ชวนอ่านงานวิจัย “การพัฒนาโครงสร้างคณะกรรมการบริหารสภาวัฒนธรรมด้วยพลังการมีส่วนร่วม ของเครือข่ายในพื้นที่ตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553” โดย ผศ.รณรงค์ จันใด คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม
ประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมจึงถือเป็นโจทย์ท้าทายในการทําให้ประชาชนเห็นความสําคัญและเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการขับเคลื่อนการดําเนินงานวัฒนธรรมในท้องถิ่นตนเองให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน กรมส่งเสริมวัฒนธรรมจึงได้จัดตั้งสภาวัฒนธรรมในแต่ละระดับ ตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการขยายเครือข่ายการดําเนินงานด้านวัฒนธรรมในพื้นที่ในลักษณะกระจายอํานาจทางวัฒนธรรม และนำมาสู่การริเริ่มโครงการพัฒนาโครงสร้างคณะกรรมการบริหารสภาวัฒนธรรมด้วยพลังการมีส่วนร่วมของเครือข่ายในพื้นที่ ตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553
เพื่อให้ส่งเสริมการพัฒนาสภาวัฒนธรรมต้นแบบดังกล่าว ผศ.รณรงค์ จึงดำเนินการวิจัยข้างต้น โดยมีวัตถุประสงค์โดยสรุป 3 ประการ คือ
- สร้างตัวอย่างสภาวัฒนธรรมและข้อเสนอเชิงนโยบายและการนำไปสู่การปฏิบัติในการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานของสภาวัฒนธรรมจังหวัด รวมทั้งการขยายผลไปสู่จังหวัดใกล้เคียง
- จัดทำหลักสูตรการพัฒนาโครงสร้างคณะกรรมการบริหารสภาวัฒนธรรมด้วยพลังการมีส่วนร่วมของเครือข่ายในพื้นที่ตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 โดยนำหลักสูตรการพัฒนาดังกล่าวไปทดลองใช้ในพื้นที่นำร่อง 8 จังหวัด และประเมินการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของสภาวัฒนธรรม
- ประมวลองค์ความรู้จากการศึกษาวิเคราะห์และเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างสภาวัฒนธรรม ตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 กับสภาหอการค้าตามพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. 2509 และปัญหา อุปสรรค ของการดำเนินงานเกี่ยวกับสภาวัฒนธรรมตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 เพื่อนำมาปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรมการบริหารสภาวัฒนธรรมให้มีความเข้มแข็งและบริหารจัดการตนเองได้ อย่างมีประสิทธิภาพ
จึงนับว่าเป็นงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง เป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ผศ.รณรงค์ ดำเนินการศึกษาด้วยวิธีการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพและการศึกษาเชิงปริมาณ โดยศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลผ่านการเก็บข้อมูล 3 วิธี ได้แก่
- การศึกษาจากเอกสาร (documentary study) ที่เป็นการเก็บและศึกษาข้อมูลจากเอกสาร บทความวิชาการ วิทยานิพนธ์ วารสาร งานวิจัยและสื่อต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 กับพระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. 2509 และ ปัญหา อุปสรรคของการดําเนินงานเกี่ยวกับสภาวัฒนธรรมตามพระราชบัญญัติ วัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 โดยนํามาสร้างเป็นแนวทางการดําเนินงานของสภาวัฒนธรรมตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 เพื่อนําไปสู่การสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนของสภาวัฒนธรรม
- การสัมภาษณ์แบบเป็นทางการ (formal interview) และการสัมภาษณ์พูดคุยแบบไม่เป็นทางการ (informal interview) กับผู้บริหารกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ประธานสภาวัฒนธรรมแห่งชาติและ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดที่ลงพื้นที่ศึกษาร่วมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแนวทางหรือวิธีการสร้างการมีส่วนร่วมของเครือข่าย โดยได้มีการดําเนินการจัดทําหลักสูตรการพัฒนาโครงสร้างคณะกรรมการบริหารสภาวัฒนธรรมด้วยพลังการมีส่วนร่วมของเครือข่ายในพื้นที่
- การจัดเวทีเสวนากลุ่ม (focus group) หรือการประชุมกลุ่มย่อย ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ผู้ศึกษามีความประสงค์ในการจัดเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างคณะกรรมการบริหารสภาวัฒนธรรมด้วยพลังการมีส่วนร่วมของเครือข่ายในพื้นที่ สําหรับการศึกษาเชิงปริมาณได้ใช้วิธีการประเมินผู้เข้าร่วมการอบรมหลังจากเข้าร่วมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เป็นการประเมินผลด้านการเรียนรู้ (learning) และความพึงพอใจ (reaction) มีผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ จํานวน 280 คน โดยการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ (frequency) ร้อยละ (percentage) และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis)
ผลการศึกษาที่สำคัญจากงานวิจัยข้างต้น ได้แก่
- การขับเคลื่อนงานของสภาวัฒนธรรม ควรมีองค์ประกอบจากการส่งเสริมวัฒนธรรมให้เป็นเป้าหมายร่วมกัน การมีส่วนร่วมในกิจกรรมสภาวัฒนธรรมในฐานะที่วัฒนธรรมเป็นของประชาชนและการต่อยอดวัฒนธรรมสู่การสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ส่งเสริมพัฒนาวิถีชีวิตในปัจจุบัน
- การพัฒนาโครงสร้างคณะกรรมการบริหารสภาวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดการขยายเครือข่ายทางวัฒนธรรมและพัฒนาโครงสร้างคณะกรรมการบริหารสภาวัฒนธรรมให้มีความเข้มแข็งด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเครือข่ายวัฒนธรรม
- สภาวัฒนธรรมที่พึงประสงค์ควรเป็นองค์กรที่เป็นต้นแบบด้านการส่งเสริม อนุรักษ์ ฟื้นฟู และต่อยอดวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยให้ความสำคัญกับประชาชนที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมให้เข้ามามีส่วนร่วม เกิดการสร้างงานและกระจายรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น มีการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจไปพร้อมกับการอนุรักษ์วัฒนธรรม นอกจากนี้ ยังต้องมีการดำเนินงานที่มีความชัดเจนเป็นรูปธรรมทั้งด้านบุคลากร พื้นที่ งบประมาณ การมีส่วนร่วมในสภาวัฒนธรรมต้องมาจากหลายภาคส่วนและส่งเสริม ให้คนทุกช่วงวัยให้เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนงานสภาวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น
- ข้อเสนอเชิงนโยบายและการนำไปสู่การปฏิบัติในการพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรมการสภาวัฒนธรรม ประกอบด้วยข้อเสนอด้านการขับเคลื่อนงานของสภาวัฒนธรรม ด้านโครงสร้างคณะกรรมการวัฒนธรรม ด้านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายทางวัฒนธรรมและด้านการบริหารจัดการ
นอกจากนี้ ผศ.รณรงค์ ยังได้เสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนงานของสภาวัฒนธรรมในด้านต่าง ๆ ดังนี้
- ด้านรูปแบบการดำเนินงาน ควรมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคการศึกษา รวมถึงชุมชน ให้มีส่วนร่วมกันรักษาสืบสาน ต่อยอดวัฒนธรรมของประเทศ
- ด้านการบริหารจัดการ ควรมีการพัฒนากิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการลงพื้นที่ การอบรมให้ความรู้จัดสรรงบประมาณในการบริหารจัดการงาน สภาวัฒนธรรมทุกระดับ สนับสนุนงบป ระมาณและส่งเสริมพื้นที่ให้เกิด การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวของคนในชุมชน
- ด้านการจัดการข้อมูล ควรมี Big data วัฒนธรรมของแต่ละเขตแต่ละจังหวัด โดยมีการปรับปรุงเว็บไซต์ของกระทรวงให้ทันสมัย และติดตามข่าวสาร กิจกรรมต่างๆ มีการเผยแพร่ข้อมูลวัฒนธรรมท้องถิ่นให้มากและชัดเจนขึ้น
กล่าวโดยสรุป งานวิจัยของ ผศ.รณรงค์ ได้ศึกษา ค้นพบ และเสนอแนวทางการพัฒนาสภาวัฒนธรรมจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรม สามารถนำสู่การทดลองปฏิบัติแลปรับใช้ได้ในระดับพื้นที่ และด้วยการใช้วิธีการเก็บข้อมูลที่หลากหลายจึงส่งเสริมให้งานวิจัยดังกล่าวครอบคลุมประเด็นสำคัญและผู้เกี่ยวข้องที่หลากหลาย ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์และสอดคล้องกับความพยายามกระจายการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรมในการจัดตั้งสภาวัฒนธรรมขึ้นด้วยเช่นกัน
งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่ ธีมหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อน
งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)
Last Updated on เมษายน 11, 2023