Site icon SDG Move

Introduction of Area Need | เราจะรู้ได้อย่างไรว่างานวิจัยที่มีอยู่ตอบโจทย์ความต้องการพื้นที่

แผนวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เป็นกระบวนการที่มีความสำคัญต่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์งานวิจัยของประเทศ เพราะเป็นแผนที่จะกำหนดยุทธศาสตร์ของการวิจัย อาจส่งผลต่อวิธีจัดสรรงบประมาณการวิจัยที่มีจำกัดให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศอย่างสูงที่สุด การจะจัดทำแผนวิจัยที่สอดคล้องกับเป้าหมาย ความต้องการ ความท้าทายที่แต่ละพื้นที่เผชิญอยู่จึงจำเป็นต้องทราบก่อนว่า “อะไรคือความต้องการของพื้นที่” 

Area Need คืออะไร?

โครงการจัดทำแผนบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน หรือ “Area Need” เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move)  และคณะทำงานระดับภาคทั้ง 6 ภาค (ภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง ตะวันออก ใต้ และใต้ชายแดน) จาก 8 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ มีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) 

เป้าหมายปลายทางของโครงการ คือ การที่เราสามารถระบุความต้องการและช่องว่างความรู้ในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างความรู้ใหม่มาอุดช่องว่างเหล่านั้น และสร้างเครือข่าย ที่เป็นกลไกทำงานของ ววน. กระตุ้นให้เกิดการใช้ความรู้ นำข้อมูล ข้อเสนอจากพื้นที่เข้าสู่กระบวนการตัดสินใจที่พื้นที่มีส่วนร่วม แบบล่างขึ้นบน (bottom up) อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้มีการนำกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไปใช้จริงในพื้นที่ (Localizing the SDGs)

วิธีศึกษา

กรอบแนวคิดในการศึกษาของปีที่ 1 นั้นอยู่บนฐานของแนวคิดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และกระบวนการมองอนาคต (Foresight) ซึ่งทั้ง 2 แนวคิดนั้นเน้นเรื่องของความครอบคลุม และการมีส่วนร่วม 


วิธีการศึกษา 4 ขั้นตอนหลัก ดังนี้ 
1. กวาดสัญญาณแนวราบ (Horizon Scaning) เป็นการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อเฟ้นหาสัญญาณและแนวโน้มของสิ่งที่จะเกิดขึ้น สำหรับโครงการนี้รวบรวมข้อมูลจาก 4 กลุ่ม ได้แก่ 

2. ทำการสำรวจเดลฟายแบบประยุกต์  (Adapted Delphi) เป็นวิธีการรวบรวมข้อมูลจากคณะผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและหาข้อสรุปในประเด็นคำถามที่ผู้วิจัยสนใจ โดยอาศัยความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญผ่านการใช้แบบสอบถามในการรวบรวมและสรุปความเห็นมากกว่า 1 รอบ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญในกรณีที่มีข้อขัดแย้งหรือข้อสงสัย ข้อดีของเทคนิคเดลฟายคือความคิดเห็น ของผู้เชี่ยวชาญแต่ละท่านจะไม่มีอิทธิพลต่อการตอบแบบสอบถามของผู้เชี่ยวชาญท่านอื่น ๆ ทว่าเนื่องจากอุปสรรคด้านเวลาและการระบาดของโควิด -19 ทำให้มีการทำแบบสอบถามเพียงแค่สองครั้งในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ กลาง และใต้ ในขณะที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ ได้มีปรับให้มีการจัดประชุมกลุ่มย่อยกับผู้เกี่ยวข้องหนึ่งครั้ง ตามด้วยการทำแบบสอบถามเพียงแค่ 1 ครั้ง งานวิจัยนี้จึงไม่สามารถทำตามกระบวนการเดลฟายได้อย่างเต็มรูปแบบ

Note: ผู้เชี่ยวชาญในโครงการนี้ มิได้เน้นเฉพาะผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการเท่านั้น แต่ครอบคลุมผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในภาคปฏิบัติด้วย โดยผู้เชี่ยวชาญในภาควิชาการนั้นจะพิจารณาจากผลงานและการยอมรับด้านผลงาน ของผู้คนในชุมชนวิชาการในมิตินั้น ๆ 

3. จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ Foresight ระดับภาค  เป็นเวทีที่ชวนผู้เชี่ยวชาญเข้ามาระบุภาพปลายทางที่อยากเห็น แนวทางการบรรลุ และร่วมกันวิเคราะห์ปัจจัยที่จำเป็นต่อการบรรลุ และเก็บข้อมูล เทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการบรรลุอนาคตที่อยากเห็นในอีก 5 ปี (พ.ศ. 2569) – ระบุภาพปลายทางที่อยากเห็นเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในอีก 5 ปีข้างหน้า (Goal Setting) – ภาพปลายทางดังกล่าวควรต้องชัดเจนที่สุด (จับต้องได้ – วัดได้ – สังเกตเห็นได้)

4. การวิเคราะห์ช่องว่างความรู้และระบบความรู้ ดำเนินการรวบรวม วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลความต้องการด้าน ววน. เชิงพื้นที่วิเคราะห์ ทิศทางยุทธศาสตร์การพัฒนาของพื้นที่ วิเคราะห์ช่องว่างความรู้ งานวิจัย การพัฒนานวัตกรรม เพื่อการจัดทำ แผนบูรณาการด้าน ววน. เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืนในภูมิภาคและกลุ่มจังหวัดที่รับผิดชอบ

ผลลัพธ์จากโครงการปีที่ 1

ความต้องการเชิงพื้นที่

การดำเนินการค้นหาความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคมระดับกลุ่มจังหวัดเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการจัดทำแผนบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน (Area-Need) โดยใช้กระบวนการเก็บข้อมูลผ่านการสอบถามความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ตามภูมิภาคต่าง ๆ จำนวน 2 รอบ โดยรอบแรกมีผู้เชี่ยวชาญทั่วประเทศให้ความเห็นผ่านแบบฟอร์มออนไลน์ทั้งสิ้น 472 คน และรอบที่สอง 557 คน

ประเด็นสำคัญและความต้องการระดับภาคที่ปรากฏในภาพรวมจากการเก็บข้อมูลความเห็นข้างต้น มี 4 ประการ ได้แก่
1. การใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป็นกรอบในการพิจารณาสถานการณ์ของพื้นที่และความต้องการทางสังคม ผนวกกับกระบวนการมองอนาคต (Foresight) ที่เลือกมาใช้ทำให้เห็นว่าในหลายพื้นที่ มีประเด็นความกังวลที่อาจสอดคล้องและไม่สอดคล้องกับประเด็นการพัฒนาของพื้นที่
2. แม้แต่ละภาคจะมีสัดส่วนของประเด็นที่ให้ความสำคัญแตกต่างกัน แต่ในภาพรวม มิติทั้งสังคม (ร้อยละ 26.7 จากประเด็นทั้งหมด) เศรษฐกิจ (ร้อยละ 30 จากประเด็นทั้งหมด) สิ่งแวดล้อม (ร้อยละ 30 จากประเด็นทั้งหมด) และสันติภาพ (ร้อยละ 13.3 จากประเด็นทั้งหมด) มีการกระจายตัวกันในลักษณะที่ค่อนข้างสมดุล
3. แม้มิติสันติภาพ ความสงบสุขของสังคม และสิทธิมนุษยชนจะเป็นประเด็นหลักสำคัญของภาคใต้ชายแดน แต่งานวิจัยนี้พบว่า มิติสันติภาพ ยังเป็นประเด็นที่ถูกให้ความสำคัญมากใน 4 จาก 6 ภาค ครอบคลุมประเด็นด้านธรรมาภิบาล ความรุนแรงและอาชญากรรม การเข้าถึงระบบยุติธรรม และเรื่องสิทธิมนุษยชน
4. ประเด็นที่สำคัญแต่ละประเด็นมิได้แยกขาดจากกัน แต่มีความเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ เช่น การถือครองที่ดินและสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ มีผลต่อการตัดสินใจว่าจะทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวหรือเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งส่งผลต่อปัญหาหมอกควัน PM 2.5 อีกต่อหนึ่ง

ทั้งนี้ หากพิจารณาความต้องการรายภาคจะพบว่าแต่ละภาคมีความต้องการที่ทั้งเหมือนและแตกต่างกัน ดังนี้

ภาคเหนือ: มีผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ร่วมให้ความเห็นรอบที่ 1 จำนวน 111 คน และรอบที่ 2 จำนวน 40 คน โดยได้ผลสรุปถึงประเด็นพัฒนาสำคัญและเร่งด่วนมากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับที่ 1 ปัญหาหมอกควัน อันดับที่ 2  ภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันดับที่ 3 ระบบการเกษตรไม่เอื้อต่อความมั่นคงทางอาหาร อันดับที่ 4  การถือครองที่ดิน และ อันดับที่ 5 ขาดระบบการจัดการร่วมในการพัฒนาพื้นที่ป่าและแก้ปัญหาไฟป่า

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: มีผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ร่วมให้ความเห็นรอบที่ 1 จำนวน 147 คน และรอบที่ 2 จำนวน 119 คน โดยได้ผลสรุปถึงประเด็นพัฒนาสำคัญและเร่งด่วน มากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับที่ 1 ปัญหาความยากจน อันดับที่ 2 ปัญหาความเหลื่อมล้ำ อันดับที่ 3 ปัญหาการพัฒนาคนของภาคอยู่ในระดับต่ำ อันดับที่ 4 ปัญหาภัยแล้งและคุณภาพของแหล่งน้ำในพื้นที่ และอันดับที่ 5 การจัดการขยะและของเสีย

ภาคกลาง: มีผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ร่วมให้ความเห็นรอบที่ 1 จำนวน 116 คน และรอบที่ 2 จำนวน 116 คน โดยได้ผลสรุปถึงประเด็นพัฒนาสำคัญและเร่งด่วนมากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับที่ 1 ความถดถอยและหดตัวของภาคการท่องเที่ยว อันดับที่ 2 การก่ออาชญากรรมและคดียาเสพติด อันดับที่ 3 ภาระหนี้สินของครัวเรือน อันดับที่ 4 เศรษฐกิจชะลอตัว และอันดับที่ 5 โรคอุบัติใหม่

ภาคตะวันออก: เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่ทำให้มีต้องมีการปรับเปลี่ยนการเก็บข้อมูล โดยมีการจัดประชุมกลุ่มย่อยกับผู้เกี่ยวข้องหนึ่งครั้ง ตามด้วยการทำแบบสอบถามเพียงแค่ 1 ครั้ง โดยในการทำแบบสอบถามมีผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ร่วมให้ความเห็นทั้งสิ้น 66 คนโดยได้ผลสรุปถึงประเด็นพัฒนาสำคัญและเร่งด่วนมากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับที่ 1 ปริมาณกากของเสียจากอุตสาหกรรม อันดับที่ 2 ปัญหาภัยแล้ง อันดับที่ 3 พื้นที่เกิดภัยแล้งและอุทกภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันดับที่ 4 ป่าชายเลนกำลังสูญหาย และอันดับที่ 5 ขยะทะเล

ภาคใต้: เนื่องจากข้อจำกัดของพื้นที่ทำให้มีต้องมีการปรับเปลี่ยนการเก็บข้อมูล โดยมีการจัดประชุมกลุ่มย่อยกับผู้เกี่ยวข้องหนึ่งครั้ง ตามด้วยการทำแบบสอบถามเพียงแค่ 1 ครั้ง โดยในการทำแบบสอบถามมีผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ร่วมให้ความเห็นทั้งสิ้น 93 คนโดยได้ผลสรุปถึงประเด็นพัฒนาสำคัญและเร่งด่วนมากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับที่ 1 ขยะและของเสียทุกชนิดเพิ่มขึ้น อันดับที่ 2 จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 อันดับที่ 3 สารเสพติดมีความรุนแรง อันดับที่ 4 ความยากจนมีแนวโน้มสูงขึ้น และอันดับที่ 5 ความสมบูรณ์ของลุ่มน้ำ ภูเขา ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำ และทะเลสาบมีแนวโน้มลดลง

ภาคใต้ชายแดน: มีผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ร่วมให้ความเห็นทั้งสิ้น 93  คน ซึ่งเป็นความเห็นในรอบที่ 2 ทั้งหมด เนื่องจากรอบที่ 1 มิได้มีการสำรวจด้วยจำกัดของพื้นที่ แต่อาศัยการจัดประชุมกลุ่มย่อยกับผู้เกี่ยวข้องแทน โดยได้ผลสรุปถึงประเด็นพัฒนาสำคัญและเร่งด่วนมากที่สุด 5 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับที่ 1 ปัญหายาเสพติด อันดับที่ 2 การขาดนิติธรรมและการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างไม่เท่าเทียม อันดับที่ 3 การขาดพื้นที่และการละเมิดสิทธิมนุษยชน อันดับที่ 4 การศึกษา และอันดับที่ 5 การค้าชายแดน (เศรษฐกิจชะงัก)

ความรู้ที่แต่ละพื้นที่ต้องการนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหา

จากการดำเนินการการศึกษาความต้องการของกลุ่มจังหวัด ทั้ง 6 ภาค ฉายภาพให้เห็นว่าแต่ละภาคค่อนข้างมีความต้องการความรู้เพื่อนำไปพัฒนาที่แตกต่างกัน แม้บางประเด็นในหลายภาคจะมีจุดร่วมความต้องการที่ตรงกัน แต่มุมมองในการพัฒนานั้นต่างกันตามบริบทท้องถิ่น และเพื่อให้ตอบสนองต่อการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน จึงต้องอาศัยการกระจายอำนาจและเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่หน่วยงานในพื้นที่ แม้บางพื้นที่จะมีความต้องการหรือปัญหาที่คล้ายคลึงกัน แต่วิธีแก้ไขและพัฒนามิอาจอาศัยวิธีแบบ “one size fits all” 

นโยบายและกฎหมายสำหรับผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงจำเป็นต้องศึกษาความต้องการความรู้ที่เหมาะสมตามบริบทพื้นที่ หรือที่เรียกว่า “tailor made” เพื่อค้นหาความรู้ที่เหมาะสมตามความต้องการของแต่ละบริบท ทั้งนี้ ก็เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนในทุกกลุ่มจังหวัด ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมหาวิธีผลักดันการพัฒนาที่เหมาะสมตามพื้นที่ของตน

จากผลการประมวลการเก็บรวบรวมข้อมูลและสอบถามกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สามารถวิเคราะห์ข้อมูลประเด็นความรู้ที่ต้องการของในแต่ละพื้นที่ทั้ง 6 ภาค สรุปได้ดังนี้

ความรู้ที่ต้องการของพื้นที่ภาคเหนือ 

ความรู้ที่ต้องการของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ความรู้ที่ต้องการของพื้นที่ภาคกลาง

ความรู้ที่ต้องการของพื้นที่ภาคตะวันออก

ความรู้ที่ต้องการของพื้นที่ภาคใต้

ความรู้ที่ต้องการของพื้นที่ภาคใต้ชายแดน

หรือกดอ่านในรูปแบบ E-Book

ซีรีส์ Area Need จะสรุปข้อค้นพบสำคัญของโครงการปีที่ 1  และอัปเดตสิ่งที่เรากำลังทำต่อในปีที่ 2 ตั้งแต่เดือนธันวาคมนี้ ไปจนถึง เมษายน 2566 

Author

Exit mobile version