การพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืน ทำไมต้องคำนึงถึง ‘ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย’ และความร่วมมือ ‘ภาครัฐ-เอกชน’ สำคัญอย่างไร ?

จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันส่งผลให้ ‘เมือง’ ในหลายประเทศเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ระดับทางเศรษฐกิจขยับใหญ่ขึ้น ขณะที่อสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานก็ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรเมือง กระนั้นความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้กลับเป็นความท้าทายที่ทิ้งโจทย์สำคัญอย่าง “ความยั่งยืน” และ “ครอบคลุม” ให้ต้องคิดหาทางไปให้ถึง เพื่อป้องกันผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นทั้งต่อมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ อาทิ ความแออัด มลพิษทางอากาศ และความยากจน 

เพื่อค้นคว้าหาแนวทางที่ตอบโจทย์การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน รศ. ดร.ภาวิณี เอี่ยมตระกูล  จิราวรรณ คล้ายลี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.ไอศูรย์ เรืองรัตนอัมพร สำนักวิชา     วิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จึงได้ดำเนินงานวิจัย “Participatory Planning Approach Towards Smart Sustainable City Development” ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคณะสถาปัตยกรรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

วัตถุประสงค์สำคัญของงานวิจัยข้างต้น คือ การค้นหาแนวทางที่เหมาะสมในการสร้างเวทีความเข้าใจของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืนโดยการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการที่มีผู้เข้าร่วมจากภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 200 คน และเลือกจังหวัดปทุมธานีเป็นกรณีศึกษา ซึ่งหวังให้เป็นต้นแบบในการจัดทำนโยบายการพัฒนาเมืองแก่พื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทย

ด้วยประเด็นและปลายทางของผลลัพธ์ที่เน้นศึกษาหาแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนและคำนึงถึงการมีส่วนร่วมตัดสินใจและออกแบบนโยบายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นสำคัญ ทำให้งานวิจัยดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง

รศ.ดร.ภาวิณี และคณะ ดำเนินการวิจัยด้วยการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) เพื่อสำรวจความพร้อมของหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งเพื่อรับรู้แผนงานต่าง ๆ ที่หน่วยงานเหล่านั้นกำลังดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง โดยใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (design thinking) เป็นกระบวนการหลัก และกำหนดผู้เข้าร่วมอบรมจากภาครัฐและภาคเอกชน 

กระบวนการคิดเชิงออกแบบดังกล่าวมีการระดมสมอง 2 ช่วง เพื่อค้นหาคำตอบประเด็นที่แตกต่างกัน ช่วงแรก เป็นการระดมความคิดเกี่ยวกับประเด็น “ปัญหาของเมือง” (pain point) โดยจัดให้มีการสนทนาถึงความสำคัญและเร่งด่วนของปัญหา ส่วนช่วงที่สอง ระดมความคิดในเรื่อง “การวางแผนเมืองอัจฉริยะ” โดยมุ่งค้นหาแนวทางแก้ปัญหาที่เกาะเกี่ยวอยู่กับมิติการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 7 มิติ ได้แก่ 1) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (smart environment) 2) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (smart economy) 3) พลังงานอัจฉริยะ (smart energy) 4) การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (smart government) 5) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (smart living) 6) การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (smart transportation) และ 7) พลเมืองอัจฉริยะ (smart people)

ประเด็นที่ถูกนำมาพิจารณาภายใต้กรอบการศึกษานี้มีทั้งสิ้น 3 ประเด็น ได้แก่ 1) กำหนดปัญหาและพิจารณาระดับความสำคัญเพื่อระบุแนวโน้มของปัญหาและระดับความจำเป็นในการแก้ไขที่จะส่งผลต่อผลการดำเนินการร่วมกัน โดยมีการกำหนดแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว 2) เป้าหมายการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในจังหวัดปทุมธานี โดยกำหนดแนวทางรองรับแต่ละมิติ 3) วางแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยกำหนดแผนงาน  โครงการ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหา 

งานวิจัยข้างต้นค้นพบว่าการส่งเสริมให้ภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการจัดทำฐานข้อมูลเมืองด้วยระบบที่นำข้อมูลมาวิเคราะห์และนำเสนอผ่านรูปแบบที่มองเห็นและทำความเข้าใจได้ด้วยสายตา (visualize) เป็นพื้นฐานสำคัญของการระบุปัญหาเมืองและนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในบริบทประเทศไทยในการค้นหาแนวทางการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่เหมาะสมได้สำเร็จ นอกจากนี้ ยังพบว่าหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับแผนระยะสั้นสำหรับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะและการสร้างตัวแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน 

ข้อเสนอสำคัญของ รศ.ดร.ภาวิณี และคณะ คือการพัฒนาเมืองอัจฉริยะยังจำเป็นต้องให้ความสนใจใน 3 เรื่อง คือ

  1. การสร้างแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อให้บรรลุการเป็นหุ้นส่วนโดยภาคเอกชน 
  2. การสร้างแพลตฟอร์มข้อมูลของภาครัฐ 
  3. การจัดสรรงบประมาณการจัดการเมืองให้ครอบคลุมทั้งระดับท้องถิ่นและระดับอื่น ๆ ด้วย

กล่าวโดยสรุป งานวิจัย “Participatory Planning Approach Towards Smart Sustainable City Development” เป็นงานศึกษาที่ค้นหาคำตอบเพื่อคลี่คลายข้อสงสัยและเสาะหาแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการรับฟัง พูดคุย และแลกเปลี่ยนเป็นสำคัญ นับว่าเป็นการใช้กระบวนการที่ใกล้ชิดกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ และสื่อสะท้อนผลที่เน้นให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติ 

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่ ธีมการลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเป็นธรรมในสังคม 

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะไม่เชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนโดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.1) สร้างหลักประกันว่าทุกคนจะเข้าถึงที่อยู่อาศัยและการบริการพื้นฐานที่พอเพียงให้ปลอดภัย และในราคาที่สามารถจ่ายได้ และยกระดับชุมชนแออัด ภายในปี 2573
– (11.2) ภายในปี 2573 จัดให้ทุกคนเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้ พัฒนาความปลอดภัยทางถนน โดยการขยายการขนส่งสาธารณะ โดยคำนึงถึงกลุ่มคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ผู้หญิง เด็ก ผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย และผู้สูงอายุ เป็นพิเศษ
– (11.3) ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วมบูรณาการและยั่งยืนในทุกประเทศ ภายในปี 2573
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (11.a) สนับสุนนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท โดยการเสริมความแข็งแกร่งของการวางแผนการพัฒนาในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง 
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

ข้อมูลงานวิจัย: Isoon Ruengratanaumporn, Jirawan Klaylee, Pawinee Iamtrakul. Participatory Planning Approach Towards Smart Sustainable City Development. Conference Paper in Proceedings of International Structural Engineering and Construction · July 2021 DOI: 10.14455/ISEC.2021.8(1).SUS-11
ชื่อผู้วิจัย -สังกัดรศ. ดร.ภาวิณี เอี่ยมตระกูล และ จิราวรรณ คล้ายลี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.ไอศูรย์ เรืองรัตนอัมพร สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

Research Brief แนะนำงานวิจัยเชิงลึกของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น