จากการศึกษาของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime : UNODC) และองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลออกมาเป็นรายงาน “Gender-related killings of women and girls: Improving data to improve responses to femicide/feminicide” หรือ “การฆ่าผู้หญิงและเด็กหญิงที่เกี่ยวกับประเด็นทางเพศ: การปรับปรุงข้อมูลเพื่อตอบสนองการแก้ไขการถูกฆ่าของผู้หญิงและเด็กหญิง” ถูกเผยแพร่เนื่องใน ‘วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล’ (25 พฤศจิกายน) ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปี สำหรับรายงานฉบับนี้ได้ออกมาย้ำเตือนว่าความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงเป็นหนึ่งในการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นมากที่สุดทั่วโลก โดยเฉพาะในบ้าน
รายงานการศึกษาปี 2564 ค้นพบประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง ดังนี้
- โดยเฉลี่ยแล้ว ทุก ๆ ชั่วโมง จะมีผู้หญิงหรือเด็กหญิงมากกว่า 5 คนถูกฆ่าจากคู่รักหรือสมาชิกในครอบครัว
- จากจำนวนผู้หญิงและเด็กหญิงที่เสียชีวิตจากการถูกฆ่ารวม 81,000 คน ถูกพบว่าในจำนวนดังกล่าวมี 45,000 คน หรือราวประมาณร้อยละ 56 เสียชีวิตด้วยเงื้อมมือของคู่รักหรือสมาชิกในครอบครัวตนเอง
- ขณะที่ ร้อยละ 11 ของการฆาตกรรมทั้งหมดถูกกระทำในพื้นที่ส่วนตัว (private sphere) โดยผู้ชาย จึงสะท้อนว่า ‘บ้าน’ อาจไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงและเด็กหญิงหลาย ๆ คน
- ผู้หญิงและเด็กหญิงประมาณ 4 ใน 10 คนที่ถูกฆ่าตายโดยเจตนา พบว่า มีข้อมูลไม่เพียงพอในการระบุสาเหตุการตาย ซึ่งการระบุสาเหตุไม่ได้นั้น ทำให้ขาดข้อมูลต่อการจะหยุดยั้งอาชญากรรมที่เกิดขึ้น และไม่อาจเตือนภัยได้ล่วงหน้า รวมถึงการพัฒนานโยบายก็เป็นไปได้ยาก
ทั้งนี้ แม้ว่าการถูกฆ่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก แต่รายงานได้ชี้ถึงความแตกต่างในระดับภูมิภาค โดยในเอเชีย มียอดจำนวนการถูกฆ่าที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพในพื้นที่ส่วนตัวมากที่สุด ขณะที่ แอฟริกา ผู้หญิงและเด็กหญิง มีความเสี่ยงมากกว่าที่จะถูกฆ่าโดยคู่รักหรือสมาชิกในครอบครัวอยู่ที่ประมาณ 2.5 ต่อประชากรหญิง 100,000 คน และหากเทียบสัดส่วนการถูกฆ่าลักษณะนี้ ภูมิภาคอื่น ๆ จะพบว่า ในผู้หญิงทุก ๆ 100,000 คน จะเสียชีวิตอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 1.4 ในอเมริกา 1.2 ในโอเชียนา 0.8 ในเอเชีย และ 0.6 ในยุโรป
อย่างไรก็ตาม แม้รายงานจะระบุว่าการเสียชีวิตเนื่องด้วยประเด็นทางเพศและความรุนแรงในรูปแบบอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็กหญิงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้ด้วยมาตรการต่าง ๆ เช่น การระบุถึงผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงตั้งแต่แรก ๆ การใช้วิธีสนับสนุนและคุ้มครองผู้รอดชีวิตเป็นศูนย์กลาง (survivor-centered approach) รวมไปถึงการมุ่งแก้ไขต้นตอสำคัญอย่างการเปลี่ยนแปลงภาวะความเป็นชายเป็นพิษ (toxic masculinity) บรรทัดฐานทางสังคม (social norms) และการขจัดความไม่เท่าเทียมทางเพศในเชิงโครงสร้างที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิง
ท้ายที่สุดนี้ ผลจากรายงาน สะท้อนว่าการจัดการต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อผู้หญิงและเด็กหญิงยังคงมีความล้มเหลว ปราศจากความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งทุกฝ่ายควรหันมาให้ความสำคัญกับประเด็นนี้อย่างเร่งด่วนในการป้องกันและรับมือต่อสู่กับความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างความปลอดให้แก่ผู้หญิงทุกคน เพราะไม่ควรมีผู้หญิงและเด็กหญิง คนใดรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่ออยู่ที่ ‘บ้าน’ หรือแม้แต่สถานที่ใดก็ตาม
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19: UN Women, UNODC, IAWP ออกคู่มือสำหรับตำรวจ จัดการเคสโดยคำนึงประเด็นทางเพศและ “ผู้รอดชีวิต” เป็นศูนย์กลาง
– ผู้หญิงยังคงเผชิญกับ ‘ความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพ’ (GBV) ในแต่ละวัน แต่รัฐบาลและงานด้านมนุษยธรรมยังให้ความสำคัญน้อยเกินไป
– COP26 กับการจัดการ Climate Change ที่ตระหนักถึงสิทธิและการเสริมพลังอำนาจให้กับผู้หญิงและเด็กหญิง
– ผู้หญิงญี่ปุ่นฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นในปี 2020 อาจเพราะโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงรุนแรงกว่า
– SDG Recommends | 5 อินโฟกราฟิกเล่าสถานการณ์ “ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง” ในโลก 5 รูปแบบ
– SDG Updates | อีก 135 ปี โลกถึงจะมี ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ – สรุปรายงาน GLOBAL GENDER GAP REPORT 2021
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.2) ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่รโหฐาน รวมถึงการค้ามนุษย์ การกระทำทางเพศ และการแสวงประโยชน์ในรูปแบบอื่น
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.2) ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก
– (16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง โดยรวมถึงการกระทำผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อจะป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม
แหล่งที่มา: Home is a deadly place for many women and girls, UN report reveals | UN News
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย