แฟชั่นที่มีสไตล์พร้อมใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนากระบวน ‘การผลิตที่ยั่งยืน’ ได้อย่างไร 

อุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีจำนวนการผลิตสะสมที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ด้วยกระบวนการผลิตที่ง่ายขึ้นและต้องหมุนไปตามกระแสแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้หลายครั้งเสื้อผ้าที่ถูกใช้งานแล้วต้องถูกทิ้งให้กลายเป็นขยะ จึงกลายเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากมีการสร้างมลพิษที่เพิ่มขึ้น มีการใช้น้ำมากกว่าภาคส่วนอื่น ๆ และมักปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษ รวมถึงใช้พลังงานจำนวนมหาศาล ทั้งนี้ ปัจจุบันเสื้อผ้าส่วนใหญ่ไม่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพและไม่มีส่วนช่วยในการดูแลโลก ดังนั้น จึงต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจผลกระทบต่อ ‘สังคม’ และ ‘สิ่งแวดล้อม’ มากขึ้น 

ด้วยปัญหาข้างต้น เพื่อค้นคว้าหาคำตอบในการผลิตอย่างยั่งยืน จึงเกิดเป็นงานวิจัยเรื่อง “Eco-Fashion Designing to Ensure Corporate Social Responsibility within the Supply Chain in Fashion Industry” โดย ผศ.ดร.วรางคณา จุติดำรงค์พันธ์  คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดร.เอ็มดี ทารีค บิน ฮุซไซน์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะ ได้ศึกษางานวิจัยฉบับนี้ ร่วมกันช่วยพิจารณาว่า ‘วิธีใดช่วยให้อุตสาหกรรมแฟชั่นมีความตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น’

วัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อทำความเข้าใจความต้องการในการดำเนินกระบวนการออกแบบและผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นในทางปฏิบัติ โดยศึกษาอุตสาหกรรมบางแห่งในพื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อค้นหาแนวปฏิบัติเกี่ยวกับแฟชั่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (eco-fashion) และสนับสนุนการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน (Municipal Solid Waste : (MSW) อย่างเหมาะสม

ด้วยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้นหาการออกแบบและผลิตเสื้อผ้าแฟชั่นในแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตและบริโภค งานวิจัยนี้จึงสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 4 เป้าหมาย ได้แก่  เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ และเป้าหมายที่ 14 ทรัพยากรทางทะเล

ผศ.ดร.วรางคณา จุติดำรงค์พันธ์  ดร.เอ็มดี ทารีค บิน ฮุซไซน์ และคณะ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัย การทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ (systematic reviews) และการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยรูปแบบอภิมาน (preferred reporting items for systematic reviews and meta-analyses : PRISMA) ซึ่งมุ่งเน้นการศึกษาที่ครอบคลุมปัญหาของความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติในปัจจุบันที่เกิดจากอุตสาหกรรมแฟชั่น เพื่อค้นหาแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้ผ่านการใช้แนวคิดของแฟชั่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  

กระบวนการทบทวนวรรณกรรมมีเป้าหมาย เพื่อรวบรวมหลักฐานเชิงประจักษ์และกรณีศึกษาที่จะนำไปสู่การตอบคำถาม ต่อไปนี้:

  • การปรับปรุงอุตสาหกรรมสิ่งทอสามารถเกิดขึ้นได้ในกระบวนการใดบ้าง
  • ความเป็นไปได้ในการลดของเสียในกระบวนการตัดและเย็บคืออะไร
  • มีการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมแก่แรงงานในโรงงานทำเสื้อผ้าหรือไม่
  • สามารถลดการใช้ผลิตภัณฑ์เคมีในกระบวนการฟอกสีและย้อมสีได้อย่างไร
  • นักออกแบบจะทำงานเพื่อขับเคลื่อนแฟชั่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและได้รับประโยชน์จากความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจจากกิจกรรมของตนได้อย่างไร

ด้วยอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีการจ้างงานถึง 1 ใน 6 ของประชากรที่ทำงานทั่วโลก ซึ่งภาคส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นมีการใช้น้ำมากกว่าภาคส่วนอื่น ๆ และมักปล่อยสารเคมีที่เป็นพิษ รวมถึงใช้พลังงานจำนวนมหาศาล จึงนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ต้องรับผิดชอบต่อภาวะโลกร้อนของโลก 


ปัญหาที่เกิดจาก “อุตสาหกรรมแฟชั่น” นำสู่แนวทางการแก้ไข

จากการพิจารณาค้นพบผลกระทบด้านลบและแนวทางแก้ไขปัญหา อาทิ

1. แนวทางแก้ไขผ่านหลักการ 3Rs  

  • Reduce – ลดการใช้ (คิดก่อนใช้) Reuse – นำกลับมาใช้ซ้ำ (ใช้แล้วใช้อีก) Recycle – นำกลับมาใช้ใหม่ โดยนำมาอธิบายการปรับปรุงกระบวนการทางอุตสาหกรรมสิ่งทอและวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) เพื่อป้องกันและช่วยลดการทิ้งผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วในหลุมฝังกลบ เพื่อให้ทรัพยากรที่ใช้ในการผลิตสามารถกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมได้อีกครั้ง

2. ผลกระทบด้านลบ 

  • สังคมบริโภค (consumer society) แฟชั่นก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อมผ่านความนิยมเพียงชั่วคราว และเป็นเครื่องสื่อความต้องการทางชนชั้นทางสังคม ซึ่งปัจจุบัน แนวทางปฏิบัติในการออกแบบเสื้อผ้าได้เจริญเติบโตในเงื่อนไขความไม่เท่าเทียมทางสังคมนี้ และไม่ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร (Corporate Social Responsibility : CSR) แต่มุ่งเน้นการเพิ่มยอดขายและผลกำไรเท่านั้น 
  • มลพิษจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีการใช้สารเคมีในปริมาณมากและสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปริมาณของเสียที่เกิดขึ้น จากกระบวนการผลิต อาทิ การย้อมสี การฟอกสี ที่มีการปล่อยสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำ เกิดเป็นมลพิษทางน้ำ ส่งผลกระทบต่อทั้งมนุษย์และสัตว์โดยเฉพาะสัตว์น้ำ
  • การปล่อยมลพิษสู่บรรยากาศ กระบวนการผลิตมีการปล่อยความร้อนและสร้างละอองน้ำมัน เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งมลพิษดังกล่าวเป็นสารเคมีที่ส่งผลเสียต่อมนุษย์หากสูดดมเข้าสู่ร่างกาย

ข้อค้นพบจากการทบทวนวรรณกรรมและการสำรวจของ “อุตสาหกรรมแฟชั่น” 

1. การทบทวนวรรณกรรม พบว่า ระหว่างปี 2555 ถึง 2558 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มประสบปัญหามากมาย อาทิ อุบัติเหตุโรงงานตัดเย็บผ้าถล่ม อาคาร Rana Plaza ในบังกลาเทศ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้นักวิจัยเริ่มให้ความสนใจกับการจัดการกับปัญหาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมดังกล่าว

ภาพ: แสดงระดับ KPA ในการการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน

2. การสำรวจการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน (Municipal Solid Waste: MSW) ของโรงงาน 4 แห่ง ในจังหวัดสงขลา พบว่า พื้นที่ภาคใต้ มีสถานที่กำจัดขยะทั้งหมด 73 แห่ง โดยมีปริมาณขยะต่อวันจากการฝังกลบอยู่ที่ 477 ตันและการทิ้งในที่โล่ง 1,214 ตัน และจากสำรวจผ่านแบบสอบถาม 150 คน ถึงระดับความรู้ (knowledge) ทัศนคติ (attitude) และพฤติกรรมการปฏิบัติ (practice) พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามสำหรับการจัดการขยะมูลฝอย มีระดับความรู้ร้อยละ 80 และทัศนคติร้อยละ 78 ต่อการจัดการขยะในอุตสาหกรรมแฟชั่น แต่การปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการขยะนั้นอยู่ที่ร้อยละ 37 ซึ่งต่ำอย่างน่าอัศจรรย์ (ดังภาพข้างต้น)


ข้อเสนอแนะการพัฒนา “แฟชั่น” ให้เกิดความยั่งยืน และ “เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

ปลายทางสุดท้ายจากการศึกษางานวิจัยของ ผศ.ดร.วรางคณา จุติดำรงค์พันธ์  คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดร.เอ็มดี ทารีค บิน ฮุซไซน์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะ ได้อภิปรายเสนอแนะประเด็นทิ้งทายน่าสนใจหลายประการ อาทิ

1. การปรับปรุงกระบวนการในอุตสาหกรรมสิ่งทอ การพัฒนาความยั่งยืนต้องอาศัยนวัตกรรมในการเปลี่ยนแปลงเพื่อลดมลพิษอย่างมีประสิทธิภาพและให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งควรปรับเปลี่ยนตั้งแต่วิธีลดของเสียที่เกิดขึ้นในโรงงานระหว่างการผลิตตัดและเย็บ พร้อมใช้วัสดุให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ อุตสาหกรรมแฟชั่น ยังถูกระบุว่ามีปัญหาเกี่ยวกับสภาพการทำงานด้วยเช่นกัน จึงจำเป็นต้องปรับปรุงสภาพการทำงานของพนักงาน เช่น ระดับค่าจ้างและสภาพการทำงานให้เหมาะสม

2. การลดของเสียในกระบวนการตัดและเย็บ นักออกแบบ มีส่วนในการกำหนดการออกแบบและพัฒนาเสื้อผ้าให้มีประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด แม้ในการตัดเย็บ จะเป็นความรับผิดชอบด้านเทคนิคของทีมงานผู้ผลิต แต่ช่างเทคนิค ไม่สามารถเสนอวิธีแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการลดของเสียในการผลิตได้ อาจกลายเป็นการกังขาต่อผลงานของการออกแบบได้ เช่นนั้น การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงเกี่ยวกับความยั่งยืนของกระบวนการผลิต ควรเกิดขึ้นตั้งแต่กระบวนการออกแบบ 

3. การปฏิบัติอย่างเป็นธรรมแก่แรงงานในโรงงานทำเสื้อผ้า อุตสาหกรรมสิ่งทอใช้แรงงานเป็นหลัก ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นพื้นฐานในการพัฒนาชนชั้นแรงงานในประเทศ ทำให้แรงงานเสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบ ทั้งนี้ ผู้ที่มาจากพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่ทำงานในอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องกฎหมายแรงงานและสิทธิของตนในฐานะลูกจ้าง จึงเสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบจากการจ้างงาน ผู้ผลิตควรมีจรรยาบรรณต่อการผลิตในอุตสาหกรรมแฟชั่น รวมถึงนักออกแบบเอง ก็ควรรับผิดชอบต่อสภาพการทำงานของแรงงาน ที่ผลิตสินค้า เพราะการผลิตที่ซับซ้อนอาจมีต้นทุนที่สูง และอาจทำให้แรงงานมีข้อจำกัดด้านเวลา จึงต้องทำงานให้เร็วขึ้นขณะที่เงินเดือนก็ต่ำมาก เพราะบริษัทอาจไม่ได้เพิ่มการลงทุนในการผลิต แต่หวังผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ดังนั้น การออกแบบ หากสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่าให้กับเสื้อผ้าได้โดยไม่ต้องเพิ่มต้นทุนที่มากเกินไป อาจช่วยให้ลดการกดขี่ทางเศรษฐกิจของแรงงานได้

4. ลดการใช้ผลิตภัณฑ์เคมีในกระบวนการฟอกสีและย้อมผ้า สีของผ้าสามารถสร้างแรงดึงดูดให้กับผู้บริโภคและเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่น จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะต้องมองหาตัวเลือกสำหรับการฟอกสีและย้อมผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อลดความเสี่ยงของการปนเปื้อนจากสีย้อมผ้าทั่วไป ด้วยเหตุนี้ หลายบริษัททั่วโลก จึงพัฒนาเสื้อผ้าโดยหันมาใช้สีธรรมชาติ ซึ่งทำให้ช่วยลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง และอีกข้อดีของเสื้อผ้าแฟชั่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือ ผลิตด้วยวัสดุที่ทำจากพืชที่ปลูกโดยปลอดสารเคมี มีความทนทานมากกว่าเสื้อผ้าทั่วไป และมีคุณภาพสูงกว่า

5. นักออกแบบขับเคลื่อนแฟชั่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการประสานธุรกิจให้เข้ากับการตัดสินใจด้านความยั่งยืน ผ่านกระบวนทัศน์ 3 ประการในการสร้างความมุ่งมั่นสู่ความยั่งยืน คือ หนึ่ง ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเหนือกำไร สอง มุ่งเน้นไปที่ความคิดสร้างสรรค์ที่ยั่งยืน และสาม เข้าใจความสำคัญของราคาสินค้าสำหรับผู้บริโภค

กล่าวโดยสรุป งานวิจัย “Eco-Fashion Designing to Ensure Corporate Social Responsibility within the Supply Chain in Fashion Industry” เป็นงานศึกษาที่ค้นหาคำตอบเพื่อคลี่คลายข้อสงสัยและพยายามหาคำตอบครอบคลุมแง่มุมต่าง ๆ ในการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ผ่านบทบาทของผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่นจากหลายภาคส่วน เพื่อนำเสนอเส้นทางใหม่ ๆ ในการผลิตเสื้อผ้าให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเพื่อให้พื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแนวคิดใหม่ ๆ ที่จะเพิ่มขึ้น พร้อมไปกับช่วยปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการการผลิตให้มีความยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) ธีมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะไม่เชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนโดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี 2573
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
#SDG 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573
– (12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดภายในปี 2563
– (12.5) ภายในปี 2573 จะต้องลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดการแปรรูป เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำกลับมาใช้ซ้ำ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี 2568

ข้อมูลงานวิจัย:  Jutidamrongphan, W., Rahman, M.A., Hossain, T., Khatun, S.A., Lamas, W.D.Q.  (2021). Eco-Fashion Designing to Ensure Corporate Social Responsibility within the Supply Chain in Fashion Industry, Autex Research Journal, 21(4). 1-15. DOI: 10.2478/aut-2020-0064.
ชื่อผู้วิจัย – สังกัด: ผศ.ดร.วรางคณา จุติดำรงค์พันธ์  คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดร.เอ็มดี ทารีค บิน ฮุซไซน์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะ

Research Brief แนะนำงานวิจัยเชิงลึกของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น