ชวนอ่านงานวิจัย “โครงการศึกษาเพื่อหาแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ ตำบลหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี และพื้นที่โดยรอบเขตควบคุมมลพิษในรัศมีไม่เกิน 10 กิโลเมตร” โดย ผศ.ดร.ธงชัย ขนาบแก้ว คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การสนับสนุนของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)
ปัญหามลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก ได้แก่ PM10 และ PM2.5 เป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ซึ่งส่งผลกระทบตรงต่อสุขภาพของประชาชนและเป็นปัญหาที่สะสมต่อเนื่องมายาวนาน หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมมลพิษ ได้ติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศถาวรในพื้นที่ตำบลหน้าพระลาน (24t) อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี เพื่อเฝ้าระวังและติดตามปริมาณความเข้มข้นของฝุ่นละออง รวมถึงมลพิษทางอากาศชนิดอื่น ๆ พร้อมทั้งจัดทำมาตรการร่วมกับหน่วยงานและสถานประกอบการในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังคงพบว่าสถานการณ์จำนวนวันที่ฝุ่นละออง โดยเฉพาะ PM10 มีค่าสูงเกินค่ามาตรฐานยังคงเกิดขึ้นติดต่อกัน โดยเฉพาะช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน – เมษายน ของทุกปี
จากข้อมูลการศึกษาของพื้นที่ที่ผ่านมาพบว่า แหล่งกำเนิดฝุ่นละอองจากภาคอุตสาหกรรมและการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองจากกิจกรรมของของสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการทำเหมืองแร่และเหมืองหิน รวมถึงการคมนาคมขนส่ง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระดับความเข้มข้นที่ตรวจวัดได้มีค่าสูง การจัดการและควบคุมการปล่อยมลพิษ PM10 และ PM2.5 จากแหล่งกำเนิดเหล่านี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องพิจารณาดำเนินการเพื่อลดระดับความเข้มข้นของฝุ่นละอองลงมา และพัฒนาแนวทางและมาตรการเพื่อควบคุมและลดการปล่อย PM10 และ PM2.5 จากแหล่งกำเนิดที่สามารถควบคุมได้ในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี และพื้นที่โดยรอบ
เพื่อศึกษาประเมินแหล่งกำเนิด ความเข้มข้น และการแพร่กระจายของฝุ่นละองบริเวณพื้นที่ดังกล่าว พร้อมกับการค้นคว้าแนวทางลดปริมาณฝุ่นละออง ผศ.ดร.ธงชัย จึงดำเนินการวิจัยข้างต้น โดยมีวัตถุประสงค์โดยสรุป 3 ประการ คือ
- เพื่อศึกษาขนาด องค์ประกอบทางเคมี ของฝุ่นละอองในพื้นที่ตำบลหน้าพระลานจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ
- เพื่อจำแนกหาสัดส่วนของ PM10 และ PM2.5 และแหล่งที่มาของฝุ่นละอองในพื้นที่ตำบลหน้าพระลาน
- เพื่อจัดทำมาตรการที่เหมาะสมในการควบคุมฝุ่นละอองขนาด PM10 และ PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ
จึงนับว่าเป็นงานวิจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป้าหมายที่ 11 เมืองและชุมชุนที่ยั่งยืน และเป้าหมายที่ 17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ผศ.ดร.ธงชัย ใช้วิธีดำเนินการศึกษา ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- ขอบเขตการศึกษา สำหรับการวิเคราะห์ PM10 และ PM2.5 และองค์ประกอบทางเคมี ได้แก่ ธาตุโลหะ ไอออน และสารประกอบคาร์บอน โดยดำเนินการตรวจวัดและเก็บตัวอย่างในพื้นที่ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี และพื้นที่โดยรอบเขตควบคุมมลพิษในรัศมีไม่เกิน 10 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ผู้รับสัมผัสมลพิษ ทั้งบริเวณริมถนนและบรรยากาศทั่วไป และแหล่งกำเนิดที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมการโม่หรือย่อยหิน การแต่งแร่ การทำเหมืองแร่ และการฟุ้งกระจายของฝุ่นถนนจากการจราจรขนส่ง
- กรอบวิธีการดำเนินการ ข้อมูลองค์ประกอบทางเคมีที่ตรวจวัดและวิเคราะห์ได้ถูกนำมาวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองผู้รับมลพิษ เพื่อแสดงให้เห็นว่าแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองใดในพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ ตำบลหน้าพระลาน จังหวัดสระบุรี และพื้นที่โดยรอบเขตควบคุมมลพิษในรัศมีไม่เกิน 10 กิโลเมตร มีสัดส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อความเข้มข้นของ PM10 และ PM2.5 ในพื้นที่ระดับใด
- การคัดเลือกพิกัดผู้รับมลพิษสำหรับฝุ่นละออง PM10 และ PM2.5 ได้กำหนดเกณฑ์การพิจารณา 2 ด้าน ได้แก่ 1) ประเภทของพื้นที่ (บริเวณริมถนนและบริเวณบรรยากาศทั่วไป) และ 2) ทิศทางลมตามแนวมรสุม ตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ (เหนือลมและใต้ลม) โดยพิจารณาตำแหน่งตรวจวัด 4 ตำแหน่ง คือ 1) บริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ตำบลหน้าพระลาน 2) บริเวณถนนคุ้งเขาเขียว 3) โรงเรียนบ้านคุ้งเขาเขียว และ 4) บริเวณหมู่บ้านใกล้ทางแยกถนนเขาวง
- การกำหนดนโยบายหรือมาตรการ เป็นผลจากการจำแนกสัดส่วนจากการศึกษาข้างต้น จากนั้นจะดำเนินการจำลองความเข้มข้นและการแพร่กระจายของ PM10 และ PM2.5 เพื่อประเมินนโยบายหรือมาตรการ และฉากทัศน์ ที่กำหนดตามความเหมาะสม ด้วยแบบจำลองทางด้านอากาศอีกครั้ง
ผลการศึกษาจากงานวิจัยข้างต้นมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
1) ข้อมูลการประเมินสัดส่วนแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองด้วยแบบจำลองผู้รับสัมผัสมลพิษด้วยแบบจำลอง PMF ด้วยข้อมูลในช่วงเวลาที่ดำเนินการศึกษา ระหว่างวันที่ 6-11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 และ 22-25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ได้ข้อค้นพบ ดังนี้
- ภาพรวมฝุ่นละอองในพื้นที่ตำบลหน้าพระลานมีค่าสูงในบริเวณถนนคุ้งเขาเขียวมากกว่าบริเวณถนนพหลโยธิน โดยมีสัดส่วนของฝุ่นละออง PM2.5/PM10 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 0.34 แสดงให้เห็นว่าฝุ่นละอองส่วนใหญ่เป็นฝุ่นละอองหยาบ (coarse mode) ที่มาจากกระบวนการทางกล (mechanical crushing) ซึ่งสอดคล้องกับลักษณะกิจกรรมในพื้นที่
- พบแหล่งกำเนิด ฝุ่น PM10 จำนวน 3 แหล่งกำเนิดหลัก ๆ ได้แก่ แหล่งกำเนิดที่ 1 ฝุ่นฟุ้งกระจายจากถนน (road dust) พบสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 23% ของ แหล่งกำเนิดทั้งหมด แหล่งกำเนิดที่ 2 โรงโม่หิน เหมืองหิน ปูนขาว แต่งแร่ พบสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 37% ของแหล่งกำเนิดทั้งหมด แหล่งกำเนิดที่ 3 ฝุ่นจากยานพาหนะ (traffic emissions) รวมถึงฝุ่นถนนบางส่วน (road dust) พบสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 40%
- พบแหล่งกำเนิด ฝุ่น PM2.5 จำนวน 3 แหล่งกำเนิดหลัก ๆ ได้แก่ แหล่งกำเนิดที่ 1 โรงโม่หิน เหมืองหิน ปูนขาว แต่งแร่ พบสัดส่วนเฉลี่ยนประมาณ 27% ของ แหล่งกำเนิดทั้งหมด แหล่งกำเนิดที่ 2 ฝุ่นจากยานพาหนะรวมถึงฝุ่นถนนบางส่วน พบสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 37% แหล่งกำเนิดที่ 3 ฝุ่นจากการเผาชีวมวล (biomass burning) พบสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 36% ของแหล่งกำเนิดทั้งหมด
2) การประเมินด้วยแบบจำลองการแพร่กระจายของมลพิษทางด้านอากาศโดยประเมินแยกส่วนตามข้อมูลการระบาย มลพิษในพื้นที่ที่ปรับปรุงจากฐานข้อมูลที่มีอยู่เดิมของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า แหล่งกำเนิดหลักของ PM10 และ PM2.5 ในพื้นที่ ได้แก่ มลพิษจากท่อไอเสียและอุปกรณ์ อุตสาหกรรมเหมือง (โดยเฉพาะโรงโม่หินและโรงแต่งแร่ ซึ่ง มีปริมาณการระบายมลพิษที่สูงเมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่น ๆ) และฝุ่นฟุ้งกระจายจากถนน
จะเห็นได้ว่าประเภทกิจกรรมหลักที่ส่งผลต่อปริมาณฝุ่นละอองในพื้นที่ที่ได้จาการประเมินด้วยแบบจำลองการแพร่กระจายสอดคล้องกับข้อมูลแหล่งกำเนิดที่ประเมินได้จากแบบจำลองผู้รับสัมผัสมลพิษ PMF ผศ.ดร.ธงชัย จึงเสนอแนะมาตรการหลักในการควบคุมป้องกันฝุ่นละออง PM10 และ PM2.5 ทั้งสิ้น 4 มาตรการ ได้แก่
- มาตรการลดฝุ่นละอองจากยานพาหนะ โดยมีมาตรการย่อย อาทิ การติดตั้งจุดตรวจจับควันดำของรถบรรทุกทั้งระบบหรือระบบตรวจจับควันดำด้วยเครื่องมืออัตโนมัติ และกำหนดเขตพื้นที่มลพิษต่ำ (Low Emission Zone: LEZ) เพื่อจำกัดจำนวนยานพาหนะ โดยเฉพาะยานพาหนะที่ปล่อยฝุ่นละอองสูงไม่ให้เข้าสู่พื้นที่ควบคุม
- มาตรการลดฝุ่นละอองจากอุตสาหกรรมเหมือง โดยมีมาตรการย่อย อาทิ จัดทำแนวกําแพงทึบ หรือแนวต้นไม้ทรงสูงหนาแน่น หรือติดตั้งตาข่ายดักฝุ่นละออง และการพัฒนาและส่งเสริมให้มีการนำระบบคาดการณ์ปัจจัยสภาพอากาศ (weather forecasting system) มาใช้ในการประเมิน ความสามารถในการรองรับฝุ่นละอองของบรรยากาศในรอบวัน
- มาตรการลดฝุ่นฟุ้งกระจายจากถนน โดยมีมาตรการย่อย อาทิ ทำความสะอาดถนนก่อนชั่วโมงเร่งด่วน เช่น 5.00-6.00 น. และ 15.00-16.00 น. และกำหนดให้มีการล้างล้อรถยนต์และรถบรรทุกหิน โดยใช้บ่อล้างล้อ หรือ ลานล้างล้อที่มีประสิทธิภาพ และบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ
- มาตรการลดฝุ่นฟุ้งกระจายจากการเผาชีวมวลภายนอกพื้นที่โครงการ โดยมีมาตรการย่อย อาทิ การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของการเผา วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และการสนับสนุนความเข้มแข็งของพื้นที่ผ่านผู้นำชุมชน และ หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ในการเฝ้าระวังการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร รวมถึงการเผาชีวมวลอื่น ๆ
กล่าวโดยสรุป งานวิจัยของ ผศ.ดร.ธงชัย ได้ศึกษาค้นพบ และเสนอแนวทางการลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยเฉพาะ PM10 และ PM2.5 จึงนับว่าเป็นงานศึกษาที่เป็นประโยชนตั้งต้นแก่การออกแบบและริเริ่มนโยบายทั้งระดับท้องถิ่นและรัฐบาลส่วนกลาง ซึ่งจะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้อาศัยในพื้นที่และบริเวณโดยรอบให้ปลอดภัยจากมลพิษทางอากาศได้มากที่สุด
งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่ ธีมการลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเป็นธรรมในสังคม
งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (11.a) สนับสนุนการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมระหว่างพื้นที่เมือง รอบเมือง และชนบท โดยการเสริมความแข็งแกร่งของการวางแผนการพัฒนาในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)