Site icon SDG Move

เรียนรู้ ‘โมเดลพื้นที่อำเภอปากช่อง’ จะวางแผน ควบคุม ป้องกัน โรคติดเชื้อพยาธิใบไม้อย่างไร ชวนค้นหาคำตอบจากงานวิจัยของ ‘รศ. ดร.อมรรัตน์ เกิดแก้ว เคร็นซ์ และคณะ’

ชวนอ่านงานวิจัย “การศึกษาเพื่อการวางแผน การควบคุมและป้องกัน โรคติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับในโคเนื้อและโคนม โดยใช้โมเดลการศึกษาในพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา” โดย รศ. ดร.อมรรัตน์ เกิดแก้ว เคร็นซ์ คณะสหเวชศาสตร์ ผศ.ดร.พงศกร มาตย์วิเศษ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เผยแพร่ผ่านสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)  

ความน่าสนใจของพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ฟาร์มปศุสัตว์ที่ทำเป็นโฮสต์จำเพาะของพยาธิใบไม้ ‘ฟาสซิโอล่า ไจแกนติก่า’ (Fasciola gigantica) อยู่หลายชนิด เช่น โค กระบือ เป็นต้น ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่นิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในพื้นที่ โดยเฉพาะโคเนื้อและโคนม ที่นิยมเลี้ยงกันอย่างมากในอำเภอปากช่อง ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ราบสูงเชิงเขาและที่ราบลุ่ม มีแหล่งน้ำขนาดเล็กใหญ่กระจายอยู่ทั่วไป จึงเกิดการแพร่พันธุ์ของหอยตัวกลางชนิดหนึ่งของพยาธิใบไม้ F. gigantica รวมถึงมีโอกาสสูงที่พยาธิจะดำรงชีวิตได้แบบครบวงจร อันเป็นตัวการสำคัญทำให้ติดเชื้อในสัตว์ และเป็นอีกปัญหาสาธารณสุขที่ลุกลามจากสัตว์สู่คน 

เพื่อให้ดำเนินตามแผนงานวิจัย ได้กำหนดวัตถุประสงค์ คือ เพื่อศึกษาเชิงระบาดวิทยาโดยใช้การเก็บข้อมูลร่วมกับการศึกษาระดับโมเลกุลเพื่อให้ได้ข้อมูลทั้งเชิงภูมิศาสตร์และพฤติกรรม รวมถึงความหลากหลายทางพันธุกรรมของพยาธิและหอย และเพื่อนำไปสู่การประยุกต์ระบบภูมิสารสนเทศที่จะสามารถใช้เพื่อการประเมินความเสี่ยงของปศุสัตว์ในพื้นที่ต่อโอกาสการติดพยาธิต่อไปในอนาคต จึงนับว่าเป็นงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย และเป้าหมายที่ 3 สุขภาพเเละความเป็นอยู่ที่ดี 

รศ. ดร.อมรรัตน์ และคณะ จึงดำเนินการศึกษาด้วยการศึกษาด้านระบาดวิทยา มีการเก็บตัวอย่างจากโคเนื้อและโคนมได้ทั้งสิ้น 231 ตัวอย่าง ซึ่งแบ่งเป็นตัวอย่างมูลสัตว์จำนวน 201 ตัวอย่าง และตัวอย่างซีรัม จำนวน 231 ตัวอย่าง ซึ่งผลการตรวจพบความชุกการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ Fasciola spp. จากการตรวจมูลสัตว์ร้อยละ 5.97 และความชุกการติดเชื้อจากการตรวจซีรัม (seroprevalence) ร้อยละ 27.27 พบว่า โคเนื้อมีอัตราการติดเชื้อสูงกว่าโคนม ซึ่งพบว่าปัจจัยอื่นที่ส่งเสริมให้เกิดการติดเชื้อ คือ ลักษณะโรงเรือนที่เป็นพื้นดินและอาหาร 

นำมาสู่การต่อยอดในส่วนของการศึกษาที่จะต่อยอดไปยังปีที่ 2 พบว่าหอยในพื้นที่มีการติดเชื้อพยาธิใบไม้ F. gigantica ในระดับสูง จากการทดสอบโดยวิธี PCR และเมื่อนำข้อมูลความชุกการติดเชื้อที่ตรวจพบจากมูลสัตว์ของโคเนื้อและโคนม ซึ่งเป็นการออกแบบฐานข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงเพื่อหาความสัมพันธ์เชิงตำแหน่งที่พบพยาธิใบไม้ตับและปัจจัยทางกายภาพต่าง ๆ โดยเฉพาะปัจจัยเชิงพื้นที่ รวมถึงปัจจัยที่มีผลกระทบเชิงพื้นที่ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และใช้การวิเคราะห์แบบ Local Moran’s I โดยได้ตรวจสอบค่า Outlier ของทุกตัวแปร เพื่อให้ได้ผลการวิเคราะห์ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรฟาร์มโคในพื้นที่อำเภอปากช่อง

จากการศึกษาข้างต้น ผลการศึกษา พบว่า การเลี้ยงโคด้วยระบบเปิด การปล่อยสัตว์หากินตามธรรมชาติ ที่ตั้งของฟาร์มโคที่มีระยะใกล้แหล่งน้ำในระยะห่างไม่เกิน 500 เมตร และอยู่ใกล้กับฟาร์มที่พบพยาธิ ล้วนเป็นสาเหตุของการระบาดของพยาธิใบไม้

รศ. ดร.อมรรัตน์ และคณะ จึงให้ข้อเสนอแนะแก่เกษตรกรว่า การเลี้ยงโค โดยเฉพาะฟาร์มโคที่มีการติดเชื้อพยาธิใบไม้อย่างรุนแรง ควรเลี้ยงแบบระบบปิด ไม่ปล่อยโคให้ออกมาดื่มน้ำหรือถ่ายมูลในบริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงหลีกเลี่ยงการใช้หญ้าบริเวณแหล่งน้ำในพื้นที่เสี่ยงสูง ทั้งนี้ เมื่อระบบการเลี้ยงดีแล้ว เกษตรกรควรกำจัดพยาธิในโคทุกตัวอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามคำแนะนำของกรมปศุสัตว์ โดยแนะนำให้เพิ่มการถ่ายพยาธิตัวแบนร่วมด้วย เพราะแม้จะไม่พบผู้ป่วยการติดเชื้อพยาธิใบไม้ F. gigantica จากสัตว์สู่คนในเขตอำเภอปากช่องแต่หลายครั้ง การวินิจฉัยกลับพบอาการทางตับและถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัด

กล่าวโดยสรุป งานวิจัยของ รศ. ดร.อมรรัตน์ และคณะ พยายามวางแนวทางปฏิบัติที่ดีในการวางแผน การควบคุมและป้องกัน โรคติดเชื้อพยาธิใบไม้ โดยมีอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาเป็นโมเดล เพื่อนำไปสู่การลดอัตราการติดเชื้อแบบยั่งยืน พร้อมไปกับการสร้างเสริมให้เกษตรกรให้สามารถได้รับผลผลิตจากการเลี้ยงสัตว์ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยต่อไป

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) ธีมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.5) คงความหลากหลายทางพันธุกรรมของเมล็ดพันธุ์พืชที่ใช้เพาะปลูก สัตว์ในไร่นาและที่เลี้ยงตามบ้านเรือน และชนิดพันธุ์ตามธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับสายพันธุ์ พืชและสัตว์ป่า รวมถึงการจัดการที่ดีให้มีธนาคารเมล็ดพันธุ์และพืชที่หลากหลาย ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ และส่งเสริมการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรของแหล่งพันธุกรรมและองค์ความรู้ท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ตามที่ตกลงกันระหว่างประเทศ ภายในปี 2563
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรียและโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยและต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก

Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Author

  • Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

Exit mobile version