ปิดฉากลงแล้วสำหรับเวทีการประชุมสำคัญที่ติดตามความเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ‘COP27’ หรือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) ครั้งที่ 27 จัดขึ้น ณ เมืองชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์ ระหว่างวันที่ 6-18 พฤศจิกายน 2565 การประชุม COP27 ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกว่า 35,000 คน รวมถึงตัวแทนรัฐบาล ผู้สังเกตการณ์ และภาคประชาสังคม หลังประชุมอย่างตึงเครียดมาร่วมเกือบสองสัปดาห์เพื่อหารือแนวทางเรียกร้องให้ทั่วโลกร่วมมือกันอย่างจริงจังในการลดการแพร่กระจายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งการประชุมครั้งนี้มุ่งประเด็นข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนเพื่อชดเชย “ความสูญเสียและเสียหาย” (Loss and Damage) ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น
สาระสำคัญที่สรุปได้จากการประชุม COP27 มีรายละเอียด ดังนี้
- เน้นย้ำถึงการทำตามคำสัญญารัฐภาคีให้ไว้เมื่อ COP26 ว่าต้องระดมเงินทุน 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อสนับสนุนกลุ่มประเทศยากจนในการปรับตัวและเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และเพิ่มกองทุนเพื่อการปรับตัวเป็นสองเท่าภายในปี 2568
- เน้นย้ำเป้าหมายของข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศกลาสโกว์ (Glasgow Climate Pact) เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในมาตรการลดการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินและเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นต้นตอของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาแต่ละปี แต่กระนั่น ก็ไม่ได้มีการเรียกร้องให้หยุดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดตามคำเรียกร้องของประเทศอินเดียและสหภาพยุโรป
- กลุ่มประเทศเล็กที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาทิ ประเทศคิริบาตี รวันดา มาลาวี กาบูเวร์ดี ซูรินามี บาร์เบโดส และปาเลา เรียกร้องให้เพิ่มเงินทุนสำหรับชดเชยจากความสูญเสียและเสียหาย ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากสหประชาชาติ ในการเรียกร้องให้มีการสร้าง “ข้อตกลงความเป็นปึกแผ่นด้านสภาพอากาศ” ฉบับใหม่ ซึ่งประเทศร่ำรวย จะต้องช่วยสนับสนุนประเทศยากจนด้านการเงิน เพราะสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าประเทศร่ำรวย แต่กลับได้รับผลกระทบอย่างหนัก
- เน้นย้ำถึงความพยายามในทุกระดับเพื่อบรรลุเป้าหมายการรักษาอุณหภูมิทั่วโลกตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ไม่ให้สูงขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบยุคอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ภายในปี 2643
อย่างไรก็ดี การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นไปที่การเรียกร้องจัดตั้งกองทุนในการชดเชยความสูญเสียและเสียหาย นับเป็นการต่อสู้ทางการทูต สำหรับหมู่เกาะเล็ก ๆ และประเทศเปราะบางอื่น ๆ ในการเอาชนะกับ 27 ชาติในสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่ผ่านมาแนวทางนี้ถูกต่อต้านจากประเทศร่ำรวยหลายประเทศ การเกิดขึ้นของกองทุนดังกล่าว เป็นผลมาจากฐานคิดที่ว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงต่างเคยทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงควรมีส่วนรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านมาในอดีต ท้ายที่สุดประเด็นดังกล่าวยุติลงได้ด้วยการตั้งข้อตกลงที่เรียกร้องให้เงินทุนที่ชดเชยมาจากแหล่งกองทุนที่มีอยู่อย่างหลากหลาย รวมถึงสถาบันการเงิน แทนที่จะพึ่งพาประเทศที่ร่ำรวยเท่านั้น อย่างไรก็ดี คาดว่าคงต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะก่อตั้งกองทุนได้สำเร็จ เพราะแม้จะมีการกำหนดจัดตั้งกองทุน แต่พบว่ายังขาดการระบุรายละเอียดที่ชัดเจน
นอกจากนี้ ยังมีไฮไลท์ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในการประชุมสุดยอด COP27 อื่น ๆ อาทิ
- เปิดตัวรายงานฉบับแรกของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระดับสูงเกี่ยวกับความมุ่งมั่นในการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ของหน่วยงานที่ไม่ใช่ของรัฐ หรือ “High-Level Expert Group on the Net-Zero Emissions Commitments of Non-State Entities” ซึ่งเนื้อหาสาระได้โจมตีถึง “Greenwashing” ที่สร้างความเข้าใจผิดให้แก่ประชาชนว่าบริษัทหรือหน่วยงานหนึ่งกำลังดำเนินการเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เป็นอยู่
- สหประชาชาติได้ประกาศ “แผนระบบเตือนภัยล่วงหน้าทั่วโลก” มูลค่า 3.1 พันล้านดอลลาร์ ระหว่างปี 2566 ถึง 2570 หลังพบว่าประชากรในแอฟริกา เอเชียใต้ อเมริกาใต้ และอเมริกากลาง รวมถึงผู้อาศัยอยู่ในหมู่เกาะขนาดเล็ก มีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตจากภัยพิบัติทางภูมิอากาศมากถึง 15 เท่า
- Al Gore อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐและนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศ ได้รับการสนับสนุนจากเลขาธิการสหประชาชาติ (UN Secretary-General) นำเสนอบัญชีรายการอิสระใหม่ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จัดทำโดย Climate TRACE Coalition ซึ่งรวมข้อมูลดาวเทียมและปัญญาประดิษฐ์เพื่อแสดงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับโรงงานกว่า 70,000 แห่งทั่วโลก
- ประธานาธิบดีอียิปต์ ได้นำเสนอแผนแม่บทเพื่อเร่งการลดคาร์บอนจาก 5 ภาคส่วนหลัก ได้แก่ ภาคพลังงาน การขนส่งทางถนน เหล็ก ไฮโดรเจน และการเกษตร
- ผู้นำอียิปต์ประกาศเปิดตัวโครงการริเริ่มด้านอาหารและการเกษตรเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน (Food and Agriculture for Sustainable Transformation initiative : FAST) เพื่อปรับปรุงปริมาณและคุณภาพของการสนับสนุนทางการเงินด้านสภาพอากาศเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการเกษตรและอาหารภายในปี 2573
ยังคงเป็นเรื่องที่น่าติดตามต่อไปว่าความพยายามเพื่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการจัดตั้งกองทุน พร้อมสนับสนุนเงินทุนช่วยเหลือให้แก่กลุ่มประเทศต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลังจากการประชุม COP27 ลุล่วงไปแล้วจะมีการดำเนินการที่แสดงถึงการบรรลุผลให้สำเร็จตามที่ได้วางไว้ต่อไปเช่นไร
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุดออกเอกสารแสดงจุดยืนเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและชดเชยทางการเงินให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบ
– ‘Glasgow Climate Pact’ ข้อตกลงจากการประชุม COP26 ที่ยังคงเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลก ‘1.5°C’ แต่ล้มเหลว ‘ยุติการใช้ถ่านหิน’
– COP26 – “โอกาสสุดท้าย” รักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นถึง 1.5 °C และ 4 หัวข้อหลักที่จะอภิปรายในการประชุม COP26
– ภาษาว่าด้วย COP26: 13 คีย์เวิร์ดใช้ทำความเข้าใจบทสนทนาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– SDG Insights | มองไปข้างหน้าหลังการประชุม COP26: จุดเปลี่ยนหรือจุดจบของการต่อสู้กับ Climate Change?
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.a) ดำเนินการให้เกิดผลตามพันธกรณีที่ผูกมัดต่อประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีเป้าหมายร่วมกันระดมทุนจากทุกแหล่งให้ได้จำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2563 เพื่อจะแก้ปัญหาความจำเป็นของประเทศกำลังพัฒนาในบริบทของการดำเนินการด้านการบรรเทาที่ชัดเจนและมีความโปร่งใสในการดำเนินงานและทำให้กองทุน Green Climate Fund ดำเนินการอย่างเต็มที่โดยเร็วที่สุดผ่านการให้ทุน
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา
– (17.9) เพิ่มพูนการสนับสนุนระหว่างประเทศสำหรับการดำเนินการด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถที่มีประสิทธิผลและมีการตั้งเป้าในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสนับสนุนแผนระดับชาติที่จะดำเนินงานในทุกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงผ่านทางความร่วมมือแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
แหล่งที่มา:
– สรุปสาระการประชุม COP27 กระแสเงียบแต่ความสำคัญห้ามมองข้าม! : PPTVHD36
– COP27 delivers climate fund breakthrough at cost of progress on emissions | Reuters
– COP27 closes with deal on loss and damage: ‘A step towards justice’, says UN chief | UN News
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย