ปัญหาสุขภาพช่องปากเป็นอีกหนึ่งโรคที่ไม่อาจละเลยได้ด้านสาธารณสุข ภาครัฐจำเป็นต้องให้ความดูแล เนื่องจากสร้างความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจและบั่นทอนมิให้เกิดสุขภาวะที่ดีของประชาชน โดยโรคในช่องปากที่พบเป็นจำนวนมาก คือ ‘โรคฟันผุ’ ซึ่งจากการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติ ปี 2560 พบว่า ปัญหาโรคฟันผุในเด็กปฐมวัยสูงมาก ซึ่งเด็กอายุ 3 ปี มีฟันผุเฉลี่ยร้อยละ 53 แม้ว่าที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข ได้มีการกำหนดนโยบายและโครงการมากมาย เพื่อสนับสนุนการรักษาตั้งแต่นโยบายระดับต้นน้ำ คือ งดใส่น้ำตาลในนมสำหรับทารก จนถึงนโยบายระดับปลายน้ำ อาทิ การสนับสนุนและส่งเสริมการแปรงฟันด้วยยาสีฟันฟลูออไรด์ เป็นต้น เพื่อให้มีกลไกดูแลอย่างเป็นระบบในทุกระดับในการจัดการฟันผุอย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยปัญหาข้างต้น รายงานวิจัยฉบับนี้ จึงมุ่งหมาย เพื่อสนับสนุนการศึกษาโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย (Early Childhood Caries : ECC) และแบ่งปันการจัดการเชิงกลยุทธ์ ซึ่งเป็นการศึกษาการจัดการเชิงกลยุทธ์สำหรับโรคฟันผุในเด็กปฐมวัยในประเทศไทย ผ่านการวิเคราะห์ในภาพรวม งานวิจัยเรื่อง “Strategic Management of Early Childhood Caries in Thailand: A Critical Overview” โดย ผศ.ดร.ทพญ.ธัญญา สิทธิเสฏฐพงศ์ ผศ.ดร.ทพญ.ปริญดา ทัศณรงค์ และ รศ.ทพ.ประทีป พันธุมวิช คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้ แม้มีความคุ้มครองด้านสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage: UHC) ฟรีมากว่าสองทศวรรษ และมีการดูแลสุขภาพช่องปาก (oral health) ของประชาชน แต่กลับพบว่ามีเด็กจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงการดูแลสุขภาพช่องปาก
เช่นนั้นแล้ว เพื่อค้นหาว่า กลยุทธ์ใดที่จะช่วยจัดการโรคฟันผุ และมีแนวทางอย่างไรจะช่วยครอบคลุมการป้องกันโรคฟันผุในทุกระดับ ด้วยประเด็นดังกล่าว มีความสอดคล้องและเป็นองค์ความรู้ที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และเป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
ต้นทางของปัญหา ร่วมสำรวจสภาวะสุขภาพของ “โรคฟันผุในเด็กปฐมวัย” ของประเทศไทย
โรคฟันผุในเด็กปฐมวัย (ECC) เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย จากการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติ ปี 2560 พบว่า มีความชุกโรคฟันผุในเด็กปฐมวัยสูงมาก โดยเฉลี่ยมีฟันผุอยู่ที่ 3 ซี่ ร้อยละ 53 ของเด็กอายุ 3 ปี ตามรายงาน ได้ระบุว่าโรคฟันผุในเด็กปฐมวัยในประเทศไทย เริ่มพัฒนาจากรอยโรคฟันผุในระยะเริ่มต้น (initial carious lesion) หรือรอยโรคด่างขาว (white spot lesion) จนถึงเกิดเป็นโพรงฟันผุ ซึ่งพบในเด็กอายุน้อยที่สุด คือ 12 เดือน เนื่องจากเมื่อเกิดโพรงฟันผุในระยะเริ่มแรก หากควบคุมได้ไม่ดี ฟันที่ผุก็จะขยายโพรงที่ใหญ่ขึ้น และอาจนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น เกิดหนองฝี (abscess formation) และเกี่ยวกับพยาธิวิทยาช่องปาก (oral pathology) ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม จะเห็นชัดเจนว่าโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมและคุณภาพชีวิตของเด็กอีกด้วย ซึ่งมีปัจจัยสำคัญอาทิเรื่อง
- สถานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ต่ำของผู้ปกครอง/ผู้ดูแล
- มีความรู้ด้านการดูแลสุขภาพช่องปากที่น้อย
- การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ถูกตามผิดหลักอนามัย และ/หรือนิสัยการกินขวดนมในระยะยาว
จนถึงการค้นพบความจริงว่าประชากรในชนบท มองว่าโรคฟันผุในเด็กเป็นเรื่องปกติและถูกละเลย ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นสาเหตุที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่ก็ยังเกิดปัญหาฟันผุเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีเครือข่ายทันตสาธารณสุข และทันตแพทย์อยู่ทั่วทุกจังหวัด
ดังนั้น ปัจจุบันของโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย (ECC) ในประเทศไทย จึงเป็นปัญหาด้านสุขภาพที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่คนส่วนใหญ่อาจมองข้าม แต่แท้จริงแล้วเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยทันที
ฉายภาพรวมจาก “การสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติ” ของประเทศไทย
การสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศทุก 5 ปี เมื่อเทียบกับการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศปี 2560 กับครั้งก่อน ปี 2555 โรคฟันผุในเด็กปฐมวัย (ECC) หรือ ฟันผุในฟันน้ำนมค่อนข้างคงตัว และมีตัวเลขลดลงเพียงเล็กน้อยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (ตามภาพ) ซึ่งอาจเกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวมในประเทศ รวมถึงระบบการรักษาพยาบาล แต่อย่างไรก็ตาม ความชุกของฟันผุโดยรวมของโรคฟันผุในเด็กปฐมวัยในประเทศไทย ก็ยังคงสูงอย่างไม่อาจยอมรับได้เมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล
ข้อค้นพบจาก “ระบบการบริการสุขภาพในประเทศไทย” (Health Care Delivery Systems)
ประเทศไทย มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ Universal health coverage (UHC) เป็นหนึ่งในการสร้างความมั่นใจว่าคนไทยทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น ตั้งแต่ส่งเสริมสุขภาพ การป้องกัน การรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการดูแลแบบประคับประคองตลอดอายุขัย การดูแลสุขภาพช่องปากของคนไทย ได้รับการดูโดยสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ซึ่งการดูแลสุขภาพช่องปากส่วนใหญ่ให้บริการโดยทันตแพทย์และนักบำบัดโรคทางทันตกรรม หรือ (dental hygienist) ที่ทำงานในโรงพยาบาลของรัฐ 899 แห่ง และศูนย์สุขภาพเบื้องต้นในตำบล 9,769 แห่ง ภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจการใช้บริการทันตกรรมในปี 2558 พบว่าผู้ป่วยทันตกรรมไทยประมาณครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 46.2 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน 347 แห่ง และคลินิกทันตกรรมเอกชน 4,244 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร และเขตเมือง แม้ว่าการใช้บริการทันตกรรมในเขตเมืองจะสูงขึ้น แต่กลับยังพบความต้องการการรักษาทางทันตกรรมส่วนใหญ่ในพื้นที่ชนบท นั่นหมายความว่า มีความแตกต่างด้านการดูสุขภาพช่องปากระหว่างชาวเมืองและชาวชนบทในประเทศ
ปัญหาที่พบจากการการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากระดับประเทศปี 2560 สรุปได้ว่า
- เด็กก่อนวัยเรียน ในประเทศไทยมากกว่าครึ่งยังคงเป็นโรคฟันผุ และมีจำนวนน้อยมากที่ได้รับการรักษาทางทันตกรรม ซึ่งตัวเลขดังกล่าวทรงตัวมานานหลายทศวรรษโดยไม่มีการเพิ่มขึ้น
- การสำรวจต่าง ๆ ปี 2558 ระบุว่า มีเพียงร้อยละ 5.8 ของเด็กเล็กที่ได้รับการรักษาทางทันตกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มอายุสัดส่วนที่น้อยที่สุดในเข้าถึงบริการทันตกรรมปีนั้น
จากข้อมูลปัญหาระบบการรักษาพยาบาลของไทยที่เกิดขึ้นนั้น นับเป็นปัญหาที่ขัดขวางการเข้าถึงการรักษาทางทันตกรรมสำหรับเด็กกลุ่มอายุน้อย ดังนั้น กลยุทธ์การส่งเสริม การป้องกัน และการจัดการสุขภาพช่องปากของก่อนวัยเรียนในประเทศไทย จึงควรครอบคลุมทั้งครอบครัวและชุมชน นอกเหนือจากมาตรการของรัฐ
| บทบาทของครอบครัว
- เด็กและผู้ปกครอง มีปัญหาพฤติกรรมต่าง ๆ เช่น พฤติกรรมการแปรงฟันที่ผิด การนอนโดยให้นมจากขวดนานถึง 30 เดือน หรือ 2 ขวบครึ่ง และพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดี
- การทบทวนวรรณกรรม พบว่า ปัจจัยทางสังคมวิทยา เช่น รายได้ของครอบครัวต่ำ การศึกษาของผู้ปกครองในระดับต่ำ และอายุมารดาที่น้อย ส่งผลให้เกิดความชุกสูงของโรคฟันผุ
- การสำรวจระดับชาติปี 2560 ระบุว่าร้อยละ 86.8 ของเด็ก 3 ปี และร้อยละ 89.4 ของเด็ก 5 ปีแปรงฟันในตอนเช้า แต่มีเพียงร้อยละ 42.5 และ 14.4 เท่านั้นที่ได้รับการดูแลหรือช่วยเหลือจากผู้ปกครอง ซึ่งที่น่าสังเกต คือ พ่อแม่ของเด็กที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และเขตเมืองแปรงฟันให้ลูกบ่อยกว่าพ่อแม่ในชนบท
จากการข้อมูลข้างต้น นำมาสู่การดำเนินงานของทางการไทย ในการส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพช่องปากในครอบครัวผ่านการศึกษาของผู้ปกครอง ตลอดจนสร้างแรงจูงใจในการแปรงฟันตั้งแต่แรก สนับสนุนให้ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ ซึ่งช่วยป้องกันฟันผุ อันเป็นวิธีการดูแลที่ทำได้ตั้งแต่ในบ้านและคุ้มค่าที่สุดในการป้องกันโรคฟันผุในเด็กที่
| บทบาทของชุมชน
- การส่งเสริมการเข้ารับการตรวจทางทันตกรรมในโครงการสุขภาพชุมชน สนับสนุนการแปรงฟันตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งจัดขึ้นที่คลินิกสุขภาพเด็กดี (Well Baby Clinics: WBC) ในช่วงระหว่างการนัดฉีดวัคซีนแก่เด็ก
- ตรวจสุขภาพช่องปากระดับชุมชน อาทิ การประเมินความเสี่ยงฟันผุที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ทันตกรรม การฝึกอบรมมารดาในการตรวจหาคราบฟันขาวหรือเหลืองเสี่ยงฟันผุ ฝึกการแปรงฟันให้แก่เด็ก รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เหมาะสมสำหรับสุขภาพช่องปากของเด็ก
- อีกหนึ่งความคิดริเริ่ม จากบทบาทของชุมชนที่เรียกว่า “เครือข่ายไม่กินหวาน” ก่อตั้งขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิส่งเสริมสุขภาพและกลุ่มกุมารแพทย์ ทันตแพทย์ นักโภชนาการ และนักวิชาการอิสระในปี 2545 เพื่อลดโรคฟันผุ และโรคอ้วน ภายใต้เครือข่ายนี้ “โรงเรียนเด็กไทยไม่กินหวาน” ได้รับการส่งเสริมในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อัตราโรคฟันผุในเด็กอายุ 3 ปีนั้น มีตัวเลขที่ลดลง
นำมาสู่การตั้งคำถามว่า อะไรคือกลยุทธ์ในการปรับปรุงสุขภาพช่องปาก สุขภาพโดยทั่วไป และคุณภาพชีวิตของเด็กก่อนวัยเรียนทั่วประเทศ
กลยุทธ์ใน “การป้องกันโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย” (Early Childhood Caries: ECC) อย่างเป็นระบบในทุกระดับ
ตามคำปรึกษาของผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) เกี่ยวกับการแทรกแซงด้านสาธารณสุขกับโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย (ECC) ตามคำแนะนำสำหรับการส่งเสริมสุขภาพและการจัดการควรอยู่บนพื้นฐานของการป้องกันของชุมชน 3 ระดับ ได้แก่ การป้องกันระดับปฐมภูมิ (primary) ระดับทุติยภูมิ (secondary) และระดับตติยภูมิ (tertiary) สามารถสรุป ได้ดังนี้
- การป้องกันระดับปฐมภูมิ (primary prevention) การส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพเป็นรากฐานที่สำคัญของการป้องกันเบื้องต้น ซึ่งควรส่งเสริมเริ่มตั้งแต่เริ่มแรก คือ การให้ความรู้ชุมชนเกี่ยวกับความสำคัญของฟันน้ำนมและการแปรงฟันด้วยยาสีฟันฟลูออไรด์ที่มีประสิทธิภาพ
- การป้องกันระดับทุติยภูมิ (secondary prevention) เป็นการป้องกันโรคตั้งแต่ระยะแรกที่เริ่มแสดงอาการ เช่น การตรวจหารอยโรคฟันผุในเด็กปฐมวัยอยู่เสมอ จะสามารถให้บริการช่วยเหลือได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งการตรวจควรทำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านทันตกรรมหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี
- การป้องกันระดับตติยภูมิ (tertiary prevention) เป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนหรือความพิการจากโรคที่แสดงอาการชัดเจนแล้วและกำลังได้รับการรักษาอยู่ ซึ่งเป็นการมุ่งควบคุมการลุกลามของโรคและฟื้นฟูการทำงานของฟันด้วยวิธีอย่าง การบูรณะฟันด้วยวิธี Atraumatic Restorative Treatment (ART) เป็นการกำจัดฟันผุที่ติดเชื้อออกโดยไม่ใช้เครื่องกรอฟัน หยุดการลุกลามของฟันผุ ไม่จำเป็นต้องฉีดยาชาเฉพาะที่ ไม่มีความเจ็บปวด หรือ การบูรณะฟันด้านบดเคี้ยวและด้านประชิดด้วยวิธี Simplified Modified Atraumatic Restorative Technique (SMART) ซึ่งเป็นเทคนิคการบูรณะฟันที่ใช้เครื่องมือน้อยชิ้นในการกำจัดฟันผุ
ข้อเสนอแนะกลยุทธ์การจัดการ เมื่อ “สุขภาพช่องปาก” ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของ “ฟัน” เท่านั้น
ปลายทางสุดท้ายจากการศึกษางานวิจัย ผศ.ดร.ทพญ.ธัญญา สิทธิเสฏฐพงศ์ ผศ.ดร.ทพญ.ปริญดา ทัศณรงค์ และ รศ.ทพ.ประทีป พันธุมวิช คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อภิปรายเสนอแนะประเด็นทิ้งทายน่าสนใจหลายประการ อาทิ
- แม้ปัจจุบันทันตแพทย์จะไม่รวมอยู่ในทีม “อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน” แต่ในอนาคต ควรมีรวมทันตแพทย์ในฐานะสมาชิกของศูนย์รวมบริการด้านสุขภาพระหว่างวิชาชีพกับทีมสุขภาพ
- การแทรกแซงและการจัดการของโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย จำเป็นต้องดำเนินการด้วยการดูแลอย่างอ่อนโยน เพื่อให้ได้รับความไว้วางใจจากเด็ก ๆ
- ควรจำกัดการควบคุมโรคผ่านมาตรการป้องกัน และมาตรการที่ไม่ล่วงล้ำเข้าสู่ร่างกาย (non- invasive measures) ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวด ซึ่งการรักษา ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขแห่งประเทศไทยนำมาใช้ในปี 2561 ซึ่งแนวทางดังกล่าวประสบความสำเร็จในบราซิล และมีองค์ประกอบด้านการดูสุขภาพช่องปากคล้ายกับประเทศไทย
- การปรับปรุงความรู้ด้านสุขภาพช่องปากในประเทศ ควรเป็นเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญ จากสถิติมีเพียงร้อยละ 5.8 ของเด็กไทยที่ได้รับบริการด้านสุขภาพช่องปากทุกปี คาดว่าบริการด้านสุขภาพช่องปากเชิงรุกที่ศูนย์ดูแลเด็กในประเทศโดยทีมทันตกรรมหน่วยบริการดูแลปฐมภูมิ จะเพิ่มการใช้ประโยชน์ทางทันตกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ART/SMART มากขึ้น
กล่าวโดยสรุป กลยุทธ์การจัดการโรคฟันผุในเด็กปฐมวัย (ECC) ภาพรวมของประเทศไทย ได้มีการใช้หลักการประกันสุขภาพถ้วนหน้าเข้ามาดูแล ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยควบคุมโรคฟันผุในเด็กปฐมวัยเท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปสู่การปรับปรุงสุขภาพโดยรวมของเด็กอีกด้วย ซึ่งปัญหารคฟันผุในเด็กปฐมวัย อาจเป็นปัญหาที่หลายคนมองว่าเป็นเรื่องเล็ก จึงทำให้ถูกละเลยและขาดการดูแลมาตั้งแต่ต้นได้โดยง่าย เมื่อพิจารณาอีกครั้งปัญหาก็ได้ขยายตัวอย่างเป็นวงกว้างแล้ว ซึ่งงานวิจัยฉบับนี้ ของ ผศ.ดร.ทพญ.ธัญญา สิทธิเสฏฐพงศ์ ผศ.ดร.ทพญ.ปริญดา ทัศณรงค์ และ รศ.ทพ.ประทีป พันธุมวิช คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มาช่วยคลี่คลายประเด็นทางนโยบายสาธารณะที่หลายคนอาจมองข้าม เพราะสุขภาพเป็นเรื่องใกล้ตัว ปัญหาสุขภาพช่องปาก (oral health) จึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องของ “ฟัน” เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กโดยรวมอีกด้วย
งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) ธีมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย
งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.2) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนเข้าถึงการพัฒนา การดูแล และการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพ ภายในปี 2573 เพื่อให้เด็กเหล่านั้นมีความพร้อมสำหรับการศึกษาระดับประถมศึกษา
ข้อมูลงานวิจัย: Sitthisettapong, T., Tasanarong, P., Phantumvanit, P. (2021). Strategic Management of Early Childhood Caries in Thailand: A Critical Overview, Frontiers in Public Health, 9 (664541). 1-7. DOI: 10.3389/fpubh.2021.664541
ชื่อผู้วิจัย – สังกัด: ผศ.ดร.ทพญ.ธัญญา สิทธิเสฏฐพงศ์ ผศ.ดร.ทพญ.ปริญดา ทัศณรงค์ และ รศ.ทพ.ประทีป พันธุมวิช คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Research Brief แนะนำงานวิจัยเชิงลึกของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)
Last Updated on พฤศจิกายน 30, 2022