แนวคิดเกี่ยวกับการบูรณาการโซ่อุปทานสีเขียว (green supply chain integration หรือ GSCI) มาจากการจัดการโซ่อุปทานสีเขียว (green supply chain management หรือ GSCM) และการบูรณาการโซ่อุปทาน (supply chain integration หรือ SCI) โดยหลักปฏิบัติของ GSCM เป็นแนวคิดที่ค่อนข้างกว้าง และถูกนำมาใช้ในการจัดการประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมของห่วงโซ่อุปทาน จึงได้มีการประยุกต์ใช้ SCI ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีความมุ่งเน้นมากขึ้นเพื่อพัฒนาแนวคิด GSCM โดยให้เหตุผลว่า “อาจช่วยให้เรามีความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ทำให้ห่วงโซ่อุปทานมีความยั่งยืนมากขึ้นและช่วยประเมินผลกระทบของกิจกรรมดังกล่าวต่อการดำเนินงานด้านความยั่งยืน” SCI เป็นแนวคิดพื้นฐานของการจัดการห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวทางความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานผ่านกลไกการบูรณาการ (เช่น การจัดลำดับขั้น การแบ่งปันข้อมูล และการร่วมมือกัน) ซึ่งอยู่ภายในการบูรณาการภายในองค์กรและแนวทางปฏิบัติระหว่างองค์กร
นวัตกรรมสีเขียว (green innovation) เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยี กลยุทธ์ และระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยลดการใช้ทรัพยากรและการปล่อยมลพิษ ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนการออกแบบผลิตภัณฑ์และ/หรือกระบวนการที่มีอยู่เพื่อลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในระหว่างขั้นต่าง ๆ ของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (product life cycle) นวัตกรรมสีเขียวที่จำเป็นต้องมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่อาจทำให้สำเร็จได้ยาก หลายบริษัทอาจมีความยินดีมากกว่าที่จะนำนวัตกรรมสีเขียวมาใช้ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงเฉพาะกระบวนการผลิตและโลจิสติกส์โดยไม่มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่
เป็นที่ถกเถียงกันว่าการลงทุนในนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สีเขียว หรือนวัตกรรมกระบวนการสีเขียว หรือทั้งสองอย่าง อาจนำไปสู่ความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญต่อผลลัพธ์การดำเนินงาน ดังนั้น การศึกษาในครั้งนี้จึงแบ่งนวัตกรรมสีเขียวออกเป็น นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สีเขียว (green product innovation) และนวัตกรรมกระบวนการสีเขียว (green process innovation)
นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สีเขียว เกิดจากการรวมแนวคิดการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเข้ากับการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อปรับปรุงคุณภาพและสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญด้านเทคโนโลยี วัสดุ และการออกแบบ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สีเขียวอาจลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในระหว่างการผลิต รวมถึงเมื่อผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์สีเขียว เช่น เครื่องซักผ้าที่ใช้น้ำและพลังงานน้อย หรือบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลได้ง่าย
นวัตกรรมกระบวนการสีเขียว หมายถึง “การปรับเปลี่ยนกระบวนการและระบบการผลิตเพื่อทำให้เกิดการประหยัดพลังงาน ป้องกันมลพิษ และรีไซเคิลของเสีย” แม้คำว่ากระบวนการและระบบการผลิตสามารถมองอย่างแคบได้ว่าเป็นการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่มีการขยายขอบเขตของนวัตกรรมกระบวนการสีเขียว โดยพิจารณาถึงการจัดหาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรืออย่างมีจริยธรรมและโลจิสติกส์สีเขียว นวัตกรรมกระบวนการสีเขียวมุ่งเน้นไปที่การลดของเสียและการใช้พลังงานในระหว่างขั้นตอนการจัดหา (sourcing) การผลิต (production) และกิจกรรมด้านโลจิสติกส์ (logistics activities) โดยไม่ต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ด้วยการลงทุนในนวัตกรรมกระบวนการผลิตสีเขียว บริษัทต่าง ๆ อาจกล่าวอ้างถึงผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมภายในกิจกรรมการผลิตและโลจิสติกส์ แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงการออกแบบผลิตภัณฑ์ ผู้บริโภคจึงอาจไม่ได้รับผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การประหยัดพลังงาน ประหยัดน้ำจากการใช้ผลิตภัณฑ์ เช่นที่ได้รับจากนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สีเขียว
แม้จะมีการนำมิติของ GSCI และนวัตกรรมสีเขียวมารวมกันเป็นโครงสร้างการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนเพื่ออธิบายการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมและด้านการเงิน แต่มุมมองนี้ไม่ได้พิจารณาว่าผลการดำเนินการที่แตกต่างกันสามารถสร้างขึ้นได้โดยการใช้กลไกการบูรณาการที่แตกต่างกันตามมิติของ GSCI ต่าง ๆ ซึ่งเห็นได้ชัดว่านำไปสู่ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน
เมื่อพิจารณามิติการบูรณาการห่วงโซ่อุปทาน (SCI) ที่แตกต่างกันใช้กลไกการบูรณาการที่แตกต่าง การศึกษาในครั้งนี้จึงแบ่ง GSCI ออกเป็น 3 มิติ ได้แก่ การบูรณาการภายในสีเขียว (green internal integration หรือ GII) การบูรณาการผู้จัดจำหน่ายสีเขียว (green supplier integration หรือ GSI) และการบูรณาการผู้บริโภคสีเขียว (green customer integration หรือ GCI) โดยตั้งสมมติฐานว่า GII ปรับปรุง GSI และ GCI ซึ่งจะนำไปสู่ปรับปรุงการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมและด้านต้นทุนผ่านการปรับปรุงความสามารถในการประมวลข้อมูลที่จำเป็นเพื่อบรรลุให้เกิดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และกระบวนการสีเขียว
การศึกษากลไกการบูรณาการโซ่อุปทานสีเขียว (GSCI) ที่สัมพันธ์กับนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และกระบวนการสีเขียว และการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมและด้านต้นทุน เป็นที่มาของงานวิจัย “Effects of green supply chain integration and green innovation on environmental and cost performance” โดย Chee Yew Wong จาก University of Leeds ประเทศสหราชอาณาจักร Christina W.Y. Wong จาก The Hong Kong Polytechnic University ฮ่องกง และ ศ.ดร.ศากุน บุญอิต จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ด้วยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมิติการบูรณาการห่วงโซ่อุปทานสีเขียว นวัตกรรมผลิตภัณฑ์และกระบวนการสีเขียว รวมถึงการดำเนินการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม งานวิจัยนี้จึงสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม เเละอุตสาหกรรม และเป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
Wong และคณะ ได้พัฒนาสมมติฐานจากการทบทวนกรรมจากงานวิจัยก่อนหน้า กรอบความคิดเชิงทฤษฎีและสมมติฐานแสดงดังภาพที่ 1 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- สมมติฐาน H1: การบูรณาการภายในที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green internal integration หรือ GII) มีความสัมพันธ์ทางบวกกับ (a) การบูรณาการผู้จัดจำหน่ายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (green supplier integration หรือ GSI) และ (b) การบูรณาการผู้บริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (green customer integration หรือ GCI)
- สมมติฐาน H2: การบูรณาการภายในที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (GII) มีความสัมพันธ์ทางบวกกับ (a) นวัตกรรมกระบวนการสีเขียว (green process innovation) และ (b) นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สีเขียว (green product innovation)
- สมมติฐาน H3: การบูรณาการผู้จัดจำหน่ายที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (GSI) มีความสัมพันธ์ทางบวกกับ (a) นวัตกรรมกระบวนการสีเขียว และ (b) นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สีเขียว
- สมมติฐาน H4: การบูรณาการผู้บริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (GCI) มีความสัมพันธ์ทางบวกกับ (a) นวัตกรรมกระบวนการสีเขียว และ (b) นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สีเขียว
- สมมติฐาน H5: นวัตกรรมกระบวนการสีเขียวมีความสัมพันธ์ทางบวกกับ (a) การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม (environmental performance) และ (b) การลดต้นทุน (cost reduction)
- สมมติฐาน H6: นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สีเขียวมีความสัมพันธ์ทางบวกกับ (a) การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม แต่มีความสัมพันธ์ทางลบกับ (b) การลดต้นทุน
- สมมติฐาน H7: การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการลดต้นทุน
รูปแบบการศึกษาในครั้งนี้ใช้การวิจัยเชิงสำรวจ (survey research) คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างจากผู้ผลิตและบริษัทค้าปลีก/การค้าในฮ่องกง เนื่องจากฮ่องกงเปรียบเสมือนประตูแห่งการส่งออกและนำเข้าที่สำคัญสำหรับบริษัทจากจีนและฮ่องกง โดยสุ่มเลือกบริษัท 1,000 แห่งในฮ่องกงจากฐานข้อมูล Dun & Bradstreet และส่งอีเมลถึงผู้บริหารเพื่ออธิบายวัตถุประสงค์ของการศึกษา พร้อมแนบ URL ที่สามารถเข้าถึงแบบสอบถามออนไลน์ได้ หลังจากการส่งอีเมลและโทรศัพท์ติดตามผล พบว่า แบบสอบถามที่มีการตอบกลับเสร็จสมบูรณ์มีจำนวนทั้งสิ้น 192 ฉบับ โดยมีอัตราการตอบกลับเพียง 19.2%
จากผลการทดสอบสมมติฐานด้วยการวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้าง (structural equation modelling หรือ SEM) แสดงดังภาพที่ 2 และตารางที่ 1 โดยสามารถสรุปได้ดังนี้
- GII มีความสัมพันธ์กับ GSI (β = 0.758, p < 0.001) และ GCI (β = 0.835, p < 0.001) อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นจึงยอมรับสมมติฐาน H1a และ H1b
- GII ไม่มีความสัมพันธ์กับทั้งนวัตกรรมกระบวนการและผลิตภัณฑ์สีเขียวอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นจึงปฏิเสธสมมติฐาน H2a และ H2b
- GSI ไม่มีความสัมพันธ์กับทั้งนวัตกรรมกระบวนการและผลิตภัณฑ์สีเขียวอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นจึงปฏิเสธสมมติฐาน H3a และ H3b
- GCI มีความสัมพันธ์กับนวัตกรรมกระบวนการสีเขียว (β = 0.628, p < 0.001) และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สีเขียวอย่างมีนัยสำคัญ (β = 0.657, p < 0.001) ดังนั้นจึงยอมรับสมมติฐาน H4a และ H4b
- นวัตกรรมกระบวนการสีเขียวมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม (β = 0.687, p < 0.01) และการลดต้นทุน (β = 0.481, p < 0.05) อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นจึงยอมรับสมมติฐาน H5a และ H5b
- นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สีเขียวไม่มีความสัมพันธ์กับการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมและการลดต้นทุน ดังนั้นจึงปฏิเสธสมมติฐาน H6a และ H6b
- พบความสัมพันธ์ระหว่างการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมและการลดต้นทุนอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นจึงยอมรับสมมติฐาน H7
ผลการศึกษาครั้งนี้ยืนยันได้ว่า นวัตกรรมผลิตภัณฑ์และกระบวนการสีเขียวอาจส่งผลต่อการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมและด้านต้นทุนไม่เท่ากัน โดยนวัตกรรมกระบวนการสีเขียวสามารถปรับปรุงการดำเนินการด้านต้นทุนได้โดยตรงหรือผ่านการปรับปรุงการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ นวัตกรรมกระบวนการสีเขียวสามารถลดต้นทุนได้โดยตรงและผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพทรัพยากร ในขณะที่นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สีเขียวไม่สามารถลดต้นทุนหรือปรับปรุงการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากอาจเพิ่มต้นทุนและเกิดความล้มเหลวในการสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความต้องการความสามารถในการประมวลผลข้อมูลในระดับที่สูงขึ้นอย่างมาก และ/หรือการมีอยู่ของปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความเต็มใจของผู้บริโภคในการซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในราคาแพง
นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สีเขียวเกี่ยวข้องกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ คุณภาพ และความน่าเชื่อถือที่เกี่ยวกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนนวัตกรรมกระบวนการสีเขียวเกี่ยวข้องกับนวัตกรรมในกระบวนการดำเนินงาน การจัดหา และโลจิสติกส์ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและการปล่อยมลพิษ ซึ่งการปรับปรุงด้านการออกแบบ คุณภาพ และความน่าเชื่อของผลิตภัณฑ์นั้นเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่และการลงทุนมหาศาล แต่ทว่าการลดการใช้ทรัพยากรผ่านนวัตกรรมกระบวนการสีเขียวช่วยลดการใช้พลังงานและวัสดุได้เช่นกัน นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สีเขียวอาจมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นการประหยัดต้นทุนด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอาจทำได้ยากกว่าเมื่อเทียบกับนวัตกรรมกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ตามหลักการแล้ว ทั้งนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และกระบวนการสีเขียวสามารถนำไปสู่การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ความต้องการเทคโนโลยีด้านผลิตภัณฑ์และด้านกระบวนการมีลักษณะแตกต่างกัน และผลประโยชน์เกิดขึ้นในส่วนของห่วงโซ่อุปทานที่แตกต่างกันด้วย ตัวอย่างเช่น เครื่องซักผัก ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอาจหมายถึงการใช้น้ำและพลังงานน้อยลงสำหรับผู้บริโภค แต่อาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้จัดจำหน่าย ผู้ผลิต หรือผู้ขายที่จะได้รับประโยชน์ หากพวกเขาไม่ได้รับการประกันราคาจากการลงทุนด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้เทคโนโลยีและวัสดุใหม่หรือซับซ้อนมากขึ้นเพื่อให้ได้การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาจเพิ่มความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการได้รับประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมและด้านต้นทุนในอนาคต สิ่งนี้ยังอธิบายว่าทำไมผู้ผลิตจึงให้ความสำคัญกับกระบวนการดำเนินงาน การจัดหา และโลจิสติกส์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือนวัตกรรมกระบวนการสีเขียว เพื่อประหยัดต้นทุนจากการลดการใช้วัสดุและพลังงาน
ผลการศึกษานี้ยังแสดงให้เห็นว่า GII มีผลต่อทั้ง GSI และ GCI อย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ GCI เท่านั้นที่สามารถส่งผลต่อนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และกระบวนการสีเขียว นั่นหมายถึงความสามารถในการประมวลผลข้อมูลที่เพิ่มขึ้นโดย GII ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อทำให้เกิดนวัตกรรมผ่านกลไกการบูรณาการกับผู้บริโภค และข้อค้นพบนี้ยังชี้ให้เห็นว่าการใช้กลไกการบูรณาการลำดับขั้น ช่วยเพิ่มหรือก่อให้เกิดการใช้กลไกการบูรณาการเพื่อปรับปรุงการประมวลข้อมูลกับผู้จัดจำหน่ายและผู้บริโภค
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้มีข้อจำกัดบางประการที่ควรพิจารณา ได้แก่
- การใช้ข้อมูลที่จุดเวลาใดเวลาหนึ่ง (cross-sectional data) ซึ่งจำกัดความสามารถในการอนุมานความเป็นสาเหตุ (causality) การศึกษาในอนาคตอาจพิจารณานำแนวทางการเก็บข้อมูลที่หลากหลายมาใช้เพื่อปรับปรุงความแม่นยำและสร้างความเป็นสาเหตุ
- แม้ว่างานวิจัยนี้จะมีมาตรวัดที่แม่นยำสำหรับตัวแปร GSCI และนวัตกรรมสีเขียว และการทดสอบสมมติฐานในงานวิจัยนี้ใช้โมเดลทางเลือกหลายโมเดล แต่เป็นไปได้ว่าผู้วิจัยไม่ได้ศึกษาความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนทั้งหมดระหว่างตัวแปรแต่ละตัว เช่น ไม่มีการศึกษาตัวแปรกำกับ (moderator) ที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตเพื่อค้นหาเงื่อนไขขอบเขต (boundary condition) ของความสัมพันธ์ต่าง ๆ
- งานวิจัยนี้กำหนดแนวคิด วัดผล รวมถึงวิเคราะห์ผล GSCI และนวัตกรรมสีเขียวแบบ second-order construct แต่ขนาดตัวอย่างไม่เพียงพอที่จะรวมปัจจัยเพิ่มเติมในโมเดลโครงสร้าง นอกจากนี้ข้อมูลที่ได้รับมาจากการให้ข้อมูลเพียงคนเดียว ดังนั้นข้อมูลเหล่านี้อาจมีปัญหาความแปรปรวนจากวิธีการวัด (common method variance) การศึกษาในอนาคตอาจพิจารณารวบรวมข้อมูลในแต่ละบริษัทจากผู้ให้ข้อมูลหลายคน
- แม้งานวิจัยนี้จะแสดงให้เห็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับอิทธิพลส่งผ่าน (mediation effect) ของนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และกระบวนการสีเขียว และความสัมพันธ์ระหว่าง GSCI และประสิทธิภาพการดำเนินงาน แต่งานวิจัยในอนาคตอาจต้องศึกษาผลเพิ่มเติมของนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และกระบวนการสีเขียว ตลอดจนผลเพิ่มเติมของมิติต่าง ๆ ของ GSCI ต่อประสิทธิภาพการดำเนินงาน
กล่าวโดยสรุปคือ งานวิจัยในครั้งนี้ทำการศึกษาผลของการบูรณาการโซ่อุปทานสีเขียว (GSCI) และนวัตกรรมสีเขียวที่สัมพันธ์กับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและด้านต้นทุน โดยนวัตกรรมกระบวนการสีเขียวสามารถปรับปรุงการดำเนินการด้านต้นทุนได้โดยตรงและผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพทรัพยากร (การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม) เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมในกระบวนการดำเนินงาน การจัดหา และโลจิสติกส์ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและการปล่อยมลพิษ ในขณะที่นวัตกรรมผลิตภัณฑ์สีเขียวไม่สามารถลดต้นทุนหรือปรับปรุงการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมได้ เนื่องจากอาจเพิ่มต้นทุนและเทคโนโลยีใหม่ อย่างไรก็ตามข้อจำกัดของการวิจัยนี้คือ การไม่สามารถอนุมานความเป็นสาเหตุได้ ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรในโมเดลที่ยังไม่ได้ศึกษา ปัญหาความแปรปรวนจากวิธีการวัด ซึ่งจำเป็นต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันพบที่พบต่อไป
งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ธีมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม เเละอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และปรับปรุงอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนโดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพภายในปี 2573
– (12.5) ลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกันการลดปริมาณการใช้ซ้ำและการนำกลับมาใช้ใหม่ ภายในปี 2573
รายการอ้างอิง
Wong, C. Y., Wong, C. W., & Boon-itt, S. (2020). Effects of green supply chain integration and green innovation on environmental and cost performance. International Journal of Production Research, 58(15), 4589-4609.
ชื่อผู้วิจัย – สังกัด
Chee Yew Wong1, Christina W.Y. Wong2, ศากุน บุญอิต3
1 Leeds University Business School, University of Leeds, Leeds, UK
2 Institute of Textiles and Clothing, The Hong Kong Polytechnic University, Hung Hom, Hong Kong
3 สาขาวิชาบริหารการปฏิบัติการ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Research Brief แนะนำงานวิจัยเชิงลึกของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)