที่ทำให้สามารถพัฒนาไปสู่การขอขึ้นทะเบียนอาหารและยา (อย.) และการจัดทำระบบมาตรฐาน GMP ต่อไปได้ นอกจากนี้ กลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการมีความกระตือรือร้น และมีความสามัคคีกันมากยิ่งขึ้น โดยมีการวางแผนร่วมกันเพื่อใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ได้รับจากโครงการนี้ และมีความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้การรับรองมาตรฐานอาหาร ตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต่อไป

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ธีมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.3) เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรและรายได้ของผู้ผลิตอาหารรายเล็ก โดยเฉพาะผู้หญิง คนพื้นเมือง เกษตรกรแบบ ครอบครัว คนเลี้ยงปศุสัตว์ ชาวประมง ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยรวมถึงการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากร และปัจจัยนำเข้าในการผลิต ความรู้ บริการทางการเงิน ตลาด และโอกาส สำหรับการเพิ่มมูลค่าและการจ้างงานนอกฟาร์มอย่างปลอดภัยและเท่าเทียม ภายในปี 2573
– (2.a) เพิ่มการลงทุนตลอดจนการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานในชนบท การวิจัยเกษตรและการขยายการบริการ การพัฒนาเทคโนโลยี และการท่าธนาคารยีนของพืชและสัตว์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตรในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.2) บรรลุการมีผลิตภาพทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้นผ่านการทำให้หลากหลาย การยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการมุ่งเน้นในภาคส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและใช้แรงงานเข้มข้น
– (8.3) ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีผลิตภาพ การสร้างงานที่สมควรความเป็นผู้ประกอบการ ความสร้างสรรค์และนวัตกรรม และส่งเสริมการเกิดและการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อยขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งรวมถึงผ่านทางการเข้าถึงบริการทางการเงิน
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม เเละอุตสาหกรรม
– (9.3) เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินโดยรวมถึงเครดิตในราคาที่สามารถจ่ายได้ให้แก่อุตสาหกรรมและวิสาหกิจขนาดเล็กโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาและให้เพิ่มการผนวกกลุ่มเหล่านี้ เข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าและตลาด
– (9.a) อำนวยความสะดวกการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและทนทานในประเทศกำลังพัฒนาผ่านทางการยกระดับการสนับสนุนทางการเงิน เทคโนโลยีและด้านวิชาการให้แก่ประเทศในแอฟริกา ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก
– (9.b) สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรมภายในประเทศในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการทำให้เกิดความมั่นใจว่ามีนโยบายสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการนำไปสู่ความหลากหลายของอุตสาหกรรมและการเพิ่มมูลค่าของสินค้า
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.a) สนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการเสริมความแข็งแกร่งของขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนไปสู่รูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นของผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น

Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Author

  • Manager of Knowledge Communications | "The good life is a process, not a state of being. It is a direction not a destination." − Carl R. Rogers

Exit mobile version