พื้นที่ต้นแบบ ‘ชุมชนริมคลองลาดพร้าว’ มีแนวทางพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำและการท่องเที่ยวอย่างไร? ชวนหาคำตอบจากงานวิจัยของ ‘รศ.ดร.ภาวิณี เอี่ยมตระกูล’

ชวนอ่านงานวิจัย “การพัฒนาชุมชนเศรษฐกิจหมุนเวียนเชิงบูรณาการด้วยนวัตกรรมการเชื่อมต่อระบบขนส่งทางน้ำ” โดย รศ.ดร.ภาวิณี เอี่ยมตระกูล คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินงานผ่านสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)

ปัจจุบันประเทศไทยมีชุมชนแออัดมากกว่า 6,000 แห่งทั่วประเทศและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มคนรวยกับกลุ่มคนจน สะท้อนให้เห็นผ่านรูปแบบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่และการกระจุกตัวของสิ่งก่อสร้าง ประกอบกับความหนาแน่นของประชากรและข้อจำกัดด้านที่ดิน ส่งผลให้เมืองกลืนกินกลุ่มชุมชนเปราะบางมากขึ้น โดยในหลายพื้นที่ถูกเวนคืนที่ดินเพื่อการพัฒนาที่สร้างมูลค่าที่ดินได้มากกว่าเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชุมชนรายได้น้อย

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐได้เล็งเห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านที่อยู่อาศัย โดยมีความพยายามในการพัฒนาและปรับปรุงด้วยหลากหลายวิธีตามสภาพปัญหา แต่กลไกที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืนควรพิจารณาถึงการสร้างการพึ่งพาตนเองที่สามารถสร้างโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจควบคู่กันไป รวมถึงมุ่งเน้นการสร้างความเป็นตัวตนของชุมชนเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรอง สามารถเข้าถึงสิทธิและโอกาสที่พึงจะได้ สู่การเป็นชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

ด้วยปัญหาข้างต้นจึงเป็นที่มาของโครงการวิจัยนี้ โดย รศ.ดร.ภาวิณี ได้ศึกษาพื้นที่ชุมชนริมคลองลาดพร้าวเป็นชุมชนต้นแบบ พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตพื้นที่ชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณคลองลาดพร้าว ซึ่งถือเป็นคลองที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาเพื่อระบบคมนาคมขนส่งทางน้ำ จึงควรสร้างให้เกิดการเชื่อมต่อของการเดินทางด้วยการวางแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาพื้นที่ สร้างความเชื่อมโยงด้วยการใช้ประโยชน์และการพัฒนาทรัพยากรที่นำไปสู่การท่องเที่ยวชุมชน เพื่อตอบสนองความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม ที่สามารถรักษาอัตลักษณ์ของชุมชนได้ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 5 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยนี้ คือ

  1. เพื่อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการพัฒนาเชิงบูรณาการของระบบกิจกรรมชุมชนกับการสร้างการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับชุมชนผู้มีรายได้น้อย
  2. เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ด้วยการสร้างรูปแบบการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในชุมชนเชิงบูรณาการด้านการท่องเที่ยว
  3. เพื่อเสนอแนะรูปแบบการพัฒนาชุมชนผู้มีรายได้น้อยด้วยพื้นฐานของการบูรณาการพัฒนาเชิงนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวโดยมีพื้นฐานของการแบ่งปันผลประโยชน์ในชุมชน

รศ.ดร.ภาวิณี ใช้การวิจัยเชิงสำรวจ (survey research) โดยเก็บรวบรวมข้อมูลผ่านการสนทนากลุ่มกับประธานชุมชนและลูกบ้าน และเก็บข้อมูลแบบสอบถามจำนวน 400 ชุด เพื่อนำสู่การวิเคราะห์และเสนอแนะรูปแบบการพัฒนาชุมชน งานวิจัยครั้งนี้ได้กำหนดกรอบการวิจัยประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

  1. Ecosystem analysis คือ การถอดองค์ความรู้เพื่อการต่อยอดในการศึกษาวิจัยพร้อมกับการวิเคราะห์ศักยภาพของชุมชนเพื่อนำไปสู่การถ่ายทอดรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน โดยพิจารณาทุนทรัพยากรในพื้นที่ชุมชน
  2. Stakeholder mapping คือ การพิจารณาประเด็นการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกลุ่มต่าง ๆ และประยุกต์ใช้เครื่องมือการประเมินตนเองเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินกิจกรรมร่วมกับการศึกษาระบบของชุมชน
  3. Profit making คือ การถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ปรับปรุงและพัฒนาขึ้นให้มีความสอดคล้องต่อความต้องการของประชาชนในชุมชน

ผลการศึกษาสรุปได้ว่า ชุมชนริมคลองลาดพร้าวเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมคลอง ซึ่งมีคลองเป็นอัตลักษณ์สำคัญ ระบบขนส่งทางน้ำจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจที่จะช่วยสร้างมูลค่าที่ดิน การเข้าถึง และโอกาสมากขึ้นในการพัฒนาเศรษฐกิจ

โดยมีประเด็นหลักสำคัญที่ควรพิจารณา ได้แก่

  • บริบทพื้นที่มีผลต่อกำลังการผลิตและการเข้าถึง
  • องค์ความรู้ในการพัฒนาธุรกิจชุมชนโดยเฉพาะการหาตลาดรองรับ

รศ.ดร.ภาวิณี เสนอว่า ควรมีแนวทางในการปรับกลยุทธ์และรูปแบบของกิจกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่พร้อมทั้งหาเครือข่ายเพื่อช่วยเสริมทักษะ องค์ความรู้ กระจายผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์รวมไปถึงการดึงทรัพยากรในชุมชนมาใช้ให้เกิดความเหมาะสมและก่อประโยชน์

ดังนั้นแนวทางการพัฒนาชุมชนด้วยการสร้างรูปแบบการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในชุมชนโดยมีชุมชนริมคลองเป็นตัวแบบของการใช้ต้นทุนเชิงพื้นที่ในการสนับสนุนการขนส่งทางน้ำ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการผลักดันเชิงธุรกิจเมื่อมีการปรับปรุงและพัฒนาสภาพแวดล้อมของคลอง ซึ่งสามารถนำศักยภาพดังกล่าวเป็นแกนหลักในการเชื่อมโยงกิจกรรมธุรกิจในระดับอื่น ๆ (ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน และย่าน) เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน การจัดการขยะ และการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อสร้างรายได้ชุมชน ข้อเสนอแนะที่เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาและการพัฒนาชุมชนเศรษฐกิจหมุนเวียนจากพื้นที่ต้นแบบนี้ สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมในพื้นที่อื่นได้ โดยพิจารณาจากทุนทางทรัพยากรของชุมชนเป็นหลัก เพื่อสร้างชุดทางเลือกที่ให้ผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์ต่อปัญหาเชิงพื้นที่ของบริบทชุมชนนั้น และสร้างความสามารถในการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันภายในเครือข่ายชุมชน

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ธีมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.4) ภายในปี 2573 สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะคนยากจนและกลุ่มผู้เปราะบาง มีสิทธิเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการเข้าถึงการบริการขั้นพื้นฐาน การถือกรรมสิทธิ์ และใช้ประโยชน์เหนือที่ดินและทรัพย์สิน
– (1.b) สร้างกรอบการดำเนินงานด้านนโยบายที่แข็งแกร่งในระดับชาติ ระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ และยุทธศาสตร์การพัฒนาที่คำนึงถึงความละเอียดอ่อน ด้านเพศสภาพและคนยากจน เพื่อสนับสนุนการ ลงทุนเพื่อขจัดความยากจนให้เพิ่มมากขึ้น
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.9) ในปี 2030 วางแผนและดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่สร้างงานและส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นและผลิตภัณฑ์
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม เเละอุตสาหกรรม
– (9.1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ยั่งยืนและมีความทนทานซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน ภูมิภาคและที่ข้ามเขตแดนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ โดยมุ่งไปที่การเข้าถึงได้ในราคาที่สามารถจ่ายได้และเท่าเทียมสำหรับประชาชนทุกคน
#SDG11 เมืองเเละชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงที่อยู่อาศัยและการบริการพื้นฐานที่พอเพียงปลอดภัยและในราคาที่สามารถจ่ายได้ และยกระดับชุมชนแออัดภายในปี 2573
– (11.2) จัดให้มีการเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืนเข้าถึงได้ปลอดภัยในราคาที่สามารถจ่ายได้สำหรับทุกคน พัฒนาความปลอดภัยทางถนน โดยการขยายการขนส่งสาธารณะและคำนึงเป็นพิเศษถึงกลุ่มคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ผู้หญิง เด็ก ผู้มีความบกพร่องทางร่างกายและผู้สูงอายุภายในปี 2573
– (11.3) ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืนเพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืนในทุกประเทศ ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.8) สร้างหลักประกันว่าประชาชนในทุกแห่งมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องและความตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติภายในปี 2573
– (12.b) พัฒนาและใช้เครื่องมือติดตามผลกระทบการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนซึ่งสร้างงานและส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น

Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Last Updated on ธันวาคม 14, 2022

Author

  • Kanokphorn Boonlert

    Manager of Knowledge Communications | "The good life is a process, not a state of being. It is a direction not a destination." − Carl R. Rogers

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น