จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2565 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้
กะเหรี่ยงแก่งกระจาน 4 ชุมชน ยื่นหนังสือ ‘รับรองการทำไร่หมุนเวียน’
แก่กระทรวงทรัพฯ และกรมอุทยานฯ
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 กะเหรี่ยงแก่งกระจานดั้งเดิม จาก 4 ชุมชน คือ ชุมชนห้วยกระซู่ ชุมชนห้วยหินเพิง ชุมชนสาริกา ต.ยางน้ำกลัดเหนือ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี และชุมชนป่าหมาก ต.ศาลาลัย อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ รวมแล้วประมาณ 100 ชีวิต เดินทางมายื่นข้อเสนอต่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตามลำดับ โดยมี นายกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงทรัพฯ เป็นตัวแทนมารับหนังสือ และ นายสิทธิชัย เสรีส่งแสง รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นตัวแทนของกรมอุทยานฯ มารับหนังสือที่หน้ากระทรวง
จุดมุ่งหมายการเดินทางมาครั้งนี้ กลุ่มชาวบ้านแจ้งว่าเพื่อยื่นข้อเสนอให้รับรองวิถีการใช้ประโยชน์ด้วยการทำไร่หมุนเวียนของชุมชนกะเหรี่ยงที่ถือเป็นการดำรงชีพอย่างเป็นปกติธุระ และจัดให้มีระบบการจัดการที่แน่นอนของ“การทำไร่หมุนเวียนลักษณะแปลงรวมซึ่งเป็นไปตามวิถีวัฒนธรรมกะเหรี่ยงดั้งเดิม” โดยให้ทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและอุทยานแห่งชาติกุยบุรีจัดให้มีคณะกรรมการร่วมกันระหว่างชาวบ้านและเจ้าหน้าที่อุทยานเพื่อจัดการเรื่องการจัดทำแปลงรวมไร่หมุนเวียนในเขตอุทยานขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาระหว่างชุมชนในพื้นที่ผืนป่าแก่งกระจานกับอุทยานแห่งชาติทั้งสองพื้นที่ และขอให้ทั้งทางสองหน่วยงานเพิกถอนประกาศและระเบียบที่ตัดสิทธิราษฎรที่ตกหล่นจากการไม่ได้แจ้งสิทธิครอบครองที่ดินภายใน 240 วัน ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 15 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 15.2 ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน 15.4 สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมเพิ่มพูนขีดความสามารถของระบบนิเวศที่ให้ผลประโยชน์อันสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 15.5 ปฏิบัติการที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และภายในปี 2563 ปกป้องและป้องกันการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม และ SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
เข้าถึงได้ที่นี่ : กะเหรี่ยงผืนป่าแก่งกระจาน 4 ชุมชน เข้ายื่นหนังสือเรียกร้อง ก.ทรัพฯ และกรมอุทยานฯ ขอให้รับรองการทำไร่หมุนเวียนในรูปแบบแปลงรวมของชุมชน – Rising Sun Law
ชาวจีนในหลายเมือง ลุกฮือประท้วงต่อต้าน ‘นโยบาย Zero-COVID’ ท้าทายอำนาจสีจิ้นผิง
สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในจีนที่ทวีความรุนแรง ด้วยยอดผู้ติดเชื้อเกินวันละ 4 หมื่นราย และการดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกัน รวมถึง ‘ล็อกดาวน์’ ตามนโยบาย ‘Zero-COVID’ หรือ ‘โควิดเป็นศูนย์’ ส่งผลให้เกิดการประท้วงของประชาชนในหลายเมืองทั่วประเทศ รวมถึงเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง เพื่อแสดงความไม่พอใจรัฐบาล ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ยากจะพบเห็น เพราะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นการท้าทายอำนาจรัฐบาลปักกิ่งและพรรคคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ส่วนต้นตอที่ทำให้ประชาชน ‘กล้า’ ลุกฮือขึ้นประท้วงครั้งนี้ เพราะกระแสความไม่พอใจจากกรณีการเสียชีวิตของประชาชน 10 ราย ด้วยเหตุไฟไหม้อาคารพักอาศัยในเมืองอุรุมชี เขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ ที่ควบคุมเพลิงล่าช้า เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวถูกล็อกดาวน์ตามมาตรการ Zero-COVID ห้ามประชาชนออกนอกพื้นที่ ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลจีนและประธานาธิบดีสีจิ้นผิงมั่นใจว่านโยบาย Zero-COVID นั้นช่วยชีวิตประชาชนได้ และมีความจำเป็นต้องคงไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบการรักษาพยาบาลล่มสลายจากการที่ผู้ป่วยล้นจนรับมือไม่ไหว
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลจีนยังขาดการรักษาสมดุลทั้งในด้านการดำเนินมาตรการป้องกันโควิด-19 และประชาชนยังไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ขาดเสรีภาพในการใช้ชีวิต ก็อาจทำให้กระแสความไม่พอใจปะทุขึ้นเรื่อย ๆ ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.d เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ เรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องให้ลดลง 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
เข้าถึงได้ที่นี่ : อธิบายปรากฏการณ์ ชาวจีนลุกฮือประท้วงนโยบาย Zero-COVID ในหลายเมือง ท้าทายอำนาจสีจิ้นผิง – THE STANDARD
ไทยหนี Tier 2 พยายามยกระดับตรวจการจ้างแรงงานประมงและสกัดปัญหาค้ามนุษย์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานส่งที่ปรึกษา ปล่อยแถวทีมตรวจสภาพการจ้างแรงงานประมง สภาพการทำงานและการค้ามนุษย์ในเรือประมงทะเล โดยมีหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดเพชรบุรี และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ท่าเทียบเรือ สหกรณ์การประมงบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ตามรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2565 หรือ Trafficking In Person (TIP) Report 2022 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดระดับให้ประเทศไทยอยู่ในระดับ Tier 2 เป็นประเทศที่มีการดำเนินการยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายดังกล่าว แต่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งยกระดับขึ้นจากเดิมปี 2564 ที่อยู่ในระดับ Tier 2 Watch List หรือ เป็นกลุ่มประเทศที่ต้องจับตามองและมีรายงานถึงหลักฐานและเหยื่อการค้ามนุษย์เพิ่มมากขึ้น โดย นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย การใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย แรงงานบังคับขัดหนี้ ที่จะนำไปสู่ประเด็นการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ซึ่งการที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเพชรบุรี ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน และการค้ามนุษย์ในเรือประมงทะเล แสดงถึงความพยายามการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.7 ดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพโดยทันที เพื่อขจัดแรงงานที่ถูกบังคับ ยุติความเป็นทาสสมัยใหม่และการค้ามนุษย์ และยับยั้งและกำจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก
เข้าถึงได้ที่นี่ : ตรวจการจ้างแรงงานประมง สกัดปัญหาค้ามนุษย์ ยกระดับไทยหนี Tier 2 – ประชาชาติธุรกิจ
UNAIDS ระบุโลกล้มเหลวในการจัดการเรื่อง ‘โรคเอดส์ในเด็ก’
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็น ‘วันเอดส์โลก’ ข้อมูลล่าสุดจากองค์การสหประชาชาติ (United Nations : UN) ระบุว่า มีเด็กจำนวนมากติดเชื้อเอชไอวีและยังไม่ได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์ที่จำเป็น โดย ดร.โฟเด ซิมากา ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ระบบ และบริการอย่างเท่าเทียมของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ หรือ UNAIDS ระบุว่า โลกกำลังล้มเหลวในการจัดการเรื่องโรคเอดส์ในเด็ก ซึ่งปี 2564 ยังมีเด็กติดเชื้อถึง 160,000 ราย และแม้ปัจจุบันผู้ติดเชื้อเอชไอวีจะสามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสได้ง่ายขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ในทุกกลุ่มคนหรือทุกพื้นที่ของโลก ซึ่ง UN ระบุว่า ขณะที่ร้อยละ 76 ของผู้ติดเชื้อวัยผู้ใหญ่ได้รับยาต้านไวรัส แต่กลับมีเด็ก อายุ 0-14 ปี เพียงร้อยละ 52 เท่านั้นได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับ UNAIDS และ Unicef ที่ระบุว่า ปัจจุบันมีเยาวชนติดเชื้อเอชไอวี 2.7 ล้านราย โดยข้อมูลทั้งหมดนั้บสะท้อนได้ว่าการจัดการโรคเอดส์ในเด็กที่ยังคงล้มเหลว เพราะยังมีเด็กจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสมและต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติภายในสังคม
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.3 ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573 และ 3.b สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ รวมถึงปกป้องสุขภาพสาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า
เข้าถึงได้ที่นี่ : วันเอดส์โลก : UNAIDS ชี้โลกล้มเหลวในการจัดการเรื่องโรคเอดส์ในเด็ก – BBC News ไทย
WHO ประกาศเปลี่ยนชื่อจาก ‘โรคฝีดาษลิง’ เป็น ‘mpox’ เริ่มใช้ปีหน้า
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ประกาศเปลี่ยนชื่อจาก ‘โรคฝีดาษลิง’ (monkeypox) เป็น ‘mpox’ โดยจะใช้ชื่อใหม่ควบคู่กันไปก่อนในปีหน้า และจะค่อย ๆ ยุติการใช้ชื่อโรคฝีดาษลิงลง ทั้งนี้ ก็เพื่อขจัดการเหยียดเชื้อชาติและการตีตราโรคจากชื่อ ซึ่งผู้คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดว่าโรคนี้มีที่มาจากลิงเท่านั้น และส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก แต่ปัจจุบันการระบาดของโรคนี้กระจายไปทั่วโลก ซึ่งได้รับผลกระทบถึง 110 ประเทศ มีผู้ป่วยมากกว่า 80,000 ราย และเสียชีวิตถึง 55 ราย รวมถึงตลอดระยะเวลาการแพร่ระบาดที่ผ่านมา WHO ได้รับรายงานเกี่ยวกับปัญหาการเหยียดเชื้อชาติและการตีตรา ทั้งทางสังคมออนไลน์ และสถานที่ต่าง ๆ
โดยต่อไป WHO จะให้ใช้คำว่า mpox ในการสื่อสารและสนับสนุนให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม โดยชื่อนี้ได้พิจารณาตามความเหมาะสมทางวิทยาศาสตร์ ขอบเขตการใช้งานปัจจุบัน การออกเสียง การใช้งานในภาษาต่าง ๆ โดยไม่มีการอ้างอิงทางภูมิศาสตร์หรือสัตววิทยา ซึ่งหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาความเข้าใจผิดถึงที่มาของโรค รวมถึงปัญหาการเหยียดเชื้อชาติและการตีตราได้ ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.3 ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573
เข้าถึงได้ที่นี่ : WHO recommends new name for monkeypox | UN News
มลพิษทางอากาศ เชื่อมโยงกับภาวะ ‘ตายคลอด’ เกือบล้านคนต่อปี
การศึกษาระดับโลกครั้งแรก ได้ตรวจค้นพบอนุภาคมลพิษทางอากาศในปอดและสมองของทารกในครรภ์ ซึ่งมลพิษทางอากาศทำให้เกิดภาวะตายคลอด (stillbirth) เกือบล้านรายต่อปีและจากการวิจัยประเมินว่าเกือบครึ่งหนึ่งของภาวะตายคลอดอาจเชื่อมโยงถึงการสัมผัสกับมลพิษที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยงานวิจัยที่ตีพิมพ์ผ่าน Nature Communications ให้ข้อมูลภาวะตายคลอดและมลพิษทางอากาศระหว่างปี 2541-2559 จากประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง (Low- and Middle-Income Countries : LMIC) จำนวน 54 ประเทศ ซึ่งข้อมูลนี้ได้นำมาใช้เพื่อประเมินการตายคลอดที่เกิดจากการสัมผัส PM 2.5 ใน 137 ประเทศ ซึ่งพบว่าจากการศึกษาประเทศ LMIC มารดาเกือบทุกคนสัมผัสกับระดับ PM 2.5 สูงกว่าระดับมาตรฐานคำแนะนำของ WHO ในปัจจุบัน คือ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (μg/m3 ) และจากสถิติการตายคลอดสูงถึง 2.09 ล้านรายในปี 2558 โดยในจำนวน 950,000 ราย มีมารดาร้อยละ 45 ที่เกิดภาวะตายคลอดจากการสัมผัส PM2.5 เกินระดับ 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ดี แม้ก่อนหน้านี้จนถึงปี 2564 WHO จะกำหนดมาตรฐานค่าเฉลี่ยรายปีสำหรับ PM2.5 อยู่ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ก็ยังพบว่าร้อยละ 99 ของมารดาในการศึกษาสัมผัสกับอากาศสกปรกในระดับที่สูงกว่ามาตรฐานเดิม และเชื่อมโยงกับการตายคลอดถึง 830,000 ราย หรือร้อยละ 40 ของจำนวนทั้งหมด
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.1 ลดอัตราการตายของมารดาทั่วโลกให้ต่ำกว่า 70 ต่อการเกิดมีชีพ 1 แสนคน ภายในปี 2573 รวมถึง 3.2 ยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยทุกประเทศมุ่งลดอัตราการตายในทารกลงให้ต่ำถึง 12 คน ต่อ การเกิดมีชีพ 1,000 คน และลดอัตราการตายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลงให้ต่ำถึง 25 คน ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน ภายในปี 2573 และ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
เข้าถึงได้ที่นี่ : Air pollution linked to almost a million stillbirths a year – The Gurdian
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย
Last Updated on ธันวาคม 26, 2022