สำรวจปัจจัยที่กลุ่มนักท่องเที่ยววัยรุ่นใช้เลือก ‘การท่องเที่ยวพร้อมสิทธิฉีดวัคซีน’ ผ่านงานวิจัยที่เน้นเก็บข้อมูลผ่านแบบสอบถาม

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก เนื่องจากการเดินทางระหว่างประเทศหยุดชะงักด้วยมาตรการปิดพรมแดนประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจึงลดน้อยลง ดังจะเห็นได้ว่าในปี 2563 โรงแรมในญี่ปุ่นล้มละลายเพิ่มขึ้นกว่า 57% ขณะที่โรงแรมในไทยถูกคาดการณ์ว่าปิดกิจการภายในสิ้นปี 2564 ไปกว่า 47% อย่างไรก็ดีมีความพยายามมองหาทางเลือกในการท่องเที่ยวแนวใหม่เพื่อโอบอุ้มและกระตุ้นกิจการการท่องเที่ยวไม่ให้ถดถอยมากจนเกินไป และหนึ่งในแนวทางที่ได้รับความสนใจไม่น้อยนั่นคือ “vaccine tourism” หรือ “การท่องเที่ยวพร้อมสิทธิฉีดวัคซีน” ซึ่งเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศปลายทางสามารถฉีดวัคซีนได้ฟรี เนื่องจากบางประเทศมีวัคซีนเกินความต้องการใช้จึงนำวัคซีนที่เหลือมาเปลี่ยนเป็นจุดดึงดูดใจนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศที่ไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างครอบคลุมหรือได้รับวัคซีนชนิดที่ไม่ต้องการ โดยปัจจุบันการท่องเที่ยวแนวนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย และคิวบา

กระนั้น เมื่อสำรวจงานวิจัยและเอกสารทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ผ่านระบบ Scopus พบว่ามีงานวิจัยเพียง 28 งานวิจัยเท่านั้น และเมื่อจำกัดการค้นหาระบุเอกสารที่คำว่า “vaccine tourism” เป็นคำหลัก พบว่ามีงานวิจัยเพียง 2 ชิ้นเท่านั้น ได้แก่ งานวิจัย “Decoding the global trend of “vaccine tourism” through public sentiments and emotions: Does it get a nod on Twitter?” โดย Gulati และงานวิจัย “Socialising tourism after COVID-19: Reclaiming tourism as a social force?” โดย Higgins-Desbiolles et al

เพื่อเสริมเติมช่องว่างของการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการท่องเที่ยวพร้อมสิทธิ์ฉีดวัคซีน Laddawan Kaewkitipong (คณะพานิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) Charlie Chen (Walker College of Business, Appalachian State University) และ Peter Ractham (ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการการปฏิบัติการและสารสนเทศ) จึงได้ดำเนินงานวิจัย “Examining Factors Influencing COVID-19 Vaccine Tourism for International Tourists” โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อศึกษาและสำรวจปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกใช้และแนะนำการท่องเที่ยวเพื่อสิทธิฉีดวัคซีนของนักท่องเที่ยวกลุ่มวัยรุ่น (young tourists) ซึ่งสาเหตุของการเลือกศึกษากลุ่มนี้โดยเฉพาะเนื่องจากเป็นกลุ่มวัยท่องเที่ยวที่สามารถกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการใช้สื่อออนไลน์แนะนำหรือรีวิวแก่นักท่องเที่ยว ที่มีอายุใกล้เคียงกัน 

ด้วยประเด็นและปลายทางของผลลัพธ์ที่เน้นศึกษาปัจจัยที่ส่งเสริมการเลือกท่องเที่ยวเพื่อสิทธิการฉีดวัคซีน และการออกแบบนโยบายที่บูรณาการระหว่างภาคสาธารณสุขและภาคธุรกิจซึ่งเปิดโอกาสให้มีการเข้าถึงวัคซีนระหว่างประเทศ ทำให้งานวิจัยดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

Laddawan Kaewkitipong และคณะ ดำเนินการวิจัยด้วยการแจกแบบสอบถามผ่านทางโซเชียลมีเดียที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และมีการประกาศรับอาสาสมัครเข้าร่วมการวิจัยผ่านกระดานสนสนทนาในสื่อออนไลน์รวมถึงกลุ่มเฟซบุ๊ก ผลปรากกฎว่าได้รับการตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 225 รายการ และเมื่อคัดกรองเพื่อเลือกเฉพาะคำตอบที่ครบถ้วนและไม่ทำซ้ำโดยผู้ตอบคนเดิม ปรากฏว่าได้คำตอบแบบสอบถามที่สมบูรณ์เหลืออยู่ 179 รายการ โดยผู้ตอบแบบสอบถามมีอายุตั้งแต่ 18 ถึง 39 ปี แบ่งเป็นผู้หญิง 74.30% และผู้ชาย 25.70% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด

คำถามในแบบสอบถามถูกออกแบบเพื่อมุ่งเน้นสำรวจปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวกับการตัดสินใจเลือกและแนะนำการท่องเที่ยวพร้อมสิทธิวัคซีน 5 ปัจจัย ได้แก่ 1) ความไว้วางใจต่อระบบการรักษาพยาบาลของต่างประเทศ 2) อิทธิพลทางสังคม 3) ความคุ้มค่าของราคาจ่าย 4) การตัดสินใจเลือกท่องเที่ยวพร้อมสิทธิฉีดวัคซีน 5) ความตั้งใจที่จะแนะนำการท่องเที่ยวพร้อมสิทธิฉีดวัคซีน โดยใช้การให้คะแนนด้วยมาตรวัดลิเคิร์ท (Likert scale) ซึ่งแบ่งเป็น 7 ระดับ โดย 1 = “ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” และ 7 = “เห็นด้วยอย่างยิ่ง”

งานวิจัยดังกล่าวมีข้อค้นพบที่น่าสนใจหลายประการ อาทิ

  • ผู้ตอบแบบสอบถามที่ค่อนข้างสนใจการท่องเที่ยวพร้อมสิทธิฉีดวัคซีนมี 44.13% ส่วนผู้ตอบแบบสอบถามที่สนใจการท่องเที่ยวพร้อมสิทธิฉีดวัคซีนมีเพียง 7.26%
  • ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 33.52% ใช้เวลาในการค้นคว้าข้อมูลบนโซเชียลมีเดียเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการท่องเที่ยวพร้อมสิทธิฉีดวัคซีน
  • ประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวพร้อมสิทธิวัคซีน 4 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ 
  • ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 72.06% มีกำลังจ่ายไม่เกิน 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการท่องเที่ยวพร้อมสิทธิฉีดวัคซีน
  • ผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 73.74% ไม่ต้องการใช้เวลาเกินกว่า 3 สัปดาห์ในฐานะนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีน ขณะที่อีก 26.26% ยินดีที่จะใช้เวลานานกว่า 3 สัปดาห์
  • ความคุ้มค่าของราคาจ่ายเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่นักท่องเที่ยวกลุ่มวัยรุ่นคำนึงถึงในการเลือกตัดสินใจท่องเที่ยวพร้อมสิทธิฉีดวัคซีน 

นอกจากนี้ Laddawan Kaewkitipong และคณะ ได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจ อาทิ 

  • เมื่อต้องแนะนำการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้กับเพื่อนหรือคนที่ตนรัก นักท่องเที่ยววัยกลุ่มวัยรุ่นดูเหมือนจะมีความตั้งใจในเรื่องนี้มากขึ้น โดยพวกเขาจะศึกษาว่าจุดหมายปลายทางที่พวกเขาชื่นชอบมีระบบการรักษาพยาบาลที่น่าเชื่อถือและเชื่อถือได้หรือไม่ 
  • ความไว้วางใจต่อระบบสุขภาพของจุดหมายปลายทางมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยว
  • นักท่องเที่ยวกลุ่มวัยรุ่นที่ได้รับอิทธิพลทางสังคมให้เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแพ็กเกจท่องเที่ยวพร้อมสิทธิฉีดวัคซีนมักจะแนะนำผู้อื่นแต่ไม่นิยมท่องเที่ยวด้วยตนเอง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะงบประมาณที่จำกัด

กล่าวโดยสรุป งานวิจัย “Examining Factors Influencing COVID-19 Vaccine Tourism for International Tourists” สะท้อนว่าการท่องเที่ยวพร้อมสิทธิวัคซีนซึ่งเป็นแนวทางการท่องเที่ยวแบบใหม่ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แม้จะยังไม่ได้รับความนิยมอย่างมากแต่ก็เป็นทางเลือกที่ดีหนึ่งของการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ทั้งนี้ หากพิจารณาจากผลการศึกษาจะเห็นว่านักท่องเที่ยวกลุ่มวัยรุ่นจะให้ความสำคัญกับปัจจัยเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นสำคัญ เช่นนั้นหากประเทศไทยจะสนับสนุนการท่องเที่ยวแนวนี้ในอนาคตจึงอาจต้องคำนึงถึงการออกแบบนโยบายที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของกลุ่มเป้าหมายด้วยเป็นสำคัญ และแน่นอนที่สุดว่าประโยชน์แอบแฝงหนึ่งซึ่งซ่อนอยู่ในการท่องเที่ยวแนวนี้นั่นคือการกระจายโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพให้กับพลเมืองของประเทศอื่น ๆ ที่อาจไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างครอบคลุมตามต้องการ

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่ ธีมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ 
– (8.9) ออกแบบและใช้นโยบายที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่จะสร้างงาน และส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ภายในปี 2573
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

ข้อมูลงานวิจัย: Kaewkitipong, L.; Chen, C.; Ractham, P. Examining Factors Influencing COVID-19 Vaccine Tourism for International Tourists. Sustainability 2021, 13, 12867. https://doi.org/10.3390/ su132212867
ชื่อผู้วิจัย -สังกัดLaddawan Kaewkitipong คณะพานิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ Charlie Chen Walker College of Business, Appalachian State University และ Peter Ractham ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการจัดการการปฏิบัติการและสารสนเทศ 

Research Brief แนะนำงานวิจัยเชิงลึกของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

.

Last Updated on เมษายน 11, 2023

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น