เรียนรู้ ‘โมเดลพื้นที่อำเภอปากช่อง’ จะวางแผน ควบคุม ป้องกัน โรคติดเชื้อพยาธิใบไม้อย่างไร ชวนค้นหาคำตอบจากงานวิจัยของ ‘รศ. ดร.อมรรัตน์ เกิดแก้ว เคร็นซ์ และคณะ’

ชวนอ่านงานวิจัย “การศึกษาเพื่อการวางแผน การควบคุมและป้องกัน โรคติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับในโคเนื้อและโคนม โดยใช้โมเดลการศึกษาในพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา” โดย รศ. ดร.อมรรัตน์ เกิดแก้ว เคร็นซ์ คณะสหเวชศาสตร์ ผศ.ดร.พงศกร มาตย์วิเศษ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เผยแพร่ผ่านสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)  

ความน่าสนใจของพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ฟาร์มปศุสัตว์ที่ทำเป็นโฮสต์จำเพาะของพยาธิใบไม้ ‘ฟาสซิโอล่า ไจแกนติก่า’ (Fasciola gigantica) อยู่หลายชนิด เช่น โค กระบือ เป็นต้น ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่นิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในพื้นที่ โดยเฉพาะโคเนื้อและโคนม ที่นิยมเลี้ยงกันอย่างมากในอำเภอปากช่อง ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ราบสูงเชิงเขาและที่ราบลุ่ม มีแหล่งน้ำขนาดเล็กใหญ่กระจายอยู่ทั่วไป จึงเกิดการแพร่พันธุ์ของหอยตัวกลางชนิดหนึ่งของพยาธิใบไม้ F. gigantica รวมถึงมีโอกาสสูงที่พยาธิจะดำรงชีวิตได้แบบครบวงจร อันเป็นตัวการสำคัญทำให้ติดเชื้อในสัตว์ และเป็นอีกปัญหาสาธารณสุขที่ลุกลามจากสัตว์สู่คน 

เพื่อให้ดำเนินตามแผนงานวิจัย ได้กำหนดวัตถุประสงค์ คือ เพื่อศึกษาเชิงระบาดวิทยาโดยใช้การเก็บข้อมูลร่วมกับการศึกษาระดับโมเลกุลเพื่อให้ได้ข้อมูลทั้งเชิงภูมิศาสตร์และพฤติกรรม รวมถึงความหลากหลายทางพันธุกรรมของพยาธิและหอย และเพื่อนำไปสู่การประยุกต์ระบบภูมิสารสนเทศที่จะสามารถใช้เพื่อการประเมินความเสี่ยงของปศุสัตว์ในพื้นที่ต่อโอกาสการติดพยาธิต่อไปในอนาคต จึงนับว่าเป็นงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย และเป้าหมายที่ 3 สุขภาพเเละความเป็นอยู่ที่ดี 

รศ. ดร.อมรรัตน์ และคณะ จึงดำเนินการศึกษาด้วยการศึกษาด้านระบาดวิทยา มีการเก็บตัวอย่างจากโคเนื้อและโคนมได้ทั้งสิ้น 231 ตัวอย่าง ซึ่งแบ่งเป็นตัวอย่างมูลสัตว์จำนวน 201 ตัวอย่าง และตัวอย่างซีรัม จำนวน 231 ตัวอย่าง ซึ่งผลการตรวจพบความชุกการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ Fasciola spp. จากการตรวจมูลสัตว์ร้อยละ 5.97 และความชุกการติดเชื้อจากการตรวจซีรัม (seroprevalence) ร้อยละ 27.27 พบว่า โคเนื้อมีอัตราการติดเชื้อสูงกว่าโคนม ซึ่งพบว่าปัจจัยอื่นที่ส่งเสริมให้เกิดการติดเชื้อ คือ ลักษณะโรงเรือนที่เป็นพื้นดินและอาหาร 

นำมาสู่การต่อยอดในส่วนของการศึกษาที่จะต่อยอดไปยังปีที่ 2 พบว่าหอยในพื้นที่มีการติดเชื้อพยาธิใบไม้ F. gigantica ในระดับสูง จากการทดสอบโดยวิธี PCR และเมื่อนำข้อมูลความชุกการติดเชื้อที่ตรวจพบจากมูลสัตว์ของโคเนื้อและโคนม ซึ่งเป็นการออกแบบฐานข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงเพื่อหาความสัมพันธ์เชิงตำแหน่งที่พบพยาธิใบไม้ตับและปัจจัยทางกายภาพต่าง ๆ โดยเฉพาะปัจจัยเชิงพื้นที่ รวมถึงปัจจัยที่มีผลกระทบเชิงพื้นที่ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และใช้การวิเคราะห์แบบ Local Moran’s I โดยได้ตรวจสอบค่า Outlier ของทุกตัวแปร เพื่อให้ได้ผลการวิเคราะห์ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรฟาร์มโคในพื้นที่อำเภอปากช่อง

จากการศึกษาข้างต้น ผลการศึกษา พบว่า การเลี้ยงโคด้วยระบบเปิด การปล่อยสัตว์หากินตามธรรมชาติ ที่ตั้งของฟาร์มโคที่มีระยะใกล้แหล่งน้ำในระยะห่างไม่เกิน 500 เมตร และอยู่ใกล้กับฟาร์มที่พบพยาธิ ล้วนเป็นสาเหตุของการระบาดของพยาธิใบไม้

รศ. ดร.อมรรัตน์ และคณะ จึงให้ข้อเสนอแนะแก่เกษตรกรว่า การเลี้ยงโค โดยเฉพาะฟาร์มโคที่มีการติดเชื้อพยาธิใบไม้อย่างรุนแรง ควรเลี้ยงแบบระบบปิด ไม่ปล่อยโคให้ออกมาดื่มน้ำหรือถ่ายมูลในบริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้หญ้าบริเวณแหล่งน้ำในพื้นที่เสี่ยงสูง ทั้งนี้ เมื่อระบบการเลี้ยงดีแล้ว เกษตรกรควรกำจัดพยาธิในโคทุกตัวอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามคำแนะนำของกรมปศุสัตว์ โดยแนะนำให้เพิ่มการถ่ายพยาธิตัวแบนร่วมด้วย เพราะแม้จะไม่พบผู้ป่วยการติดเชื้อพยาธิใบไม้ F. gigantica จากสัตว์สู่คนในเขตอำเภอปากช่องแต่หลายครั้ง การวินิจฉัยกลับพบอาการทางตับและถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัด

กล่าวโดยสรุป งานวิจัยของ รศ. ดร.อมรรัตน์ และคณะ พยายามวางแนวทางปฏิบัติที่ดีในการวางแผน การควบคุมและป้องกัน โรคติดเชื้อพยาธิใบไม้ โดยมีอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาเป็นโมเดล เพื่อนำไปสู่การลดอัตราการติดเชื้อแบบยั่งยืน พร้อมไปกับการสร้างเสริมให้เกษตรกรให้สามารถได้รับผลผลิตจากการเลี้ยงสัตว์ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยต่อไป

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) ธีมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.5) คงความหลากหลายทางพันธุกรรมของเมล็ดพันธุ์พืชที่ใช้เพาะปลูก สัตว์ในไร่นาและที่เลี้ยงตามบ้านเรือน และชนิดพันธุ์ตามธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับสายพันธุ์ พืชและสัตว์ป่า รวมถึงการจัดการที่ดีให้มีธนาคารเมล็ดพันธุ์และพืชที่หลากหลาย ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ และส่งเสริมการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรของแหล่งพันธุกรรมและองค์ความรู้ท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ตามที่ตกลงกันระหว่างประเทศ ภายในปี 2563
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรียและโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยและต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก

Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Last Updated on ธันวาคม 28, 2022

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น