เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The Office of the High Commissioner for Human Rights: OHCHR) ซึ่งประกอบด้วย Francesca Albanese ผู้รายงานพิเศษด้านสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ของปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครองมาตั้งแต่ปี 2510 Morris Tiball-Binz ผู้รายงานพิเศษด้านการวิสามัญฆาตกรรมหรือการประหารชีวิตโดยพลการ และ Clément Voule ผู้รายงานพิเศษด้านเสรีภาพในการชุมนุมและรวมกลุ่มอย่างสันติ ได้ร่วมแถลงการณ์ประณามอิสราเอลและระบุถึงสถานการณ์การทำร้ายและฆาตกรรมชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์เเบงก์ (west bank) ซึ่งเป็นพื้นที่ยึดครองของอิสราเอลประจำปี 2565 ว่าเป็นปีที่ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตด้วยการกระทำของทหารอิสราเอลและชาวอิสราเอลที่ตั้งถิ่นฐานอยู่มากที่สุดนับตั้งแต่ที่มีการเริ่มเก็บสถิติตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ เขตเวสต์เเบงก์คือบริเวณที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์ราว 2.6 ล้านคน และถูกวางไว้ให้เป็นศูนย์กลางของรัฐปาเลสไตน์ที่ก่อตั้งขึ้น มีพื้นที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเเม่น้ำจอร์เเดนเเละติดกับทิศตะวันออกของอิสราเอล โดยก่อนหน้าเคยอยู่ภายใต้การปกครองของชาวปาเลสไตน์ ก่อนจะตกเป็นดินเเดนของจอร์เเดน เเละถูกอิสราเอลยึดครองในปี 2510 จากเหตุการณ์สงครามหกวัน ปัจจุบันจึงเป็นพื้นที่ขัดเเย้งระหว่างอิสราเอลเเละปาเลสไตน์ โดยเฉพาะในเรื่องการอ้างสิทธิ์ชอบธรรมในการครอบครอง
แถลงการณ์ของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญระบุว่า “พวกเราต้องการที่จะย้ำเตือนอิสราเอลถึงการที่พวกเขาต้องรื้อถอนการเข้ายึดครองพื้นที่เขตเวสต์เเบงก์อย่างผิดกฎหมายซึ่งเป็นสิ่งที่ยังคงค้างคาอยู่ ชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่ยึดครองจะต้องได้รับการปฏิบัติในฐานะกลุ่มบุคคลที่ได้รับการคุ้มครอง ไม่ใช่ในฐานะข้าศึกศัตรู หรือผู้ก่อการร้าย”
ประเด็นสำคัญที่ปรากฏในแถลงการณ์ดังกล่าว อาทิ
- ชาวปาเลสไตน์ ได้ก่อเหตุรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลอิสราเอล จนเป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิตรวม 4 นาย พนักงานรักษาความปลอดภัยของกลุ่มชาวอิสราเอลที่ยึดครองและตั้งรกรากในปาเลสไตน์เสียชีวิต 1 ราย และชาวอิสราเอลเสียชีวิตรวม 5 ราย
- การใช้กำลังเกินกว่าเหตุของกองทัพอิสราเอลและกลุ่มชาวอิสราเอลที่เข้ามายึดครองพื้นที่อย่างผิดกฎหมายในเขตเวสต์แบงก์ เป็นเหตุให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตกว่า 150 รายในปี 2565 โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นเด็กถึง 33 ราย
- การที่กลุ่มชาวอิสราเอลเข้ายึดครองพื้นที่ชาวปาเลสไตน์เพื่อสร้างที่อยู่อาศัย พร้อมกับการติดอาวุธเดินในที่สาธารณะเป็นเรื่องที่น่ากังวล เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้ใช้อาวุธโจมตีชาวปาเลสไตน์ในบ้านของตัวเอง โจมตีใส่เด็กที่เดินทางไปโรงเรียน ทำลายทรัพย์สินของชาวปาเลสไตน์ และเผาสวนมะกอกที่พวกเขาปลูก รวมถึงยังได้ก่อการร้ายสร้างความหวาดผวาต่อชุมชนชาวปาเลสไตน์โดยที่ไม่ต้องรับผิดใด ๆ
- กลุ่มผู้ยึดครองชาวอิสราเอลก่อเหตุรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์ได้รับความช่วยเหลือจากกองทัพอิสราเอล ทำให้กลายเป็นเรื่องยากที่จะแยกแยะว่าการก่อเหตุแบบไหนเป็นการก่อเหตุจากกลุ่มชาวอิสราเอลติดอาวุธผู้ตั้งรกรากในปาเลสไตน์และการก่อเหตุแบบไหนที่เป็นความรุนแรงจากรัฐ
- ความพยายามยึดครองพื้นที่เขตเวสต์แบงก์เป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการใช้ความรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์อย่างตั้งใจ ทั้งเพื่อขับไล่และสร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตของชาวปาเลสไตน์
ความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ เป็นปัญหาท้าทายด้านสิทธิมนุษยชนและความสงบสุขระดับโลกมาอย่างต่อเนื่อง หากนับตั้งแต่ปี 2490 ซึ่งเป็นปีที่ความขัดแย้งเริ่มปะทุขึ้น ปัจจุบันก็กินระยะเวลามา 75 ปีแล้ว กระนั้นการทำร้าย ฆ่า และทำลายทรัพย์สินบ้านเรือนกลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นดังปรากฏในแถลงการณ์ โจทย์สำคัญของรัฐบาลอิสราเอลและปาเลสไตน์ คือ จะเลือกยุติความขัดแย้งเพื่อรักษาชีวิตพลเมืองหรือไม่ อย่างไร ขณะที่นานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศทั่วโลกอาจต้องทบทวนกลไกที่เสนอใช้สร้างสันติภาพในพื้นที่ดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่ผ่านมา
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.3) ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
แหล่งที่มา:
– Israel: UN experts condemn record year of Israeli violence in the occupied West Bank (OHCHR)
– 2565 ปีที่ชาวปาเลสไตน์ในเขตยึดครองอิสราเอลเสียชีวิตมากที่สุดในรอบ 17 ปี (ประชาไท)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย