ชวนอ่านงานวิจัย “การขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นกลไกลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา” โดย ผศ.ดร.ทรงชัย ทองปาน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันพระปกเกล้า และสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)
ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย โดยข้อมูลจากสถาบันพระปกเกล้าระบุว่าเฉพาะปีการศึกษา 2559 มีเด็กและเยาวชนวัยเรียน อายุระหว่าง 3 – 17 ปี ซึ่งอยู่ในระบบการศึกษาแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์และการเข้าถึงโอกาสมากถึง 3 ล้านคน นับว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา มากไปกว่านั้นหากพิจารณาปัจจัยเชิงพื้นที่จะพบว่าเด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลยังต้องเผชิญกับการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม จึงเป็นโจทย์สำคัญของภาครัฐ และหนึ่งในการขยับขับเคลื่อนที่เกิดขึ้นคือ “นโยบายสำคัญสำหรับการพัฒนา ประเทศในช่วงระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)” ภายใต้ ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ซึ่งมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงและเสมอภาค โดยเฉพาะบทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถเป็นผู้นำหลักในการลดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่
หนึ่งในมิติความเหลื่อมล้ำที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความเหมาะสมที่จะเป็นกลไกสำคัญ นั่นคือ ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา เนื่องจากเป็นองค์ที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนในท้องถิ่น มีอำนาจและความรับผิดชอบในการจัดบริการสาธารณะซึ่งครอบคลุมถึงการจัดการศึกษา อีกทั้งยังเป็นองค์กรทางการเมืองที่ใกล้ชิดกับปัญหาและความต้องการของชุมชนท้องถิ่นมากที่สุด
เพื่อให้ศึกษาและค้นคว้าแนวทางขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญของการดำเนินภารกิจสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา ผศ.ดร.ทรงชัย จึงดำเนินการวิจัยข้างต้น โดยมีวัตถุประสงค์โดยสรุป 3 ประการ คือ
- เพื่อศึกษาสภาพปัญหาทางด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการ
- เพื่อขับเคลื่อนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินโครงการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
- เพื่อเสนอแนวทางในการเสริมสร้างให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกในการลดความเหลื่อมทางด้านการศึกษา
จึงนับว่าเป็นงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ เป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ และเป้าหมายที่ 16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
ผศ.ดร.ทรงชัย ดำเนินการศึกษาด้วยวิธีวิจัยเชิงปฏิบัติ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- กลุ่มเป้าหมาย คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคัดเลือกด้วยวิธีการรับสมัครองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สนใจเข้าร่วมโครงการผ่านงานสัมมนาเปิดตัวโครงการ ปรากฏว่ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 11 แห่ง แบ่งเป็น องค์การบริหารส่วนตำบล 2 แห่ง เทศบาล 8 แห่ง และองค์การบริหารส่วนจังหวัด 1 แห่ง
- วิธีการศึกษา เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยออกแบบกระบวนการดำเนินงานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการสามารถพัฒนาโครงการเพื่อเป็นกลไกในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ของตนผ่านการวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจปัญหาและหาทางออกที่ตรงกับสภาพปัญหา เครื่องมือการศึกษา จึงครอบคลุมทั้งการวิจัยเอกสารที่เกี่ยวข้องเชิงประเด็น การจัดสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รวมถึงการลงพื้นที่ประชุมระดมสมองเพื่อกำหนดปัญหาและทางออก
- ขั้นตอนการดำเนินการศึกษา ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน ได้แก่ การทบทวนเอกสาร การจัดทำคู่มือปฏิบัติงานในโครงการ การศึกษาข้อมูลทั่วไป การประชุมชี้แจงทำความเข้าใจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำร่อง การขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการนำเสนอโครงการและบทเรียน
ผลการศึกษาที่สำคัญจากงานวิจัยข้างต้นแบ่งเป็น 3 ประเด็น ได้แก่
1) สภาพปัญหาทางด้านความเหลื่อมล้ำทาง การศึกษาในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เข้าร่วมโครงการ มีดังนี้
– ปัญหาด้านการเข้าถึงการศึกษา อาทิ ปัญหาการออกจากโรงเรียนกลางคัน เด็กอยู่นอกระบบการศึกษา ปัญหาเด็กพิการ การอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และบางคนอาจเผชิญปัญหาซ้ำซ้อน
– ปัญหาด้านคุณภาพการศึกษา อาทิ ปัญหาครูมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการดูแลเด็ก ครูจบการศึกษาไม่ตรงกับวิชาที่สอน โรงเรียนมีคุณภาพการศึกษาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ
2) ผลการขับเคลื่อนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินโครงการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปรากฏว่ามีการดำเนินการใน 5 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ (1) กลุ่มโครงการที่เกี่ยวข้องกับกองทุนเพื่อการศึกษาของเด็กและเยาวชน จำนวน 4 โครงการ (2) กลุ่มโครงการที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเด็กพิเศษ และเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา จำนวน 3 โครงการ (3) กลุ่มโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงการศึกษาของเด็ก จำนวน 1 โครงการ (4) กลุ่มโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพของครูผู้สอน จำนวน 3 โครงการ และ (5) กลุ่มโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาจำนวน 1 โครงการ
3) แนวทางในการเสริมสร้างให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นกลไกในการลดความเหลื่อมทางด้าน การศึกษา แบ่งเป็น ระยะ ดังนี้
– ระยะเริ่มต้นโครงการ ประกอบด้วย การคัดเลือกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมโครงการ และการเตรียมความพร้อมให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการ โดยครอบคลุมถึงการจัดอบรมเชิงลึกเกี่ยวกับความเสมอภาคทางการศึกษา การสนับสนุนงบประมาณ และการจัดทำคู่มือดำเนินการ
– ระยะขับเคลื่อนโครงการ ประกอบด้วย การเสาะหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ ซึ่งครอบคลุมถึงการวิเคราะห์ปัญหา การสะท้อนข้อมูลที่ศึกษาให้แก่ชุมชนได้รับทราบ และการปักหมุดและชี้เป้าประเด็นสำคัญเพื่อนำมาสู่การริเริ่มโครงการ
– ระยะขยายผล ประกอบด้วย การขยายจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลุ่มเดิม และการขยายผลกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลุ่มอื่น ๆ
นอกจากนี้ ผศ.ดร.ทรงชัย ยังได้เสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นกลไกลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาว่าจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่จะเข้ามาเป็นเครือข่าย โดยเป็นการทำงานในแนวราบด้วยองค์กรภาคีการทำงานด้านการศึกษาในพื้นที่ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชนและครอบครัวที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา และควรให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง เข้ามารับรู้การดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความตระหนักถึงปัญหา และเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ขณะที่ภาครัฐก็ควรสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมผ่านนโยบายและการสนับสนุนงบประมาณต่าง ๆ
กล่าวโดยสรุป งานวิจัยของ ผศ.ดร.ทรงชัย ได้ศึกษา ค้นพบ และเสนอแนวทางการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาผ่านหนุนเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นกลไกสำคัญ จึงนับว่าเป็นงานศึกษาที่มีประโยชน์ต่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นให้สามารถเรียนรู้ ตระหนัก และจัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง อีกทั้งยังเป็นประโยชน์แก่การลดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทยในปัจจุบัน
งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่ ธีมการลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเป็นธรรมในสังคม
งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.1) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิผล ภายในปี 2573
– (4.2) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนเข้าถึงการพัฒนา การดูแล และการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา สำหรับเด็กปฐมวัย ที่มีคุณภาพ เพื่อให้เด็กเหล่านั้นมีความพร้อมสำหรับการศึกษาระดับประถมศึกษา ภายในปี 2573
– (4.3) สร้างหลักประกันให้ชายและหญิงทุกคนเข้าถึงการศึกษาด้านเทคนิค อาชีวศึกษา อุดมศึกษา รวมถึงมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพในราคาที่สามารถจ่ายได้ ภายในปี 2573
– (4.5) ขจัดความเหลี่อมล้ำทางเพศด้านการศึกษา และสร้างหลักประกันว่ากลุ่มที่เปราะบางซึ่งรวมถึงผู้พิการ ชนพื้นเมือง และเด็ก เข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับอย่างเท่าเทียม ภายในปี 2573
– (4.6) สร้างหลักประกันว่าเยาวชนทุกคนและสัดส่วนของผู้ใหญ่ในทั้งชายและหญิง สามารถอ่านออกเขียนได้และคำนวณได้ ภายในปี 2573
– (4.c) เพิ่มจำนวนครูที่มีคุณวุฒิ รวมถึงการดำเนินการผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศในการฝึกอบรมครูในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ภายในปี 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้|
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)