ความตกลงปารีส (Paris Agreement) เกิดจากจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยมีเป้าหมายที่ท้าทาย คือ การรักษาอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนืออุณหภูมิช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดในการลดก๊าซเรือนกระจก (Nationally Determined Contributions : NDCs) ประเทศไทย ได้ลงนามรับความตกลงปารีส ในปี 2559 และในเวลาต่อมา จึงมีการจัดทำแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 โดยกำหนดเป้าหมายว่าภายในปี 2573 (2030) ประเทศไทยจะลดก๊าซเรือนกระจกขั้นต่ำที่ร้อยละ 20 และกำหนดเป้าหมายขั้นสูงที่ร้อยละ 25 จากกรณีปกติ การศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยมีเป้าหมายการรักษาอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เป็นที่มาของงานวิจัย “Thailand’s mid-century greenhouse gas emission pathways to achieve the 2 degrees Celsius target” โดย Achiraya Chaichaloempreecha และ Puttipong Chunark จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ Tatsuya Hanaoka จาก National Institute for Environmental Studies (NIES) ประเทศญี่ปุ่น และ รศ. ดร.บัณฑิต ลิ้มมีโชคชัย จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จากการศึกษาความพยายามการลดก๊าซเรือนกระจกโดยภาพรวมในเอเชียและประเทศไทย พบว่า ในปี 2548 ประเทศในเอเชียปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 38 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของโลก เนื่องจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิต ทำให้สิ้นศตวรรษนี้ต้องมีการดำเนินการลดผลกระทบและควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งนโยบายการลดก๊าซเรือนกระจกควรเป็นไปตามเงื่อนไขตามที่ประเทศนั้น ๆ กำหนด ซึ่งมีการศึกษาวิจัยหลายชิ้นอธิบายเส้นทางคาร์บอนต่ำของเอเชีย อาทิ
- เวียดนาม มีการใช้พลังงานและการผลิตไฟฟ้าแบบคาร์บอนต่ำ ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งช่วยให้สามารถลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- มาเลเซีย คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ จะลดลง 40% จากการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นและการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานของโรงไฟฟ้า
- จีน จะสามารถบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ได้ โดยนำเอานโยบายพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) มาใช้ร่วมกับพลังงานต้นกำเนิด (primary energy) จากธรรมชาติ
- ญี่ปุ่น พลังงานหมุนเวียนสามารถมีบทบาทสำคัญในกระบวนการลดคาร์บอนและการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ การขยายตัวของพลังงานชีวมวล (Bio-energy) ด้วยการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) และการประหยัดพลังงานในด้านอุปสงค์ (demand-side) สามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emissions) ภายในปี 2593 โดยควรพิจารณาราคาคาร์บอนที่ 2,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งราคาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon pricing) จะช่วยบังคับให้ผู้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต้องรับผิดชอบต่อปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมา เพราะเมื่อต้นทุนสูงขึ้น ก็อาจส่งผลให้ตัดสินใจปรับลดปริมาณการผลิตคาร์บอนลง
ประเทศไทย ก็มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสังคมคาร์บอนต่ำและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การใช้พลังงานหมุนเวียนที่ขยายได้ในภาคอุตสาหกรรมและการขนส่ง พร้อมยังมีการศึกษาศักยภาพในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในอุตสาหกรรมไทย เพื่อให้ได้แนวทางการดำเนินการสู่คาร์บอนต่ำ ซึ่งภาคพลังงานของไทย ได้มีการตรวจสอบสำหรับมาตรการคาร์บอนต่ำที่เป็นไปได้ รวมถึงเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (carbon capture and storage : CCS) ขณะที่ การใช้พลังงานในภาคอาคาร พบว่า การที่เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน บ้านมีฉนวนกันความร้อน และมีมาตรฐานการควบคุมอาคาร จะสามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ถึง 35% ภายในปี 2593 ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 – 2579 (Energy Efficiency Plan : EEP 2015) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก. พ.ศ. 2558 – 2579 (Alternative Energy Development Plan: AEDP2015) นับว่าเพียงพอต่อการลดก๊าซเรือนภายในปี 2573 ตามที่ระบุไว้ในเป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจก (NDCs)
ด้วยประเด็นที่เกี่ยวข้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) รวมถึงแนวทางต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ภายในประเทศไทย งานวิจัยนี้จึงสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 5 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ เป้าหมายที่ 9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม เป้าหมายที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
วิธีดำเนินการวิจัย คณะผู้วิจัย ได้ใช้กรอบแนวคิดของโมเดล Asia Pacific Integrated Model (AIM) หรือแบบจําลอง AIM/Enduse ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นสำหรับใช้พยากรณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกและประเมินผลทางเลือกเทคโนโลยีเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยสถาบัน National Institute for Environmental Studies กระทรวงสิ่งแวดล้อม ประเทศญี่ปุ่น เป็นแบบจำลองใน การเลือกเทคโนโลยีของระบบเศรษฐศาสตร์พลังงานและสิ่งแวดล้อม (Energy-Economy-Environment System) ในแถบภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยโครงสร้างแบบจำลองประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ “พลังงาน” “เทคโนโลยีพลังงาน” และ “บริการพลังงาน” (ดังแสดงดังภาพที่ 1) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
- “พลังงาน” ประกอบด้วย ประเภทเชื้อเพลิง และราคาเชื้อเพลิง ตลอดจนปัจจัยการปล่อยมลพิษที่กำหนด
- “เทคโนโลยีพลังงาน” พิจารณารายละเอียดของเทคโนโลยี เช่น ต้นทุนค่าลงทุน ต้นทุนคงที่ (fixed cost) ต้นทุนแปรผัน (variable cost) ประสิทธิภาพหรือการใช้พลังงานต่อหน่วยผลผลิต และอายุการใช้งาน
- “บริการพลังงาน” ถูกกำหนดจากแหล่งที่มาภายนอก
ทั้งนี้ แบบจำลอง AIM/Enduse สามารถคำนวณการใช้พลังงานจากดัชนีชี้วัดการใช้พลังงาน (Specific Energy Consumption: SEC) ของแต่ละเทคโนโลยีและการผสมผสานของเทคโนโลยี และค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (emission factor) ของประเภทเชื้อเพลิง นอกจากนี้ แบบจำลองยังสามารถวิเคราะห์ผลกระทบของการเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลง (fuel switching) การประหยัดพลังงาน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการกระจายสัดส่วนเชื้อเพลิง (fuel diversification)
งานวิจัยดังกล่าวค้นพบผลการศึกษาที่น่าสนใจหลายประการ อาทิ
- ระบบพลังงาน การลดการปล่อยคาร์บอน (decarbonization) ด้วยการผลิตไฟฟ้าแบบคาร์บอนต่ำและเพิ่มการใช้ไฟฟ้าในการใช้พลังงานขั้นสุดท้าย เป็นเสาหลักของกลไกลดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Mitigation Mechanism : GHGs)
- การกำหนดราคาคาร์บอน การเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ลม และพลังงานชีวมวล (biomass energy) รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในการผลิตไฟฟ้า และการประหยัดพลังงานในอุตสาหกรรมและภาคอาคาร จะเป็นตัวเลือกหลักสำหรับการผลิตไฟฟ้าที่สะอาด ตามสถานการณ์การกำหนดราคาคาร์บอน (CT)
- พลังงานหมุนเวียน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ควบคู่กับการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) และพลังงานชีวภาพที่มีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Bio-energy with Carbon Capture and Storage :BECCS) ถูกนำมาใช้อย่างมีนัยสำคัญเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- การใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น และการใช้พลังงานไฟฟ้า มีบทบาทสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- การเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากดีเซล (diesel) เป็นไบโอดีเซล (biodiesel) การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน เช่น การใช้พลังงานไฟฟ้าของรถปิกอัพและรถบรรทุก ซึ่งช่วยให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการขนส่ง
นอกจากนี้ คณะผู้วิจัย ได้ให้ข้อเสนอแนะ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส มี 3 ประการ ดังนี้
- ประการแรก การกำหนดราคาคาร์บอน (carbon pricing) จะเป็นกลไกช่วยเร่งการเปลี่ยนแปลงในภาคพลังงาน ซึ่งไฟฟ้า ลม และแสงอาทิตย์ เป็นหัวใจหลักในการผลิตไฟฟ้าสะอาด ภายในปี 2593 ซึ่งผู้กำหนดนโยบาย ควรปรับปรุงแผนการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส ภายในปี 2593
- ประการที่สอง โรงไฟฟ้าถ่านหิน ก๊าซ รวมถึงพลังงานชีวภาพที่มีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (BECCS) จะกลายเป็นตัวเลือกสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งผู้กำหนดนโยบายควรจะตรวจสอบการใช้วิธีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (carbon capture and storage : CCS) ในภาคพลังงานและสถานที่/คลังจัดเก็บ
- ประการที่สาม การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในภาคการขนส่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เชื้อเพลิงชีวภาพของเหลว (liquid biofuel) และการใช้พลังงานไฟฟ้า ในรถกระบะ รถเก๋ง และรถบรรทุก จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
กล่าวโดยสรุป งานวิจัย “Thailand’s mid-century greenhouse gas emission pathways to achieve the 2 degrees Celsius target” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อรักษาอุณหภูมิของโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น ส่งผลทั้งต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของประชากร ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าการดำเนินการที่ผ่านมาในการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกดำเนินการได้ไปถึงจุดใดแล้ว จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาและติดตามต่อไปจนถึงหมุดปลายทางที่ตั้งไว้
งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) ธีมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย
งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.1) สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 2573
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
– (7.a) ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และปรับปรุงอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนโดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ข้อมูลงานวิจัย: Chaichaloempreecha, A., Chunark, P., Hanaoka, T., Limmeechokchai, B. (2022). Thailand’s mid-century greenhouse gas emission pathways to achieve the 2 degrees Celsius target. Energy, Sustainability and Society, 12(1),22. DOI : 10.1186/s13705-022-00349-1
ชื่อผู้วิจัย -สังกัด: Achiraya Chaichaloempreecha1 , Puttipong Chunark1 , Tatsuya Hanaoka2, รศ. ดร.บัณฑิต ลิ้มมีโชคชัย3
1ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและระบบการผลิต (School of Manufacturing Systems and Mechanical Engineering: MSME) สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2National Institute for Environmental Studies (NIES) ประเทศญี่ปุ่น
3หน่วยวิจัยด้านพลังงานที่ยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Research Brief แนะนำงานวิจัยเชิงลึกของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs โดยกิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)