เมื่อปัจจุบัน ‘ผู้สูงอายุ’ เสี่ยงถูกละเมิดสิทธิเพิ่มขึ้น จะมีมาตรการกลไกป้องกันอย่างไร ? ชวนค้นหาคำตอบจากงานวิจัยของ ‘รศ. ดร.เดชา สังขวรรณ’

ชวนอ่านงานวิจัย “มาตรการกลไกป้องกันการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุ” โดย รศ. ดร.เดชา สังขวรรณ วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่ผ่านสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC)  ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ปัจจุบัน สังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคม ‘ผู้สูงอายุ’ จึงต้องเตรียมการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิของผู้สูงอายุ เพราะเมื่อบุคคลเข้าสู่วัยสูงอายุ มักจะพบกับการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ การเสื่อมถอยลงของร่างกายและจิตใจ ก่อให้เกิดภาวะการเจ็บป่วย เกิดปัญหาโรคเรื้อรังและนำไปสู่ภาวะการพึ่งพิงซึ่งโดยทั่วไปจะเกิดขึ้น ในช่วงอายุ 75-80 ปี ทำให้ผู้สูงวัยต้องปรับเปลี่ยนสถานภาพและบทบาททางสังคมจากผู้ที่เคยเป็น ‘ผู้ดูแล’ คนอื่นมาเป็น ‘ผู้พึ่งพา’ ซึ่งอาจให้นำมาสู่การถูกเอารัดเอาเปรียบได้โดยง่าย จึงได้มีการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ  (qualitative research) จึงได้ทำการศึกษาสถานการณ์ปัญหาการละเมิดสิทธิต่อผู้สูงอายุ รวมถึงมาตรการกลไกในการป้องกัน เพื่อเป็นข้อมูลในการดำเนินการวางแผนต่อไป

จากงานวิจัยข้างต้น เพื่อศึกษามาตรการกลไกป้องกันการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุ ได้อย่างรอบด้านและเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของประเทศไทย รศ. ดร.เดชา ได้กำหนดวัตถุประสงค์ 3 ประการ ดังนี้

  1. เพื่อศึกษาสถานการณ์เกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุ
  2. เพื่อศึกษามาตรการกลไกการป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิของผู้สูงอายุในปัจจุบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ
  3. เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และมาตรการกลไกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิของผู้สูงอายุที่เหมาะสมในสังคมไทย รวมถึงแนวปฏิบัติที่มีความเป็นไปได้และเหมาะสมกับสังคมไทยในการผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการเพื่อช่วยป้องกันและลดปัญหาการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุ

จากข้อมูลงานวิจัยดังกล่าว เพื่อให้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการกลไกป้องกันการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุ จึงกำหนดวิธีการวิจัย โดยการประชุมสนทนากลุ่ม (focus group) ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งในระดับส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการจัดการการให้ความช่วยเหลือกฎหมาย สิทธิมนุษยชน สวัสดิการ และสวัสดิภาพสาธารณะประเด็นการคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ อาทิ ผู้นำชุมชนที่เกี่ยวข้อง นักจิตวิทยา ตำรวจ เจ้าหน้าที่จากศูนย์พึ่งได้ นักสังคมสงเคราะห์ แพทย์และพยาบาล เป็นต้น รวมทั้งผู้แทนจากชมรมผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่หรือผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องที่มีประสบการณ์ในงานที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุ และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ 

จึงนับว่างานวิจัยฉบับนี้ มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 3 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน เป้าหมายที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และเป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ

ผลการศึกษางานวิจัยข้างต้น สามารถสรุปประเด็นสำคัญ ได้ดังนี้

  • การละเมิดสิทธิผู้สูงอายุในสังคมไทยมีรูปแบบหลากหลาย ทั้งการใช้ความรุนแรงทางด้านร่างกายและจิตใจต่อผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกละเมิดสิทธิจากบุคคลที่ใกล้ชิด เช่น คู่สมรส บุตรหลาน หรือเครือญาติ 
  • การละเมิดสิทธิผู้สูงอายุ พบว่า ส่วนใหญ่มักเป็นการละเมิดทางวาจา ซึ่งสร้างผลกระทบต่อภาวะทางอารมณ์และจิตใจของผู้สูงอายุ ส่วนการละเมิดทางร่างกาย พบว่า มีการละเมิดโดยการทำร้ายทางร่างกาย รวมถึงกรณีที่เป็นการละเมิดทางเพศ ที่มักเกิดกับผู้สูงอายุที่ตกอยู่ในภาวะของการพึ่งพิงตนเอง เนื่องด้วยโรคประจำตัว หรือมีภาวะความจำเสื่อม 
  • พบการแสวงประโยชน์จากผู้สูงอายุโดยเฉพาะในทางการเงินและทรัพย์สิน ซึ่งพบเห็นอยู่บ่อยครั้ง โดยผู้กระทำ ที่มักแสวงประโยชน์จากผู้สูงอายุ มีทั้งสมาชิกในครอบครัว อาทิ ลูกหลานหรือเครือญาติ รวมถึงบุคคลภายนอกทั้งที่เป็นคนที่รู้จักและคนแปลกหน้า ผ่านช่องทางในการสื่อสารต่างๆ ทั้งในสังคมและโลกออนไลน์
  • ปัญหาการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุที่พบมากขึ้นในปัจจุบัน ได้แก่ การทอดทิ้งผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ไว้ตามลำพัง ขาดการช่วยเหลือและดูแลอย่างเหมาะสม ซึ่งมักเกิดขึ้นกับครอบครัวฐานะยากจน ที่ลูกหลานต้องออกจากบ้านไปทำมาหากินต่างถิ่นทำให้ขาดการติดต่อ 

อย่างไรก็ดี ปัญหาผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งและละเลยในสังคมไทย นับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ สำหรับกลไกการป้องกันการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุในสังคมไทยในปัจจุบัน จากการศึกษา พบว่า

  • ยังคงมีแนวทางที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งหมายถึงว่า ทั้งการให้ข้อมูลความรู้ทั้งผู้สูงอายุเองในการป้องกันสิทธิของตน หรือการให้ข้อมูลความรู้กับผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุตรหลาน และผู้ดูแลอื่นๆ ให้มีความรู้ความเข้าใจและช่วยกันป้องกันการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุ เป็นกลไกและมาตรการที่เกิดขึ้นทางสังคมเป็นหลัก 
  • ขณะที่ แนวทางอย่างเป็นทางการ จะเป็นแนวทางและมาตรการที่กฎหมายได้บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิของผู้สูงอายุ อาทิ พระราชบัญญัติผู้สูงอายุในหมวดที่ว่าด้วยสิทธิของผู้สูงอายุเป็นแนวทางในการสร้างกลไกในระดับปฏิบัติ ซึ่งเมื่อทบทวนแล้วนั้น พบว่า กฎหมายยังไม่ได้มีการกำหนดบทลงโทษผู้ละเมิดสิทธิผู้สูงอายุไว้แต่ประการใด นอกจากระบุว่าผู้สูงอายุที่ถูกละเมิดสิทธิจะได้รับการคุ้มครอง หรือรับการเยียวยาด้วยมาตรการต่าง ๆ ตามพฤติกรรมการถูกละเมิดในแต่ละกรณีไป 

จะเห็นได้ว่า กลไกและมาตรการการป้องกันการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุที่มีอยู่ยังไม่มีประสิทธิภาพในเชิงป้องกันได้อย่างเพียงพอ รศ. ดร.เดชา ได้ให้ข้อเสนอแนะ โดยสรุป ดังนี้

  • เชิงแนวคิดและนโยบาย เสนอให้มีแนวทางการป้องกันการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุโดยใช้ชุมชนเป็นฐานในการป้องกัน และแนวทางดำเนินงานแบบบูรณาการ รวมถึงมีการทบทวนปรับปรุงและแก้ไขกฎหมาย ข้อกำหนด และระเบียบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับ สถานการณ์และปัญหาการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุในสังคมไทยปัจจุบัน 
  • โครงสร้างและองค์ประกอบ เสนอกลไกและระบบการป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิของผู้สูงอายุ ทั้งในระดับชาติและระดับจังหวัด โดยเสนอให้มีการพัฒนาระบบการป้องกัน การคุ้มครองพิทักษ์สิทธิและการช่วยเหลือผู้สูงอายุ 
  • เสนอแนวทางปฏิบัติเพื่อการส่งเสริมสนับสนุนท้องถิ่นและชุมชน ผ่านหน่วยงานและองค์กรจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ให้มีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุ อาทิ ดำเนินการรวบรวมข้อมูลและการสร้างฐานข้อมูล รวมถึงการวิเคราะห์ข้อจำกัดและปัญหาอุปสรรคในการป้องกันและแก้ไขในระดับพื้นที่และชุมชน
  • การดำเนินการโครงการทดลอง (pilot project) การพัฒนาระบบการป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุที่มีความเหมาะสมในพื้นที่นำร่อง

กล่าวโดยสรุป การศึกษามาตรการกลไกป้องกันการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุ จะช่วยให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการป้องกันการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุ ทั้งในตั้งแต่ระดับชาติจนถึงระดับพื้นที่ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาที่ผู้สูงอายุต้องเผชิญ เพื่อหาหนทางแก้ไขและป้องกันให้ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งผู้สูงอายุนั้น ถือเป็นกลุ่มที่เปราะบางเป็นอย่างมาก นโยบายและมาตรการต่าง ๆ จึงควรรองรับอย่างครอบคลุมและครบถ้วน เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุกลายเป็นกลุ่มที่ถูกละเลยภายในสังคม

งานวิจัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มการวิจัยเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย SDGs ในระดับชาติและภูมิภาค (policy) ธีมสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนทุกช่วงวัย

งานวิจัยดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุมครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้

Research recommends แนะนำงานวิจัยของนักวิจัยธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านวิจัยแบบบูรณาการระดับแนวหน้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (TU-SDG Research Network)

Last Updated on ธันวาคม 28, 2022

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น