โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environment Programme: UNEP) เผยแพร่รายงาน ‘Nature-based Solutions: Opportunities and Challenges for Scaling Up’ ซึ่งระบุถึงการพัฒนาในปัจจุบันด้วยแนวทางการจัดการที่ใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions : NbS) หรือ แนวทางการบริหารจัดการแบบองค์รวมที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติ ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพเป็นพื้นฐาน
รายงานดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่ข้อผูกพันและแนวทางดำเนินการทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมพึงนำไปปฏิบัติ อีกทั้งยังเน้นย้ำถึงความท้าทายร่วมสมัยที่จำเป็นต้องใช้แนวคิดการจัดการที่ใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน อาทิ การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการด้วยแนวทางดังกล่าวเกิดประสิทธิภาพ ผู้ดำเนินการต้องปฏิบัติโดยคำนึงถึงข้อสำคัญ ดังนี้
- ต้องพัฒนาความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการจัดการที่ใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐานและประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้แนวทางดังกล่าว
- ต้องมีการระบุข้อกังวลและข้อสงสัยเกี่ยวกับความสมบูรณ์ในการใช้แนวทางดังกล่าวอย่างครบถ้วนและโปร่งใส
- ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจถึงศักยภาพของการผสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนระหว่างกันในการขับเคลื่อนด้วยแนวทางการจัดการที่ใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน
- ขยายการปรับใช้และการใช้งานแนวทางการจัดการที่ใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐานให้กว้างขวางและครอบคลุมมากขึ้น
รายงานยังนำเสนอเครื่องมือและแพลตฟอร์มตัวอย่างของแนวทางการจัดการที่ใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน อาทิ
- ‘OPPLA’ แพลตฟอร์มของสหภาพยุโรปที่เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับทุนธรรมชาติ (natural capital) บริการทางระบบนิเวศ (ecosystem services) และแนวทางการจัดการที่ใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน
- ‘PANORAMA’ แพลตฟอร์มออนไลน์ที่นำเสนอตัวอย่างแนวทางจำลองการเสริมสร้างสุขภาพโลกกว่า 1,100 รายการ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และการพัฒนาที่ยั่งยืน
- Nature-based Solutions Initiative เว็บไซต์ที่แบ่งปันข้อมูลมาจากโครงการวิจัยเชิงสหวิทยาการ (interdisciplinary research) คำแนะนำด้านการศึกษาและนโยบายเพื่อช่วยส่งเสริมความเข้าใจเกี่ยวกับศักยภาพของแนวทางการจัดการที่ใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐานในการจัดการความท้าทายที่หลากหลายของโลก และสนับสนุนการดำเนินการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
นอกจากนี้เนื้อหาในรายงานยังแนะนำให้มีแนวทางเชิงบูรณาการในการนำแนวทางการจัดการที่ใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐานไปใช้ โดยอาจสอดแทรกไว้ในนโยบายและโครงการของภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายและการดำเนินการอย่างละเอียด เพื่อเชื่อมโยงนโยบายที่เกี่ยวกับแนวทางการจัดการที่ใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐานกับกลยุทธ์ทางการเงินเพื่อส่งเสริมเงินทุนสำหรับการแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐานมากยิ่งขึ้น ขณะที่ คำแนะนำในการนำแนวทางดังกล่าวไปปฏิบัติในระดับท้องถิ่น รายงานระบุว่าจะต้องให้ความสำคัญกับการตระหนักและปกป้องสิทธิในที่ดิน ทรัพยากร การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ รวมถึงการสร้างและขยายกลไกทางการเงินในชุมชนท้องถิ่นด้วย
กล่าวได้ว่า ‘แนวทางการจัดการที่ใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน’ เป็นทางเลือกที่อาจยกระดับเป็นทางหลักของการแก้ปัญหาและรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมของโลกในปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ เนื่องจากเป็นแนวทางที่อาศัยความรู้ความเข้าใจทางธรรมชาติเป็นพื้นฐานสำคัญ แนวปฏิบัติในการจัดการจึงย่อมเล็งเห็นถึงร่องรอยและรากแก่นของปัญหา และตอบโจทย์ความต้องการธรรมชาติได้
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– โลกต้องใช้เงินลงทุนกับ ‘Nature-based Solutions’ มากกว่าเดิม 3 เท่าภายในปี 2573 เพื่อสุขภาวะที่ดีของเราและโลก
– โลกกำลังเดินหน้าด้วย ‘One Health’ เชื่อมความหลากหลายทางชีวภาพ สภาพภูมิอากาศ และ Nature-based Solutions
– ใช้เทคโนโลยีตั้งแต่ low ถึง high tech ด้วย ‘Nature-Based Solutions’ สร้างเมืองอัจฉริยะจัดการน้ำรับมือ Climate change
– สุขภาวะโลกตอนนี้เป็นอย่างไร? : Recap ประเด็นอาหาร การผลิต/การบริโภค เมือง และ Climate Change
เป้าหมายดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะไม่เชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนโดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน และชุมชนท้องถิ่นและชายขอบ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ระบบนิเวศภูเขาและความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศเหล่านั้น เพื่อจะเพิ่มพูนขีดความสามารถของระบบนิเวศเหล่านั้นที่จะให้ผลประโยชน์อันสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
– (15.5) ปฏิบัติการที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และภายในปี 2563 ปกป้องและป้องกันการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม
– (15.9) บรณาการมูลค่าของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพเข้าไว้ในการวางแผน กระบวนการพัฒนารายงานและยุทธศาสตร์การลดความยากจน ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ภายในปี 2563
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.9) เพิ่มพูนการสนับสนุนระหว่างประเทศสำหรับการดำเนินการด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถที่มีประสิทธิผลและมีการตั้งเป้าในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสนับสนุนแผนระดับชาติที่จะดำเนินงานในทุกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงผ่านทางความร่วมมือแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
แหล่งที่มา: UNEP Report Highlights Challenges, Opportunities in Scaling Up NbS (IISD)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย