Site icon SDG Move

SDG Spotlight – ส่งท้ายปี 2565 ด้วย 6 ข่าว SDGs ที่น่าสนใจในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่ 16 – 22 ธันวาคม 2565 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

คสรท. ยื่นข้อเสนอต่อ รัฐบาลและนายจ้าง ให้ ‘ยุติการเลือกปฏิบัติ’ แก่แรงงานข้ามชาติ

นับเป็นเดือนสำคัญของแรงงานทุกคน โดยวันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปี ถือเป็น “วันแรงงานข้ามชาติสากล” (International Migrants Day) สำหรับปีนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ออกแถลงการณ์ ระบุถึง ความสำคัญของแรงงานข้ามชาติที่มีส่วนสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย แต่ตลอดระยะเวลากว่า 45 ปี นับตั้งแต่ปี 2520 ที่เปิดรับแรงงานข้ามชาติเข้ามาในประเทศ แรงงานข้ามชาติในไทย ยังคงเผชิญการถูกเลือกปฏิบัติทั้งจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และผู้ประกอบการ รวมถึงถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยไม่ได้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน สิทธิของแรงงานข้ามชาติและการจ้างงานที่เป็นธรรม อาทิ การกดราคาค่าจ้าง การเข้าไม่ถึงหลักประกันทางสังคม ปัญหาดังกล่าว ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา คสรท. จึงออกข้อเสนอต่อรัฐบาล และผู้เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้

1. รัฐบาล ผู้ประกอบการ ต้องปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติให้เสมอกันตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติใด ๆ  2. สนับสนุน ส่งเสริม สร้างความเข้าใจเรื่องสิทธิการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วมตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 และอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานของแรงงานข้ามชาติ 3. กำหนดความชัดเจนในนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนต่อการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในระยะยาว โดยเฉพาะการจดทะเบียนใบอนุญาตทำงานเเละกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ 4. การปราบปรามกลุ่มนายหน้าที่นำพาแรงงานข้ามชาติเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย 5. นโยบายเยียวยาแรงงานจะต้องครอบคลุมแรงงานทุกสัญชาติ และ 6. ลดขั้นตอนการนำเข้าแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ พร้อมอำนวยความสะดวกในการนำแรงงานเข้ามาทำงาน โดยไม่ต้องผ่านระบบนายหน้า

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.5 บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573 และ 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย

เข้าถึงได้ที่นี่ : คสรท.จี้ รัฐ-นายจ้าง ยุติเลือกปฏิบัติ เนื่องใน “วันแรงงานข้ามชาติสากล” | The Active 

‘พิธา’ หารือทูตฟินแลนด์ แก้ปัญหาค้ามนุษย์ กรณีแรงงานเก็บเบอร์รี่ในฟินแลนด์

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้พบปะกับ ยือรี แยร์วีอาโฮ (Jyri Järviaho) เอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ที่รัฐสภาเพื่อหารือความคืบหน้าการแก้ปัญหาแรงงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทยในฟินแลนด์ที่อาจเข้าข่ายการค้ามนุษย์ โดยมีตัวแทนจากคณะกรรมาธิการแรงงานของสภาผู้แทนราษฎรและตัวแทนแรงงานผู้เสียหายเข้าร่วมชี้แจงสภาพปัญหา การหารือหลังคดีข้าราชการระดับสูงของฟินแลนด์ต้องสงสัยรับสินบนบริษัทนายหน้าพาแรงงานไทยไปเก็บเบอร์รี่ถูกเปิดเผยในเดือนมกราคม 2565 ซึ่งนำมาสู่การการสืบสวน พบส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ เนื่องจากมีการยึดพาสปอร์ตแรงงานไทย ถูกกดราคาค่าแรง ซึ่งไม่เป็นไปตามสัญญาการจ้างงาน

ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกัน ทำให้ทราบว่าทางฟินแลนด์ได้พยายามแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงานเก็บเบอร์รี่มากขึ้น นับตั้งแต่ปี 2564 แต่ตัวแทนแรงงานที่ได้รับผลกระทบที่เข้าชี้แจงกับเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ล่าสุด ก็มีทั้งกรณีตั้งแต่ปี 2556 และจนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมายังมีการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายอยู่ ดังนั้น หากสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ก็จะเป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งพรรคก้าวไกลยืนยันว่าพร้อมจะดูแลแรงงานไทยที่อยู่ทั่วโลก

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.7 ดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพโดยทันที เพื่อขจัดแรงงานที่ถูกบังคับ ยุติความเป็นทาสสมัยใหม่และการค้ามนุษย์ และยับยั้งและกำจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก

เข้าถึงได้ที่นี่ : ‘พิธา’ หารือทูตฟินแลนด์ แก้ปัญหาค้ามนุษย์ แรงงานเก็บเบอร์รี่ในฟินแลนด์ | ประชาไท Prachatai.com

โรงงานผลิตกางเกงยีนส์ F&F ที่แม่สอด ของ‘เทสโก้’ ตกเป็นคดีที่อังกฤษ หลังถูกฟ้องปม
บังคับใช้แรงงาน 

โรงงงาน วี. เค. การ์เมนท์ (VK Garment Factory หรือ VKG) ถูกนักตรวจสอบจากภายนอก เข้าตรวจสอบถึงสภาพการทำงานภายในโรงงาน โรงงานดังกล่าว ตั้งอยู่พื้นที่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยเป็นผู้ผลิตเสื้อและกางเกงยีนส์ F&F ให้กับห้างของ ‘เทสโก้’ (Tesco) ตั้งแต่ในช่วงปี 2560-2563 ซึ่งอดีตผู้ใช้แรงงานชาวเมียนมากว่า 130 คน ออกมาเปิดเผยว่า พวกเขาต้องตกอยู่ภายใต้การบังคับใช้แรงงานในหลากหลายรูปแบบ อย่างเช่นต้องทำงาน 99 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อผลิตเสื้อผ้าส่งให้กับห้างดัง แต่กลับได้รับค่าจ้างที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน รวมถึงตกอยู่ในสภาพการทำงานที่อันตราย พนักงานหลายคนรับบาดเจ็บจากมาตรฐานการปฏิบัติงานที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย

นั่นเป็นสาเหตุให้โรงงานดังกล่าว กำลังกลายเป็นคดีความในอังกฤษ หลังอดีตพนักงานโรงงาน 130 คน ยื่นต่อศาลผ่านสำนักงานกฎหมาย ‘Leigh Day’ ฟ้องร้องบริษัทที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ ‘เทสโก้’ (Tesco PLC) ‘เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม’ (Ek-Chai Distribution System Company Limited) ซึ่งมีเทสโก้เป็นเจ้าของ ก่อนขายให้เครือเจริญโภคภัณฑ์ในปี 2563 และบริษัทตรวจสอบ (auditing) ที่ชื่อว่า ‘อินเตอร์เทค’ (Intertek) โดยหลังจากยื่นฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาลสูง (High Court) ของอังกฤษ แล้วคาดว่าจะมีการยื่นเอกสารแจ้งการฟ้องร้องให้กับจำเลยแต่ละรายในช่วงปีใหม่นี้

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.7 ดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพโดยทันที เพื่อขจัดแรงงานที่ถูกบังคับ ยุติความเป็นทาสสมัยใหม่และการค้ามนุษย์ และยับยั้งและกำจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก และ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม

เข้าถึงได้ที่นี่ : โรงงานไทยตกเป็นคดีที่อังกฤษ ‘เทสโก้’ ถูกฟ้องปมบังคับใช้แรงงาน ผลิตกางเกงยีนส์ F&F ที่แม่สอด – TheMatter 

กองทุนความมั่งคั่งนอร์เวย์ ประกาศถอนการลงทุน จาก ‘กลุ่มธุรกิจ PTT-OR’
เหตุอาจมีส่วนละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา

ผ่านมาแล้วกว่าหนึ่งปี หลังเกิดรัฐประหารในเมียนมา ซึ่งนานาชาติต่างออกมากดดันการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาตินอร์เวย์ได้ประกาศถอนการลงทุนจากบริษัทมหาชนจำกัด (บมจ.) ปตท. หรือ PTT และ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR เนื่องจากการเป็นพันธมิตรกับบริษัทที่รัฐบาล-กองทัพเมียนมา เป็นเจ้าของ ซึ่งผู้บริหารกองทุนสัญชาตินอร์เวย์ มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 45 ล้านล้านบาท) ให้เหตุผลว่า มติดังกล่าวของคณะกรรมการบริหารกองทุนเห็นว่าเป็นความเสี่ยงที่ไม่อาจยอมรับได้ (unacceptable risk) เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยนอกจากสองบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยแล้ว กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาตินอร์เวย์ยังถอนการลงทุนบริษัทในอิสราเอลอีกหนึ่งแห่งด้วย ที่กองทุนฯ มองว่าการลงทุนในบริษัทที่รัฐบาล-กองทัพเมียนมาเป็นเจ้าของนั้น เสมือนเป็นการสนับสนุนกองทัพเมียนมาทางการเงินในปฏิบัติการทางทหารและการใช้อำนาจในทางมิชอบ

ธนาคารกลางแห่งชาตินอร์เวย์ (Norge Bank) จึงมีประกาศเรื่องนี้ออกมาในวันที่ 15 ธันวาคม ทำให้ต่อมาวันที่ 22 ธันวาคม ทั้ง ปตท. และ OR ได้ออกมาชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อกำหนดรวมถึงหลักการเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักสากลนับตั้งแต่เกิดวิกฤตทางการเมืองในเมียนมา เพราะหลังจากมีการประกาศถอนการลงทุน สร้างผลกระทบให้หุ้น PTT และ OR ปรับตัวลดลง นับว่าการดำเนินการของประเทศพัฒนาที่มีผลผลกระทบและเป็นปัจจัยต่อการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของประเทศกำลังพัฒนา 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 10 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป้าหมายย่อยที่ 10.5 ปรับปรุงกฏระเบียบและการติดตามตรวจสอบตลาดการเงินและสถาบันการเงินของโลก และเสริมความแข็งแกร่งในการดำเนินการกฏระเบียบดังกล่าว และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม และ 16.6 พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส

เข้าถึงได้ที่นี่ : ปตท : เหตุใดกองทุนความมั่งคั่งนอร์เวย์ประกาศถอนการลงทุนจาก PTT-OR – BBC News ไทย 

ตาลีบัน ประกาศ ‘ห้ามผู้หญิง’ เข้าเรียนมหาวิทยาลัย สั่นคลอนด้านมนุษยธรรม

เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา ตาลีบันออกมายืนยันประกาศของกระทรวงศึกษาธิการว่า มหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน จะไม่รับผู้หญิงเข้าเรียน ตามมติของคณะรัฐมนตรี และให้มีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งจดหมายฉบับนี้ ประกาศว่าขอให้ทุกคนปฏิบัติตามคำสั่งระงับการศึกษาของผู้หญิงทันที จนกว่าจะมีประกาศเพิ่มเติม ซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีกระทรวงอุดมศึกษา Neda Mohammad Nadeem ทั้งนี้ การประกาศเรื่องห้ามสตรีเข้าเรียนมหาวิทยาลัย มีขึ้นช่วงเดียวกับที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประชุมเรื่องสถานการณ์อัฟกานิสถานที่นิวยอร์ก ซึ่งผู้แทนสหประชาชาติของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ต่างประณามความเคลื่อนไหวดังกล่าวของตาลีบันในระหว่างการประชุม โดย Stephane Dujarric โฆษกสหประชาชาติ กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าหนักใจมาก เพราะการกระทำของตาลีบัน ถือเป็นการผิดสัญญาที่ให้ไว้อีกครั้ง 

อย่างไรก็ดี ประเทศอัฟกานิสถาน กำลังสั่นคลอนจากวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เกิดขึ้น เนื่องจากประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่ง ต้องเผชิญกับความอดอยาก ท่ามกลางการคว่ำบาตรจากตะวันตก ตลอดจนการระงับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและทรัพย์สินเกือบ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ของธนาคารกลางอัฟกานิสถาน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG4 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 4.7 สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการที่วัฒนธรรมมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573 SDG5 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 5.1 ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่ และ 5.2 ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่รโหฐาน รวมถึงการค้ามนุษย์ การกระทำทางเพศ และการแสวงประโยชน์ในรูปแบบอื่น 5.c เลือกใช้และเสริมความเข้มแข็งแก่นโยบายที่ดีและกฎระเบียบที่บังคับใช้ได้ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเพิ่มอำนาจให้แก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนในทุกระดับและ SDG 10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.3 สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้

เข้าถึงได้ที่นี่ : Taliban says women banned from universities in Afghanistan – aljazeera 

 WHO เตือนอหิวาตกโรคระบาดเพิ่มขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

องค์การอนามัยโลก  (World Health Organization : WHO)  เผยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปีนี้ ส่งผลให้เกิดการระบาดของอหิวาตกโรคเพิ่มมากขึ้นและร้ายแรงกว่าที่เคยพบในปีที่ผ่านมา ซึ่งการระบาดใหญ่ที่เกิดขึ้นมักเกิดพร้อม ๆ กับปัญหาสภาพอากาศที่เลวร้าย ทั้งเหตุการณ์น้ำท่วมปากีสถาน ที่พบว่ามีผู้ป่วยโรคท้องร่วงมากถึง 500,000 ราย หลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่ในฤดูร้อน และจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าทุกปีมีผู้ป่วยอหิวาตกโรคอยู่ที่ 1.3 ถึง 4 ล้านคน และเสียชีวิตจากโรคนี้ 21,000 ถึง 143,000 คนทั่วโลก ซึ่งโรคนี้เป็นโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน มีสาเหตุมาจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนแบคทีเรีย Vibrio cholerae จึงส่งผลให้เกิดท้องร่วง

แม้ว่าอหิวาตกโรค จะเป็นโรคที่ป้องกันได้และ“รักษาง่าย” เมื่อเปรียบเทียบกับโรคอื่น ๆ แต่ปัจจุบันวัคซีนรักษาโรคดังกล่าวนั้นหายากมาก ทำให้ในเดือนตุลาคมกลุ่มประสานงานระหว่างประเทศ (International Coordinating Group : ICG) ต้องตัดใจลดการให้วัคซีนทั่วโลกจากสองโดสเหลือเพียงหนึ่งโดส เพื่อรับมือกับการระบาดของอหิวาตกโรค อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ชัดว่าอหิวาตกโรค เป็นโรคที่มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความยากจน ความเปราะบาง เพราะยังคงมีประชากรอีกจำนวนมากที่ยัง ไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดและการสุขาภิบาลขั้นพื้นฐานได้ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของโรคดังกล่าว  

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.3 ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573 และ 3.b สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ รวมถึงปกป้องสุขภาพสาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า

เข้าถึงได้ที่นี่ : Global cholera surge likely accelerated by climate change, warns WHO | UN News 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

 

Author

  • Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

Exit mobile version