ชวนอ่านงานวิจัย “ศึกษาวิจัยพร้อมประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (eco-efficiency) ของการยางแห่งประเทศไทย ตามแนวทางปฏิบัติที่ดี ISO 14045 ประจําปีงบประมาณ 2563” โดย รศ.ดร.หาญพล พึ่งรัศมี ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนจากการยางแห่งประเทศไทย เผยแพร่ผ่านสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)
จากสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั่วโลกในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขาดแคลนน้ำ การลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ และการทำลายสิ่งแวดล้อม ล้วนมีผลมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจและการพัฒนาอุตสาหกรรม ทำให้มีการใช้ทรัพยากร วัตถุดิบ และพลังงาน รวมถึงก่อให้เกิดมลภาวะจากการผลิตวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต กระบวนการผลิต การขนส่ง รวมทั้งการปล่อยของเสีย และการกำจัดของเหลือใช้จากกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ผนวกกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจ พร้อมทั้งดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน โดยคำนึงถึงการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการลดการปล่อยมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม หรือหลักการที่เรียกว่า การประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (eco-efficiency) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการจัดการของภาคอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพในการแข่งขันด้านธุรกิจควบคู่กับการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
การยางแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลการบริหารจัดการยางพารา ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพารา ให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยางในด้านวิชาการ การเงิน การแปรรูป การตลาด และดำเนินการให้ระดับราคายางพารามีเสถียรภาพ โดยมียุทธศาสตร์ของการยางแห่งประเทศไทย ดังนี้
- ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างรายได้จากการบริการและดำเนินธุรกิจ
- ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนายางพาราตลอดห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่า
- ยุทธศาสตร์ที่ 3 การวิจัยและพัฒนาเพื่ออนาคต
- ยุทธศาสตร์ที่ 4 การบริหารจัดการองค์กรเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ
รศ.ดร.หาญพล และการยางแห่งประเทศไทย ต้องการศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยใช้หลักการการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ เพื่อให้ครอบคลุมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กันอย่างสมดุล โดยการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 -2579) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ระบุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และเป็นการขับเคลื่อนการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) การลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม การลดก๊าซเรือนกระจก การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า การลดการใช้น้ำและส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน
เพื่อการพัฒนาองค์ความรู้และพัฒนาองค์กรในการประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพและมีแนวทางในการดำเนินงานที่ถูกต้อง รศ.ดร.หาญพล ได้การกำหนดตัวชี้วัดที่เหมาะสม ตรงประเด็นกับยุทธศาสตร์ของการยางแห่งประเทศไทย และใช้ในการพัฒนาปรับปรุงและยกระดับอุตสาหกรรม ตอบโจทย์เป้าหมายในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 4 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย เป้าหมายที่ 8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม และเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
การประเมินประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ สามารถคำนวณได้จากคุณค่าของระบบผลิตภัณฑ์ (product system value) หารด้วยผลกระทบสิ่งแวดล้อม (environmental impacts) ที่สนใจ ซึ่งการคำนวณตัวชี้วัดประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจของการยางแห่งประเทศไทย กำหนดคุณค่าระบบผลิตภัณฑ์คิดจาก “รายได้จากยอดขายผลิตภัณฑ์ปีบัญชี 2563” และพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามหลักการประเมินวัฏจักรชีวิต (life cycle assessment)
จากการศึกษาวิจัย ผลการศึกษาพบว่า ปีบัญชี 2563 การยางแห่งประเทศไทยมีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ 682,027,953 บาท มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิต 6,158,887 kgCO2eq. ดังนั้นจึงสามารถคำนวณค่าประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจของการยางแห่งประเทศไทยมีค่าเท่ากับ 110.74 บาท/kgCO2eq. ทั้งนี้ แนวทางการปรับปรุงประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจของการยางแห่งประเทศไทยควรมุ่งเน้นไปที่การลดใช้พลังงานไฟฟ้าและก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่ใช้ในกระบวนการอบเป็นลำดับแรก เนื่องจากส่งผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ
กล่าวโดยสรุป อุตสาหกรรมการยางในประเทศไทยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นผนวกรวมการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งดูแลและรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน โดยแนวทางการปรับปรุงประสิทธิภาพเชิงนิเวศของอุตสาหกรรมยางในประเทศไทย ควรมุ่งเน้นที่การลดการใช้พลังงานในการผลิตเพื่อลดการทำลายสิ่งแวดล้อม
งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยระดับแนวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ธีมหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและกลไกการขับเคลื่อน
งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรมีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มผลิตภาพและการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัยและภัยพิบัติอื่น ๆ และจะช่วยพัฒนาที่ดินและคุณภาพดินอย่างต่อเนื่องภายในปี 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.4) พัฒนาความมีประสิทธิภาพในการใช้ ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิต และพยายามที่จะตัดความเชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงาน 10 ปี ของแผนการทำงานเพื่อการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน โดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม เเละอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และปรับปรุงอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนโดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.7) ส่งเสริมการพัฒนา การถ่ายทอด และการเผยแพร่เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศกำลังพัฒนาภายใต้เงื่อนไขที่อำนวยประโยชน์แก่ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งตามเงื่อนไขสิทธิพิเศษตามที่ตกลงร่วมกัน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)