จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่ 21 – 28 พฤศจิกายน 2565 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้
กระทรวงทรัพฯ เดินหน้าจัดตั้ง ‘กรม Climate Change’ หวังขับเคลื่อนนโยบาย
แก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เผยในที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 2/2565 ณ ห้องประชุม ชั้น 17 อาคารกระทรวงฯ และผ่านระบบ VDO Conference ถึงการปรับปรุงส่วนราชการเพื่อแบ่งให้มี ‘กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม’ โดยระบุว่าการจัดตั้งกรมดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเดินหน้าแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ขณะที่ ที่ประชุมก็มีมติเห็นชอบคำชี้แจงประกอบการจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยขั้นต่อไปจะเป็นการนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) ในวันที่ 7 ธันวาคม 2565 เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
ด้านภาคประชาชนเสียงแตกเป็นสองฝ่ายคือเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งกรมใหม่ขึ้นมา ผู้ที่เห็นด้วยให้ความเห็นว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ การจัดตั้งกรมโดยเฉพาะมาจัดการจึงเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่งเพื่อช่วยให้แก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนผู้ที่คัดค้านการจัดตั้งกรมดังกล่าวแสดงความกังวลว่าการจัดตั้งกรมใหม่จะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณโดยไม่จำเป็น ทางออกที่ดีคือควรมอบหมายให้กรมที่มีอยู่เดิมแล้วดำเนินการ ความเคลื่อนไหวนี้เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDG 13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
เข้าถึงได้ที่นี่: “วราวุธ” เคาะเตรียมเสนอกรมใหม่ (Environman)
‘คาร์บอม’ แฟลตตำรวจนราธิวาส สะเทือนสันติภาพชายแดนใต้
วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 เกิดเหตุคาร์บอมโจมตีแฟลตของสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ส่งผลให้ตำรวจเสียชีวิต 1 นาย และมีผู้บาดเจ็บกว่า 36 ราย ในจำนวนดังกล่าวบาดเจ็บสาหัส 2 ราย ขณะที่ทรัพย์สินโดยรอบก็ได้รับความเสียหาอย่างมาก โดยรถยนต์ส่วนตัวของตำรวจได้รับความเสียหายกว่า 10 คัน และอาคารแฟลตดังกล่าวก็ได้รับความเสียหายจากแรงระเบิดเช่นกัน นอกจากความเสียหายทางกายภาพแล้ว เหตุการณ์รุนแรงครั้งนี้จะกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้คนในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสไม่น้อย โดยเฉพาะนักเรียนของโรงเรียนนราสิกขาลัย ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับสถานีตำรวจดังกล่าว
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติซึ่งเดินทางไปสำรวจในที่เกิดเหตุเปิดเผยว่า “คนร้ายที่ก่อเหตุน่าจะมีการมาสำรวจก่อน พร้อมทั้งแต่งกายคล้ายเจ้าหน้าที่จึงไม่มีใครสงสัย ซึ่งเหตุที่เกิดขึ้นถือเป็นบทเรียน เรามาตั้งมาตรการป้องกัน เฝ้าระวังไม่ให้เกิดขึ้นมาซ้ำ” ขณะที่ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้ความเห็นว่า “กลุ่มผู้ก่อเหตุมีเจตนาชัดเจนที่จะ “ยกระดับเหตุการณ์ให้รุนแรงขึ้น” เพื่อเป็นการโจมตีเชิงสัญลักษณ์ ตอบโต้ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ ในห้วงเวลาที่การเจรจาสันติภาพยังไม่มีผลเป็นรูปธรรม และไม่มีความคืบหน้า” ประเด็นดังกล่าวส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
เข้าถึงได้ที่นี่: คาร์บอมบ์ลูกที่ 2 ในปี 65 โจมตีแฟลตตำรวจในนราธิวาส เชื่อจงใจ “ยกระดับความรุนแรง” (BBC News ไทย)
นิวซีแลนด์เตรียมลดเพดานอายุผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไปเป็น 16 ปี หวังขจัดการเลือกปฏิบัติ
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ศาลสูงของประเทศนิวซีแลนด์ตัดสินว่าการกำหนดอายุผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไว้ที่อายุ 18 ปี นั้นถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และไม่สอดคล้องกับบัญญัติเเห่งสิทธิ (Bill of Rights) ของประเทศ พร้อมชี้ว่ารัฐสภาควรหารือเพื่อลดอายุของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมาที่ 16 ปี ตามข้อเรียกร้องของกลุ่ม “เมก อิด 16” (Make It 16) ซึ่งเป็นผู้ยื่นให้ศาลพิจารณาเกี่ยวกับคดีดังกล่าว ขณะที่นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ จาซินดา อาร์เดิร์น สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงข้างต้น โดยกล่าวว่า “ดิฉันโดยส่วนตัวสนับสนุนการลดอายุในการเลือกตั้ง แต่ไม่มีเรื่องง่ายสำหรับดิฉันหรือแม้แต่รัฐบาล การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในกฎหมายเลือกตั้งของประเด็นนี้ต้องมีเสียงสนับสนุนร้อยละ 75 ของสมาชิกรัฐสภา” หากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้สำเร็จจะทำให้นิวซีแลนด์เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ลดเพดานอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงไปต่ำสุด ร่วมกับบางประเทศ อาทิ อาเจนตินา ออสเตรเลีย และบราซิล เป็นต้น ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับ SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.3 ขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม และมีส่วนร่วม
เข้าถึงได้ที่นี่: ศาลสูงสุด นิวซีแลนด์ ชี้ กำหนดอายุมีสิทธิ์เลือกตั้งที่ 18 ปี เป็นการ “เลือกปฏิบัติ” (ข่าวสดออนไลน์)
UN Global Compact เผยแพร่คู่มือแนะนำฉบับใหม่เพื่อการเปลี่ยนผ่านที่ธรรม
สำหรับการปรับตัวต่อ Climate Change
UN Global Compact เผยแพร่คู่มือแนะนำทางธุรกิจเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมสำหรับการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจในการลดความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศต่อคนทุกภาคส่วน โดยสรุป ข้อแนะนำที่สำคัญมีทั้งสิ้น 7 ประการ ประกอบด้วย 1) การผนวกรวมเป้าประสงค์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจผ่านการเจรจาทางสังคม 2) การประสานความร่วมมือที่ครอบคลุมถึงคู่แข่งทางการค้า 3) ปรับปรุงการรวบรวมและแบ่งปันข้อมูล 4) เสริมสร้างการตั้งรับปรับตัวของห่วงโซ่อุปทาน 5) จัดหาเงินทุนสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่ยุติธรรมและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 6) ร่วมมือกับรัฐบาลระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคเพื่อกำหนดกลยุทธ์การปรับตัวที่ก้าวหน้าไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม และ 7) เรียกร้องให้มีการแบ่งความรับผิดชอบที่ชัดเจนสำหรับการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมและยังสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ประเด็นดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับ SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ และเป้าหมายย่อยที่ 13.b ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผล
เข้าถึงได้ที่นี่: UN Global Compact launches new business guidance on a Just Transition for Climate Adaptation (SEI)
ผู้นำในสหรัฐฯ ร่วมประชุมหารือแนวทางขับเคลื่อนความก้าวหน้าของการบรรลุ SDGs
ผู้นำสหรัฐฯ รวมตัวกันที่นครนิวยอร์กที่ศูนย์มูลนิธิฟอร์ดเพื่อความยุติธรรมทางสังคม (Ford Foundation Center for Social Justice) ประจำปีครั้งที่ 4 สำหรับผู้นำอเมริกันในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจัดโดยศูนย์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สถาบันบรูกกิงส์ (Center for Sustainable Development at the Brookings Institution) และสถาบัน มูลนิธิสหประชาชาติ (United Nations Foundation) โดยการประชุมจัดขึ้นนอกรอบและข้างเคียงกับการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติครั้งที่ 77
ประเด็นสำคัญของการประชุมมุ่งเน้นไปที่ความร่วมมือและสร้างข้อผูกพันร่วมกันในเรื่องสำคัญอย่างน้อยสามเรื่อง ประกอบด้วย การส่งเสริมความมุ่งมั่นและการดำเนินการจากทุกภาคส่วน การสร้างหลักประกันว่าชุมชนชายขอบจะไม่ถูกทอดทิ้งจากความก้าวหน้า และการยอมรับการมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาความท้าทายในปัจจุบัน ประเด็นดังกล่าวนี้เกี่ยวข้องกับ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมาย 17.14 ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 17.17 สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม
เข้าถึงได้ที่นี่: New commitments and partnerships to accelerate SDG progress in the United States (Brookings)
ปลอกแขนส่งเสริมความหลากหลายทางเพศกลายประเด็นร้อนฟุตบอลโลก 2022
การปฏิเสธความหลากหลายทางเพศขยับกลายเป็นประเด็นร้อนจากฟุตบอลโลก 2022 ขึ้นอีกครั้ง หลังจากสมาพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่าปฏิเสธแคมเปญ “OneLove” ซึ่งเป็นแคมเปญที่ทีมฟุตบอลบางประเทศ โดยเฉพาะทีมจากยุโรป ใช้เพื่อแสดงออกถึงการสนับสนุนความเท่าเทียมและหลากหลายทางเพศ โดยมีการคาดการณ์ว่าท่าทีดังกล่าวของฟีฟ่านั้นเป็นไปเพื่อตอบสนองและสร้างความความสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ทางสังคมของประเทศเจ้าภาพอย่างการ์ตาที่ปฏิเสธการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ
โดยกัปตันทีมจาก 7 ชาติยุโรปที่แข่งขันฟุตบอลโลก ได้แก่ อังกฤษ เวลส์ เยอรมนี เดนมาร์ก เบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ ได้ประกาศที่จะใช้ปลอกแขนสีรุ้ง ซึ่งหมายถึงการสนับสนุนความหลากหลายและการไม่แบ่งแยก แต่หลังจากนั้น ฟีฟ่าเตือนว่าจะออกใบเหลืองให้กับผู้เล่นที่สวมปลอกแขนดังกล่าว การต่อสู้ทางอุดมการณ์ยังคงเกิดขึ้นอีกครั้งในเกมแรกของทีมชาติเยอรมนี โดยผู้เล่นของทีมเยอรมนีได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการทำท่าปิดปากเพื่อสะท้อนถึงการปิดกั้นเสรีภาพของฟีฟ่า ประเด็นดังนี้เกี่ยวข้องกับ SDG5 และ SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.3 ขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ
เข้าถึงได้ที่นี่: ‘We are very frustrated’: World Cup teams in Qatar ax pro-LGBTQ armbands after FIFA threat (CNBC)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย
Last Updated on พฤศจิกายน 28, 2022